งัดแผนสู้วิกฤติภัยแล้งในอีอีซี เดินหน้าใช้โครงข่ายน้ำภาคตะวันออก


เพิ่มเพื่อน    

     จากการเชื่อมโยงน้ำโครงข่ายน้ำ ก็คาดว่าจะทำให้มีน้ำเพียงพอต่อความต้องการใช้ ประกอบกับในช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย.นี้ คาดว่าจะมีฝนในช่วงเปลี่ยนฤดู คาดว่าจะมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างอีกประมาณ 50 ล้าน ลบ.ม. จึงมั่นใจได้ว่าจะมีปริมาณน้ำเพียงพอจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2563 ตามที่ฝ่ายนโยบายต้องการ โดยกรมชลประทานจะทำทุกทางเพื่อให้ประชาชนผ่านแล้งนี้ไปให้ได้"

 

งัดแผนสู้วิกฤติภัยแล้งในอีอีซี

เดินหน้าใช้โครงข่ายน้ำภาคตะวันออก

        โครงข่ายน้ำเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ โดยในพื้นที่ภาคตะวันออก ได้มีการวางโครงการต่อเนื่องมาเกือบ 20 ปี เพื่อให้ระบบบริหารน้ำสมบูรณ์ที่สุด    เนื่องจากเป็นศูนย์กลางผลิตผลไม้หรือฮับผลไม้และเขตอุตสาหกรรม ซึ่งช่วง 5 ปีที่ผ่านมารัฐบาลยังได้มีนโยบายโครงการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นพื้นที่ภาคการผลิตสำคัญของประเทศ ปี 63 เมื่อแล้งติดลำดับ 2 ในรอบ 40  ปี โครงข่ายน้ำที่มีการพัฒนามาต่อเนื่องแม้จะยังไม่สมบูรณ์ 100% จากข้อจำกัดหลายด้าน จึงถูกใช้บริหารจัดการปัญหาขาดแคลนน้ำ ปีนี้จะได้เห็นการเวียนสลับหมุนวนน้ำในแต่ละอ่างเพื่อเติมเต็มกันและกัน ด้วยพันธกิจแล้งนี้ทุกฝ่ายต้องรอด

(ทองเปลว กองจันทร์)

 

บริหารจัดการน้ำสู้ภัยแล้ง          

      นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน  เปิดเผยว่า กรมชลฯ ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออกอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้มีปัญหาขาดแคลนน้ำ หรือแย่งน้ำระหว่างภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเหมือนในอดีต ในการทำงานจะมีการตกลงร่วมกันของผู้ใช้น้ำทั้งหมด มีการตั้งคณะทำงานใน KEY MAN WARROOM ซึ่งเป็นการบูรณาการทุกภาคส่วนประชุมทุก 15 วัน ดังนั้นการบริหารน้ำภาคตะวันออกจึงเป็นไปตามข้อห่วงใยของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะต้องไม่ขาดแคลนน้ำ และประชาชนในภูมิภาคจะต้องมีน้ำอุปโภคบริโภค 

        “ขอยืนยันว่ากรมชลประทานจะดูแลและบริหารจัดการน้ำให้ดีที่สุด โดยเฉพาะน้ำอุปโภคบริโภคจะไม่ขาดแคลน และจะไม่ให้กระทบต่อพื้นที่อีอีซี เพราะตระหนักดีว่าเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญ ในขณะที่ภาคการเกษตรได้มีการจัดสรรน้ำไว้ให้ตามที่มีการตกลงร่วมกันแล้ว“

 

เอกชนลดใช้น้ำ 10%

      นายสุชาติ เจริญศรี รองอธิบดีกรมชลประทาน ฝ่ายบริหาร เปิดเผยว่า พื้นที่อีอีซี 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง มีความต้องการใช้น้ำในฤดูแล้งรวม 430 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แต่ปีนี้มีปริมาณน้ำประมาณ 410 ล้าน ลบ.ม.   ยังขาดอีกประมาณ 20 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากปริมาณฝนตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ย จึงต้องจัดหาปริมาณน้ำส่วนที่ขาด อีกทั้งต้องสำรองเพื่อกรณีฝนทิ้งช่วงถึง มิ.ย.2563 

