เครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชน-พอช.จับมือ สปสช. ‘รวมพลังสู้ COVID’ ผลิตหน้ากากป้องกันไวรัส 1 ล้านชิ้น ตั้งเป้าแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายนนี้


เพิ่มเพื่อน    

วิทยากรให้ความรู้การป้องกัน COVID 19

 

สปสช./ เครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ –พอช. จับมือ สปสช. ‘ร่วมสืบสานแนวคิดไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง  รวมพลังสู้ COVID-19’   โดยจัดอบรมการผลิตหน้ากากอนามัยเพื่อให้สมาชิกแต่ละกองทุนฯ นำไปผลิตเพื่อแจกจ่ายประชาชนทั่วประเทศ  โดยใช้งบประมาณของกองทุนฯ  ตั้งเป้าผลิต 1 ล้านชิ้นภายในเดือนเมษายนนี้   โดยเริ่มผลิตหน้ากากแล้ว 13 จังหวัด 88 กองทุน เช่น  ร้อยเอ็ด  มหาสารคาม  ปราจีนบุรี  ภูเก็ต  สุราษฎร์ ฯลฯ

 

ตามที่สถานการณ์ไวรัส COVID-19 ระบาดไปทั่วโลก  ขณะที่ทุกภาคส่วนในประเทศไทยเกิดความตื่นตัว  มีมาตรการรณรงค์และป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส  แต่ยังขาดแคลนหน้ากากอนามัยอีกเป็นจำนวนมาก  หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและประชาชนจึงร่วมกันผลิตหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันแพร่กระจายของเชื้อไวรัส COVID-19

 

โดยในวันนี้ (9 มีนาคม) ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อาคารศูนย์ราชการ  ถนนแจ้งวัฒนะ  จ.นนทบุรี  มีการจัดงาน ‘เครือข่ายสวัสดิการชุมชน  พอช. และ สปสช.  ร่วมสืบสานแนวคิดไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง  รวมพลังสู้ COVID-19’  ภายในงานมีการประชุมเพื่อประสานความร่วมมือและวางยุทธศาสตร์การดำเนินงานร่วมกัน  ระหว่างผู้แทน สปสช.  กรมควบคุมโรค  กระทรวงสาธารณสุข  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  เครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชน  นอกจากนี้ยังมีการให้ความรู้ในการดูแลตัวเองและชุมชน  การฝึกทำหน้ากากอนามัยแบบผ้า  โดยวิทยากรจากโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร (คลองเตย)  มีผู้เข้าร่วมอบรมประมาณ 40 คน

 

การแถลงข่าว ‘รวมพลังสู้ COVID-19’

 

ผศ.ดร.จิตติ  มงคลชัยอรัญญา  คณบดีวิทยาลัยพัฒนศาสตร์  ป๋วย  อึ๊งภากรณ์  กล่าวว่า  ตนในฐานะกรรมการของ สปสช.  และเป็นกรรมการของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  หรือ ‘พอช.’ ซึ่งมีเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนอยู่ทั่วประเทศ  โดยมีแนวคิด “ไม่ทิ้งใครเอาไว้ข้างหลัง” จึงหารือร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดงานครั้งนี้ขึ้นมา  เพราะมีความคิดว่าปัญหาเรื่อง COVID-19 สามารถจัดการได้  โดยใช้พลังของชุมชน

 

“วันนี้ถือเป็นการ kick off   เป็นสัญญาณว่า ‘คนไทยจะไม่ทิ้งกัน  และจะไม่ทิ้งใครเอาไว้ข้างหลัง’  โดยร่วมกันลุกขึ้นมาผลิตหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ  และต่อไปเจลล้างมือจะมีราคาแพงและขาดตลาด   กองทุนสวัสดิการชุมชนแต่ละแห่งอาจเตรียมผลิตสบู่สำหรับล้างมือขึ้นมา  ไม่ต้องรอให้ใครมาสนับสนุน  โดยจะใช้งบประมาณของกองทุนแต่ละแห่ง  และใช้งบประมาณไม่มาก  ซึ่งหากเราสามารถสกัดไวรัสนี้ได้  โดยใช้พลังของชุมชน  และความร่วมมือของทุกฝ่าย  จะทำให้เป็นต้นแบบของโลกในการต่อสู้กับไวรัส COVID – 19”  ผศ.ดร.จิตติกล่าว

 

