ตีความกฎหมายสส.'ประยุทธ์'จ่อยื่น'ศาลรธน.' หวั่นปัญหานำขึ้นทูลเกล้าฯ


เพิ่มเพื่อน    

    “ประยุทธ์” จ่อให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมายลูก ส.ส. ตอกย้ำไม่อยากให้มีปัญหาขณะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย อ้อนศาลให้ความสำคัญเร่งเคาะตามกำหนดโรดแมป “ประวิตร” รับถอดสลักระเบิดเวลาก่อนมีปัญหา “เพื่อแม้ว” ขย่มทันควันแผนสืบทอดอำนาจ “นายกฯ” ซัดกลุ่มอยากเลือกตั้งมีเบื้องหลัง ขู่ฟันหากทำผิดกฎหมาย “บิ๊กจอม” ลั่นทหารคือ คสช. อึ้ง!ธนาธร-ปิยบุตรประสานเสียงทำลายความหวังคนไทยหากล้มอนาคตใหม่  
เมื่อวันอังคาร มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่น่าสนใจ เวลา 08.40 น. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เดินทางมายังตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเข้าพบหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล ถึงร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 
ภายหลังการหารือกว่า 1 ชั่วโมง นายพรเพชรกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้ถามความเห็นหลายเรื่อง รวมทั้งขั้นตอนดำเนินการอย่างไรต่อไป โดยได้อธิบายว่าทำไมไม่ส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ส.ส.และทำไมส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา (ส.ว.) ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งนายกฯ มีเวลา 5 วัน และรออีก 20 วัน ที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย รวมเป็น 25 วัน ดังนั้นตราบใดที่นายกฯ ยังไม่ทูลเกล้าฯ ถวาย สนช.มีสิทธิ์ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งยืนยันว่าไม่มีการส่งกลับแน่นอน ส่วนจะมีใครยื่นตีความหรือไม่นั้น ไม่ทราบ
นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. กล่าวถึงกระแสข่าว พล.อ.ประยุทธ์มีความเห็นส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ส.ส.กลับมา สนช. เพื่อให้ยื่นศาลวินิจฉัยว่า ไม่ทราบเรื่องนี้มาก่อน แต่ทราบมาว่าได้มีการสั่งการให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเตรียมรายละเอียดเอาไว้หากเกิดกรณีนี้ขึ้นมา 
ในช่วงบ่าย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า วันนี้รัฐบาลได้รับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมาแล้ว และเรายังมีเวลาพิจารณาก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายจนถึงวันที่ 12 เม.ย.นี้ ซึ่งได้สั่งให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบตามขั้นตอนปกติ ว่าควรต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่อย่างไร แต่กำหนดการเลือกตั้งยังคงอยู่ภายใต้โรดแมปที่วางไว้ และหากยื่นตีความก็ไม่น่าช้าเกินไป ก็ขอความกรุณาให้ศาลรับเรื่องกฎหมายลูกไปเป็นประเด็นสำคัญ ช่วยรัฐบาลดูแลให้อยู่ในกรอบโรดแมป 