        ทั้งนี้ กรมได้หารือร่วมกับทุกหน่วยจนที่สุดสามารถลงนามข้อตกลงกับกลุ่มผู้ใช้น้ำลุ่มน้ำคลองวังโตนดเพื่อขอผันน้ำข้ามลุ่มตามกฎหมายใหม่ โดยจะผันจากอ่างเก็บน้ำคลองประแกด จ.จันทบุรี มาเติมที่อ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง จำนวน 10  ล้าน ลบ.ม. โดยจะผันวันที่ 1-25 มี.ค. ซึ่งอ่างประแสร์เป็นอ่างหลักส่งน้ำให้เขตอีอีซี ปัจจุบันอ่างคลองประแกดมีความจุ 60 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีน้ำใช้ได้ประมาณ 40-50 ล้าน ลบ.ม. ในพื้นที่จะใช้ประมาณ 15-20 ล้าน ลบ.ม. จึงมีน้ำที่จะนำมาช่วยเหลืออีอีซีได้ แต่ระหว่างผันหากปริมาณน้ำกระทบต่ออ่างจะหยุดทันที

        ในส่วนน้ำที่ยังขาดอีก 10 ล้าน ลบ.ม. จะมาจากที่ประชุมคีย์แมนวอร์รูม ขอความร่วมมือให้ภาคอุตสาหกรรม และการประปาทุกสาขา ลดการใช้น้ำลงกว่า 10% ปัจจุบันการใช้น้ำเป็นไปตามแผนที่กรมชลฯ วางไว้ และในส่วนของบริษัท  จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์วอเตอร์ ซึ่งเป็นเอกชนที่ผลิตน้ำป้อนภาคอุตสาหกรรม ปรับปรุงระบบน้ำดังนี้ ให้หาแหล่งน้ำดิบสำรองประมาณ 18  ล้าน ลบ.ม. ซึ่งได้รับการยืนยันว่ามีแล้ว และให้ปรับปรุงระบบ-สูบกลับ วัดละหารไร่ เพื่อเติมน้ำให้กับอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล วันละ 100,000-150,000 ลบ.ม. ให้ปรับปรุงระบบสูบกลับคลองสะพานเพื่อเติมอ่างประแสร์อีก 10 ล้าน ลบ.ม. ให้เสร็จภายในเดือน ม.ค.-ก.พ.นี้ 

        และเร่งเชื่อมท่อประแสร์-คลองใหญ่ และเชื่อมท่อประแสร์-หนองปลาไหล ให้แล้วเสร็จภายในเดือน ม.ค. เพื่อลดการสูญเสียน้ำประมาณ 10-20 ล้าน ลบ.ม. สำหรับการประปาส่วนภูมิภาคที่ไม่สามารถนำน้ำจากอ่างคลองหลวงมาใช้แทนน้ำที่ขาดจากอ่างบางพระนั้น อธิบดีกรมชลฯ สั่งการให้มีการขุดลอกคลองและระบายน้ำจากอ่างคลองหลวงมาที่สถานีสูบน้ำพานทอง ระยะทาง 60 กิโลเมตร เพื่อสูบมาเก็บที่อ่างบางพระประมาณ 10 ล้าน ลบ.ม.

        "จากการเชื่อมโยงน้ำโครงข่ายน้ำ ก็คาดว่าจะทำให้มีน้ำเพียงพอต่อความต้องการใช้ ประกอบกับในช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย.นี้ คาดว่าจะมีฝนในช่วงเปลี่ยนฤดู คาดว่าจะมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างอีกประมาณ 50 ล้าน ลบ.ม. จึงมั่นใจได้ว่าจะมีปริมาณน้ำเพียงพอจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2563 ตามที่ฝ่ายนโยบายต้องการ โดยกรมชลประทานจะทำทุกทางเพื่อให้ประชาชนผ่านแล้งนี้ไปให้ได้"

 

กอบชัย สังสิทธิสวัสดิิ์

น้ำต้นทุนเหลือพอใช้แค่ มิ.ย.นี้

        นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการบริหารจัดการด้านน้ำอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือฝ่าวิกฤติฝนทิ้งช่วงในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2563 นี้ ทาง กนอ.จึงได้มีการประชุมร่วมกับ บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก หรืออีสท์วอเตอร์, สมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยและพันธมิตร และสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อเตรียมการแก้ปัญหาวิกฤติภัยแล้งในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้ภาคอุตสาหกรรม

