แฟลชม็อบ-นักศึกษา ต้องไม่โดดเดี่ยวตัวเอง-สร้างฉันทามติ
การเคลื่อนไหวของนิสิต-นักศึกษาจากหลายสถาบันการศึกษาทั่วประเทศที่เรียกกันว่า แฟลชม็อบ ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังจากนี้ที่หลายสถาบันผ่านพ้นช่วงการสอบกลางภาคไปแล้ว บางฝ่ายคาดการณ์ไว้ว่ากิจกรรมดังกล่าวอาจจะกลับมามีความเคลื่อนไหวอีกครั้ง
ปรากฏการณ์ดังกล่าวมีความเห็นจากนักวิชาการและอดีตนักกิจกรรมกลุ่มนักศึกษาที่เคยมีบทบาทในอดีต จะมาวิเคราะห์และเฝ้ามองปรากฏการณ์แฟลชม็อบดังกล่าว ในบริบท Social Movement นั่นคือความเห็นจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการผู้มีความสนใจด้านการเคลื่อนไหวทางสังคมและความรุนแรง-ความทุกข์ทนทางสังคม (Social Suffering) เจ้าของงานวิจัยและหนังสือ อยู่กับบาดแผล : เสียงจากสามัญชนที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงทางการเมือง (2553-2557) ที่ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางกับงานวิจัยที่ไปสัมภาษณ์พูดคุยกับผู้ร่วมชุมนุมทางการเมืองที่เป็นคนธรรมดา ซึ่งได้รับบาดเจ็บพิการจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมืองและเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองทั้งฝ่ายเสื้อแดง-กปปส.-คปท. เป็นต้น อีกทั้งสมัยเป็นนักศึกษายังเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง-การเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 จนไปเป็นเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ในช่วงปี 2537
บทสัมภาษณ์เริ่มต้นด้วยการถามมุมมองต่อปรากฏการณ์แฟลชม็อบของนักศึกษาสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งทั่วประเทศในเวลานี้ โดยเฉพาะในบริบททางสังคมวิทยา และปรากฏการณ์ Social Movement ดร.บุญเลิศ ให้ทัศนะว่า หากวิเคราะห์จากแนวทฤษฎีการเคลื่อนไหวทางสังคม หรือ Social Movement สะท้อนให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวของคนที่มีความไม่พอใจร่วมกัน มีการแสดงออกร่วมกัน บนเป้าหมายที่อาจจะยังไม่ชัดนักว่าคืออะไร และต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่อะไร แต่เราเห็นถึงความไม่พอใจของพวกเขาที่ชัดในบางแง่ เช่น ผมเคยไปร่วมสังเกตการณ์ฟังการปราศรัยของกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่จัดที่ ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จ.ปทุมธานี พบว่าเนื้อหาคำปราศรัยไม่ใช่แค่เรื่องการตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ แต่เป็นความไม่พอใจของพวกเขาที่มีต่อระบอบประยุทธ์ที่สืบเนื่องมาจาก คสช.
อันนี้คือสิ่งที่เห็นได้ชัดจากปรากฏการณ์นี้ การยุบพรรคอนาคตใหม่ดังกล่าวอาจเป็นแค่จุดเริ่มของการเคลื่อนไหว แต่จริงๆ แล้วเรื่องนี้มีฐานมาจากความไม่พอใจที่บ่มเพาะมาก่อน แต่พอมีประเด็นยุบพรรค มันเหมือนกับเป็นการจุดชนวนความไม่พอใจที่สะสมอยู่ทำให้เกิดการแสดงออก เวลานักศึกษาปราศรัยจะพบว่าเนื้อหาที่เขาพูดมีหลายเรื่อง โดยเฉพาะในเรื่องความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล
นอกจากนี้ทฤษฎีการเคลื่อนไหวทางสังคมจะพูดถึง 2-3 ปัจจัยที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางสังคม เรื่องหนึ่งก็คือ เรื่องของเงื่อนไข-โอกาสทางการเมือง ปัจจุบันเป็นช่วงรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง การจะห้ามชุมนุมทางการเมืองก็ทำได้ยาก ทำให้ความกลัวว่าหากชุมนุมแล้วจะถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมอย่างไม่เป็นธรรมจากคำสั่ง คสช.ก็หมดไปแล้ว ทำให้เงื่อนไขตรงนี้เปิด ส่วนเงื่อนไขที่สอง คือความไม่พอใจร่วมกันต่อระบอบ คสช. ที่สืบทอดมาสู่ระบอบประยุทธ์ยังคุกรุ่นอยู่ และสาม เราจำเป็นต้องตระหนักว่า การรวมตัวกันของกลุ่มนักศึกษานี้เกิดขึ้นในยุคดิจิตอล ดังนั้นจึงต่างจากการเคลื่อนไหวแบบเดิม เพราะในยุคดิจิตอล พวกเขาใช้เครื่องมือสื่อสารเป็นกลไกสำคัญในการส่งต่อข่าวสารและการนัดพบกัน จึงเกิดปรากฏการณ์ที่รวดเร็วแบบที่เห็น
-มองว่าเหตุใดการเคลื่อนไหวแสดงออกดังกล่าวของนักศึกษาจึงขยายวงไปหลายสถาบันอย่างรวดเร็ว?
เนื่องจากมันมีความไม่พอใจที่คุกรุ่นอยู่เป็นพื้นฐานร่วมของนักศึกษาหลายสถาบันอุดมศึกษา ประเด็นสำคัญที่ผมสังเกตเห็นและได้สอบถามพูดคุยกับนักศึกษาบ้างก็คือ พวกเขาเห็นชัดๆ ว่าอนาคตของพวกเขากำลังถูกกระทบ ถ้ารัฐบาลยังเป็นแบบนี้ เศรษฐกิจยังเป็นแบบนี้ โอกาสที่จะได้งานทำมันเหลือน้อย คนที่กำลังจะจบการศึกษาเห็นว่าสังคมโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การถูกดิสรัป จากเทคโนโลยีดิจิทัล แต่ประเทศยังบริหารโดยคนรุ่นลุงรุ่นปู่และระบบราชการที่เทอะทะ ทำให้พวกเขาเห็นถึงความจำเป็นต้องเรียกร้องให้ไปไกลกว่าการบริหารที่เป็นอยู่
ในแง่นี้ผมคิดว่า นอกเหนือจากที่เรามักจะพูดว่านักศึกษามักจะอ่อนไหวต่อความไม่เป็นธรรมทางสังคม แต่ขณะนี้ผมเห็นว่า นักศึกษาไม่ใช่แค่กังวลกับความเป็นธรรมทางสังคมที่เป็นนามธรรม แต่เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพที่มันจะกระทบต่อชีวิตและโอกาส และความก้าวหน้าในการทำงานของพวกเขาด้วย
-ถามให้ชัด แฟลชม็อบในสถาบันการศึกษาหลายแห่งขณะนี้เกิดจากอะไร?
เกิดความไม่พอใจของนักศึกษา เยาวชน ที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยเวลานี้ พวกเขาเติบโตมาในช่วงที่มีการรัฐประหาร คสช.ปี 2557 ที่ผ่านมาพวกเขาก็อยู่กับยุค คสช.มา 5 ปี เหมือนเป็นการอยู่ด้วยความอดทน จนมีการเลือกตั้งแล้วปี 2562 และคิดว่าการเลือกตั้งจะนำไปสู่โอกาสในการใช้สิทธิ์ของพวกเขา เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไปในทิศทางใหม่ แต่สิทธิและเจตนารมณ์ของพวกเขาถูกบิดเบือน ถูกโค่นล้มโดยฝ่ายที่ต้องการสืบทอดอำนาจ ความไม่พอใจนี้จึงถูกปะทุออกมา บวกกับพวกเขาเริ่มเห็นว่าการปล่อยให้ประเทศยังเป็นอยู่แบบนี้ ความไร้ประสิทธิภาพในการแข่งขันเพื่อรับมือกับเศรษฐกิจโลก รวมถึงวิกฤติต่างๆ เวลานี้ เช่น ไวรัส COVID-19 ที่จะทำให้หน้ากากอนามัยราคาถูกและทั่วถึงก็ยังทำไม่ได้ แถมนายกรัฐมนตรีก็ยังความรู้สึกช้า ที่บอกไม่มีปัญหาเรื่องหน้ากากขาดตลาด ความไร้ประสิทธิภาพดังกล่าวมันกระทบกับอนาคตของพวกเขา พวกเขาเห็นความย่ำแย่ของระบอบที่มันกระทบกับพวกเขา
-การยุบพรรคอนาคตใหม่คือแรงปะทุ เป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้นักศึกษาเคลื่อนไหว?
เป็นฟางสุดท้าย ที่ต้องบอกว่ามันมีกองฟางที่พวกเขาทนแบกกันมากองใหญ่อยู่ 5-6 ปี โดยฟางเส้นสุดท้ายแค่เส้นเดียวมันทำให้สิ่งที่พวกเขาทนกันมา ทนต่อไปไม่ไหว
-คิดว่าปรากฏการณ์แฟลชม็อบช่วงนี้จุดติดหรือไม่?
ถ้าให้ผมประเมิน ผมก็ประเมินว่าจุดติดแล้ว และก้าวย่างต่อไปต้องใช้ความระมัดระวัง เมื่อจุดติดแล้ว จะรักษา Momentum นี้ต่อไปอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย รวมถึงการต้องขยายกำลังภาคประชาธิปไตย จะรักษาได้หรือไม่ จะขยายได้หรือไม่ อันนี้คือเงื่อนไขสำคัญที่จะบ่งบอกได้ว่ารัฐบาลประยุทธ์จะอยู่ได้นานหรือไม่นาน ถ้าจุดติดได้ และรักษาความต่อเนื่องได้ ขยายคนได้ เหมือนอย่างเช่นสมัยคุณสนธิ ลิ้มทองกุล จุดติด แล้วรักษา Momentum ต่อไปได้ ซึ่งผมคิดว่านักศึกษาจำเป็นต้องขยายผลให้ประชาชนเห็นความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลมากขึ้น
ผมเห็นแนวโน้มที่ดีอย่างหนึ่งในการชุมนุมที่ผ่านมา คือในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งผมเรียนจบจากต่างประเทศกลับมา ผมเห็นเพียงแค่การเคลื่อนไหวของนักศึกษาเพียงกลุ่มเล็กๆ และมีลักษณะคนที่โดดเด่นขึ้นมาเป็นคนๆ และมักเป็นเป้าของสังคมและทางการ แต่การชุมนุมของนักศึกษาในช่วงที่ผ่านมา เราเห็นคนจำนวนมากที่เป็นแนวโน้มที่ดีในการขยายตัวเป็นกลุ่มก้อนมากขึ้น ซึ่งตรงนี้ไม่มีใครไปสามารถ build กันได้ นอกจากพวกเขาจะตกผลึกกันเอง สถานการณ์มันพาไป ไม่มีใครจะไปชักนำกันได้ โดยฝ่ายรัฐบาลก็ต้องไม่ใช้วิธีการป้ายสีสร้างความเกลียดชัง เรื่องแบบนี้ควรหลีกเลี่ยงที่สุด เพราะความรุนแรงมันจะเกิดขึ้นเมื่อมีการป้ายสี หากไม่มีการป้ายสีสร้างความเกลียดชัง ความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ ก็เป็นความขัดแย้งทางความคิด ที่มาแลกเปลี่ยน ถกเถียงกัน ใครเหตุผลดีกว่า คนส่วนใหญ่ยอมรับก็ไปทางนั้น
เมื่อถามถึงว่า แฟลชม็อบที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่แฟชั่น เรื่องกระแสอินเทรนด์ของนักศึกษา คนรุ่นใหม่ ดร.บุญเลิศ-อดีตเลขาธิการ สนนท. ยืนยันว่า คงไม่ใช่ เพราะอย่างผมได้คุยกับนักศึกษา ผมคิดว่ามาจากความรู้สึกที่มาจากเงื่อนไขที่เป็นเนื้อในของสังคมเราเอง ไม่ใช่เรื่องที่ว่าเห็นฮ่องกงทำแล้วอยากอินเทรนด์ ผมคิดว่ามันมีเนื้อในในเงื่อนไขภายในสังคมไทย ที่ทำให้นักศึกษา คนหนุ่มสาวออกมาเคลื่อนไหว ออกมาแสดงตัว ทั้งๆ ที่อย่างในรอบสัปดาห์ช่วง 2-6 มีนาคม เป็นช่วงนักศึกษาต้องสอบมิดเทอม และสัปดาห์ที่แล้วคือก่อนสอบมิดเทอม ที่หมายถึงนักศึกษา ก็ห่วงเรื่องสอบมิดเทอม แต่เขาก็ไปทำกิจกรรมกันก่อน กรณีที่เกิดขึ้นมันสะท้อนว่าพวกเขาก้าวจากโลกออนไลน์มาสู่โลกแห่งความเป็นจริง แต่เขาก็ต้องปรับบ้าง อย่างลำดับแรก ก่อนหน้านี้คนก็พูดกันว่า พรรคอนาคตใหม่มีแฟนคลับเยอะ แต่ว่าถ้าถึงเวลาจริงๆ จะมีคนหนุ่มสาวออกมาตากแดด กลัวร้อนไหม ดังนั้นการออกมาของนักศึกษาคือ การพิสูจน์ว่าพวกเขาพร้อมที่จะออกมาปฏิบัติการที่ไม่ใช่เพื่ออนาคตใหม่ แต่ทำเพื่ออนาคตของพวกเขา
แฟลชม็อบ-ไม่เกี่ยวยุบพรรค อนค.
-แฟลชม็อบหลังมีการเคลื่อนไหวผ่านมาได้สัก 1 สัปดาห์ ถึงตอนนี้เริ่มเห็นแล้วแนวทาง เริ่มหลุดจากเรื่องอนาคตใหม่ คือพวกนักศึกษาก้าวข้ามเรื่องนี้ไปแล้ว?
ใช่ มันก้าวข้ามเรื่องพรรคอนาคตใหม่ เพราะสิ่งที่พวกเขานักศึกษากำลังต้องคิดกัน ซึ่งผมก็ไม่ได้ใกล้ชิดกับพวกเขาเป็นการส่วนตัว ไม่ได้ไปยุ่งอะไรกับเขาเลย แต่ผมวิเคราะห์ว่าพวกเขากำลังคิดเรื่องระยะยาวว่าจะทำอย่างไรกันดี โดยเฉพาะหากเราไปคิดว่าพวกเขาคิดกันง่ายๆ ว่าให้นายกฯ ลาออกหรือยุบสภาฯ เลือกตั้งใหม่ แต่ผมคิดว่าพวกเขาคิดไปไกลกว่านั้น คือถอนรากระบอบ คสช. เพราะพวกเขาก็รู้ว่าการเลือกตั้งใหม่ภายใต้กติกาของ รธน.ฉบับนี้ ก็ยังมีเครื่องมือที่ทำให้ฝ่าย คสช.