“รัฐบาลยังยืนยันในโรดแมป ซึ่งเรื่องดังกล่าวถือเป็นความเห็นของแต่ละฝ่าย ที่ผ่านมาอาจมีเจตนาดีและหวังให้เร็วขึ้นตามกระแสสังคมต้องการ แต่พอมีปัญหามากๆ ก็ไม่อยากนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพราะไม่ต้องการให้มีปัญหาในช่วงขั้นตอนดังกล่าว” พล.อ.ประยุทธ์ระบุ
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้มีปัญหาอยู่ 2 จุด คือปัญหาการไปช่วยเหลือผู้พิการในการกาสิทธิเลือกตั้ง แล้วให้ถือว่าเป็นการลงคะแนนลับ ซึ่งในข้อเท็จจริงแม้มีจำนวนไม่มากเท่าไหร่ แต่เมื่อเป็นประโยชน์ ก็ต้องหารือร่วมกันว่าจะผิดหรือไม่ ต้องให้ฝ่ายกฎหมายไปดูและทบทวนก่อนว่าควรทำอย่างไรต่อไป ซึ่งไม่อยากให้เกินเลยห้วงเวลาโรดแมปที่กำหนดไว้ ส่วนเรื่องกล่าวหาว่าไปละเมิดสิทธิกรณีห้ามคนไม่ไปเลือกตั้งเป็นข้าราชการการเมือง เป็นการตัดสิทธิหรือเสรีภาพนั้น ใครเห็นว่าไปละเมิดสิทธิตัวเองในการเป็นข้าราชการก็สามารถฟ้องได้ภายหลัง เรื่องนี้มีหลายเหตุผลด้วยกัน สิ่งสำคัญที่ระมัดระวังมากที่สุด คือทำอย่างไรให้ไม่มีปัญหาในขั้นตอนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยลงมา เรื่องนี้จะขัดแย้งกันไม่ได้ ขอให้เข้าใจรัฐบาลด้วย
ลั่นไม่ให้กระทบโรดแมป
    "ไม่ใช่ว่ารัฐบาลจะโยนทุกอย่างขึ้นไป หรือปัดความรับผิดชอบไปที่อื่น รัฐบาลนี้ไม่ทำเช่นนั้นแน่นอน ต้องแก้ปัญหาระดับนี้ให้ได้ก่อน และผมก็ยืนยันอยู่แล้วว่าจะไม่ให้กระทบโรดแมป" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    เมื่อถามว่า เคยข้องใจหรือไม่ว่าการเขียนกฎหมายของ สนช.และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งล้วนเป็นมืออรหันต์ แต่วันนี้กลับทำให้เกิดข้อสงสัยในหลายประเด็น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า อย่าไปตั้งเป็นประเด็น เพราะเป็นการพิจารณาของทั้งสภา มีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ถือเป็นกลไกของกฎหมาย และการออกกฎหมาย ส่วนตัวคิดว่าเป็นเรื่องดีที่ขัดแย้ง ไม่ใช่คล้อยตามหมดทุกเรื่อง ก็ไปว่ากันมา รัฐบาลก็มีหน้าที่ทำให้การเลือกตั้งเป็นไปตามที่กำหนด สุดแต่ว่าจะทำได้อย่างไร รัฐธรรมนูญก็เขียนไว้อย่างชัดเจนแล้ว
    เมื่อถามว่า สรุปแล้วจะส่ง พ.ร.ป.ว่าด้วย ส.ส.ให้ตีความหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ยังไม่เสร็จ และยังไม่ได้พูดกันว่าจะยื่นหรือไม่ยื่น กำลังพิจารณาร่วมกันอยู่ ถ้าเห็นชอบร่วมกันก็ไปพิจารณาร่วมกันว่าจะเอาอย่างไร วันนี้จะเสนอให้ตีความหรือไม่ยังไม่รู้ ยังมีเวลา แต่ได้บอกไปแล้วว่าไม่ว่าจะยื่นตีความหรือไม่ ต้องคำนึงถึงโรดแมปด้วย
    "เดี๋ยวหาว่าผมไปถ่วงเวลา เป็นทฤษฎีสมคบคิด มันไม่ใช่ พวกคุณไปคิดกันเองนั่นแหละ พวกคุณสมคบคิดกันเองว่าต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วรัฐบาลทำอะไรได้ รัฐบาลก็เดินหน้าไปตามกรอบเวลาที่กำหนดและตามกฎหมายที่มีอยู่ ผมไม่ได้ต้องการลากยาวอะไรทั้งสิ้น ส่วนเมื่อเลือกตั้งแล้วจะได้อย่างไร ก็ไม่ใช่เรื่องของผมแล้ว อย่ามาโทษรัฐบาลนี้ว่าเลือกตั้งแล้วก็ได้คนไม่ดีเข้ามาอีก เพราะผมไม่ได้เป็นคนเลือกตั้งรัฐบาลกับเขา"  พล.อ.ประยุทธ์กล่าว และว่า วันนี้จึงต้องไปพิเคราะห์ว่ากฎหมายจะมีผลกระทบในวันข้างหน้าหรือไม่ ไม่ใช่พอเลือกตั้งไปแล้วก็ไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญกันอีก แล้วจะทำอย่างไร ถ้ามันผิดแล้วทุกอย่างมันฟาวล์ทั้งหมดหรือ  แล้วจะให้รับผิดชอบอีกหรืออย่างไร
