เช็กบิลคดีอาญา ผลพวงคดีหุ้นสื่อ วิบากกรรม ฉากใหม่ 'ธนาธร'


เพิ่มเพื่อน    

       วิบากกรรมรอบใหม่ของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่แม้จะโดนตัดสิทธิ์การเมือง 10 ปี จากคดียุบพรรคอนาคตใหม่ เรื่องเงินกู้ 191 ล้านบาท แต่ผลพวงจากคดีความในชั้นศาลรัฐธรรมนูญเรื่องถือหุ้นสื่อ ที่ศาล รธน.วินิจฉัยว่าธนาธรถือหุ้นก่อนลงเลือกตั้ง จนทำให้พ้นจากการเป็น ส.ส. ได้ลากยาวกลายมาเป็นคดีอาญาขึ้นมาแล้ว

               หลังที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา มีมติให้เจ้าหน้าที่สำนักงาน กกต.ดำเนินการแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง เพื่อให้ดำเนินคดีอาญากับธนาธร  กรณีรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีคุณสมบัติในการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แต่ยังใช้สิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้ง ผิดมาตรา 151 พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 อันเป็นผลจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่  20 พ.ย.61 ที่วินิจฉัยให้สมาชิกภาพ ส.ส.ของธนาธร สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) จากกรณีถือหุ้นสื่อบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ฯ

                ทั้งนี้โทษความผิดตามมาตรา 151 ของ พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.ดังกล่าว หากธนาธรไม่รอด คือต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 2 หมื่น - 2 แสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี

                การขยับของ กกต.ดังกล่าว ที่ใช้เวลาร่วม 3 เดือนกว่าหลังศาล รธน.วินิจฉัยเรื่องนี้เมื่อเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว จนสุดท้ายมีการเอาผิดคดีอาญากับธนาธร มีรายงานว่าฝ่ายกฎหมายของสำนักงาน กกต.มีการชงเรื่องสรุปกระบวนการ ขั้นตอนทางกฎหมาย ประเด็นการเอาผิดทางคดีอาญากับธนาธร ให้วงประชุมใหญ่ 7 เสือ กกต.พิจารณาไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง โดยที่ประชุมได้หารือกันหลายแง่มุม มีการสั่งการให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายนิติการนำข้อทักท้วง ข้อเสนอแนะของที่ประชุม กกต.ไปพิจารณาให้รอบด้าน เพราะมองว่า การจะดำเนินคดีอาญากับธนาธรแตกต่างจากคดีตัดสิทธิ์ทางการเมืองที่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

               เนื่องจากสำหรับคดีอาญา กกต.ที่หลายคนเป็นนักกฎหมาย อดีตผู้พิพากษา เห็นว่าต้องมีประเด็นที่จะนำไปสู่การเอาผิดในจุดที่ว่า ธนาธรรู้อยู่แล้วว่าตัวเองขาดคุณสมบัติ เพราะถือหุ้นบริษัท วี-ลัคฯ ไว้ก่อนลงเลือกตั้ง แต่ก็ยังคงสมัคร ที่แสดงให้เห็นถึงเจตนาการกระทำความผิด กกต.จึงเห็นว่าพยานหลักฐานประกอบจึงต้องมีน้ำหนัก เพื่อให้สุดท้ายพนักงานสอบสวนและอัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง จนนำไปสู่การทำสำนวนยื่นฟ้องต่อศาลอาญาฯ จนสุดท้ายหลังมีการพิจารณาเรื่องนี้กันกว่าสามเดือน กกต.ก็มีความเห็นให้แจ้งความเอาผิดกับธนาธรดังกล่าว

               ตามขั้นตอนหลังจากนี้ พนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้องจะต้องออกหมายเรียกธนาธรมาให้ปากคำ สู้คดี ซึ่งธนาธรและทีมทนายความต้องต่อสู้เพื่อโต้แย้ง เคลียร์ตัวเองให้ได้ว่าไม่มีเจตนาถือหุ้นสื่อ บริษัท วี-ลัคฯ ก่อนการลงเลือกตั้งตามที่ กกต.แจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดี

               ส่วนในประเด็นที่ว่าบริษัท วี-ลัคฯ ไม่ใช่บริษัทที่ทำกิจการสื่อมวลชน อันเป็นข้อห้ามตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งฯ ประเด็นนี้ดูแล้วธนาธรและทีมทนายความคงไม่ต้องมาเสียเวลาสู้คดีให้ยุ่งยาก เพราะศาล รธน.ได้วินิจฉัยสิ้นกระแสความไปแล้วว่า วี-ลัคฯ คือบริษัทที่ทำกิจการสื่อ และคำวินิจฉัยของศาล รธน.มีผลผูกพันทุกองค์กร เช่นเดียวกันกับแนวพิจารณาคดีนี้ พนักงานสอบสวนและอัยการ หากอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องธนาธร ฝ่ายอัยการก็คงยึดหลักเดินคดีตรงประเด็นว่าวี-ลัคฯ คือบริษัทสื่อ รวมถึงประเด็นสำคัญอื่นๆ ตามคำวินิจฉัยของศาล รธน. ส่วนการพิจารณาในชั้นศาลยุติธรรม หากศาลรับฟ้องคดีที่แม้ศาลจะใช้ระบบกล่าวหา ที่แตกต่างจากศาล รธน.ที่ใช้ระบบไต่สวน แต่ยังไงก็ต้องดูแนวทางคำวินิจฉัยของศาล รธน.ในคดีของธนาธรประกอบบ้าง

                สำหรับท่าทีของธนาธรก่อนหน้านี้ เขาได้พูดถึงเรื่องคดีความไว้ตอนหนึ่งระหว่างไปร่วมงานพูดคุยกับสื่อมวลชนต่างประเทศประจำประเทศไทย เมื่อ 6 มีนาคมที่ผ่านมา ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ โดยธนาธรตอบคำถามกรณีหากต้องเข้าเรือนจำว่า

                "เอาจริงๆ ก็ไม่อยากเข้าคุก เพราะลูกชายคนเล็กสุดอายุแค่ 15 เดือน และยังอยากดูลูกเติบโตต่อไป แต่หากต้องเข้าจริงๆ ก็ยืนยันว่าจะไม่หนี"

            อย่างไรก็ดี เรื่องปัญหาคดีความที่จะกลายเป็นชนักติดหลังให้ธนาธรขึ้นโรงขึ้นศาลไม่จบสิ้น ยังไม่จบแค่คดีถือหุ้นสื่อก่อนการเลือกตั้ง แต่ยังจะมีผลพวงคำวินิจฉัยของศาล รธน.ในคดียุบพรรค ปมเงินกู้ 191 ล้านบาท ที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ และตัดสิทธิ์การเมือง 10 ปีกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่เมื่อ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

               เพราะจากคำวินิจฉัยของศาล รธน.ที่ตัดสินว่า การทำนิติกรรมดังกล่าวเป็นการทำผิดกฎหมายพรรคการเมืองตามมาตรา 66 และ 72 ที่เป็นข้อห้ามในเรื่องการไม่ให้พรรคการเมืองรับเงินบริจาคเกิน 10 ล้านบาทต่อปี และห้ามมิให้พรรคการเมืองรับบริจาคเงินทรัพย์สินที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

มีข่าวว่าสำนักงาน กกต.อยู่ระหว่างการรอประมวลผลทางข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง เพื่อส่งเรื่องให้ที่ประชุมใหญ่ กกต.พิจารณาว่าจะเอาผิดคดีอาญากับธนาธรและพวก โทษฐานฝ่าฝืนการกู้เงินดังกล่าวหรือไม่

               ซึ่งมูลฐานความผิด หาก กกต.ตั้งแท่นเอาผิดธนาธรกับอดีตกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ก็จะไปเข้าช่องทางมาตรา 125 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ที่เป็นเรื่องโทษปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท และให้ทรัพย์สินที่รับบริจาคเกิน 10 ล้านบาทตกเป็นของกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ที่ก็คือธนาธร จะโดนริบเงิน 181 ล้านบาท ที่เกินมาจาก 10 ล้านบาทเข้ากองทุนฯ ไป รวมถึงการเอาผิดตามมาตรา  126 ที่เป็นการเอาผิดกรณีฝ่าฝืนมาตรา 72 ที่สรุปว่าหากศาลตัดสินว่าจำเลยทำผิด จะต้องรับโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

               มีกระแสข่าวว่า เรื่องนี้คณะกรรมการไต่สวนของ กกต.ได้ดำเนินการพิจารณาไปได้สักระยะแล้ว และคาดว่าน่าจะมีความเห็นส่งให้ที่ประชุมใหญ่ กกต.พิจารณาในอนาคตอันใกล้

                วิบากกรรมคดีอาญา ปัญหาคดีความไม่จบไม่สิ้น จะเป็นชนักติดหลังธนาธรกับอดีตกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ไปอีกนานพอสมควร และเป็นเดิมพันสูงยิ่ง เพราะแพ้คดีในชั้นศาล รธน.ยังแค่โดนตัดสิทธิ์การเมือง

                ทว่าคดีอาญาในชั้นศาล แม้จะต้องสู้กัน 3 ศาล กินเวลาหลายปี แต่เดิมพันชีวิตมันสูงกว่ามาก เพราะหากพลาด แพ้ขึ้นมา โดนศาลตัดสินว่ามีความผิดตามฟ้อง ธนาธรกับพวกก็ทางใครทางมัน!!!

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"