12 มี.ค. 2563 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในโอกาสเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ว่าไทยตั้งเป้าหมายก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) และเป็นศูนย์กลางผลิตจักรยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียนให้ได้ภายใน 5 ปี หรือปี 2568 โดยเน้นนโยบายจูงใจให้ประชาชนเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าผ่านมาตรการลดภาษีสรรพสามิต หรือ ยกเว้นค่าธรรมเนียมต่างๆ ทั้งยังให้ความเป็นธรรมกับผู้ประกอบผลิตรถยนต์ในประเทศ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า แผนแม่บทการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าจะนำร่องการใช้งานในกลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้างผ่านโครงการวินสะอาด ตั้งเป้าหมายให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างเปลี่ยนมาใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 53,000 คัน ภายใน 3 ปี หรือปี 2566 ใช้งบประมาณ 2,954 ล้านบาท คาดจะสามารถประหยัดพลังงานและค่าซ่อมบำรุง 5,891 ล้านบาท ทำให้เกิดผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจประมาณ 2,936 ล้านบาท
โดยแนวทางเบื้องต้นรัฐมีแนวคิดทำโครงการรับซื้อรถเก่าแลกรถใหม่ 15,000 บาทต่อคัน ระยะเวลา 3 ปี วงเงินสนับสนุน 750 ล้านบาท อีกทั้งจะประสานสถานบันการเงินปล่อยกู้ให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างไฟฟ้าที่เป็นเจ้าของเสื้อวิน รัฐจะชดเชยดอกเบี้ยส่วนต่างราคา เป็นระยะเวลา 3 ปี 10,080 บาทต่อคัน คิดเป็นวงเงิน 547.2 ล้านบาท ค่าเปลี่ยนแบตเตอร์รี่ 6 ปี 30,000 บาทต่อคัน วงเงินสนับสนุน 1,590 ล้านบาท
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า แม้การให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างเปลี่ยนมาใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าจะรถมีราคาสูงกว่าเดิม แต่สามารถประหยัดการใช้พลังงานได้มากขึ้นโดยระยะทาง 100 กิโลเมตร จะเสียค่าพลังงานไม่เกิน 10 บาท จากเดิมต้องใช้น้ำมันประมาณ 2 ลิตร คิดเป็นเงิน 55 บาท ประหยัดได้ 45 บาท
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับมาตรการนำร่องการใช้งานรถยนต์อีวีในส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจ โดยรถที่เข้าร่วมโครงการต้องเป็นรถที่ผลิตในประเทศหรือรถทดลองนำเข้า ตามเงื่อนไขของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งจะได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม ตั้งเป้าหมายซื้อหรือเช่ารถประจำตำแหน่งสะสม 8,500 คัน รถใช้งานของราชการ 7,500 คันต่อปี เป็นรถรองนายกรัฐมนตรี 4 ล้านบาท รัฐมนตรีว่าการ 3.7 ล้านบาท ปลัดกระทรวง 2.8 ล้านบาท อธิบดี 1.6 ล้านบาท รองอธิบดี 1.2 ล้านบาท
ส่วนมาตรการนำร่องใช้รถอีวีประชารัฐ ตั้งเป้าหมายส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด 25,000 คัน และรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอร์รี่ 25,000 คัน วงเงินงบประมาณ 5,000 ล้านบาท โดยให้สิทธิประโยชน์รับซื้อรถเก่านำไปแลกรถคันใหม่สูงสุด 1 แสนบาทต่อคัน สำหรับยี่ห้อรถและรุ่นที่รัฐกำหนด แต่ผู้ขายต้องรับผิดชอบกำจัดซากรถเก่าเอง
และมาตรการนำร่องการใช้รถบัสไฟฟ้า จะเริ่มจากรถโดยสารสาธารณะขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) 50 คัน รถบัสในสนามบิน 50 คัน ตั้งเป้าหมายทยอยเปลี่ยนจนครบ 5,000 คันใน 5 ปี อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม ไปร่วมกันพิจารณารายละเอียดแผนการดำเนินงาน พร้อมมอบหมายให้บีโอไอทบทวนมาตรการส่งเสริมเพิ่มเติม เพื่อนำกลับมาเสนออีกครั้ง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |