"บิ๊กตู่" ออกสารแจงสถานการณ์โควิด-19 ขอทุกฝ่ายช่วยกันแก้ปัญหา วอนลดข่าวจับผิดป้ายสี "สธ." เผยมีผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 5 ราย พร้อมออกประกาศ 2 ฉบับ คุมเข้มโรงพยาบาลห้ามปฏิเสธรับตัวผู้ป่วย "สมาคมอุรเวชช์ฯ" ให้กำลังใจแพทย์-พยาบาลสู้ไวรัสหากเข้าสู่ขั้นรุนแรง "รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา" มั่นใจ รบ.ยกเลิก "วีโอเอ-ฟรีวีซ่า" ช่วยคุมโรคอยู่หมัดไม่เกินเดือน มี.ค.นี้ "ทร." ส่ง 240 ผีน้อยจากสัตหีบกลับไปกักที่ภูมิลำเนา "โพล" ชี้ ปชช.ต้องการหน้ากากอนามัยมากสุด
เมื่อวันที่ 13 มี.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้ออกสารถึงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคไวรัสปอดอักเสบ หรือโควิด-19 และสถานการณ์สำคัญอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อประเทศไทย เช่น ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาการว่างงาน ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นในห้วงเวลานี้เราจึงควรที่จะร่วมมือ รักสามัคคีกัน เพื่อฟันฝ่าอุปสรรคไปให้ได้ เรื่องมาตรการรองรับการระบาดของโควิด-19 เรามีหลายอย่างที่แตกต่างด้วยอัตลักษณ์ ความคิดความอ่าน จำนวนประชากร รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศ ซึ่งคงนำมาเปรียบเทียบกับต่างประเทศไม่ได้มากนักในการทำงานของรัฐบาลและส่วนราชการขณะนี้
พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า ที่ผ่านมารัฐบาลจำเป็นต้องนำข้อมูลจากต่างประเทศ แนวทางการปฏิบัติที่เป็นสากล และข้อมูลต่างๆในประเทศมาพิจารณาร่วมกัน มีองค์ประกอบหลายอย่าง หลายมิติ ที่ต้องช่วยกันแก้ไข ทุ่มเท เสียสละ ทั้งองค์กรภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน ภาคสื่อมวลชน สื่อสังคมออนไลน์ ต้องขอความกรุณาทุกส่วนช่วยกันหาทางออกให้ประเทศ ด้วยความเข้าใจ ใคร่ครวญ คิดวิเคราะห์ รับฟังและเชื่อมั่น เรื่องใดที่เป็นปัญหารัฐบาลก็กำลังดำเนินการแก้ไข แต่หากยังคงมีการให้ข่าวบิดเบือน ให้ร้าย ป้ายสีกันโดยจับแต่ประเด็นย่อยๆ ในขณะที่ทุกหน่วย ส่วนราชการกำลังทำงานใหญ่แก้ไขปัญหาให้ประชาชนอยู่ ถึงแม้อาจสร้างความลำบากให้กับภาครัฐในการปฏิบัติงานบ้าง แต่แน่นอนยังคงต้องขับเคลื่อนทุกกลไกให้เกิดการประสานสอดคล้องซึ่งกันและกัน รัฐบาลมีหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย มาตรการลงไป โดยใช้ข้อมูลจากหลายแหล่ง ประกอบกับข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่เผชิญอยู่
"ดังนั้นอยากจะขอร้องว่า ถ้าอยากจะสื่อความหรือวิพากษ์วิจารณ์ ก็ขอให้เป็นเรื่องๆ อย่างครบถ้วนทุกมุม เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด ไม่ใช่เอาแต่มองว่าล้มเหลวไปเสียทั้งหมด หรือรัฐบาลไม่มีความสามารถบ้าง ทุกคนควรต้องพิจารณาไตร่ตรองดูว่าขณะนี้สถานการณ์เป็นอย่างไร เปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศอื่นๆ ที่กำลังเผชิญปัญหาเดียวกันไม่ว่าจะการระบาดของโควิด-19 ภัยแล้ง ปัญหาความยากจน และอื่นๆ หลายประเทศมีการปกครองแตกต่างกัน มีอำนาจตามกฎหมายต่างกัน ประชาชนเชื่อฟัง เคารพกฎหมายต่างกัน หลายคนอาจมองว่าเรายังไม่เป็นประชาธิปไตย ขอให้พิจารณาดูว่าวันนี้เรามีประชาธิปไตยเต็มที่แล้วหรือยัง สื่อโซเชียลออกข่าวโดยเสรีหรือไม่ มีใครไปห้ามหรือปิดกั้นหรือไม่ถ้าไม่ผิดกฎหมาย หากเราใช้มาตรการทางสังคมเรียนรู้ คิดวิเคราะห์ เสนอหนทางปฏิบัติที่เหมาะสมที่รัฐบาลสามารถนำมาใช้ได้ ก็จะเป็นประโยชน์" พล.อ.ประยุทธ์ระบุ
ช่วงท้ายนายกฯ ระบุด้วยว่า รัฐบาลยืนยันจะดูแลพี่น้องประชาชนอย่างดีที่สุด การร่วมมือกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ในห้วงนี้คงต้องดำเนินการในทุกเรื่องควบคู่กันไป อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนทุกคนให้ความร่วมมือในการทำงานของรัฐบาลและส่วนราชการ เรื่องการระบาดของโรคโควิด-19 อย่าได้ตื่นตระหนก มีสติ ระมัดระวัง รับผิดชอบรักษาสุขภาพตนเอง ผู้อื่น และสังคม รัฐบาลขอให้ความเชื่อมั่นว่าเราทุกคนจะฝ่าฟันวิกฤติต่างๆ ไปได้ด้วยดี ขอขอบคุณในความร่วมมือ
ผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่ม 5 ราย
ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงสถานการณ์ป่วยติดเชื้อโรคโควิด-19 รายวันว่า วันนี้พบผู้ป่วยเพิ่มอีก 5 คน เป็นกลุ่มคนไทยที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้ป่วยเดิม ซึ่งเป็นการติดแบบกลุ่มก้อน โดย 2 คนแรกเป็นผู้ป่วยติดเชื้อ จากกลุ่มปาร์ตี้ทองหล่อ หญิง 1 คน ชาย 1 คน ส่วนอีก 3 คน เป็นกลุ่มผู้ป่วย ที่ใกล้ชิดกับหญิงป่วยเดิม ในรายที่ 57 ที่กลับมาจากไปศัลยกรรมในเกาหลีใต้ โดยพบว่าการติดในครอบครัวใกล้ชิดเป็นน้องชาย เพื่อนชายและหญิง รวมทั้งพบมีพฤติกรรมไปท่องเที่ยวสถานบันเทิงอีกด้วย โดยยอดรวมผู้ป่วยทิ้งสิ้น 75 คน
"ขณะนี้ประเทศไทยได้เริ่มพบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อน มีผู้ป่วยหลายรุ่น สธ.จะแจ้งผู้ประกอบการที่ผู้ป่วยไปรับบริการเพื่อดำเนินการทำความสะอาดตามมาตรการของ สธ. รวมทั้งจะค้นหากลุ่มผู้สัมผัสเพิ่มเติม เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน ขอเตือนประชาชนว่า หากป่วย มีไข้ ไอ มีน้ำมูก ให้หยุดพักอยู่ที่บ้าน รีบพบแพทย์ พร้อมให้ประวัติเสี่ยงสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ (สังสรรค์กับเพื่อนที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดของโรค) ให้แยกสำรับอาหาร แยกแก้วน้ำ ของใช้ส่วนตัวกับผู้อื่น ถ้าเราร่วมมือร่วมใจปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด กักกันตนเองเป็นเวลา 14 วันเมื่อกลับจากพื้นที่ระบาดต่อเนื่อง จะช่วยให้ประเทศไทยชะลอการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างในประเทศได้" ปลัด สธ.กล่าว
ส่วน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสถานพยาบาลเอกชนในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ป่วยฉุกเฉินโควิด-19 สบส.จึงจัดทำประกาศกระทรวงสาธารณสุข 2 ฉบับขึ้น โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 มี.ค.2563 ได้แก่ 1.ประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง กำหนดผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ซึ่งกำหนดให้ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 จะต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉินจากสถานพยาบาลตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการของสถานพยาบาลต้องควบคุมและดูแลให้มีการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วยเพื่อให้พ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพและตามประเภทของสถานพยาบาลนั้นๆ ห้ามปล่อยปละละเลย ปฏิเสธการรักษา และหากมีความจำเป็นต้องส่งต่อหรือผู้ป่วยมีความประสงค์จะไปรับการรักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลอื่นจะต้องจัดการให้มีการจัดส่งต่อไปยังสถานพยาบาลอื่นตามความเหมาะสม ห้ามมิให้ผู้ป่วยเดินทางไปรับการรักษาต่อด้วยตนเอง
นอกจากนี้ 2.ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 การระดมทรัพยากรและมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเยียวยาและการจัดให้มีการส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลอื่น ซึ่งกำหนดให้ผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการของสถานพยาบาลต้องจัดให้มีหน่วยคัดกรองผู้รับบริการ ซึ่งหากคัดกรองแล้วพบอาการเข้าเกณฑ์การเฝ้าระวังผู้ป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 จะต้องจัดให้ผู้ป่วยสวมหน้ากากอนามัยและดำเนินการใดๆ เพื่อควบคุม ระงับ หรือบรรเทาอันตราย พร้อมแจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ หากเป็นสถานพยาบาลประเภทที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน (โรงพยาบาล) จะต้องจัดให้มีการเก็บตัวอย่างส่งตรวจจากผู้ป่วยและส่งไปยังห้องปฏิบัติการตามที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด แต่หากเป็นสถานพยาบาลประเภทที่ไม่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน (คลินิก) จะต้องแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทำการส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลอื่นที่มีศักยภาพโดยทันที
"หากสถานพยาบาลใดฝ่าฝืน ปล่อยปละละเลย ปฏิเสธการรักษา หรือปล่อยให้ผู้ป่วย/ผู้ที่มีอาการเข้าเกณฑ์การเฝ้าระวังผู้ป่วยโควิด-19 เดินทางไปรักษาต่อ ณ สถานพยาบาลอื่นด้วยตนเอง จะถือว่ามีความผิด" อธิบดี สบส.ระบุ
ทร.ส่งผีน้อยกักตัวที่บ้าน
เฟซบุ๊กของสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้โพสต์เผยแพร่แถลงการณ์เรื่อง แด่นักรบในเสื้อกาวน์ ที่จะต้องรับมือผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 อาการรุนแรง โดย รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ข้อความตอนหนึ่งระบุว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยบางรายที่น่าจะติดเชื้อจากการระบาดภายในประเทศเราเอง ซึ่งหมายถึงการเริ่มข้าสู่สถานการณ์ของโรคระยะที่ 3 นั้น โรงพยาบาลของรัฐและเอกชนทุกแห่ง จะต้องค้นหาผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 ที่มีอาการรุนแรงหรือผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังบางชนิดอยู่เดิม ซึ่งเมื่อเริ่มติดเชื้อCOVID-19 แล้วมีโอกาสโรครุนแรงสูงเพื่อรับตัวไว้ในโรงพยาบาลสำหรับการรักษาให้หายขาด ลดการสูญเสียให้น้อยที่สุด และที่สำคัญคือช่วยตัดวงจรการระบาดต่อไป ซึ่งการที่จะถึงพร้อมในหน้าที่เหล่านี้ จำเป็นที่จะต้องจัดเตรียมองค์ความรู้ จัดหาการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่รวดเร็วและแพร่หลาย จัดเตรียมยาและอุปกรณ์การแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ และจัดหาอุปกรณ์ป้องกันตนเองสำหรับบุคลากรทางการแพทย์อย่างเพียงพอ
