บุกสภาชงฟื้น‘รธน.’ปี40 ‘คารม’ย้ำไม่ร่วมก้าวไกล


เพิ่มเพื่อน    

 ครช.-นศ.เดินเท้าบุกรัฐสภายื่น กมธ.ศึกษาแก้ รธน.เสนอนำฉบับปี 40 มาใช้ให้รัฐบาลใหม่จัดเลือกตั้ง ส.ส.ร.-ไม่รับรองอำนาจรัฐประหาร "พีระพันธุ์" พร้อมส่ง "วัฒนา" ไปรับฟังแฟลชม็อบทุกกลุ่ม ชี้ ปชต.ไม่ใช่อ้างสิทธิเสรีภาพ ต้องคำนึงสิทธิคนอื่นด้วย "หมอระวี" ผนึกพรรคเล็กเบรก "สุรทิน" วอนทุกฝ่ายร่วมมือฝ่าวิกฤติ "คารม" ย้ำไม่ไปต่อกับก้าวไกล "เต้น" เขย่าขวัญส้มหวาน เผลอๆ มีกิน 3 ต่อ "ทอน" โดนอาญา ก้าวไกลโดนยุบ  สมาชิกผึ้งแตกรัง

    เมื่อช่วงเช้าวันที่ 13 มีนาคม คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) และเครือข่าย People Go Network รวมตัวกันเดินเท้าตั้งแต่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินกำแพงเพชรไปถึงรัฐสภาย่านเกียกกาย โดยมีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ออกมารับหนังสือข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากนายอนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
    นอกจากนี้ยังมี กมธ.อื่นๆ ด้วย อาทิ นายวัฒนา เมืองสุข รองประธาน กมธ.และประธานคณะอนุ กมธ.ประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน, นายโภคิน พลกุล, นายอนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคเพื่อไทย, นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ, นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่, นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ, นายศุภชัย ใจสมุทร  ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย เป็นต้น 
    จากนั้นเวลา 11.30 น. ตัวแทน ครช.ได้อ่านแถลงการณ์ว่า ครช.เสนอหลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนี้ 1.ให้ตรา พ.ร.บ.การรับฟังความเห็นของประชาชนว่าสมควรจะให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ โดยขอให้ ส.ส.เสนอร่าง พ.ร.บ.นี้ทันทีที่มีการเปิดประชุมสภาสมัยหน้า 
     2.ในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จัดทำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มีสาระสำคัญดังนี้ 2.1 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาจากการเลือกตั้ง โดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งและใช้จำนวนราษฎรเป็นเกณฑ์กำหนดจำนวน ส.ส.ร.ในแต่ละจังหวัด และให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยการรับฟังความเห็นตลอดกระบวนการ 2.2 ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เรื่องหลักเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยเพียงเสียงเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภาจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง 2.3 ให้เขียนในบทเฉพาะกาลของร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่าให้นำรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มาใช้ และจัดการเลือกตั้งและให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการเลือกตั้ง ส.ส.ร.เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ และ 3.หลังจาก ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ให้มีการจัดทำประชามติ หากประชาชนเห็นชอบก็ให้ประกาศใช้ต่อไป
