ครม.ไฟเขียวโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา เคาะกรอบวงเงินที่รัฐร่วมลงทุน 1.19 แสนล้านบาท โยนเอกชนลงทุนโยธา บำรุงรถไฟ บริหารพัฒนาพื้นที่ ซ่อมบำรุงและจัดเก็บค่าโดยสาร ขีดเส้นร่วมลงทุน 50 ปี
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรรภูมิ-อู่ตะเภา) ซึ่งถือเป็นโครงการที่ช่วยสนับสนุนภาพลักษณ์ของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยอนุมัติให้ดำเนินโครงการดังกล่าวในรูปแบบพีพีพี เน็ตคอสต์ (PPP NetCost) คือภาครัฐเป็นผู้ลงทุนค่างานจัดสรรกรรมสิทธิ์ที่ดิน ส่วนภาคเอกชนลงทุนค่าโยธา ค่างานบำรุงรถไฟ และขบวนรถไฟ ค่าบริการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟฟ้าและบริการผู้โดยสาร รวมถึงค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการ การบริหาร ซ่อมบำรุง รวมทั้งให้เอกชนจัดเก็บค่าโดยสารและรับความเสี่ยงจากจำนวนผู้โดยสาร รวมถึงจัดเก็บรายได้จากการพัฒนาพื้นที่โครงการ โดยมีระยะเวลาลงทุนร่วมกับภาครัฐ 50 ปี
นอกจากนี้ ยังอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีอำนาจร่วมลงทุนกับเอกชนที่ได้รับการคัดเลือก พร้อมทั้งอนุมัติค่างานที่เกี่ยวข้องกับกรรมสิทธิ์ที่ดินและค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์ในโครงการรถไฟความเร็วสูงดังกล่าว วงเงิน 3.57 พันล้านบาท พร้อมทั้งอนุมัติกรอบวงเงินที่รัฐบาลจะร่วมลงทุนที่ 1.19 แสนล้านบาท โดยตัวเลขดังกล่าวเป็นมูลค่าปัจจุบัน ซึ่งรัฐบาลจะทยอยจ่ายให้เอกชนเป็นรายปี ระยะเวลา 10 ปี
ทั้งนี้ ยังเห็นชอบให้รัฐบาลรับภาระหนี้โครงการโครงสร้างพื้นฐานแอร์พอร์ตเรลลิงก์ของ รฟท. วงเงิน 2.25 หมื่นล้านบาท พร้อมทั้งกำหนดให้พื้นที่โครงการรถไฟความเร็วสูง ตั้งแต่ดอนเมืองถึงสุดเขตกรุงเทพมหานคร และสุวรรณภูมิ ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่นอกอีอีซี ให้เป็นพื้นที่อีอีซีเพิ่มเติม และมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ รฟท. และคณะกรรมการอีอีซี รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปดำเนินการในส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมต่อไป
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) นั้น จะวิ่งด้วยความเร็วสูงที่ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยเฉลี่ยจากสนามบินอู่ตะเภาเข้ากรุงเทพมหานคร คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 45 นาที โดยจะมีสถานีบริการทั้งสิ้น 5 สถานี ได้แก่ สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และสิ้นสุดที่สนามบินอู่ตะเภา ซึ่งโครงการดังกล่าวจะทำให้พื้นที่รอบบริเวณมีการพัฒนามากยิ่งขึ้น และจะทำให้มีการเชื่อมโยงพื้นที่ไปสู่จังหวัดระยอง จันทบุรี และตราดอีกด้วย
“ผลการวิเคราะห์อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) พบว่า โครงการดังกล่าวใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 7 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็น ในช่วง 50 ปีแรก 4 แสนล้านบาท และ 50 ปีถัดมา 3 แสนล้านบาท แต่จะมีผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นจากมูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้นของสนามบินอู่ตะเภา รวมถึงทำให้ลดการใช้น้ำมัน ลดเวลาการเดินทาง ลดมลพิษ และยังมีผลตอบแทนจากการพัฒนาพื้นที่และเศรษฐกิจตลอดเส้นทาง ความเจริญรอบสถานีรถไฟ การจ้างงาน การใช้ปัจจัยการผลิตในประเทศ และภาษีที่คาดว่าจะเก็บได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย” นายณัฐพรกล่าว
นายณัฐพรกล่าวอีกว่า โครงการดังกล่าวยังรวมไปถึงการพัฒนาที่ดินบริเวณมักกะสันและศรีราชา รวมถึงจะรวมเอาโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์เข้าเป็นชิ้นเดียวกันอีกด้วย โดยในส่วนของขบวนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ที่จอดให้บริการทุกสถานี จะยังคงวิ่งให้บริการเหมือนเดิม โดยเป็นการใช้รางเดียวกับรถไฟความเร็วสูง แต่จะมีการให้บริการที่ถี่ขึ้น คือ 10 นาทีต่อ 1 ขบวน
สำหรับอัตราค่าบริการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เริ่มต้นที่สถานีมักกะสัน-สถานีพัทยา ค่าบริการอยู่ที่ 270 บาท และสถานีมักกะสัน-สนามบินอู่ตะเภา อยู่ที่ 330 บาท โดยหลังจากนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบจะทำการร่างทีโออาร์และสรรหาผู้ประมูล หลังจากนั้นจะมีการเสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาอีกครั้ง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |