สาเหตุที่ไม่มีการนองเลือดครั้งใหญ่เมื่อคราวเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475


เพิ่มเพื่อน    

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการพูดถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองในหมู่กลุ่มคนต่อต้านรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการหยิบยกคำกล่าวของนายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี ในสภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวแก่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมบทเฉพาะกาล พุทธศักราช ๒๔๘๓ เมื่อวันที่  ๑๕ สิงหาคม ๒๔๘๓ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความผิดพลาดในอดีตที่ไม่มีการถอนรากถอนโคนในการเปลี่ยนแปลงของชาติในยุโรป

คำกล่าวของหลวงพิบูลสงครามที่ถูกหยิบยกมาเผยแพร่อีกครั้ง มีดังนี้

..........."ผมขอยืนยันว่า ในชั่วชีวิตเรา บางทีลูกเราด้วย จะต้องรบกันไปอีก และแย่งกันในระบอบเก่ากับระบอบใหม่นี้ เพราะเหตุเราจะต้องประสานกัน เราต้องการความสงบสุข เราต้องการสร้างชาติ 

เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ นั้น เราจึงไม่ได้ทำอะไรเลยกับพวกที่เห็นตรงกันข้าม ใครจะไปไหนก็ได้ ทำอะไรก็ได้ เมื่อเปรียบกับในต่างประเทศ ท่านทั้งหลายจะเห็นว่า เราทำมาผิดกันไกล เช่น ฝรั่งเศสปฏิวัติกัน เขาก็ฆ่ากันนับพันๆ คน จนถึงกับเอาใส่รถใส่เกวียนไปฆ่ากัน 

ส่วนเราเปลี่ยนกัน เปลี่ยนทั้งพระมหากษัตริย์ เปลี่ยนทั้งอำนาจอะไรต่ออะไรด้วย เราก็ไม่ได้ทำอะไรกันเลย มิได้มีการเสียเลือดเนื้อกันเลย 

และผมว่า ในชีวิตเรา ในชีวิตลูกของเรา พวกรักระบอบเก่าแก้แค้นก็ไม่หมด เพราะว่าเราปล่อยไว้  อย่าว่าแต่การเปลี่ยนระบอบการปกครองและเปลี่ยนพระมหากษัตริย์เลย ขอให้มองดูใกล้ๆ การเปลี่ยนแต่พระมหากษัตริย์ ตัวอย่าง สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เปลี่ยนจากพระเจ้าตากมาแล้ว ฝ่ายพระเจ้าตากเป็นอย่างไร ฝ่ายพระเจ้าตากต้องถูกประหารชีวิตหมด ถึงกระนั้นก็ดี ตอนหลังก็ยังปรากฏว่าจะมีการแย่งกันอีกเล็กน้อย 

นี่ตัวอย่างที่เราเป็นมาแล้ว แต่เราไม่ได้ทำอันตรายใครเกินเหตุ จึงทำให้พะวักพะวนอยู่ แต่ห่วงพวกรักระบอบเก่า พวกผมขอให้หมด ปิดฉากพยาบาทกัน แต่พวกตรงข้ามเขาไม่ยอม ก็ไม่ทราบจะทำอย่างไร เขาแสดงทีท่าว่า ต่อให้ถึงลูกหลานเหลนของเราก็ต้องรบกันอยู่นั่นเอง 

ก็มีปัญหาขึ้นว่า ถ้าเช่นนั้นทำไมจึงไม่แก้เล่า ถ้ามีการแก้ ก็ต้องทำเด็ดขาดอย่างพระพุทธยอดฟ้าฯ  ทรงปฏิบัติกับพวกเจ้าตาก ซึ่งได้ผลดีมาแล้ว แต่เราทำไม่ได้ จะไปล่มเรือฆ่ากันอย่างนั้นพ้นสมัย และกลัวบาปด้วย แต่ฆ่า ๑๘ คนเท่านี้ก็พออยู่แล้ว เป็นประวัติการณ์ที่เรายังไม่ลืมเหตุการณ์อันนี้ ถ้าเราจะให้หมดไปจริงๆ ที่จะให้ระบอบใหม่นี้มั่นคงแล้วจะเป็นอย่างไร 

ดูอย่างฝรั่งเศสเมื่อครั้งพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ นั้น เอาไปประหารกันทีเดียว 

อีกอย่างหนึ่ง เราจะปราบด้วยวิธีอื่นก็ได้ พวกที่อยู่ในระบอบเก่าไม่เปลี่ยนหัวมาเป็นระบอบใหม่ ก็ให้หนีไปเสียจากเมืองไทย สภาฯ นี้ก็อนุมัติให้รัฐบาลทำได้ ให้ออกกฎหมายว่าพวกนี้ให้ผมริบทรัพย์ แล้วเนรเทศไปให้หมด"..............

จากคำกล่าวดังกล่าวของหลวงพิบูลสงคราม ซึ่งถือเป็นมุมเดียวของประวัติศาสตร์ ขณะที่อีกด้านหนึ่งมีการบันทึกไว้เช่นกัน นั่นคือบันทึกของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล่าถึงเหตุการณ์ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ปรากฏความตอนหนึ่งว่า

....."ถ้าเราจะรบโดยใช้ทหารหัวเมืองหรือ นั่นเป็นของแน่ที่เราอาจทำได้ แต่ฉันไม่ยินยอมเลยแม้แต่ชั่วขณะเดียว เพราะเจ้านายในกรุงเทพฯ อาจจะถูกฆ่าหมด 

ฉันรู้สึกว่าฉันจะนั่งอยู่บนราชบัลลังก์ที่เปื้อนโลหิตไม่ได้ สมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯ แนะนำตลอดเวลาให้ยินยอมกลับกรุงเทพฯ และช่วยคณะราษฎรจัดตั้งการปกครอง โดยมีกษัตริย์และรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็เป็นของที่ฉันเคยอยากจะทำมานานแล้ว แต่ว่าฉันเสียขวัญ"....

ห้วงเวลาดังกล่าวนั้น คณะผู้ก่อการได้จับพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่เป็นตัวประกัน อาธิ สมเด็จฯ  เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ อภิรัฐมนตรี,  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อภิรัฐมนตรี, พลตรี หม่อมเจ้านิลประภัศร เกษมศรี เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก, พลตรี หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร (พลเอก พระวรวงศ์เธอ  กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ) ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการ และพลโท พระยาสีหราชเดโชชัย  (สวัสดิ์ บุนนาค) เสนาธิการทหารบก เป็นต้น

และเมื่อคณะราษฎรได้ตัวประกันคนสำคัญมาครบ จึงได้ออกประกาศว่า 

"ด้วยบัดนี้ คณะราษฎรได้จับพระบรมวงศานุวงศ์มาไว้เป็นประกันแล้ว ถ้าผู้ใดขัดขวางคณะราษฎร ผู้นั้นจะต้องถูกลงโทษ และพระบรมวงศานุวงศ์จะต้องถูกทำร้ายด้วย" 

ก่อนที่คณะราษฎรจะออกประกาศว่า


"...ราษฎรทั้งหลาย เมื่อกษัตริย์องค์นี้ได้ครองราชสมบัติสืบต่อจากพระเชษฐานั้น ในขั้นต้นราษฎร
บางคนได้หวังกันว่ากษัตริย์องค์ใหม่นี้คงจะปกครองให้ราษฎรได้ร่มเย็น แต่การก็หาได้เป็นไปตามที่คิดหวังกันไม่ 

กษัตริย์คงทรงอำนาจเหนือกฎหมายตามเดิม...เหตุฉะนั้น ราษฎร ข้าราชการ ทหาร และพลเมืองที่ได้รู้เท่าถึงการกระทำอันชั่วร้ายของรัฐบาลดังกล่าวแล้ว จึงรวมกำลังกันตั้งเป็นคณะราษฎรขึ้น และได้ยึดอำนาจของกษัตริย์ไว้แล้ว 

คณะราษฎรเห็นว่าการที่จะแก้ความชั่วร้ายนี้ได้ ก็โดยที่จะต้องจัดการปกครองโดยมีสภา ได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลายๆ ความคิด ดีกว่าความคิดเดียว ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้นคณะราษฎร ไม่ประสงค์ทำการแย่งชิงราชสมบัติ 

ฉะนั้น จึงได้ขออัญเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้..."

จะเห็นได้ว่า คำกล่าวของหลวงพิบูลสงคราม มิได้ถูกต้องไปเสียทั้งหมด และคณะราษฎรเองก็มิได้ใจดีกับพระบรมวงศานุวงศ์ แต่เพราะเหตุการณ์บังคับให้คณะราษฎรไม่สามารถใช้ความรุนแรงได้  เพราะจะเกิดการนองเลือดขึ้นอย่างแน่นอน 

และฝ่ายที่เสียหายอย่างหนักอาจเป็นคณะราษฎรเองด้วยซ้ำ.
------------------
ข้อมูล : สถาบันพระปกเกล้า, หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, ห้องสมุดสภาผู้แทนราษฎร
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"