"เป็นอีกครั้งหนึ่งที่แสดงให้ห็นว่ากลไกของรัฐที่จะตอบสนองต่อภาวะวิกฤติของประเทศมักจะตามหลังสถานการณ์จริงอย่างน้อยหนึ่งก้าวเสมอ แต่นั่นไม่ได้ทำให้จิตวิญญาณของพวกเราเหล่าวิชาชีพแพทย์และวิชาชีพอื่นที่เกี่ยวข้อง จะยอมจำนนให้กับศัตรูตัวจิ๋วที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าโดยง่าย และพวกเราก็จะไม่ยอมก้มหัวให้กับผู้รับผิดชอบระดับสูงที่ขาดความเชี่ยวชาญและเข้าใจบริบทการทำงานของพวกเราอย่างถ่องแท้ ได้เวลาแล้วที่พวกเราต้องเตรียมทำศึกแม้จะไม่มีอาวุธที่มีประสิทธิภาพและแม่ทัพที่เด็ดขาดเข้มแข็ง สิ่งหนึ่งที่จะช่วยยึดเหนี่ยวอุดมการณ์ของพวกเราไว้ได้ในสถานการณ์เช่นนี้ คือคำสอนของสมเด็จพระบรมราชชนก ผู้ก่อกำเนิดการแพทย์แผนใหม่ในประเทศสยาม ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจหนึ่ง" แถลงการณ์ระบุ
ที่ศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำเนียบรัฐบาล นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า เรายังโชคดีที่ยังรักษาระดับการควบคุมได้เป็นอย่างดี ยังอยู่ใยระยะที่สอง โดย 2 เดือนครึ่งที่ผ่านมาเรายังสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ การจัดตั้งศูนย์บริการสถานการณ์โควิด-19 เพื่อยกระดับการบริหารจัดการสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ให้อยู่ในวงจำกัด เป็นการเตรียมการล่วงหน้าในกรณีที่มีการแพร่ระบาด เผื่อสถานการณ์เพิ่มขึ้นเราจะต้องทำงานอย่างไร ซึ่งนายกฯ ห่วงว่าจะมีผลกระทบต่อการทำงานของทุกหน่วยงาน
อย่างไรก็ตาม นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า มาตรการของรัฐบาลที่ออกมา ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกวีโอเอ ฟรีวีซ่านั้น มั่นใจว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะถ้าไม่ประกาศ การคัดกรองจะทำได้ยาก เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะยุติได้ในเดือน มี.ค.
วันเดียวกัน ที่ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์การดูแลสุขภาพคนไทยที่เดินทางมาจากเกาหลีใต้ กองทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี กองทัพเรือและสาธารณสุขได้ร่วมส่งแรงงานไทยในเกาหลีใต้ในพื้นที่กักกัน จำนวน 240 คน กลับสู่ภูมิลำเนาของตนเอง ซึ่งก่อนออกเดินทางเจ้าหน้าที่กรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือได้ฉีดชำระล้างฆ่าเชื้อให้กับผู้เดินทาง ก่อนที่รถทุกคันจะเคลื่อนตัวออกจากที่หมายตามเวลาที่กำหนดไว้ โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 6 จาก 8 จังหวัด กว่า 40 คน ควบคุมการปฏิบัติจนส่งไม้ต่อให้กับทางสาธารณสุขของแต่ละจังหวัด
ปชช.ต้องการหน้ากาก
ที่ จ.เชียงใหม่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมประชาชนที่กักตัวเองที่บ้านตามระบบ home quarantine และไปเยี่ยมประชาชนที่กักตัวเองตามระบบ local quarantine ในพื้นที่ตำบลฟ้าฮ่าม และที่กองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัดเชียงใหม่ ที่ 1 อำเภอเมืองเชียงใหม่ หลังจากมีประชาชนที่กลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง โดยมีการสอบถามอาการ ความเป็นอยู่ และเยี่ยมให้กำลังใจผู้ที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงที่ร่วมมือ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่ช่วยกันตอนนี้อย่างดีมาก
จ.ปัตตานี นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี พร้อมด้วยชาวไทยมุสลิมกว่า 200 คน ได้ร่วมละหมาดฮายัต เพื่อขอพรจากผู้เป็นพระเจ้า ขอพรให้ประชาชนชาวไทยทุกคนและทั่วโลกรอดพ้นจากโรคไวรัสโควิด-19 และจงรอดปลอดภัยและอย่าให้มีการสูญเสียชีวิตกับโรคดังกล่าว
ขณะที่ นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้สั่งการให้จัดทำเอกสารแนวปฏิบัติป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เพื่อให้ ส.ส.ทุกคนนำไปประชาสัมพันธ์เผยแพร่ต่อประชาชนในพื้นที่ของตัวเอง โดยเฉพาะในช่วงปิดสมัยประชุมสภาฯ เพื่อให้รู้วิธีปฏิบัติตัวให้ถูกต้องตามสุขลักษณะ อันจะทำให้ปลอดจากการติดเชื้อโควิด-19 และป้องกันการระบาดไปสู่ระยะที่ 3 หรือคุมสถานการณ์ไม่อยู่ และ ส.ส.จะได้มีส่วนร่วมในการรณรงค์จากการลงพื้นที่ด้วย
มีรายงานความคืบหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) จะเสนอญัตติเปิดสมัยประชุมวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรว่า นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้าน แจ้งว่าจะเป็นผู้ไปเจรจากับพรรคร่วมฝ่ายค้าน รวมถึงฝ่ายรัฐบาล เพื่อขอความร่วมมือด้วยตัวเอง เนื่องจากการจะขอเปิดสมัยประชุมวิสามัญของสภานั้น จะต้องใช้เสียง 1 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภา หรือประมาณ 250 เสียง
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรค พท. กล่าวว่า รัฐบาลมีปัญหาและอ่อนด้อยเรื่องการบริหารจัดการข้อมูลข่าวสาร อ่อนด้อยด้านการสื่อสาร เสมือนหนึ่งรัฐบาลกำลังทำไอโอตัวเอง คือ ด้อยค่า แพร่มลทิน ตัวรัฐบาลเอง การปล่อยให้ผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐ เดินหน้าฟ้องแหลก บางกรณีลามไปถึงการฟ้องร้องภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพยายามจะปฏิเสธความรับผิดชอบของตัวเองหรือไม่ เป็นสัญญาณว่ากำลังเกิดวิกฤติอย่างหนัก รัฐบาลไม่ต้องกังวลว่าฝ่ายการเมืองจะนำเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มาเป็นเรื่องการเมือง เพราะในอีกบริบททุกชีวิตล้วนตกอยู่ในสภาวะความเสี่ยง ทุกคนมีโอกาสติดเชื้อได้หมด ช้าหรือเร็ว
ด้าน นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.), กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ ดร.ชะนวนทอง ธนสุกาญจน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยสำรวจเรื่อง ศึกษาความต้องการของประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 พบว่า ความต้องการของประชาชนเรื่องการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่วนใหญ่ร้อยละ 61.5 ระบุแจกหน้ากากอนามัย, ร้อยละ 51.2 ระบุประชาสัมพันธ์ให้ทราบข้อมูลที่เชื่อถือได้เป็นจริง, ร้อยละ 45.9 ระบุเปิดวอร์รูม ศูนย์ปฏิบัติการ 24 ชั่วโมง ตอบคำถาม ช่วยเหลือประชาชน, ร้อยละ 45.2 ระบุแจกเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ, ร้อยละ 41.5 ระบุมีคลินิกพิเศษเฉพาะกิจบริการฟรีประชาชนตามจุดชุมชนต่างๆ ตามเมืองใหญ่ แหล่งท่องเที่ยว และบอกให้ประชาชนรู้ด้วย, ร้อยละ 38.9 ระบุตรวจสุขภาพฟรีตามจุดชุมชนหนาแน่น จุดเสี่ยง และร้อยละ 34.5 ตรวจวัดไข้ตามแหล่งคนหนาแน่น เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาดสด ตามลำดับ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |