ครช.บุกรัฐสภายื่นหนังสือแก้รธน. เรียกร้องตั้งส.ส.ร.-นายกฯมาจากการเลือกตั้ง-เลิกส.ว.แต่งตั้ง


เพิ่มเพื่อน    

13 มี.ค.63 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน(ครช.) และเครือข่าย People Go Network เดินเท้าตั้งแต่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินกำแพงเพชร จากนั้นข้ามถนนไปฝั่งตลาด อตก. เดินตรงไปบนทางเท้าริมถนนกำแพงเพชร มุ่งหน้าสู่ถนนพระรามที่ 6 และเดินตรงไปจนถึงแยกประดิพัทธ์ กรุงเทพฯ 

ต่อมาเลี้ยวขวา เดินตรงไปตามทางเท้าข้ามสะพานแดง เพื่อเข้าสู่ถนนทหาร กระทั่งเวลา 11.00 น. ขบวนได้เดินทางถึงรัฐสภา ทั้งนี้ มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ออกมารับหนังสือข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากนายอนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นอกจากนี้ยังกมธ.อื่นๆด้วย อาทิ นายวัฒนา เมืองสุข รองประธานกมธ. และประธานคณะอนุกมธ.รับฟังความคิดเห็นและประชาชน นายโภคิน พลกุล  นายอนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กรุงเทพ พรรคเพื่อไทย นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ นายศุภชัย ใจสมทุร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย เป็นต้น 

จากนั้นเวลา 11.30 น. ตัวแทนครช.ได้อ่านแถลงการณ์ว่า ครช.เสนอหลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนี้ 1.ให้ตราพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การรับฟังความเห็นของประชาชนว่าสมควรจะให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ความเห็นของประชาชนมีผลผูกพันในทางกฎหมายและทางการเมืองต่อองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยขอให้ส.ส.เสนอร่างพ.ร.บ.นี้ทันทีที่มีการเปิดประชุมสภาสมัยหน้า  

2. ในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้จัดทำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ 2.1 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจากการเลือกตั้ง โดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งและใช้จำนวนราษฎรเป็นเกณฑ์กำหนดจำนวนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในแต่ละจังหวัด และให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยการรับฟังความเห็นตลอดกระบวนการ ​

2.2 ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เรื่อง หลักเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยเพียงเสียงเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภาจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง 2.3 ให้เขียนในบทเฉพาะกาลของร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่า ให้นำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาใช้และจัดการเลือกตั้ง และให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ และ3.หลังจากสภาร่างรัฐธรรมนูญยกร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ให้มีการจัดทำประชามติว่าประชาชนเห็นชอบหรือไม่ หากประชาชนเห็นชอบก็ให้ประกาศใช้ต่อไป

ตัวแทนครช. กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่ของส.ส.ร. และครช.เห็นควรต้องให้ความสำคัญ ดังนี้ ประเด็นที่หนึ่ง สร้างสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้เข้มแข็ง ได้แก่ 1.ต้องพัฒนาหลักการทั่วไป ต้องให้สิทธิประชาชนเป็นใหญ่กว่ารัฐ ไม่มีเงื่อนไขการจำกัดสิทธิเสรีภาพด้วยเหตุ “ความมั่นคงของรัฐ”​ไม่ถูกจำกัดด้วยกฎหมายที่ออกภายหลัง​ 

2.ต้องประเด็นรัฐสวัสดิการ ต้องสร้างหลักประกันรายได้ หลักประกันด้านสุขภาพ หลักประกันด้านการศึกษา คำนึงถึงการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาค และการเข้าถึงการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐต้องเสมอกัน โดยไม่แบ่งแยกตามฐานะ 

3.ต้องพัฒนาประเด็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ต้องคุ้มครองผู้ถูกจับกุมไม่ให้ถูกควบคุมตัวเกิน 48 ชั่วโมง ต้องได้สิทธิประกันตัว สิทธิเข้าถึงทนายความ หลักประกันความเป็นอิสระของศาล โดยไม่แบ่งแยกตามฐานะ 

4.ต้องพัฒนาประเด็นสิทธิชุมชน ต้องคุ้มครองสิทธิการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิชุมชนและการมีที่อยูอาศัย สิทธิในที่ดินทำกิน สิทธิในการเข้าถึงแหล่งอาหารที่ปลอดภัย สิทธิในการผลิตและการตลาดที่เท่าเทียม 

5.ต้องพัฒนาสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ได้แก่ สิทธิของประชาชนที่จะเข้าชื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สิทธิสมัครรับเลือกตั้งโดยไม่จำกัดอายุ รวมทั้งการปฏิรูปกองทัพให้อยู่ใต้อำนาจพลเรือนด้วย

ตัวแทนครช. กล่าวต่อว่า ประเด็นที่สอง สร้างกลไกเข้าสู่อำนาจที่ยึดโยงกับประชาชน ได้แก่ 1.นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส.  ต้องไม่มีช่องทางสำหรับนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง​2.ต้องไม่มีระบบวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง หรือการคัดเลือกโดยบุคคลบางกลุ่ม แต่ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ​3.ต้องไม่มีกระบวนการวางแผนปฏิรูปประเทศ หรือยุทธศาสตร์ของประเทศ ที่ทำขึ้นโดยคนกลุ่มเดียว หรือมีที่มาจากคนกลุ่มเดียว 

4. ต้องไม่มีผู้บริหารท้องถิ่นที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิกำหนดอนาคตตัวเอง สนับสนุนการกระจายอำนาจ โดยไม่ต้องรอความพร้อมของท้องถิ่น และ ​5. ต้องไม่มีการนิรโทษกรรมให้คณะรัฐประหาร และไม่รับรองอำนาจคณะรัฐประหารให้มีผลชอบด้วยกฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญ

ด้านนายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ขอขอบคุณครช.และเครือข่ายที่กรุณามาพบคณะกมธ.ซึ่งเราตั้งใจจะรับฟังเสียงของประชาชนอยู่แล้ว  และขอให้มั่นใจว่ารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน ดังนั้นประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งได้มอบหมายให้นายวัฒนา เมืองสุข รับผิดชอบในการทำหน้าที่ตรงนี้ การที่ทุกคนเดินทางมาไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดและขอบคุณที่ทำให้ทางกมธ.ประหยัดเวลาในการออกไปรับฟังความคิดตามจุดต่างๆอีกด้วย ทั้งนี้ ขอให้ทุกคนมั่นใจว่าจะนำไปเป็นข้อมูลประกอบการการพิจารณาต่อไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"