        โดยให้จัดทำแหล่งเก็บน้ำเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ ซึ่งจากปริมาณน้ำจากอ่างเก็บน้ำหลัก 3 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดระยอง ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ ยังมีปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอใช้งานในภาคอุตสาหกรรมจนถึงสิ้นสุดฤดูแล้งนี้ 

        “จากการประเมินสถานการณ์น้ำต้นทุนที่ได้มาจากการผันน้ำ ปริมาณน้ำฝน ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำ ประมาณ 151 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีแผนการใช้น้ำ ประมาณ 141.8 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้น จะมีน้ำต้นทุนคงเหลือประมาณ 9.8 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีปริมาณที่เพียงพอไปจนถึงสิ้นสุดฤดูแล้งในเดือนมิถุนายน 2563"

        นอกจากนี้ กนอ.มีมาตรการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการใช้ระบบ 3 Rs (Reduce : ลดการใช้ Reuse : นำกลับมาใช้ซ้ำ Recycle : นำกลับมาใช้ใหม่) และขอความร่วมมือผู้ประกอบการลดการใช้น้ำลง 10% ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ทำให้ปริมาณการใช้น้ำลดลงได้ถึง 14%

        ขณะเดียวกัน ก็มีมาตรการระยะยาวภายหลังสิ้นสุดฤดูแล้ง โดยการพัฒนาลุ่มน้ำวังโตนด จังหวัดจันทบุรี โดยการกักเก็บน้ำเพิ่มเติมใน 4 อ่าง ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำประแกด อ่างเก็บน้ำพะวาใหญ่ อ่างเก็บน้ำแก่งหางแมว และอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด รวมปริมาณน้ำทั้งสิ้น 308 ล้านลูกบาศก์เมตร  เข้าสู่ระบบการบริหารจัดการน้ำในภาคตะวันออก โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการพัฒนาอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำวังโตนดแล้วเสร็จได้ภายในเวลา 1 ปี

(สมจิณณ์ พิลึก)

เตรียม 4 มาตรการเติมน้ำต้นทุน

        นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ.ร่วมกับทุกภาคส่วนผลักดันมาตรการเร่งด่วนในการเพิ่มเติมน้ำต้นทุนด้วยการดำเนิน 4 มาตรการ ประกอบด้วย 1.การผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแกดเข้าสู่อ่างเก็บน้ำประแสร์ ประมาณ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ภายในเดือนมีนาคม 2563 

        2.การใช้ระบบสูบกลับคลองสะพานเพื่อผันน้ำเข้าอ่างเก็บน้ำประแสร์ 3.การปรับปรุงคลองน้ำแดง เพื่อเพิ่มศักยภาพการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์มายังอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ และปรับปรุงสถานีสูบน้ำวัดละหารไร่ เพื่อผันน้ำจากแม่น้ำระยองมาอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล 4.การเพิ่มน้ำต้นทุนในนิคมอุตสาหกรรม โดยการนำน้ำจากคลองชากหมากมาผ่านการบำบัด (Waste Water Reverse Osmosis : WWRO) ซึ่งผู้ประกอบการในนิคมอุตสหากรรมร่วมกันรับผิดชอบกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในส่วนของการดำเนินการ

        โดยเบื้องต้นจะสามารถผลิตน้ำได้ 14,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะจ่ายค่าน้ำเพิ่มในส่วนนี้เพียงหน่วยละ 2.76 บาทต่อลูกบาศก์เมตร แต่หากมีผู้ประกอบการรายใดที่ไม่เข้าร่วมกับโครงการ แต่มีความประสงค์จะใช้น้ำจากมาตรการนี้สามารถขอรับน้ำได้ในราคาต้นทุนอยู่ที่ 72 บาทต่อลูกบาศก์เมตรได้เช่นกัน

      “กนอ.ได้มีแนวทางการแก้ปัญหาภาวะวิกฤติภัยแล้งในระยะยาว เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ เหล่านี้ เพื่อให้ประเทศไทยรอดพ้นจากวิกฤติ อันจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อไปในอนาคต”.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"