ฝ่ายค้านดีเดย์ 12 มี.ค.ซักฟอกรัฐบาลนอกสภา ประเดิมแฉกระบวนการไอโอฉีกหน้ากากสุมไฟขัดแย้ง จองเวร "บิ๊กตู่" ยื่น "ชวน" ส่งศาล รธน.ฟันผิด ม.184 ปมอยู่บ้านพักทหาร พท.จัดเสวนาปลุกรื้อใหญ่ รธน. รัฐบาลเมินขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญแก้แฟลชม็อบ
ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) เมื่อวันที่ 9 มีนาคม เวลา 12.20 น. มีการประชุมคณะทำงานฝ่ายค้านเพื่อประชาชน มี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ (ปช.) เป็นประธานการประชุม พร้อมกับตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้านอีก 6 พรรคเข้าร่วมประชุม
จากนั้นนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะทำงานพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน แถลงภายหลังการประชุมว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านจะจัดเวทีซักฟอกนอกสภา เวทีที่ 1 แฉกระบวนการไอโอ ฉีกหน้ากากขบวนการเพิ่มความขัดแย้ง วันที่ 12 มี.ค. เวลา 10.00-12.30 น. ที่โรงแรมแลงคาสเตอร์ มีวิทยากรร่วมงาน อาทิ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย จะพูดถึงยุทธวิธีทางทหารในการใช้ไอโอ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตพรรคอนาคตใหม่ จะพูดถึงการใช้งบภาครัฐในการสร้างไอโอ ยุยงสร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชน นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย จะพูดถึง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์และกฎหมายไซเบอร์ นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะพูดถึงมุมมองผลกระทบของคนที่ถูกทำไอโอ และนายโอมาร์ หนุนอนันต์ ผู้ประสานงาน We Watch จะพูดในฐานะของผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการใช้ไอโอ
ทั้งนี้รูปแบบการจัดงานเดิมจะเปิดเป็นเวทีสาธารณะเพื่อให้เข้าถึงได้ในมุมกว้าง แต่จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงต้องระมัดระวัง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องจำกัดในการเปิดให้คนเข้ามาร่วม แต่จะมีการถ่ายทอดสดตามช่องทางต่างๆ รวมถึงเพจฝ่ายค้านเพื่อประชาชนให้ประชาชนได้ติดตาม
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน กล่าวว่า การกระทำที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชนทำให้เกิดความเกลียดชังของคนในชาติ ฝ่ายค้านจะต้องตรวจสอบ โดยเฉพาะการใช้ภาษีของประชาชนไปปฏิบัติการเพื่อให้คนถูกแบ่งฝ่าย ถูกเกลียดชัง นอกจากจะผิดหลักสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงแล้วยังผิดกฎหมาย งบประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลในปี 2563 ได้รับงบประมาณจำนวนมาก หากนำงบประมาณไปเพื่อโฆษณาตัวเอง ไม่ได้สร้างความเข้าใจที่ดีให้ประชาชนเพื่อให้เกิดความปรองดองสมานฉันท์ ฝ่ายค้านจำเป็นที่จะต้องเอาความจริงออกมาชี้แจง
นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่า เวทีนี้เป็นการทำต่อเนื่องจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลที่ผ่านมา บทบาทเราไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในสภา แต่ได้ทำการตรวจสอบในทุกสถานที่ ทุกเวลา โดยเป้าหมายนั้นไม่ใช่การทำลายล้างหรือเคียดแค้นใคร แต่ทำหน้าที่เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลในสภา
ด้านนายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้อภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมที่ยังคงพักบ้านพักทหาร ซึ่งหลังเสร็จสิ้นการอภิปราย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตนเอง พร้อมด้วย ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านทั้งหมด 56 คน ได้ลงนามในหนังสือยื่นให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภา เพื่อพิจารณาส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณี พล.อ.ประยุทธ์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 กระทำการขัดกันแห่งผลประโยชน์ กรณียังพักในบ้านพักของข้าราชการทหารหลังเกษียณ อันอาจทำให้ความเป็นรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดลงหรือไม่
ต่อมาเวลา 14.00 น. สถาบันสร้างไทยจัดเสวนา "ฝ่าวิกฤติประเทศไทย ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ" มีวิทยากรประกอบด้วย นายโภคิน พลกุล รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย นายวัฒนา เมืองสุข กรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย นายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง และนายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง โดยมีแกนนำพรรคเพื่อไทย อาทิ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย นายชัยเกษม นิติสิริ คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย ส.ส.เพื่อไทย สมาชิกพรรคเพื่อไทย และประชาชนเข้าร่วมฟังเสวนาด้วย
นายโภคินกล่าวช่วงหนึ่งว่า หากยังใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่อไป รับรองว่าการเลือกตั้งครั้งหน้ารัฐบาลจะมีไม่ต่ำกว่า 30 พรรค ถ้าบ้านเปรียบเหมือนรัฐธรรมนูญออกแบบไม่ดี ไม่ตอบโจทย์ประชาชน ไม่ตอบอนาคตของประเทศ เชื่อว่าต่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ออกไป จะยังมี พล.อ.ประยุทธ์ 2 พล.อ.ประยุทธ์ 3 ไม่จบสิ้น วันนี้เชื่อว่าประชาชนเริ่มที่จะตระหนักแล้ว ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ยกเว้นหมวด 1 และหมวด 2 ที่เหลือจะต้องจัดระเบียบใหม่ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่
นายวัฒนากล่าวว่า รัฐธรรมนูญคือกติกาของการอยู่ร่วมกันในสังคม จะได้รับการยอมรับคนในสังคมต้องเห็นด้วย แต่วันนี้ถูกกำหนดจากเพียงฝ่ายเดียว ออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหาให้คนยึดอำนาจ จนกลายเป็นการนำมาซึ่งความขัดแย้งในสังคม ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้สร้างวาทกรรมคนดีขึ้นมาหลอกลวงประชาชนเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ แต่ไม่มีจริง ที่ผ่านมาสังคมไทยหลีกเลี่ยงหลักการมาโดยตลอด จึงมีศรีธนญชัย มีลงเรือแป๊ะ ต้องตามใจแป๊ะ ดังนั้นต้องแก้รัฐธรรมนูญโดยโยนอำนาจให้ประชาชนไปร่างกติกากันเอง
นายสมชัยกล่าวว่า เมื่อดูจากหัวข้อที่เรามาพูดคุยกัน ผู้ร้ายคือรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดปัญหาวิกฤติของประเทศ ส่วนพระเอกคือการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้วิกฤติหายไป รัฐธรรมนูญ 60 เป็นกลไกที่ออกแบบการเมืองไทยโดยได้รัฐบาลแบบนี้ ได้ ส.ส.แบบนี้ ได้ ส.ว.แบบสอพอไม่มี ล.ลิง ไม่ได้มีบทบาทในการช่วยกลั่นกรองกฎหมายอย่างแท้จริง และได้สภาหน้าตาแบบนี้ เชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยธรรมชาติของตัวมันเองไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ทั้งนี้เริ่มจาก 5 ข้อคือ รัฐบาลต้องลาออก เลือกตั้งใหม่ ไม่เอา ส.ว.ชุดนี้ ไม่เอาองค์กรอิสระชุดนี้ และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ
นายอนุสรณ์กล่าวว่า การฝ่าวิกฤติประเทศไทยทางออกหนึ่งคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และจะต้องแก้ใหญ่ด้วยพลังอำนาจของประชาชน โดยโมเดลที่เสนอคือ เสนอให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปประเทศ (ส.ส.ร.ปป.) โดยองค์ประกอบคือ 1.มาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามพื้นที่จังหวัด อย่างน้อยจังหวัดละ 1 คน 2.มาจากผู้ทรงคุณวุฒิ 15-20 คน แล้วยึดรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย เช่นฉบับ 2540 เป็นต้นแบบ ทำให้การร่างใช้เวลาไม่นาน 3.มีตัวแทนจากภาคประชาสังคมหรือสถาบันที่ทำงานเกี่ยวกับประชาธิปไตยร่วมขับเคลื่อนด้วย ทั้งนี้ต้องกำหนดกรอบเวลาจะได้ไม่มีการยื้อเวลาไปเรื่อยๆ เมื่อใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส.ว.ต้องหายไปตามการประกาศรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก่อนจะนำไปสู่กระบวนการเลือกตั้ง แบบนี้ถึงจะไม่มีวิกฤติ
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล แจ้งในกลุ่มไลน์ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลไม่ให้ร่วมลงชื่อเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มนิสิต นักศึกษา ตามกระบวนการของรัฐธรรมนูญ มาตรา 123 ว่า ไม่ทราบเรื่อง แต่การเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัยทำได้ 2 ทาง คือ การเข้าชื่อกันของสมาชิกรัฐสภาไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกรัฐสภา หรือให้รัฐบาลเป็นผู้เสนอ แต่ตอนนี้รัฐบาลยังไม่ได้มีการหารือกันถึงเรื่องดังกล่าว
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ในวันที่ 10 มี.ค.จะหารือกับนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อสอบถามถึงความคืบหน้าในการรวบรวมปัญหาจากประชาชนกลุ่มแรกที่ได้เข้าพบนายกฯ ตามแคมเปญซีรีส์ "มีปัญหา ปรึกษานายกฯ" เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อกำหนดมาตรการช่วยเหลือต่อไป โดยจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด ส่วนการเปิดโอกาสให้ประชาชนกลุ่มอื่นๆ เข้าพบนายกฯ อีกนั้น กำลังพิจารณาความพร้อมของทุกฝ่าย ซึ่งไม่ได้กำหนดตายตัวว่าจะต้องมีขึ้นทุกวันพฤหัสบดีหรือต้องมีขึ้นทุกสัปดาห์ และยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้เลือกว่าจะต้องนำประชาชนกลุ่มที่สนับสนุนหรือไม่สนับสนุนรัฐบาลมาพบนายกฯ เท่านั้น แต่จะพิจารณาจากกลุ่มสาขาอาชีพที่จะมาสะท้อนปัญหาให้นายกฯ ได้ทราบอย่างแท้จริง ส่วนผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น กำลังพิจารณาอยู่ว่าจะมีการนำตัวแทนเข้ามาพูดคุยกับนายกฯ ในครั้งต่อๆ ไปหรือไม่.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |