ชนะในเกม-แพ้ศรัทธาคน ปรับครม.-รัฐบาลไปต่อพอหรือไม่?


เพิ่มเพื่อน    

                ผ่านพ้นศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจไปแบบโล่งอก..นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลได้รับคะแนนเสียงในสภาฯ แตกต่างกันไป แต่ผลที่ออกมาเหมือนกันคือได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรเพื่อไปบริหารราชการแผ่นดินต่อ พร้อมกับมีสมาชิกพรรคร่วมฝ่ายค้านบางคนที่สร้างความกังขา ด้วยการลงคะแนนไว้วางใจรัฐมนตรี

                ความแตกแยกในพรรคฝ่ายค้านจากศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทั้งเรื่องการประวิงเวลาของสมาชิกพรรคเพื่อไทย จนไปกินเวลาของสมาชิกอดีตพรรคอนาคตใหม่ กลายเป็นปมคำถามเรื่อง "ชกไม่สมศักดิ์ศรี" แถมวางเกมให้คนในฝ่ายเดียวไม่ได้ขึ้นชก สร้างร่องรอยความไม่พอใจของแกนนำอดีตพรรคอนาคตใหม่ในการออกมาแถลงตั้งคำถามกันแบบตรงไปตรงมา สร้างบาดแผลระหว่างการทำงานร่วมกันของนักการเมืองเก๋าเกมเขี้ยวลากดินที่มี ส.ส.ตลาดล่างเป็นส่วนมาก กับพรรคการเมืองคนรุ่นใหม่ ที่สร้าง ส.ส.ตลาดบน ปฏิเสธระบบอุปถัมภ์

                ในขณะเดียวกันยังพบว่าการทำพรรคการเมืองที่รวบรวมคนรุ่นใหม่ และไม่ได้มีระบบก๊วน มุ้ง ในการดูแล ส.ส.เหมือนการเมืองแบบเก่า ทำให้รับรู้ความจริงว่า อุดมการณ์ที่แท้จริงของผู้ที่สมัครเข้าพรรคไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้ว่าจะปักหลัก ยึดมั่นในฝ่ายของตนเองได้อย่างตลอดรอดฝั่ง

                สะท้อนให้เห็นสถานการณ์ของพรรคฝ่ายค้านที่ยังไม่เป็นเอกภาพในการทำงาน และไม่ได้เป็นปึกแผ่นพอที่จะสร้างพลังในการล้มรัฐบาลได้ แถมยังมี "อีแอบ" และ "งูเห่า" ที่พร้อมเคลื่อนไหว ย้ายข้างไปอยู่ฝ่ายรัฐบาล เนื่องจากสภาพบักโกรกที่ขาดการส่งกำลังบำรุงมานาน

                จุดร่วมในการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญจากการขับเคลื่อนของฝ่ายค้านเอง ในช่วงเริ่มต้นดูเหมือนว่ายังเน้นการ "โชว์เดี่ยว" และบางครั้งก็ไม่สนใจข้อเสนอ และความคิดเห็นจากฝ่ายอื่น แต่เมื่อสถานการณ์ผ่านไปพบว่ามีแนวร่วมที่พร้อมผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญมาจากหลายภาคส่วน ไม่ใช่มีเฉพาะแค่ฝ่ายของตัวเอง ทำให้เกิดการปรับตัวและใช้ช่องทางแสวงหาแนวร่วมจากสังคมเพื่อผลักดันให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญประสบความสำเร็จมากขึ้น

                มาถึงการชุมนุมของนักศึกษาที่วางตารางจัด “แฟลชม็อบ” ไปทั่วทุกมหาวิทยาลัย รัฐบาลกำลังติดตามดูอยู่ห่างๆ และยังไม่มีไปสร้างเงื่อนไขให้เกิดแรงกระเพื่อมจนเป็นเหตุให้ม็อบขยายตัวกว่าที่ควรจะเป็น อีกทั้งการมารวมตัวของคนหมู่มากเสี่ยงเกินไปในสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 การเดินหน้าของ "แฟลชม็อบ" จึงชะลอออกไป เพื่อรอจังหวะที่เหมาะสมต่อไปในอนาคต

                กระนั้นรัฐบาลก็มีสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เข้ามาคั่น ทำให้จุดโฟกัสของคนในสังคมพุ่งไปที่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกและในประเทศไทย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมต้องเรียกร้องให้รัฐบาลบริหารจัดการการป้องกัน และแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ เพื่อปกป้องพลเมืองให้รอดพ้นจากเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายไปแบบน่าสะพรึงกลัว

                นับแต่ข่าวสารการแพร่ระบาดของเชื้อ “โควิด-19” รัฐบาลบริหารจัดการแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ แต่กระแสเสียงของประชาชนยังไม่พอใจในการดำเนินการ เริ่มตั้งแต่ปัญหาหน้ากากอนามัยขาดตลาด การกระจายและการจัดลำดับความสำคัญในการลงไปสู่มือประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ดูจะผิดฝาผิดตัว ไม่ตรงกับความเร่งด่วน

                มาตรการควบคุมโรคที่ยังห่วงหน้าพะวงหลังจากผลกระทบของธุรกิจท่องเที่ยว แต่ในที่สุดก็ต้องเข้มงวดเพิ่มมาตรการไปตามการแพร่ระบาดที่ขยายวงกว้างมากขึ้น การขยับตัวในการหาแนวทางจัดการกับแรงงานผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ที่จะเดินทางกลับประเทศล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น

                กลายเป็นเรื่องที่น่าหงุดหงิด ไม่ได้ดั่งใจคนไทย แต่นั่นก็ไม่เท่ากับการทำงานของรัฐบาลที่มีเป้าหมายจะบรรเทาผลกระทบของผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากธุรกิจที่ชะลอตัวจากผลกระทบของการแพร่กระจายของเชื้อโรคให้เดินเครื่องต่อไป โดยออกมาตรการด้านการเงินและภาษีออกมาชุดใหญ่

                ได้แก่ มาตรการด้านการเงิน คือ 1.สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) โดยธนาคารออมสินจะปล่อยกู้ให้กับสถาบันการเงินอื่นๆ ในอัตราดอกเบี้ย 0.01% เพื่อให้สถาบันการเงินต่างๆ ไปปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% 2.การปรับโครงสร้างหนี้ โดยให้สถาบันการเงินพักชำระเงินต้น ขยายระยะเวลาการผ่อนชำระ 3.การปรับโครงสร้างหนี้ สำหรับลูกหนี้ที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) และเป็นเอ็นพีแอล โดยจะให้มีการยืดเวลาชำระหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ย ขยายเวลาการกู้เงินให้เป็นระยะเวลายาวมากขึ้น รวมถึงลดค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมาตรการนี้จะครอบคลุมทั้งลูกหนี้รายใหญ่ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และสินเชื่อบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต ให้ผ่อนขั้นต่ำน้อยกว่า 10% และ 4.มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของสำนักงานประกันสังคม โดยจะให้นายจ้างและลูกจ้างกู้ได้ เพื่อบรรเทาภาระและเป็นเงินทุนเวียน โดยหลังจากนี้สำนักงานประกันสังคมจะกลับไปพิจารณาหลักการดำเนินงาน

                สำหรับมาตรการด้านภาษี ประกอบด้วย 4 เรื่อง ได้แก่ 1.มาตรการลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้กับผู้ประกอบการเป็นการชั่วคราว เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ 2.ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่กู้เงินซอฟต์โลน และผู้ประกอบการที่ทำบัญชีเดียว ให้สามารถนำภาระดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าวมาคำนวณเป็นรายจ่ายหักลดหย่อนภาษีได้ 3.ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่จ้างงานลูกจ้างต่อโดยไม่ให้ตกงาน ให้นำรายจ่ายมาหักลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า ในช่วง 1 เม.ย.-31 ก.ค.2563 และมาตรการที่ 4 ให้กระทรวงการคลังเร่งดำเนินภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ให้กับผู้ประกอบการภายในประเทศให้เร็วขึ้น ไม่เกิน 15 วัน สำหรับผู้ประกอบการที่ยื่นแบบผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และไม่เกิน 45 วันสำหรับผู้ประกอบการที่ยื่นแบบปกติ

                แต่กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์มาตรการแจกเงินให้กับผู้มีรายได้น้อย เกษตรกรและอาชีพอิสระ จำนวน 2,000 บาทต่อราย โดยจะทยอยจ่ายเดือนละ 1,000 บาท โดยประชาชนที่ได้รับเงินจะสามารถกดเงินสดไปใช้จ่ายตั้งแต่เดือน เม.ย.และ พ.ค.นี้ ผ่านระบบพร้อมเพย์...ซึ่งเป็นมาตรการที่เกิดคำถามว่าเป็นห้วงเวลาที่ควรใช้มาตรการเช่นนี้หรือไม่

                อย่างไรก็ตาม ในขณะที่รัฐบาลกำลังแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และยังต้องรับมือผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจที่จะตามมาหลังสถานการณ์โควิด-19 ผ่านพ้นไปที่คาดว่าจะหนักหนาสาหัสมากพอสมควร ก็เชื่อว่าจะเป็นเวลาเดียวกับที่การเมืองต้องกลับมามีความเคลื่อนไหวอีกครั้ง เพราะมรสุมหลายลูกตั้งเค้า และพร้อมจะถล่มรัฐบาลพร้อมกัน

                จึงเป็นเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ต้องยกเครื่องการทำงานและ "สะสาง" ปัญหาเก่าที่เป็นอุปสรรคในการบริหารงานของรัฐบาลให้เกิดความเชื่อมั่นต่อประชาชนหลังจากผ่านวิกฤติมาตั้งแต่ต้นปี

                ในฐานะผู้นำรัฐบาลที่เห็นการทำงานในช่วงที่ประเทศประสบปัญหาย่อมรู้ว่า รัฐมนตรีคนใดมีจุดอ่อนที่ต้องปรับออกจาก ครม. แม้จะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่มีรัฐมนตรีมาจากหลายพรรคการเมือง และพึ่งพาเสียง ส.ส.ของพรรคร่วมในการหนุนรัฐบาลในสภา

ฯ แต่ก็ถึงเวลาแล้วต้อง "กลืนเลือด" สังคายนาให้บุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ เป็นมืออาชีพเข้ามารับไม้ต่อ เพราะในที่สุดเสียงสนับสนุนของประชาชนยังเป็นสิ่งสำคัญ

                ต้องยอมรับว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนลดลง แนวร่วมที่เคยผลักดันเริ่มอ่อนแรงจากปมปัญหาที่เกิดขึ้นจากเรื่องเทาๆ ของคนในรัฐบาล และยังเจอกับเกมการเมืองเก่าๆ ที่ไม่ต่างจาก "ระบอบทักษิณ" ที่ใช้มาในอดีต จึงทำให้แนวร่วมเหล่านั้นเริ่มตีจาก ส่งผลให้กลุ่มและฝ่ายที่เหลืออยู่กับฝ่ายรัฐบาลเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์และอานิสงส์จากรัฐบาลเท่านั้น

                จึงน่าสนใจว่า การปรับ ครม.ที่จะเกิดขึ้นต่อไป เพียงพอที่จะเรียกความเชื่อมั่นและศรัทธาให้กับคนในสังคมที่รู้สึกไม่ดีกับรัฐบาลหรือไม่ เพราะจังหวะนั้นเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดคงเริ่มเปิดเผยตัวจะซ้ำเติมคนในสังคมเข้าไปอีก!!.

           ทีมข่าวการเมือง

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"