ตามรอยอารยธรรมล้านนา ผ่านโบราณสถานเชียงใหม่-ลำพูน (1)


เพิ่มเพื่อน    

โครงกระดูกที่เวียงท่ากานในท่านอนงอเข้า

    ในพื้นที่ภาคเหนือเรียกได้ว่าเป็นแหล่งประวัติศาสตร์สำคัญ ทั้งในแง่อารยธรรม โบราณสถาน รวมไปถึงเครื่องมือในการดำรงชีวิตในอดีต ด้วยเหตุนี้ กรมศิลปากร จึงนำคณะสื่อมวลชนเดินทางไปศึกษาดูงานในโครงการสื่อมวลชนสัญจร “ตามรอยอารยธรรมล้านนา” ที่จังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน ซึ่งเป็นแหล่งโลหกรรม สถาปัตยกรรม จิตรกรรมล้านนาที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ทั้งนี้เพื่อได้นำความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับงานด้านศิลปวัฒนธรรม รวมถึงการอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้รับรู้ และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และดูแลสืบไป ในระหว่างวันที่ 26-28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

หลุมขุดค้นเวียงท่ากาน


    นายพนมบุตร จันทรโชติ รองอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า จุดประสงค์ในการมาศึกษาดูงานการดำเนินโครงการของสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ที่ได้ทำการศึกษาโบราณสถานในพื้นที่ช่วง 5 ปี อาทิ ผลการดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่วัดท่ากาน ซึ่งที่บริเวณกลางเวียงท่ากานมีการใช้พื้นที่มาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 13-20 รวมไปถึงการดำเนินงานทางโบราณคดีกลุ่มโบราณสถานสบแจ่ม ในเขต ตำบลบ้านแปะ อำเภอจอมทอง ซึ่งพบสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมที่มีรูปแบบอิทธิพลสุโขทัย นับเป็นข้อมูลสำคัญที่เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของล้านนาและแอ่งที่ราบเชียงใหม่ ซึ่งมีแหล่งโบราณคดีที่สำคัญ ได้แก่ จิตรกรรมฝาผนังวัดป่าแดด อำเภอแม่แจ่ม เป็นอีกส่วนที่สำคัญ โดยได้เริ่มโครงการคัดลอกจิตรกรรมฝาผนังในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ โดยกลุ่มอนุรักษ์จิตรกรรมและประติมากรรม เจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ วัดพระเจ้าดำ เป็นต้น ดังนั้นการอนุรักษ์โบราณสถานซึ่งเป็นสมบัติของชาติเพื่อให้คงอยู่ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป

โมเดลหลุมขุดค้นเวียงท่ากาน


    นายไกรสินธุ์ อุ่นใจจินต์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ กล่าวเสริมว่า ความเป็นมาของภาคเหนือตอนบน อย่างที่ทราบว่ามาจากอาณาจักรล้านนา แต่เมื่อได้ทำการศึกษาลึกลงไปก็จะพบว่าก่อนการเกิดอาณาจักรล้านนาปรากฏร่องรอยของบ้านเมืองซึ่งอยู่ในระยะกึ่งประวัติศาสตร์ โดยพบใน 2 พื้นที่ ได้แก่ 1.เชียงราย-เชียงแสน และ 2.เชียงใหม่-ลำพูน โดยในพื้นที่เชียงใหม่-ลำพูนมีความโดดเด่นในการนำพุทธศาสนาเข้ามาเผยแผ่ทางภาคเหนือในสมัยพระนางจามเทวี โดยในตำนานได้บอกเล่าไว้ว่าเกิดขึ้นเมื่อช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 แต่หลักฐานจารึกปรากฏว่าพุทธศาสนาเข้ามาในพุทธศตวรรษที่ 17 ทำให้ยังยืนยันได้ไม่ชัดเจนว่าพระนางจามเทวีเสด็จมาจริงหรือไม่ ในส่วนของจังหวัดลำพูน ที่อำเภอลี้ เมื่อ 4-5 ปีที่แล้วได้มีการพบภาพเขียนสี และที่สำคัญคือ พบแหล่งโลหกรรมต่างๆ ที่บ่งบอกถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ภูมิปัญญาในการสร้างเตาถลุงเหล็ก และพื้นที่แหล่งโลหะของคนในสมัยอดีตที่ได้ทำการศึกษาอย่างต่อเนื่องต่อไป

ร่องโบราณคดีอื่นๆในวัดพระเจ้าดำ

เจดีย์ทรงระฆังที่วัดพระเจ้าดำ


    ขณะที่ พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่กลุ่มโบราณสถานสบแจ่ม วัดพระเจ้าดำ อำเภอจอมทอง พื้นที่นี้พบเจดีย์ก่อด้วยอิฐสูง ตั้งโดดเด่นอยู่ห่างจากถนนไม่มากนัก ล้อมรอบด้วยสวนของชาวบ้านในพื้นที่ ที่นี่ถือได้ว่าเป็นแหล่งข้อมูลใหม่ที่มีการพบโบราณสถานสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมรูปแบบอิทธิพลของสุโขทัย คือ เจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์และกำแพงแก้วแบบเสากลม นายสายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดีชำนาญการ ให้ข้อมูลพื้นที่นี้ว่า ในพื้นที่วัดพระเจ้าดำถือได้ว่าเป็นการค้นพบอิทธิพลของสุโขทัยที่ใหญ่ที่สุดในล้านนา  ในอดีตเคยมีประวัติการค้นพบพระประธานองค์สีดำ ต่อมาได้มีการอัญเชิญไปประดิษฐานที่เวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน ซึ่งวัดแห่งนี้ได้ทำการศึกษามากว่า 2 ปี เพราะที่ตรงนี้มีการใช้พื้นที่อย่างซับซ้อนต่อเนื่อง

เจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์


    "เจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ หรือเจดีย์ทรงดอกบัวตูม มีความสมบูรณ์ที่สุดและมีความใกล้เคียงรูปแบบเฉพาะของสุโขทัย ตัวฐานด้านล่างเป็นฐานเขียง ตรงกลางเป็นฐานบัว มีลูกแก้วอกไก่แบบล้านนา เหนือขึ้นไปเป็นเรือนทาสยืดสูง มีกลีบขนุนประดับด้านทิศตะวันตก มีจุดที่ต่างจากรูปแบบสุโขทัยอยู่ตรงฐานบัว เพราะแบบสุโขทัยจะใช้ลูกฟัก ซึ่งทำให้เจดีย์นี้มีความพิเศษ คาดว่าเจดีย์นี้เกิดขึ้นในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19-ต้นพุทธศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นการเผยแพร่เข้ามาของอิทธิพลสุโขทัย โดยพญากือนา กษัตริย์องค์ที่ 6 ของล้านนา ซึ่งได้นิมนต์พระสุมนเถระจากสุโขทัย เพื่อมาเผยแผ่ศาสนาแบบลังกาวงศ์ครั้งแรกในล้านนา และยังล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วที่เลียนแบบวัฒนธรรมสุโขทัย ในการสร้างกำแพงล้อมวัด โดยใช้อิฐหน้าวัวก่อเรียงซ้อนกัน มีเสาประมาณกว่า 100 ต้นด้วย" สายกลางเล่า

กำแพงแก้ว


    ในพื้นที่เดียวกันยังพบเจดีย์ช้างล้อม (วัดช้างค้ำ) ที่อยู่ท่ามกลางพื้นที่โล่ง ปกคลุมด้วยต้นไม้ใบหญ้า เหลือเพียงหลักฐานที่เด่นชัดสุดคือตรงส่วนเท้าของช้าง สายกลางได้เล่าว่าเจดีย์ช้างล้อมแห่งนี้ถือเป็นองค์ที่ 12 ของล้านนา โดยสันนิษฐานว่าเป็นเจดีย์ทรงระฆัง น่าจะเป็นสิ่งก่อสร้างสมัยแรก และต่อมามีการประดับด้วยช้างปูนปั้นครึ่งตัวบริเวณฐานเขียง นอกจากนี้ยังมีที่วัดป่าแดง แต่ในปัจจุบันไม่เหลือหลักฐานตัวช้าง แต่มีรายงานการเขียนไว้ว่าวัดแห่งนี้ปรากฏช้างล้อมด้วย

ส่วนตัวช้างที่หักพัง

ส่วนเท่้าช้างที่พบในวัดช้างค้ำ


    ถัดมาที่ สุสานโบราณเวียงท่ากาน วัดท่ากาน ตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตอง แม้จะไม่มีโอกาสได้ไปดูหลุมขุดค้นจริงๆ แต่ก็ยังได้เห็นในรูปแบบหุ่นจำลอง 3 มิติ หลุมขุดค้นทางโบราณคดี นางสาวนงไฉน ทะรักษา นักโบราณคดีปฏิบัติการ บอกว่า ในปี 2556 ได้ดำเนินการขุดค้นโบราณคดีที่สัดท่ากาน บริเวณหน้าโรงครัว ซึ่งได้พบโครงกระดูก 35 โครง และในปี 2562 ขุดพบอีก 4 โครง โดยโครงกระดูกทั้งหมดถูกฝังอยู่ในท่านอนงอเข่า ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษ เหมือนเพียงที่เดียวคือแหล่งโบราณคดีดงแม่นางเมือง จังหวัดนครสวรรค์ และยังพบการฝังศพม้าที่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย เป็นหลักฐานได้ว่าชาวบ้านในภาคเหนือมีการเลี้ยงม้ามาตั้งแต่ราว 1,000 ปีที่แล้ว ซึ่งต้องควานหาหลักฐานเกี่ยวกับถิ่นที่อยู่อาศัยเพิ่มเติม เพื่อรักษาโครงกระดูกให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุดเราจึงได้สร้างโมเดลหลุมขุดค้นโบราณคดีจำลอง 3 มิติขึ้นมา โดยใช้ภาพถ่ายประกอบสร้างเป็น 1 หลุม กว่า 1,300 รูป ขนาด 1:50 นอกจากนี้ในพื้นที่ยังพบลูกปัดคาร์เนเลียนและกระปุกสมัยราชวงศ์ซุ่งใต้

พนมบุตร จันทรโชติ

สายกลาง  จินดาสุ

นงไฉน ทะรักษา

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"