ชาวเกาะลิบงร่วมสร้างบ้านมั่นคง-ใช้โดรนดูแลพะยูน เพาะพันธุ์ปลิงทะเลส่งขาย ก.ก.ละ 7,000 บาท


เพิ่มเพื่อน    

 

เกาะลิบง จ.ตรัง / ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ติดตามความคืบหน้าโครงการบ้านมั่นคงและการใช้อากาศยานไร้คนขับ ‘โดรน’ เพื่อการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์พะยูน  โดยชาวเกาะลิบงใช้ข้อมูลจากการสำรวจชุมชนมาจัดทำแผนที่ตำบล  และใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาและแก้ไขปัญหา  เช่น  ซ่อมสร้างบ้านตามโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ กว่า 1,400   ครัวเรือน  ใช้อากาศยานไร้คนขับหรือ ‘โดรน’ ดูแลฝูงพะยูน และส่งเสริมการท่องเที่ยวและพัฒนาอาชีพ  รวมทั้งเตรียมแปรรูปปลิงทะเลส่งขายราคากิโลกรัมละ 7,000 บาท

 

สภาพบ้านเรือนบนเกาะลิบง

 

วันนี้ (14  มี.ค.) ระหว่างเวลา 09.00-14.00 น.  นายไมตรี  อินทุสุต  (อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง) ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  หรือ ’พอช.’  และคณะ  ได้เดินทางมาที่เกาะลิบง   อ.กันตัง  จ.ตรัง  เพื่อลงพื้นที่ติดตามโครงการบ้านมั่นคง   และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์เกาะลิบง   โดยมีนายก อบต.เกาะลิบง   ผู้แทนโครงการบ้านมั่นคง  กลุ่มวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวและพัฒนาอาชีพเกาะลิบง  ประมาณ  50 คนให้การต้อนรับ

 

นางรมิดา สารสิทธิ์  คณะทำงานเครือข่ายบ้านมั่นคงเมืองลิบง  กล่าวว่า  การทำงานพัฒนาในเกาะลิบงเริ่มจากการจัดเก็บข้อมูลต่างๆ ในตำบลในปี 2555  เช่น  ผู้เดือดร้อนด้านที่ดิน-ที่อยู่อาศัย  ผู้ด้อยโอกาส  คนพิการ  อาชีพ  รายได้  ฯลฯ  แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์  จัดทำแผนที่ทำมือ  ทำให้มองเห็นข้อมูลต่างๆ ในตำบล  เช่น  ผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย  บ้านเรือนมีสภาพทรุดโทรม  มีฐานะยากจน

 

 

จากนั้นจึงนำข้อมูลมาจัดทำโครงการบ้านมั่นคง  โดยเสนอขอรับงบประมาณสนับสนุนจาก พอช. ในปี 2559จำนวน 1,400 ครัวเรือนเศษ  งบประมาณสนับสนุนครัวเรือนละ 25,000 บาท  และสร้างใหม่หลังละ 80,000 บาท (โดยชาวบ้านร่วมสมทบเงินเข้ากองทุนครัวเรือนละ 10 % ของเงินที่ได้รับการช่วยเหลือ  เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือผู้เดือดร้อนรายอื่นต่อไป)  เพื่อนำมาซ่อมแซมบ้านเรือนให้มั่นคงแข็งแรง  มีสภาพเหมาะสมแก่การอยู่อาศัย  เริ่มดำเนินการในปี 2560  ขณะนี้ซ่อมสร้างเสร็จไปแล้วประมาณ  40 %  อยู่ระหว่างดำเนินการประมาณ 60 %

 

“แผนที่ทำมือที่คณะทำงานช่วยกันทำเปรียบเสมือนกับเป็นลายแทงขุมทรัพย์  เพราะเราใช้ลายแทงนั้นมาแก้ไขปัญหาต่างๆ ของชุมชน  และเมื่อเรามีบ้านที่มั่นคงแล้ว  เราก็ต้องทำเรื่องอาชีพให้มั่นคง  โดยเอาข้อมูลและต้นทุนที่ชาวเกาะลิบงมีอยู่มาส่งเสริมอาชีพและรายได้ชาวบ้าน  เช่น  ทำโฮมสเตย์รองรับนักท่องเที่ยว  ทำเรื่องท่องเที่ยวชุมชน  แปรรูปอาหารทะเล  ทำเรื่องสิ่งแวดล้อม  ช่วยกันจัดการขยะในครัวเรือน  และมีเรือเก็บขยะในทะเล”  นางรมิดายกตัวอย่างงานพัฒนาในตำบลเกาะลิบง

 

นอกจากนี้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวและพัฒนาอาชีพเกาะลิบงยังได้ร่วมกันเลี้ยงปลิงขาว  ซึ่งเป็นปลิงทะเลขนาดใหญ่  มีสรรพคุณด้านบำรุงและซ่อมแซมร่างกาย  โดยเลี้ยงในบ่อซีเมนต์และบ่อกุ้งเก่า  มีพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ในขณะนี้ประมาณ  2,000   ตัว  เมื่อโตเต็มวัยจะนำมาทำเป็นปลิงแห้ง  และปลิงสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน  ราคาขายประมาณกิโลกรัมละ 7,000 บาท   โดยมีบริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัดตรังช่วยสนับสนุนด้านการตลาด  เช่น  ตลาดที่เยาวราช  ไต้หวัน  ฮ่องกง  และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ช่วยด้านความรู้ในการเลี้ยง  เพาะพันธุ์  และแปรรูป  รวมทั้งยังเลี้ยงกุ้งมังกรส่งขายด้วย

 

ปลิงทะเล

 

กุ้งมังกร

 

ส่วนการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ  โดยเฉพาะพะยูนนั้น   เนื่องจากเกาะลิบงเป็นแหล่งอาศัยของฝูงพะยูนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย  เพราะมีหญ้าทะเลที่อุดมสมบูรณ์มีฝูงพะยูนอยู่อาศัยกว่า 200 ตัว  แต่ที่ผ่านมาพะยูนถูกล่า  ถูกเครื่อง มือประมงทำอันตราย  รวมทั้งเสียชีวิตจากการกลืนเศษพลาสติกในทะเลเข้าไป  เช่น ‘มาเรียม’ ที่เสียชีวิตจากกรณีดังกล่าวจนกลายเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลกเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา

 

อย่างไรก็ตาม  ก่อนหน้านี้ชาวเกาะลิบงได้ร่วมกันดูแลฝูงพะยูน  โดยการจัดตั้ง กลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์‘ดุหยง’ (พะยูน) รวมทั้งจัดทำโครงการ ‘การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์เกาะลิบง’ ขึ้นมา  โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวฯ เกาะลิบง  เสนอโครงการไปยังสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตัล (depa)   เพื่อใช้  โดรนในการถ่ายภาพทางอากาศเพื่อดูแลพะยูนและส่งเสริมการท่องเที่ยว  และได้รับการอนุมัติจาก depa ในปี 2562 ที่ผ่านมา  จำนวน 1 เครื่อง  ในวงเงินงบประมาณ 240,000 บาทเศษ  โดยชุมชนร่วมออกเงินสมทบ 120,000 บาท (ใช้เงินจากกลุ่มออมทรัพย์  6 หมู่บ้านๆ ละ 20,000 บาท

 

 

นายอีสมาแอน  เบ็ญสอาด  ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวและพัฒนาอาชีพเกาะลิบง  กล่าวว่า  คนเกาะลิบงมีความผูกพันกับพะยูนเหมือนกับเป็นญาติที่ต้องดูแลกัน  และดูแลกันมานานหลายสิบปีแล้ว  เพราะพะยูนเหมือนกับเป็นสัญลักษณ์ของเกาะลิบง  หากชาวลิบงเห็นพะยูนมาเกยตื้นก็จะช่วยกันนำไปปล่อย  หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้มาดูแล  รวมทั้งใช้เรือลาดตระเวนดูแลพะยูน 

 

“ถ้าไม่มีพะยูน  คนเกาะลิบงก็อยู่ไม่ได้   เพราะถ้าที่ไหนมีพะยูน  ท้องทะเลตรงนั้นก็จะแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์  และคนเกาะลิบงส่วนใหญ่ก็หากินกับท้องทะเล  ทำประมงพื้นบ้าน  มีปลาอินทรีย์  มีหอยชักตีน  มีปลิงทะเล  เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญ   สร้างอาชีพ  สร้างรายได้  และเป็นแหล่งอาหารของคนเกาะลิบง  พวกเราจึงต้องช่วยกันดูแลทรัพยากรต่างๆ  รวมทั้งแหล่งหญ้าทะเลที่เป็นอาหารของพะยูนและสัตว์น้ำวัยอ่อนต่างๆ  นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนด้วย  เพราะเมื่อมีพะยูนอยู่มาก  นักท่องเที่ยวก็อยากจะมาที่เกาะลิบง”  ประธานกลุ่มฯ หรือ ‘บังแอน’ บอก

 

อีสมาแอน  เบ็ญสอาด 

 

บังแอนบอกด้วยว่า  เมื่อก่อนใช้เรือลาดตระเวนดูแลพะยูนจะต้องมีค่าใช้จ่ายประมาณครั้งละ 3,000 บาท  สัปดาห์หนึ่งมีค่าใช้จ่ายมากกว่า 10,000 บาท  เมื่อใช้โดรนจะช่วยประหยัดงบประมาณ  และสามารถใช้โดรนบินตรวจในตอนกลางคืนได้  โดยจะขึ้นบินตรวจพื้นที่จุดเสี่ยงที่อาจจะมีเรือประมงลักลอบเข้ามาเพื่อจับพะยูน  หรือมาขโมยตัดไม้บนเกาะเพื่อเอาไปขาย  นอกจากนี้ยังใช้โดรนบินถ่ายภาพฝูงพะยูนแล้วต่อสัญญาณภาพมาที่จอโทรทัศน์ขนาดใหญ่เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ดู  ไม่ต้องนั่งเรือลงไปดูใกล้ๆ  เป็นการรบกวนพะยูน  และอาจทำให้พะยูนได้รับอันตราย  เพราะเมื่อก่อนเคยมีเรือสปีดโบ๊ตพานักท่องเที่ยวมาดูแล้วชนพะยูนตาย 

 

นายไมตรี  อินทุสุต  ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า  ตนเคยรับราชการเป็นผู้ว่าฯ จ.ตรังมาก่อน  ก่อนจะย้ายไปรับราชการที่จังหวัดอื่นในปี 2554  ซึ่งในช่วงนั้นมีพะยูนอยู่ที่เกาะลิบงประมาณ  250  ตัว  จนถือว่าเกาะลิบงเป็นเมืองหลวงของพะยูน  แต่ปัจจุบันพะยูนมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ  ปัจจุบันเหลือประมาณ 187 ตัว  ดังนั้นจึงเป็นเรื่องดีที่ชาวเกาะลิบงได้ร่วมกันดูแลรักษาพะยูนเอาไว้  และเป็นจุดขายที่นักท่องเที่ยวต้องการมาดูที่เกาะลิบง  โดยไม่ต้องไปแข่งกับแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ

 

ไมตรี  อินทุสุต (ขวา)

 

ส่วนเรื่องการพัฒนาชุมชนบนเกาะลิบงให้เข้มแข็งนั้น  ตนมีข้อคิดมาฝาก 10 เรื่อง  ‘10 ก’  คือ  1.ชุมชนต้องมีแกนนำที่เข้มแข็ง  2.มีการกำหนดเป้าหมาย  3.มีกลไกการจัดการ (มีกฎระเบียบชุมชน  มีข้อมูล)  4.มีกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนและชาวบ้าน  5.มีกองทุนเพื่อใช้พัฒนาชุมชน  6.มีการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น พัฒนาอาชีพ  สิ่งแวดล้อม ฯลฯ 7.มีกลุ่มต่างๆ  ทำให้ชุมชนมีพลัง  8.มีการเชื่อมประสานภาคีเครือข่ายต่างๆ เพื่อสนับสนุนชุมชน  เช่น  องค์กรปกครองท้องถิ่น  9.มีกัลยาณมิตร   และ 10.มีการเกษตรนำไปสู่การสร้างแหล่งอาหาร  อาชีพ  และรายได้

 

อย่างไรก็ตาม  นอกจากการติดติดตามความคืบหน้าโครงการบ้านมั่นคงและการใช้อากาศยานไร้คนขับ ‘โดรน’ เพื่อการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์พะยูนแล้ว  นายไมตรียังได้ร่วมกับชาวเกาะลิบงปล่อยลูก (ไข่) ปูม้าจำนวน  2  ล้านฟองลงสู่ทะเลด้วย

 

ร่วมกับเยาวชนและชาวเกาะลิบงปล่อยลูกปูม้า


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"