นพ.ศักดิ์ชัย  กาญจนวัฒนา  เลขาธิการ สปสช.  กล่าวว่า  สปสช.มีกองทุนหลักประกันสุขภาพกว่า 8,000 ตำบลทั่วประเทศ  และมีงบประมาณเพียงพอที่จะดูแลประชาชน  จึงอยากสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน  เพื่อไม่ให้เกิดความกังวลหรือหวาดวิตก  ขณะเดียวกันประชาชนจะต้องรับฟังข้อมูลที่เชื่อถือได้  โดยเฉพาะข้อมูลที่มาจากกระทรวงสาธารณสุข  เพราะในขณะนี้มีข่าวลือต่างๆ มากมาย  ทำให้ประชาชนเกิดความกลัว  รวมทั้งไม่ควรไปตั้งข้อรังเกียจประชาชนที่เพิ่งกลับจากทำงานต่างประเทศ  เพราะจะทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมา  แต่ทุกคนทุกฝ่ายควรจะร่วมมือกันเพื่อต่อสู้กับปัญหา  เช่น  การร่วมมือกันเพื่อผลิตหน้ากากอนามัยในวันนี้

 

นายปฏิภาณ  จุมผา  รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  กล่าวว่า  พอช.มีเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนที่จัดตั้งทั่วประเทศแล้วจำนวน  5,997 กองทุน  มีเงินกองทุนรวมกันประมาณ  15,000 ล้านบาท  และยังมีเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศ  จำนวน  7,789  แห่ง   ซึ่งเราจะใช้พลังประชาชนทั้งหมดนี้มาร่วมกันแก้ไขปัญหาต่างๆ  รวมทั้งปัญหาไวรัส COVID ในขณะนี้ด้วย

 

“วันนี้ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ที่ภาคประชาชนได้ลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาร่วมกัน  โดยไม่ต้องรองบประมาณจากใคร  เพราะเรามีพลังร่วมกัน  มีคน  มีงบประมาณ  ตอนนี้เครือข่ายภาคประชาชน  โดยเฉพาะกองทุนสวัสดิการ 88 กองทุนใน 13 จังหวัด  เช่น  กรุงเทพฯ  นครปฐม  นนทบุรี  ปราจีนบุรี  ร้อยเอ็ด  มหาสารคาม  พัทลุง  นครศรีธรรมราช  ภูเก็ต  ฯลฯ  ได้เริ่มผลิตหน้ากากอนามัยแล้ว  ตั้งเป้าหมายว่าภายในเดือนมีนาคมนี้  จะผลิตได้ประมาณ  444,800 ชิ้น  และจะผลิตครบ 1 ล้านชิ้นภายในสิ้นเดือนเมษายนนี้  เพื่อนำไปแจกจ่ายประชาชนในพื้นที่และประชาชนกลุ่มเสี่ยงต่อไป”  นายปฏิภาณกล่าว และว่า  การผลิตหน้ากากอนามัยในครั้งนี้  กองทุนสวัสดิการชุมชนฯ จะร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในแต่ละจังหวัด  เช่น  ผู้ว่าราชการจังหวัด  พมจ.  สาธารณสุขจังหวัด  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันผลิตให้ได้ตามเป้าหมาย  ถือเป็นการรวมพลังของทุกภาคส่วนในการต่อสู้กับไวรัส COVID

 

นายปาลิน  ธำรงรัตนศิลป์  คณะทำงานติดตามและพัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชน  กล่าวว่า  กองทุนสวัสดิการชุมชนจัดตั้งขึ้นทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2548  มีหลักคิดคือ  “ให้อย่างมีคุณค่า  รับอย่างมีศักดิ์ศรี”  โดยสมาชิกสมทบเงินเข้ากองทุนวันละ 1 บาท  หรือปีละ 365  บาท  แล้วนำเงินกองทุนมาช่วยเหลือสมาชิก  ตั้งแต่เกิด-ตาย  เมื่อเกิดปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัส COVID  เครือข่ายกองทุนสวัสดิการและสภาองค์กรชุมชนตำบล  จึงมาประชุมร่วมกันที่ พอช.เมื่อวันที่ 3 มีนาคม  เพื่อร่วมกันป้องกันการแพร่กระจายของไวรัส

 

“วันนี้เรารอใครไม่ได้แล้ว  และเราจะไม่โทษใคร  พลังชุมชนจึงต้องลุกขึ้นมาร่วมกันแก้ไขปัญหา   เพราะกองทุนสวัสดิการชุมชนตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนอยู่แล้ว  เมื่อเกิดปัญหาไวรัส COVID เราจึงรวมพลังกัน  โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ด้าน  คือ 1.นำความรู้ที่ได้รับเรื่องการดูแลป้องกันตัวเอง  การสร้างภูมิคุ้มกัน การดูแลสุขภาพ  การล้างมือที่ถูกวิธี  นำไปขยายต่อให้แก่คนในชุมชน  เป็นการใช้ ‘วิกฤตสร้างความรู้ด้านสุขภาพแก่ประชาชน’  2.ร่วมกันผลิตหน้ากากอนามัย  ตั้งเป้า 1 ล้านชิ้น  โดยจะเริ่มต้นในจังหวัดที่มีประชาชนหรือนักท่องเที่ยวพลุกพล่าน  และ 3.ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยในประเทศให้ลดน้อยลง”  นายปาลินกล่าว

 

การฝึกอบรมผลิตหน้ากากอนามัย

             

ทั้งนี้การจัดงาน ‘เครือข่ายสวัสดิการชุมชน  พอช. และ สปสช.  ร่วมสืบสานแนวคิดไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง  รวมพลังสู้ COVID-19’  ระหว่างเครือข่ายสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ  สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  ในครั้งนี้   มีการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำหน้ากากอนามัยป้องกันไวรัส  โดยวิทยากรจากศูนย์ฝึกอบรมอาชีพกรุงเทพมหานคร (คลองเตย)  โดยวิทยากรแนะนำให้ใช้ผ้าที่ไม่มีความระคายเคืองต่อใบหน้า  หรือผ้าที่ใช้กับเด็กทารก  เช่น  ผ้ามัสลิน  ผ้าสาลู (ใช้ทำผ้าอ้อมเด็ก) และผ้าสำลี  โดยใช้จักรเย็บผ้า  แต่หากไม่มีสามารถใช้เข็มเย็บผ้าแทนได้

 

 

โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมเป็นผู้แทนกองทุนสวัสดิการชุมชนจำนวน 10 กองทุน  จาก 4 จังหวัด (กรุงเทพฯ  นนทบุรี นครปฐม  สระแก้ว) ประมาณ  40 คน  เพื่อนำความรู้ไปผลิตหน้ากากอนามัยจำนวน  100,000 ชิ้น  และขยายไปยังกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ  มีเป้าหมาย 77 จังหวัด  จำนวน  1 ล้านชิ้นภายในเดือนเมษายนนี้   โดยใช้งบประมาณของกองทุนสวัสดิการชุมชนแต่ละแห่ง  ตั้งแต่ 15,000-100,000 บาท  แล้วแต่ความสามารถของแต่ละกองทุนฯ

 

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลกุดรังและจิตอาสาในตำบลร่วมกันผลิตหน้ากากอนามัย

 

นายประวัติ  กองเมืองปัก  นายก อบต.กุดรัง  อ.กุดรัง  จ.มหาสารคาม  ในฐานะที่ปรึกษากองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลกุดรัง  กล่าวว่า  กองทุนสวัสดิการชุมชนฯ ร่วมกับกองทุนหลักประกันสุขภาพ  และ อบต.กุดรัง  ได้เริ่มผลิตหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันไวรัส Covid-19   ตั้งแต่เมื่อวันที่  6  มีนาคมเป็นต้นมา  โดยใช้งบประมาณจากกองทุนสวัสดิการฯ จำนวน 15,000 บาท  งบ อบต.ประมาณ 20,000 บาท  ตั้งเป้าผลิตหน้ากากอนามัยจำนวน  10,000 ชิ้น   ใช้ต้นทุนประมาณชิ้นละ 4 บาท 

 

“วันหนึ่งเราผลิตได้ประมาณ 700-800 ชิ้น   โดยใช้จักรเย็บผ้า  30 เครื่อง  ส่วนที่เหลือเย็บด้วยมือ  โดยมีอาสาสมัครในตำบล  เช่น  กลุ่มแม่บ้าน  อสม.  นักเรียนและนักศึกษามาช่วยกันประมาณวันละ 150 คน  คาดว่าภายในสัปดาห์นี้จะผลิตได้ตามเป้าหมาย  จากนั้นจะนำไปแจกจ่ายแก่ประชาชนในตำบล  ส่วนที่เหลือจะมอบให้แก่จังหวัดเพื่อนำไปให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงต่อไป”  นายประวัติกล่าว

กองทุนสวัสดิการชุมชนใน จ.ภูเก็ตร่วมกับกลุ่มสตรี  และ อสม.ผลิตหน้ากากอนามัย

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"