    ตัวแทน ครช.กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่ของส.ส.ร. และ ครช.เห็นควรต้องให้ความสำคัญ ดังนี้ ประเด็นที่หนึ่ง สร้างสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้เข้มแข็ง ต้องให้สิทธิประชาชนเป็นใหญ่กว่ารัฐ ต้องเป็นรัฐสวัสดิการ สร้างหลักประกันรายได้ หลักประกันด้านสุขภาพ หลักประกันด้านการศึกษา พัฒนาประเด็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรม คุ้มครองผู้ถูกจับกุมไม่ให้ถูกควบคุมตัวเกิน 48 ชั่วโมง ต้องได้สิทธิประกันตัว สิทธิเข้าถึงทนายความ หลักประกันความเป็นอิสระของศาล คุ้มครองสิทธิการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิชุมชนและการมีที่อยู่อาศัย สิทธิของประชาชนที่จะเข้าชื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สิทธิสมัครรับเลือกตั้งโดยไม่จำกัดอายุ รวมทั้งการปฏิรูปกองทัพให้อยู่ใต้อำนาจพลเรือนด้วย
กมธ.พร้อมไปรับฟังแฟลชม็อบ
    ประเด็นที่สอง สร้างกลไกเข้าสู่อำนาจที่ยึดโยงกับประชาชน ได้แก่ 1.นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. ต้องไม่มีช่องทางสำหรับนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง 2.ต้องไม่มีระบบวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งหรือการคัดเลือกโดยบุคคลบางกลุ่ม แต่ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 3.ต้องไม่มีกระบวนการวางแผนปฏิรูปประเทศหรือยุทธศาสตร์ของประเทศที่ทำขึ้นโดยคนกลุ่มเดียว 4. ต้องไม่มีผู้บริหารท้องถิ่นที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง สนับสนุนการกระจายอำนาจ โดยไม่ต้องรอความพร้อมของท้องถิ่น และ 5.ต้องไม่มีการนิรโทษกรรมให้คณะรัฐประหารและไม่รับรองอำนาจคณะรัฐประหารให้มีผลชอบด้วยกฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญ
    จากนั้น เวลา 13.30 น. กมธ.วิสามัญศึกษาแก้ไข รธน.จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นนักศึกษา 45 มหาวิทยาลัย โดยมีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธาน กมธ. เป็นประธาน โดยนายพีระพันธุ์กล่าวเปิดเวทีว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่คำนึงถึงแต่ตัวเอง การที่คิดว่ามีสิทธิเสรีภาพจะทำอะไรก็ได้นั้น ถือว่าไม่ใช่ เพราะความจริงต้องคิดถึงคนอื่นด้วย เนื่องจากคนอื่นก็มีสิทธิเหมือนเรา ถ้าเราไม่คำนึงสังคมก็อยู่ไม่ได้ 
    นายพีระพันธุ์กล่าวว่า ที่ชาวอเมริกันรักรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ใช่เครื่องมือทางการเมือง ถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายของเขา ไม่ได้เป็นของนักการเมือง ดังนั้นหากเราทำให้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือคุ้มครองไม่ใช่เฉพาะการเมือง แต่คุ้มครองชีวิต จะทำให้ประชาชนรู้สึกหวงแหนและผูกพันกับรัฐธรรมนูญ
    “รัฐธรรมนูญมีสองส่วนที่เกี่ยวกับประชาชนคือ เรื่องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และเรื่องสิทธิในการบริหารประเทศ ดังนั้นทาง กมธ.จึงได้หารือว่าต้องทำรัฐธรรมนูญไม่ให้เป็นของฝ่ายการเมืองหรือคู่มือของฝ่ายการเมือง การที่เราจะทำแบบนี้ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม จึงได้ตั้งคณะอนุ กมธ.รับฟังขึ้นมา มอบหมายให้นายวัฒนา เมืองสุข ไปรับฟังทุกกลุ่มตามระยะเวลาที่ กมธ.มีอยู่ หนึ่งในกลุ่มที่สำคัญคือกลุ่มนักศึกษา" นายพีระพันธุ์กล่าว
    จากนั้นได้เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาได้แสดงความคิดเห็น โดยนายบุญเกื้อหนุน เป้าทอง ภาคีนักศึกษาศาลายา ม.มหิดล กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างโดยคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเราไม่ได้เลือกมา เราไม่มีปากเสียงอะไรเลย ต่อมาเมื่อมีการทำประชามติก็ไม่ให้เราออกมาส่งเสียงว่าทำไมจึงไม่เอารัฐธรรมนูญฉบับนี้ อยากเรียกร้องให้ กมธ.เปิดพื้นที่ให้นิสิตนักศึกษาทุกมหาวิทยาลัย 
    ด้านนายวิริยะ ก้องศิริ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญคือ ใช้รูปแบบรัฐธรรมนูญปี 40 โดยการตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างฯ เพราะรัฐธรรมนูญที่ไม่ดีย่อมทำให้ได้รัฐบาลที่ไม่ดี การมีรัฐธรรมนูญที่ดีจะทำให้ได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพและสามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้
    ด้านนายพร้อมสิน บุญจันทร์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ภาคีนักศึกษา ม.กรุงเทพ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเรามีการจัดแฟลชม็อบตามมหาวิทยาลัย เพื่อให้ กมธ.ได้ลงไปรับฟังความคิดเห็นตามที่นักศึกษาเสนอ จึงขอเชิญพวกท่านลงไปรับฟังความคิดเห็นที่มหาวิทยาลัย ไม่ต้องกลัวโควิด-19 พวกเราเตรียมการป้องกันไวรัสไว้แล้ว
7 พรรคเล็กเบรก"สุรทิน"
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักศึกษายังได้เรียกร้องให้ยกเลิกบทเฉพาะกาล มาตราสุดท้ายที่นิรโทษกรรมให้กับการรัฐประหารของคสช. เพราะเห็นว่าคนที่ทำการรัฐประหารควรได้รับการลงโทษ อีกทั้งยังเป็นการสิ้นเปลืองหน้ากระดาษในการเขียนรับรองเรื่องนี้ไว้
    ก่อนหน้านั้น นางสาวธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะโฆษก กมธ.ศึกษาแก้ไข รธน. แถลงสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมี 4 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้พิการ ประชาสังคม สตรี และกลุ่มแรงงาน 
    พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์กรณีที่กลุ่มเครือข่ายนิสิตนักศึกษาเดินขบวนไปที่รัฐสภาเพื่อขอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้ทราบว่ามีการตั้ง กมธ.ขึ้นมาเพื่อศึกษาและพิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้ว ส่วนตัวมองว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะสังคมมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำให้เกิดความสงบ หากจะแก้ไขก็ต้องแก้ไข แต่ขอให้เป็นหน้าที่ของ กมธ.ที่ตั้งขึ้นมาที่จะพิจารณาเรื่องดังกล่าว โดยจะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายให้มากที่สุด รวมถึงกลุ่มนักนิสิตนักศึกษาที่กำลังเคลื่อนไหว
    ด้าน นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ เปิดเผยว่า ตนเป็นตัวแทนของพรรคเล็ก ประกอบด้วย  พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ หัวหน้าพรรคพลังชาติไทย, นายสมเกียรติ ศรลัมพ์ หัวหน้าพรรคประชาภิวัฒน์, นายคฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล หัวหน้าพรรคพลังไทยรักไทย, นายปรีดา บุญเพลิง หัวหน้าพรรคครูไทยเพื่อประชาชน, พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์ หัวหน้าพรรคประชานิยม และนายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ หัวหน้าพรรคพลเมืองไทย แถลงตอบโต้นายสุรทิน พิจารณ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ กรณีไล่พรรคประชาธิปัตย์ออกจากการร่วมรัฐบาล จากนั้นได้ลามในการตอบคำถามว่าพร้อมเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยในช่วงปิดสมัยประชุมสภาถึงขั้นว่าเสนอให้มีการยุบสภาหากมีปัญหาไปจนถึงการเสนอให้ปฏิวัติ
    นพ.ระวีกล่าวว่า เป็นความเห็นของนายสุรทินเพียงพรรคเดียว พรรคอื่นในกลุ่ม 8 พรรคเล็กไม่เห็นด้วยในทิศทางนั้น เราเห็นว่าควรเป็นไปตามครรลองคลองธรรมที่ดี สำหรับจุดยืนของพวกเราในช่วงที่รัฐบาลนี้ประสบปัญหามาต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่สงครามการค้าระดับโลกระหว่างจีนกับอเมริกา วิกฤติภัยธรรมชาติ น้ำท่วมสลับกับภัยแล้ง ตามมาด้วยวิกฤติ พ.ร.บ.งบประมาณฯ ที่กว่าจะผ่านได้ มาจนถึงวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
    "กลุ่มพรรคเล็กมองว่านี่คือสงครามชีวภาพ เป็นสงครามที่ไม่ได้ประกาศสงคราม ไม่มีเสียงปืน โรคโควิด-19 ในประเทศไทยอีกไม่นานจะก้าวเข้าสู่ระยะที่ 3 ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่พรรคการเมืองและนักการเมืองจากทุกพรรค ไม่ว่าจะฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล ประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐทุกฝ่าย ต้องร่วมมือกันเป็นหนึ่งเดียวที่จะทำให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 ไปได้ ทุกคนต้องช่วยกันพายเรือประเทศไทยในครั้งนี้ ใครไม่พายก็ไม่ว่า แต่ไม่ควรเอาเท้าลงมาราน้ำ เมื่อผ่านพ้นวิกฤติของประเทศไปแล้ว ท่านจะมาขย่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ หรือขย่มรัฐบาลให้ต้องลาออกก็เป็นสิทธิของท่าน” นพ.ระวีกล่าว
"เต้น"เขย่าขวัญส้มหวาน
     นายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ส่วนหนึ่งกดดันให้พรรคถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล โดยอ้างว่าเพราะมีการทุจริตของรัฐมนตรีบางคน และไม่อยากพายเรือให้โจรนั่งว่า เป็นเพียงการเล่นละครเพื่อต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งรัฐมนตรีของพรรคใช่หรือไม่ เชื่อว่าสุดท้ายพรรคประชาธิปัตย์จะไม่ยอมออกจากการร่วมรัฐบาลอย่างแน่นอน หากหลุดจากการร่วมรัฐบาลไปแล้ว คงยากที่พรรคจะได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลอีก การออกมาแสดงเช่นนี้ก็เพียงต้องการเล่นบทพระเอกเท่านั้น 
        นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตพรรคอนาคตใหม่ เปิดเผยว่า ในวันที่ 14 มี.ค. จะยังไม่เข้าไปสมัครสมาชิกพรรคก้าวไกล เพราะยอมรับว่าไม่พอใจกับคำพูดของนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. และนายอภิชาติ ศิริสุนทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตพรรคอนาคตใหม่ ที่ออกมาโจมตีตนเองในทำนองว่าที่ได้เป็น ส.ส.เพราะพรรคอนาคตใหม่ เวลานี้ยังไม่ได้ตัดสินใจไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองไหนทั้งสิ้น 
    "ผมยอมรับว่าผมได้เป็น ส.ส.เพราะพรรคอนาคตใหม่ แต่ผมก็ช่วยพรรคอนาคตใหม่เต็มที่ ในร้อยเอ็ดผมก็ทำทุกอย่าง จนได้คะแนนมาจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ไม่ใช่เขตของนักศึกษา ผมก็รู้สึกไม่ดีเลย ผมก็ดูเหมือนกันว่าถ้าก้าวล่วงผมแบบนี้ ผมก็เป็นทนายความนะ ก็ดูอยู่เหมือนกัน เป็นคำพูดที่แย่มากและเสียความรู้สึก ผมกำลังตรวจสอบทุกอย่างเพื่อจะได้รู้ว่าวางตัวอย่างไรดี" นายคารม กล่าว 
    นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. กล่าวว่า คดีอาญากำลังติดตามนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และคณะอย่างกระชั้นชิด ต้องประเมินกันดีๆ จัดระยะห่างระหว่างคณะอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกลให้รอบคอบรัดกุม งานนี้เผลอๆ มีกิน 3 ต่อ กินธนาธร ด้วยคดีอาญา กินพรรคก้าวไกลด้วยคดียุบพรรคข้อหาครอบงำและกินสมาชิกที่เหลือในสภาพผึ้งแตกรัง    สำหรับพลังนิสิตนักศึกษาที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะค่อยๆ มอดลง ตนไม่เห็นอย่างนั้น พลังนี้เกิดแล้วและยังอยู่ จะมีพัฒนาการต่อไปข้างหน้าแน่ๆ. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"