สัปดาห์ก่อนผมนั่งวงสนทนาผ่านมือถือใน Suthichai Live กับคุณสันติธาร "ต้นสน" เสถียรไทย ที่อยู่สิงคโปร์เพื่อช่วยกันวิเคราะห์ผลพวงที่กำลังเกิดจากการระบาดของ Covid-19
เดิมคุณต้นสนจะต้องมาพูดในงานสัมมนาระดับนานาชาติที่ผมไปร่วมด้วยในกรุงเทพฯ แต่ก็ต้องยกเลิกไปทั้งหมด
อีกทั้งผมก็ไม่แน่ใจว่าหากคุณต้นสนเดินทางจากสิงคโปร์มากรุงเทพฯ ในช่วงนี้จะต้องเข้าสู่การ "กักตัวเอง" 14 วันหรือไม่
แต่เมื่อเราเจอกันตัวเป็นๆ ไม่ได้ก็ยังสามารถคุยกันทางออนไลน์ได้
หรือนี่อาจจะเป็นจังหวะของ digital transformation ที่สำคัญก็ได้ หากเราแปรวิกฤติเป็นโอกาสให้ได้ทันท่วงที
คุณต้นสนเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มองปัญหานี้รอบด้าน ตั้งคำถามว่าเศรษฐกิจไทยกำลังจะ "ติดหล่ม" หรือ "ตกราง" และรัฐบาลกับเอกชนจะต้องทำอะไรบ้าง เพื่อให้แน่ใจว่าพอเราพ้นจากช่วงวิกฤติแล้วจะมีเรี่ยวแรงพอที่จะฟื้นขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรม
วันที่คุยกันเป็นจังหวะเดียวกับที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกบทวิเคราะห์เรื่อง ดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจที่กำลังเสื่อมทรุดลงอย่างมีนัยสำคัญ
รายงานนั้นบอกว่า
ธปท.แจงดัชนีเชื่อมั่นธุรกิจเดือน ก.พ.ทรุดหนักต่ำสุด นับตั้งแต่น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 จากความกังวลการระบาดของไวรัส Covid-19
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ปรับลดลงมากจากเดือนก่อนที่ 48.5 มาอยู่ที่ระดับ 44.1 ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดตั้งแต่เหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2554
เป็นการลดลงทั้งในภาคการผลิตและภาคที่มิใช่การผลิต โดยความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการใน ภาคการผลิตลดลงในด้านคำสั่งซื้อ การผลิต และผลประกอบการ
โดยเฉพาะกลุ่มผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า รายงานเดียวกันนั้นบอกว่าที่ความเชื่อมั่นด้านการผลิตลดลงตามระดับวัตถุดิบคงคลังที่ไม่เพียงพอความต้องการ เนื่องจากต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากจีนค่อนข้างมาก ส่งผลให้ความเชื่อมั่นด้านผลประกอบการลดลงตามไปด้วย
ขณะเดียวกันความเชื่อมั่นในภาคที่มิใช่การผลิตที่ลดลงอย่างมากในเดือนนี้ มาจากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวเป็นหลัก นำโดยกลุ่มขนส่งและกลุ่มที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ที่ความเชื่อมั่นด้านยอดจองของลูกค้าทั้งในและต่างประเทศลดลง จากการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ส่งผลให้ความเชื่อมั่นด้านปริมาณการบริการลดลงตามไปด้วย
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีฯ ลดลงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 50.5 สะท้อนความกังวลของผู้ประกอบการ ที่มองว่าภาวะธุรกิจในระยะข้างหน้าจะยังคงมีความเสี่ยงจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 โดยเฉพาะกลุ่มขนส่งที่คาดว่ายอดจองในอนาคตจะลดลง เช่นเดียวกับกลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีความกังวลเรื่องคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่จะหดตัว
ขณะที่ความเชื่อมั่นด้านการผลิตของกลุ่มผลิตยานยนต์ลดลงตามการคาดการณ์ปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบที่อาจมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสยังไม่คลี่คลาย ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นด้านอื่นๆ ก็ทรุดลงด้วย ความเชื่อมั่นด้านคำสั่งซื้อและผลประกอบการของธุรกิจที่ลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้จำนวนธุรกิจที่ความเชื่อมั่นด้านสภาพคล่องแย่ลงมีมากขึ้น
สะท้อนจากดัชนีฯ ด้านสภาพคล่องที่ลดลง อีกทั้งยังอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 เป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน
แบงก์ชาติบอกว่าอย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ทั้งรายใหญ่และ SMEs ยังได้รับเครดิตจากสถาบันการเงินที่เพียงพอ
ตรงนี้ต้องพิสูจน์ด้วยของจริงว่า ธุรกิจระดับกลางและระดับเล็กนั้นจะได้รับเครดิตจากสถาบันการเงิน "ที่เพียงพอ" จะผ่านพ้นวิกฤติที่อาจยืดเยื้อยาวนานกว่าที่เห็นอยู่ในขณะนี้หรือไม่
รายงานนี้บอกต่อว่า ปัจจัยภายในประเทศยังคงเป็นข้อจำกัดสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ทั้งในด้านของกำลังซื้อที่อ่อนแอและการแข่งขันที่รุนแรง ทำให้การปรับราคาสินค้าทำได้ยาก สอดคล้องกับการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในอีก 12 เดือนข้างหน้าที่ยังคงใกล้เคียงเดือนก่อนที่ 1.6%.
(พรุ่งนี้: จากภาพใหญ่เศรษฐกิจมาสู่ภาพจริงของผู้ประกอบการ)
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |