โควิด-19 ทุบกำลังซื้อ-1ศก.ดิ่ง


เพิ่มเพื่อน    

        การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีแนวโน้มรุนแรงและน่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่าที่คาดไว้เดิม โดยผ่านการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และยังอาจส่งผลต่อการลดลงของการเดินทางท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอยของคนไทยอีกด้วย อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากเรื่องการหยุดชะงักหรือการขาดตอนของโซ่อุปทาน (Supply chain disruption) ที่อาจส่งผลกระทบต่อการชะลอตัวของการส่งออกไทยเพิ่มเติมได้

รายได้หายกว่า 1.5 แสนล้าน

        ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการประเมินผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่มีผลกระทบต่อธุรกิจค้าปลีกไทยในปี 2563 โดยแบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี

        กรณีที่ 1 การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ระบาดในต่างประเทศ (โดยเฉพาะนอกประเทศจีนที่มีเพิ่มขึ้น) สามารถควบคุมได้ภายในครึ่งปีแรก ในไทยไม่ได้มีการระบาดรุนแรง กรณีนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อจะสูงสุดในช่วงไตรมาสที่ 2 และสถานการณ์จะเริ่มค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 3 ถึงไตรมาส 4   แต่ผลจากการระบาดของ COVID-19 จะส่งผลให้ครึ่งหนึ่งของแรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง ต้องเผชิญกับความเสี่ยงในเรื่องของรายได้จากการตกงานหรือพักงาน และส่งผลต่อการใช้จ่ายที่กระจายไปยังธุรกิจค้าปลีก ในช่วงครึ่งปีแรก 2563 โดยเฉพาะไตรมาส 2 น่าจะมีแนวโน้มหดตัวสูง

        แต่หากสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ภายในครึ่งปีแรก ประกอบกับปัจจัยหนุนทางด้านมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อของภาครัฐ และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการค้าปลีก ก็น่าจะทำให้มูลค่าตลาดค้าปลีกในช่วงครึ่งปีหลังค่อยๆ ทยอยฟื้นตัวได้บ้าง โดยเฉพาะในไตรมาส 4 ทั้งนี้ ผลจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 คิดเป็นเม็ดเงินที่สูญหายไปสำหรับธุรกิจค้าปลีกในปี 2563 ราว 150,000 ล้านบาท

        กรณีที่ 2 การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ระบาดในต่างประเทศ (โดยเฉพาะนอกประเทศจีนที่มีเพิ่มขึ้น) และในไทยเป็นวงกว้างและรุนแรงขึ้นลากยาวเกิน 6 เดือน จะส่งผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในวงกว้างมาก ทั้งมีคนตกงานเพิ่มขึ้นและธุรกิจปิดกิจการ ทำให้การใช้จ่ายที่กระจายไปยังธุรกิจค้าปลีก คิดเป็นเม็ดเงินที่สูญหายราว 200,000 ล้านบาท แม้ว่าจะมีมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อของทางภาครัฐเข้ามาหนุน แต่ก็อาจจะช่วยได้แค่บางส่วน และมองว่าผู้บริโภคก็ยังคงมีความกังวลและระมัดระวังการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

        อย่างไรก็ตาม การเติบโตของธุรกิจค้าปลีกในปี 2563  และยังต้องรอมาตรการของทางภาครัฐที่จะออกมากระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค ผ่านกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการค้าปลีก โดยเฉพาะกลยุทธ์ทางด้านราคาอย่างคุ้มค่าในจังหวะเวลาที่เหมาะสม

        ด้าน นายคมสัน ขวัญใจธัญญา รักษาการประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า จำนวนนักท่องเที่ยวและผู้มาใช้บริการตลอดช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.63 ถึงปัจจุบัน มีสัดส่วนจำนวนลูกค้าลดลงมากกว่า 30% และยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งผลจากการปิดตัวของธุรกิจท่องเที่ยวหรือที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยง ส่งผลให้กำลังซื้อหายไปจากระบบเป็นจำนวนกว่า 70,000 ล้านบาท

        ดังนั้น จึงขอเสนอมาตรการที่จำเป็นให้รัฐบาลช่วยเหลือและเยียวยา เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้ผู้บริโภค ประคองธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่อยู่ในห่วงโซ่ค้าปลีก-ค้าส่งให้อยู่รอด รวมทั้งช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าปลีก-ค้าส่งให้สามารถจ้างงานต่อไปได้ เช่น นำโครงการ “ช้อปช่วยชาติ”  กลับมาอีกครั้ง โดยการขยายวงเงินการบริโภคจากเดิม 15,000 บาท เป็น 50,000 บาท, คืนภาษีนำเข้า Duty Tax Refund ดึงดูดนักท่องเที่ยว ลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เหลือ 5%

        นอกจากนี้ ขอให้ยืดภาระการชำระภาษีนิติบุคคลประจำปี พ.ศ.2562 ไปเป็นเดือนสิงหาคม การนำเข้าหรือลงทุนซื้อหรือเช่าอุปกรณ์ที่ใช้ในระบบการคัดกรอง แจ้งเตือนและเฝ้าระวังผู้มีโอกาสติดเชื้อไข้หวัดโควิด-19 ที่สามารถนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า ลดอัตราค่าน้ำ ค่าไฟต่อหน่วยให้แก่ นิติบุคคล กำหนดช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน จนถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2563, ยกเลิกชั่วโมงล่วงเวลา (OT) รวมไปถึงจัด Big Cleaning และแหล่งท่องเที่ยว ติดตั้งเครื่องอุปกรณ์ที่ใช้ในระบบการคัดกรอง การแจ้งเตือนและเฝ้าระวังผู้มีโอกาสติดเชื้อไข้หวัดโควิด-19 ในสถานประกอบการ 

        อย่างไรก็ตาม นอกจากด้านค้าปลีกที่ได้รับผลกระทบแล้ว ยังมีด้านการคมนาคม โดยเฉพาะธุรกิจการบิน เนื่องจากความกังวลและหวาดกลัวการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินทาง ประกอบกับมีหลายประเทศที่ห้ามการเดินทางเพื่อตัดโครงข่ายการแพร่ระบาด

        ล่าสุด สมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ  (IATA) คาดว่าตัวเลขความเสียหายธุรกิจการบินที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 จะทำให้รายได้ของสายการบินประเภทเครื่องบินโดยสารในปีนี้ลดลงถึง 1.95-3.5 ล้านล้านบาท ที่คาดจะทำให้รายได้ของสายการบินลดลงประมาณ 9 แสนล้านบาท โดยคาดการณ์ว่าผลกระทบดังกล่าวจะจำกัดอยู่ในตลาดที่เกี่ยวข้องกับจีนเท่านั้น       

ลดค่าใช้จ่ายสู้วิกฤติ 

        สำหรับสายการบินในประเทศไทย อย่างการบินไทยนั้น ล่าสุด นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย กล่าวยอมรับว่า หลังจากที่การบินไทยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา การบินไทยทำการลดเที่ยวบินเส้นทางบินประเทศกลุ่มเสี่ยงที่มีปริมาณผู้โดยสารลดลง เช่น จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เฉลี่ย 10-12% เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และปรับขนาดเครื่องบินให้เล็กลง สอดคล้องปริมาณการเดินทางของผู้โดยสาร และปรับลดจำนวนเที่ยวบินต่อวัน เช่น วันละ 3-4 เที่ยวบิน เหลือวันละ 1 เที่ยวบิน พร้อมทั้งเตรียมปรับลดเที่ยวบินเพิ่มอีก 20% ในประเทศที่มีความเสี่ยง

        "การบินไทยเชื่อว่าเมื่อถึงไตรมาส 3 สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลาย และการเดินทางโดยอากาศยานจะเริ่มกลับมาบินปกติ ส่วนมาตรการลดค่าใช้จ่ายที่การบินไทยดำเนินการไปแล้ว ทั้งลดผลตอบแทนผู้บริหารและกรรมการ ถือว่ามาตรการเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นจากระดับ 4 เข้าใกล้ระดับที่ 3  (มาตรการสูงสุดคือระดับ 1)" นายสุเมธกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"