วัคซีนต้านไวรัสเศรษฐกิจ: ใช้ทันและถูกที่หรือเปล่า?


เพิ่มเพื่อน    

 

            เมื่อวานผมเขียนถึงบทสนทนาของผมกับคุณสันติธาร "ต้นสน" เสถียรไทย วิเคราะห์ถึงความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในภาวะที่ถูกกระทบโดย Covid-19 สองความเสี่ยงแรก คือ

                1.คลื่นจะมีหลายระลอก ทำให้ปัญหายืดเยื้อ

                2.ไทยเราอ่อนแออยู่แล้ว

                วันนี้เราคุยประเด็นความเสี่ยงข้อที่ 3 นั่นคือ

                วัคซีนทางเศรษฐกิจมีแต่ใช้ทัน-ถูกที่หรือเปล่า?

                หากจะลดความเสี่ยงข้อ 2 ไม่ให้พายุชั่วคราวกลายเป็นปัญหาถาวร รัฐบาลต้องฉีด "วัคซีนทางเศรษฐกิจ" ใช้นโยบายการคลังและการเงินช่วยเพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19 ตั้งแต่ตอนนี้ ที่พอจะเป็นข่าวดีคือ ประเทศไทยมีกระสุนทางการเงินการคลังเพียงพอ

                ด้านนโยบายการเงินนั้น แม้ ธปท.จะลดดอกเบี้ยมาจนต่ำเป็นประวัติการณ์แล้ว แต่ก็ยังมีช่องให้ลดได้อีกหากจำเป็นจริงๆ

                เหตุผลก็เป็นเพราะเงินเฟ้อไม่ใช่ปัญหาและไม่ต้องกลัวเรื่องค่าเงินอ่อน (ตรงนี้ได้เปรียบประเทศเพื่อนบ้านหลายเจ้า เช่น มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, อินเดีย ที่หากลดดอกเบี้ยมากเข้า ค่าเงินอาจอ่อนค่าหนัก ผันผวนหนักจนกระทบความมั่นใจคนในประเทศ)

                ทั้งยังมีมาตรการการเงินอื่นที่ไม่ใช่นโยบายดอกเบี้ยที่ ธปท.และสถาบันการเงินต่างๆ ร่วมกันทำได้ อย่างที่ประกาศออกมาแล้ว เช่น การผ่อนผันกฎกติกาชั่วคราวเปิดให้ธนาคารสามารถอัดฉีดสภาพคล่อง และปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกค้าที่ประสบปัญหาได้ง่ายขึ้น

                คุณต้นสนตั้งข้อสังเกตว่า หากลองย้อนไปดูในสมัยน้ำท่วม 2554 ธปท.ยังมีมาตรการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านสถาบันการเงินให้ผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ที่อาจหยิบนำมาใช้ได้อีกหากสถานการณ์แย่กว่าที่คาดจริงๆ

                ในแง่ของนโยบายการคลัง ประเทศไทยมีช่องทางการใช้นโยบายการคลังช่วยเศรษฐกิจอยู่มากในยามจำเป็น สัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ 41% ของ GDP ซึ่งถือว่าไม่สูงนัก

                แต่คำถามคือจะเอาออกมาใช้ได้ "เร็วพอไหม" และ "ควรใช้อย่างไร" จึงจะมีประสิทธิภาพสูงสุด

                ที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เป็นห่วงคือ ประเด็นว่าการเบิกจ่ายงบประมาณอาจล่าช้า ทำให้มาตรการเยียวยาไม่ทันท่วงที

                อีกทั้งการลงทุนภาครัฐชะลอตัวจากปีก่อนมากในยามที่เศรษฐกิจต้องการที่สุด

                แต่อีกประเด็นที่น่าคิดคือ ควรใช้กระสุนการคลังนี้อย่างไรถึงจะได้ผลที่สุด

                หากดูสิงคโปร์ซึ่งเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ถูกกระทบหนักจากไวรัสโคโรนา มีนโยบายสองชุดที่น่าสนใจเป็นพิเศษ

                หนึ่ง นอกจากจะมีมาตรการทางภาษีและสินเชื่อช่วยอุตสาหกรรมที่ถูกกระทบหนักแล้ว สิงคโปร์ยังมีมาตรการที่เฉพาะเจาะจงช่วยแรงงานและธุรกิจขนาดย่อม (SME) ด้วย

                ยกตัวอย่างเช่น

                -มีโครงการให้เงินชดเชยค่าใช้จ่ายด้านเงินเดือนแก่ธุรกิจ เพื่อไม่ให้ไล่คนออกในยามเผชิญพายุทางเศรษฐกิจ

                -โครงการมอบเงินสนับสนุนให้บริษัทส่งคนไปอบรมฝึกทักษะใหม่ (Reskill และ Upskill) ในช่วงที่ไม่ค่อยมีงานทำ พอเศรษฐกิจฟื้นจะได้มีทักษะใหม่ติดตัวไปใช้

                -ทั้งยังมีงบช่วยลดภาระค่าเช่าในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ถูกกระทบหนักเช่นท่องเที่ยว หลักการก็คือช่วยลดภาระด้าน fixed costs (ค่าใช้จ่ายที่ขายไม่ออกก็ยังต้องจ่าย!) เพื่อไม่ให้ธุรกิจโดยเฉพาะขนาดเล็กต้องถูกบีบให้ลดคนหรือขายที่ จนทำธุรกิจไม่ได้เต็มที่ในวันที่เศรษฐกิจฟื้นแล้ว

                ที่สำคัญคือ พวกโครงการที่ว่านี้มีการดีไซน์ออกมาเพื่อให้ SME ได้ประโยชน์มากกว่าธุรกิจทั่วไปถึง 5 เท่า (วัดในเชิงสัดส่วนของเม็ดเงินที่ได้ต่อรายได้บริษัท)

                สอง สิงคโปร์มีงบจัดเพิ่มไปช่วยเจ้าหน้าที่ที่ต้องต่อสู้กับโควิด-19 โดยตรง เช่น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและพนักงานโรงพยาบาลรัฐ

                นอกจากนี้ยังมีการประกาศว่า นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และ ส.ส.สิงคโปร์จะพร้อมใจไม่รับเงินเดือน เป็นเวลา 1 เดือน และนำเงินไปเพิ่มโบนัสให้เจ้าหน้าที่รัฐเหล่านี้ที่ต้องทำงานหนักเป็นพิเศษช่วงวิกฤติไวรัสโคโรนา ซึ่งนอกจากจะเป็นการโอนเงินจากผู้มีรายได้สูงไปให้ผู้มีรายได้ต่ำกว่าแล้ว ยังทำเพื่อพยายามสร้างความสมานฉันท์แบ่งทุกข์ในยามยาก

                คุณต้นสนเสนอว่า "ติดหล่ม ตกราง แต่อย่าให้เครื่องชำรุด"

                สามปัจจัยเสี่ยงนี้ไม่ใช่เพื่อจะวาดภาพให้กลัว แต่เพราะคิดว่าความเสี่ยงที่ว่าเราอาจพอป้องกันได้หากรู้ตัวก่อน

                จริงอยู่ว่าบางส่วนเราคุมไม่ได้ เช่น การแพร่ระบาดระลอกต่อๆ มาในประเทศอื่นนอกจากจีน

                แต่บางส่วนเราพอจัดการได้ เช่น การติดตามข้อมูลผู้ติดเชื้อและควบคุมดูแลไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดวงกว้างในประเทศ

                การสื่อสารให้ถูกวิธีเหมาะสมกับยุคแห่งข้อมูล เพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนกและความไม่เชื่อใจในภาครัฐ เช่น เปิดช่องทางการสื่อสารกับประชาชนที่มีประสิทธิภาพ พูดความจริงยอมรับถึงปัญหา อย่าปกปิดข้อมูลและอัพเดตแนวทางการแก้ไขอย่างมีสติสม่ำเสมอ

                อีกทั้งการใช้มาตรการการคลังและการเงินที่ถูกจุด ถูกรูปแบบ ทันเวลาและเพียงพอ

                "หากทำได้จะลดความเสี่ยงการที่เศรษฐกิจจะตกราง หรือถ้าต้องตกรางจริงๆ ก็อย่าให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจเราชำรุดจนวิ่งได้ไม่เหมือนเก่าเมื่อพายุโควิด-19 พัดผ่านไป" คุณต้นสนสรุป

                ที่ผมหวั่นๆ ก็คือเครื่องยนต์เศรษฐกิจของเราชำรุดแล้ว...ยังตกรางอีกด้วย

                เป็นจังหวะท้าทายความสามารถของผู้นำที่จะระดมทั้งความคิดและความร่วมมือของคนทั้งประเทศจริงๆ! 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"