เมื่อถามว่า ขณะนี้สามารถยืนยันได้หรือไม่ว่าการเลือกตั้งจะไม่โมฆะ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ถ้า พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ออกมาชัดเจนไม่มีปัญหา การเลือกตั้งก็ไม่โมฆะ ซึ่งกำลังทำไม่ให้เป็นโมฆะอยู่ 
ถามย้ำว่า ฉะนั้นพูดได้หรือไม่ว่าการเลือกตั้งต้องไม่เป็นโมฆะ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เฮ้ย พูดไม่ได้ มันอยู่ที่คนทุกคน อยู่ที่สื่อด้วย ไม่ใช่อะไรก็นายกฯ ถ้าทำคนเดียวคงไม่ยากขนาดนี้หรอก แต่มันก็ไม่ได้ นายกฯ ไม่ใช่ผู้วิเศษ ฉันไม่ใช่ผู้วิเศษ ฟังเพลงสิ เข้าใจไหม เข้าใจหรือยัง เสียงลือเสียงเล่าอ้างอันใดพี่เอย
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม กล่าวในเรื่องนี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์กำลังพิจารณาอยู่ ส่วนจะให้ สนช.หรือคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยื่นตีความนั้น ยังไม่ทราบ เพราะยังไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร ทราบเพียงว่านายกฯ กำลังพิจารณาอยู่ และยืนยันไม่กระทบโรดแมป ถ้าทำอะไรก็ต้องทำให้อยู่ในกรอบของเดือน ก.พ.2562
เมื่อถามว่า หากศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาให้แก้ไขก็อาจกระทบกับวันเลือกตั้งตามที่นักกฎหมายหลายฝ่ายคาดไว้ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ก็ต้องตกไป ก็ต้องทำใหม่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเรายังไม่รู้ว่าจะยื่นตีความหรือไม่ เพราะเรื่องนี้ต้องหารือกับหลายภาคส่วน โดยเฉพาะเรื่องการขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งเราคิดอย่างนั้น ถึงได้พิจารณา ถ้าไม่คิดเช่นนั้นจะพิจารณาทำไม กำลังให้นักกฎหมายพิจารณาให้ชัดเจนอยู่ว่าที่ สนช.ทำมาขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่
รับถอดสลักระเบิด
เมื่อถามว่า กลัวเรื่องนี้จะเป็นระเบิดเวลาในอนาคตหรือไม่ ถึงต้องพิจารณาเพื่อถอดสลักก่อน พล.อ.ประวิตรกล่าวยอมรับว่า ใช่
ส่วนนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.ไม่ได้พูดคุยกันในเรื่องนี้ โดยทราบจากข่าวเท่านั้น และไม่ทราบว่าร่างกฎหมายถูกส่งมาถึงนายกฯ หรือยัง เพราะเป็นเรื่องของ สนช.ที่จะดำเนินการ และแม้ สนช.ส่งร่างกฎหมายมาที่นายกฯ แต่ สนช.ยังสามารถเข้าชื่อเพื่อยื่นศาลตีความได้ตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด
เลขาฯ กฤษฎีกายังกล่าวถึงความคืบหน้าการจัดเตรียมกฎหมายเกี่ยวกับเลือกตั้งท้องถิ่น 6 ฉบับ ว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษกำลังพิจารณาร่างแก้ไขของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และกระทรวงมหาดไทย ซึ่งต้องปรับแก้ประมาณ 130 มาตรา หรือเกือบทั้งฉบับ เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เสนอกลไกต่างๆ เพิ่มเติมเข้ามา ทำให้ตอบไม่ได้ว่าจะใช้เวลาปรับเปลี่ยนแก้ไขเท่าไร และตอบไม่ได้อีกว่าจะส่งผลให้การเลือกตั้งท้องถิ่นต้องเลื่อนออกไปจากกำหนดเดิมที่คาดว่าเป็นในช่วงกลางปีหรือไม่ แต่จะพยายามทำให้เร็วที่สุด โดยไม่ขอพูดถึงเรื่องเวลา เพราะไม่อยากพูดกลับไปกลับมา
ขณะที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) ตั้งข้อสังเกตว่า ฝ่ายรัฐบาลกำลังเล่นเกมอะไรหรือไม่ ทำไมกลับไปกลับมา มีนัยอะไรกันแน่ หากทำจริงจะทำให้การเริ่มนับหนึ่งในการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายของกฎหมายนี้ต้องเลื่อนออกไป นอกจากนี้เมื่อยื่นให้ศาลแล้ว ไม่รู้จะให้เวลาพิจารณาเท่าไหร่ หากวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ ต้องแก้ไขอีก ต้องใช้เวลา ดังนั้นหากเป็นเช่นนี้ ก็มีผลต่อโรดแมปเลือกตั้งแน่นอน ไม่เข้าใจว่ามีเจตนาอะไร หรือกำลังเล่นปาหี่เล่นเกมยื้อเวลา หรือซื้อเวลาให้การเลือกตั้งช้าออกไป อย่างนี้ทำให้ประชาชนไม่มั่นใจ 
“ที่สำคัญเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าคนที่เป็นองคาพยพเดียวกัน มีเจตนาที่ทำให้กฎหมายเกิดปัญหาขึ้น หากจะเขียนให้กฎหมายถูกต้องตามรัฐธรรมนูญย่อมทำได้ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เมื่อเป็นอย่างนี้ เราก็จะเห็นร่องรอยของเจตนาให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไป”
พล.อ.ประยุทธ์ยังให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเริ่มเคลื่อนไหวฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ว่า ไม่ได้ให้ความสำคัญอะไรมากมาย เพราะรู้ว่าเป็นคนกลุ่มเดิม และมีวัตถุประสงค์อย่างอื่นด้วย อาจมีการสนับสนุนมากจากภายนอกบ้างอะไรบ้าง ซึ่งไม่ใช่เจตนาบริสุทธิ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ อาจมีผู้บริสุทธิ์ร่วมกลุ่มเพราะหวังดี มันก็มีอยู่ ซึ่งเมื่อมีแกนนำอะไรต่างๆ ก็ต้องตรวจสอบว่าเชื่อมโยงพรรคการเมืองใดหรือไม่ในการละเมิดกฎหมายเหล่านี้ ซึ่งจะมีผลในเรื่องพรรคการเมืองด้วยในอนาคต ฉะนั้นจะตรวจสอบทั้งทางลึกทุกอัน ไม่ได้ไปปิดกั้น เพียงแต่ให้เขาเข้าใจว่าวันนี้บ้านเมืองต้องการอะไร หากอยากเลือกตั้ง เราก็ให้มีการเลือกตั้ง ระยะเวลาก็ออกมาหมดแล้ว กฎหมายก็ออกมาแล้ว แล้วจะเร่งเลือกตั้งได้อย่างไร 
“แสดงว่ามีจุดประสงค์อย่างอื่นหรือเปล่า ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน ข้อสำคัญเท่าที่ทราบตอนนี้ ประชาชนอื่นๆ ที่เขาเดือดร้อนกำลังจะร้องทุกข์กล่าวโทษมา ผมไม่อยากให้เด็กเหล่านี้ต้องไปติดคดีความ แล้วกลับมาโทษรัฐบาลอีก สิ่งอันตรายมันจะเกิดขึ้นหรือไม่ เมื่อมีคนมาประท้วง แต่คนไม่เห็นด้วยก็มีอยู่  ถ้าเกิดอะไรขึ้นจะทำอย่างไร จะบานปลายเหมือนเดิมอีก ฉะนั้นขอให้เลิกเถอะ เพราะการจัดม็อบฝ่าฝืนคำสั่ง เมื่อมีคำสั่งขนาดนี้ยังฝ่าฝืนกัน วันหน้าจะเกิดอะไรขึ้น ผมไม่แน่ใจ ไม่ใช่ผมมาขู่ หลายคนบอกว่าผมมาพูดในสิ่งที่ยังไม่เกิด แต่มันก็เริ่มจากตรงนี้ทุกทีทุกครั้งไป” นายกฯ กล่าว
ย้ำ "ทหาร" คือ "คสช."
ส่วน พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ผู้บัญชาการทหารอากาศ กล่าวถึงกรณีกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเรียกร้องให้ ผบ.เหล่าทัพแยกขาดจาก คสช. ว่าเรื่องนี้ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตรและ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ.ได้ตอบคำถามไปหมดแล้ว ส่วนที่กลุ่มคนดังกล่าวมีแนวโน้มจะเดินทางมากดดันที่ ทอ.นั้น ก็จะตั้งโต๊ะ เลี้ยงน้ำ เกรงว่าจะเหนื่อย เพราะระยะทางไกล แต่คิดว่าคงไม่มา ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ของ คสช.เองก็ไม่ได้ไปแทรกแซงการเมือง เพราะหน้าที่ของเราจริงๆ คือทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งที่ดี ซึ่งก็มีหน้าที่แค่นั้น โดย คสช.ก็คือทหาร จึงไม่มีความเป็นไปได้ที่ ผบ. เหล่าทัพจะออกจากการเป็นสมาชิก คสช. และขอให้กลุ่มดังกล่าวอย่าทำอะไรผิดกฎหมาย 
พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงท่าทีตนเองในการยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอชื่อเป็นนายกฯ คนนอกว่า ยังไม่ได้พิจารณาในเรื่องนี้ ถามมาหลายครั้งแล้ว หากพรรคการเมืองจะเสนอชื่อมาก็รับได้พรรคเดียว และยังไม่รู้ว่าจะดูพรรคไหน ยังไม่รู้เหมือนกัน เวลายังมี ต้องค่อยๆ ดูนโยบายพรรค จะรับหรือไม่ก็ไม่รู้เหมือนกัน วันนี้ขอทำงานไปก่อน หลายโครงการกำลังขับเคลื่อน ไม่ใช่เพื่อหวังผลทางการเมือง
    “จริงๆ แล้วผมอยากให้ไปเสนอชื่อคนอื่นดูก่อน ไม่มีหรืออย่างไร ถ้ามีก็ไปขอคนอื่นดูก่อน แล้วค่อยมาพูดกับผม ไม่ใช่เอาผมเป็นตัวตั้ง ผมไม่ใช่คนเก่งดีเลิศประเสริฐศรีคนเดียวเมื่อไหร่” นายกฯ กล่าว
    เมื่อถามอีกว่า เมื่อไหร่จะชัดเจนถึงการตอบรับพรรคการเมืองที่เสนอชื่อเป็นนายกฯ คนนอก พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ยังไม่รู้ ไปหาคนอื่นก่อนได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้แล้วค่อยมาหาตน เดี๋ยวจะหาว่าอยากเป็น เดี๋ยวก็มีเรื่องอีก
วันเดียวกัน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา รักษาการเลขาธิการ กกต. กล่าวถึงผลประชุม กกต.ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงปัญหาเรื่ององค์ประชุมของ กกต. หลังนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ยุติการปฏิบัติหน้าที่ โดยจะยึดตามหลักสัดส่วนที่กฤษฎีกาเคยเสนอแนะมา ทำให้ปัจจุบันเหลือ กกต. 4 คน องค์ประชุมก็จะเป็น 3 คน  และการลงมติให้ใช้เสียงข้างมาก กรณีเกิดปัญหาเสียงเท่ากัน ก็ให้ประธานที่ประชุมออกเสียงชี้ขาดอีกหนึ่งเสียง และคงไม่ต้องหารือไปยังกฤษฎีกาอีก  
      พ.ต.อ.จรุงวิทย์ยังกล่าวถึงกรณีสมาพันธ์ประชาชนตรวจสอบรัฐไทย (สปท.) ร้องให้ตรวจสอบการขอตั้งพรรคอนาคตใหม่ เนื่องจากนายปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ร่วมก่อตั้งมีแนวคิดแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่า ยังไม่เห็นรายละเอียดคำร้อง แต่ขั้นตอนยื่นขอจดจัดตั้งพรรค นายทะเบียนพรรคการเมืองตรวจสอบเฉพาะว่าผู้ขอจดจัดตั้งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ชื่อ ภาพเครื่องหมายเข้าลักษณะต้องห้ามหรือไม่เท่านั้น เรื่องคำประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรค นโยบายพรรค หรือข้อบังคับพรรคนั้น นายทะเบียนพรรคการเมืองจะเข้าไปตรวจสอบอย่างละเอียดเมื่อพรรคมายื่นจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองแล้ว ซึ่งเป็นการดำเนินการหลังประชุมสมาชิกพรรค 500 คน แต่งตั้งหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค และรับรองข้อบังคับพรรคแล้ว แต่หากผู้ร้องเห็นว่ามีบุคคลกระทำผิดกฎหมายอาญาก็สามารถที่แจ้งความให้ดำเนินคดีได้อยู่แล้ว
อย่าทำลายความหวังคนไทย!
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท ผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่โพสต์เฟซบุ๊กในเรื่องนี้ว่า ยังคงมีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการขัดขวางไม่ให้พรรคอนาคตใหม่ได้ถือกำเนิด ขอให้ กกต.หนักแน่นในการทำตามกฎหมายอย่างเป็นธรรม และขอให้ คสช.เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองใหม่ได้มีบทบาท ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยกล่าวไว้ว่า อยากเห็นนักการเมือง พรรคการเมืองหน้าใหม่ๆ สร้างสรรค์การเมืองใหม่ให้กับประเทศไทย อย่าทำลายความหวัง ความตั้งใจของประชาชนเลย
นายปิยบุตรโพสต์ข้อความชี้แจงอย่างละเอียดในเรื่องนี้ผ่านเฟซบุ๊กเช่นกัน โดยระบุว่า การร่วมรณรงค์แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นการกระทำและความเห็นส่วนตน ซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้า ไม่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่แต่อย่างใด ความเห็นส่วนตัว จึงไม่ใช่นโยบายของพรรค และไม่ใช่คำประกาศอุดมการณ์ของพรรคในอนาคต 
“ณ เวลานี้ การจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ยังอยู่ในขั้นตอนยื่นคำขอ ยังไม่มีพรรคอนาคตใหม่เกิดขึ้นตามระบบกฎหมาย เมื่อพรรคยังไม่เกิดขึ้น จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะประชุมพรรค และจัดทำข้อบังคับพรรค กำหนดคำประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรค และนโยบายของพรรคได้ ดังนั้นที่นายสนธิญาอ้างว่าพรรคอนาคตใหม่มีข้อบังคับที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยกระหว่างชนในชาติ ต้องห้ามตามมาตรา 14 นั้น จึงเป็นกรณีที่นายสนธิญาจินตนาการไปเอง” นายปิยบุตรกล่าว
นายปิยบุตรกล่าวอีกว่า เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจตรงกัน และเพื่อป้องกันมิให้กลุ่มบุคคลผู้ไม่ต้องการให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยได้ฉวยโอกาสนำเรื่องเหล่านี้มาปลุกระดมโฆษณาชวนเชื่อเพื่อขัดขวางการเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ได้ ขอยืนยันว่าจะไม่นำเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาเกี่ยวข้องกับพรรค และไม่นำไปผลักดันในพรรค ขออย่าขัดขวางการเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่เลย ต่อให้วันนี้ขัดขวางไม่ให้พรรคอนาคตใหม่เกิดขึ้นได้ แต่ก็จะมีประชาชนอีกจำนวนมากที่อยากให้มีพรรคการเมืองแบบพรรคอนาคตใหม่เกิดขึ้นอยู่ดีในวันหน้า เพราะการขัดขวางการเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ มันคือการทำลายความหวังของประชาชนผู้ใฝ่ฝันถึงอนาคตใหม่ด้วย
    ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้สาธิตขั้นตอนการยืนยันความป็นสมาชิกพรรคในระหว่างวันที่ 1-30 เม.ย. โดย ปชป.ได้จัดทำแอปพลิเคชันชื่อ D-Connect เพื่ออำนวยความสะดวก ซึ่งอ้างอิงจากเลข 13 หลักในบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งระบบจะดึงข้อมูลสมาชิกจากฐานข้อมูลของ กกต. รวมทั้งสามารถโอนเงินชำระค่าสมาชิกพรรคโดยผ่านระบบคิวอาร์โค้ดได้ด้วย.        


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"