สืบทอดอำนาจกันได้อยู่ ดังนั้นในแง่ของข้อเรียกร้อง พวกเขายังต้องคิดกันเยอะอยู่ ยังต้องศึกษาและพูดคุยกันในหลายๆ มหาวิทยาลัยว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้จะมีข้อเสนอที่ชัดเจนว่าต้องการอะไร เพราะสัปดาห์แรกของสิ่งที่เกิดขึ้น มองแล้วเป็นลักษณะ reaction แสดงออกว่าไม่พอใจกับระบอบที่เป็นอยู่ แต่การเคลื่อนไหวที่จะเคลื่อนไหวต่อไป ก็ต้องบอกว่าข้อเสนอของพวกเขาคืออะไร และข้อเสนอดังกล่าว เสนอมาแล้วสังคมจะขานรับมากหรือน้อยขนาดไหน ผู้มีอำนาจจะขานรับมากน้อยขนาดไหน หรือจะดึงดันต่อไปอย่างไร สเต็ปต่อไปจะเป็นจังหวะที่สำคัญ หรือจะพูดในภาษาเชิงแนวทฤษฎีการเคลื่อนไหวทางสังคมก็คือ พวกเขาจะนำเสนอกรอบแนวคิดให้สังคมยอมรับข้อเสนอของพวกเขาได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งตัวผมเองก็มองว่า กลุ่มนักศึกษาเองไม่จำเป็นต้องเร่งเร้าในช่วงนี้ ยังไม่ต้องเร่งเร้า วันนี้ พรุ่งนี้ มะรืนนี้ ที่จะเผด็จศึกอะไร สถานการณ์ไม่ใช่แบบนั้น
ดร.บุญเลิศ-นักวิชาการด้านมานุษยวิทยา ผู้สนใจการเคลื่อนไหวทางสังคม ให้ทัศนะหลังเราถามว่า ประเด็นหรือข้อเรียกร้องต่างๆ ของกลุ่มนักศึกษาบางสถาบัน มีน้ำหนัก มีเหตุผลหรือไม่ เช่น บอกว่ารัฐบาลประยุทธ์เป็นรัฐบาลเผด็จการ แต่รัฐบาลก็บอกว่ามาจากการเลือกตั้ง โดยเขามองว่า เท่าที่ติดตาม นักศึกษาจะตอกย้ำประเด็นว่า รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งก็จริง แต่มาจากกติกาการเลือกตั้งที่ลำเอียงไปในทางสืบทอดอำนาจของคณะ คสช. ทั้ง ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. และมีสิทธิ์โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี องค์กรอิสระที่สังคมตั้งคำถามกับความเที่ยงธรรม กล่าวในแง่นี้ผมคิดว่า การเคลื่อนไหวของนักศึกษามีฐานที่มีน้ำหนักและชอบธรรม อย่างไรก็ดี กลุ่มนักศึกษาก็ยังไม่ได้พูดชัดๆ ว่าเรียกร้องอะไร แต่ผมคิดว่าข้อเรียกร้องน่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญมากกว่า คือต้องการเปลี่ยน ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างน้อยมีการแก้ไข รธน.ในมาตราที่จะทำให้กระบวนการแก้ไข รธน.ฉบับปัจจุบันเป็นไปได้ง่ายมากขึ้น และเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากในทัศนะของผม อย่างไรก็ดี การจะเกิดเช่นนั้นได้ นักศึกษาต้องทำให้สังคมเห็นพ้อง จนเกิด consensus หรือฉันทามติเหมือนสมัยที่มีการยกร่าง รธน.ฉบับปี 2540 ที่เราเรียกกันว่าเป็น รธน.ฉบับประชาชน นั่นคือเกิดความเห็นพ้องว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้จำเป็นต้องถูกแก้ เพื่อสร้างกติกาการเมืองที่ดีกว่า และเพื่อให้ได้รัฐบาลที่มีประสิทธิภาพกว่าที่เป็นอยู่
ผมจึงมองการเคลื่อนไหวของนักศึกษาว่า จะทำอย่างไรที่จะทำให้การเคลื่อนไหวครั้งนี้ ไม่ใช่แค่การเคลื่อนไหวของนักศึกษา คนรุ่นใหม่ ที่จะไปปะทะกับคนรุ่นเก่า เพราะต้องไม่ลืมว่า ยังมีคนกลุ่มอื่นๆ เช่น คนรุ่นกลางๆ ที่พวกเขาต้องดึงมาเป็นพวก มาสนับสนุนการเคลื่อนไหวของพวกเขา อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ ไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถสร้าง consensus หรือความเห็นพ้องร่วมกันของคนทั้งสังคม เพราะอย่าง รธน.ฉบับปี 2540 เกิดขึ้นมาได้ เพราะเกิดความสุกงอมทางสังคม ที่เห็นว่าจะปล่อยให้การเมืองเวลานั้นเป็นไปแบบเดิมไม่ได้ ที่มีนักการเมือง-รัฐบาลไร้ประสิทธิภาพ แต่ต้องการ รธน.ฉบับใหม่ที่สะท้อนความต้องการของประชาชน มีระบบการตรวจสอบที่ดี จนเกิดการเห็นพ้องกันมากเวลานั้น แต่ตอนนี้ผมเห็นว่า ความเห็นพ้องตรงนี้ยังไม่ชัด นักศึกษาจึงยังไม่จำเป็นต้องบุ่มบ่ามในเวลานี้ แต่ใช้เวลาไปกับการเคลื่อนไหวที่ทำไปพร้อมๆ กับการเผยแพร่ความคิดให้เป็นที่ยอมรับของคนในสังคมวงกว้างให้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ดร.บุญเลิศ-อดีตเลขาธิการ สนนท. มองว่าแฟลชม็อบคงจะไม่นำไปสู่การชุมนุมบนท้องถนนที่จะนำไปสู่การชุมนุมแบบยืดเยื้อในช่วงเวลาอันใกล้นี้
“ผมไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นโดยเร็ว อย่างที่ได้ไปร่วมสังเกตการณ์การชุมนุม ผมได้ยินนักศึกษาเขาพูดกันอยู่เหมือนกันว่า เขาอยากจะไปถนนราชดำเนินกันแล้ว แต่ผมยังคิดว่า ไม่จำเป็นต้องบุ่มบ่ามรวดเร็ว ผมไม่ได้ห้ามนะครับ ผมไม่คิดว่ามันผิด แต่คิดว่าไม่จำเป็นต้องบุ่มบ่ามรวดเร็ว แต่ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ขบวนการเคลื่อนไหวที่มีนักศึกษาเป็นหัวหอก สามารถเชิญชวนประชาชนภาคส่วนอื่นๆ มาสนับสนุน และเห็นพ้องด้วย และเดินไปพร้อมกับนักศึกษา พวกนักศึกษาจะต้องไม่ใช่กลุ่มเดียวที่ไปขับเคลื่อน แต่ต้องถึงเอาพลังทางสังคม ที่คนส่วนใหญ่เห็นด้วย ผมคิดว่าเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา ไม่ใช่รวดเร็วเกิดขึ้นทันที ต้องค่อยๆ บ่มเพาะ และถ้ารัฐบาลเพลี่ยงพล้ำ มีประเด็นที่อ่อนไหว เขาก็ทำหน้าที่ในการขยายประเด็นเพื่อตอกย้ำความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล”
อย่างกรณีของ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ ที่มีคดีพัวพันยาเสพติดที่ออสเตรเลีย แต่ยังเป็นรัฐมนตรีได้ และการแก้ตัวในสภาฯ ก็น้ำขุ่นมากๆ มันตอกย้ำได้ว่ารัฐบาลไม่สามารถจัดการกับบุคลากร รัฐมนตรีที่สังคมไม่สามารถยอมรับได้ หรือกรณีที่การจะอภิปรายพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ยังไม่ได้ เพราะถูกสกัดด้วยวิธีการใต้ดิน สะท้อนถึงการเป็นรัฐบาลที่ไม่ยอมรับการตรวจสอบ เวทีนักศึกษานอกสภาจำเป็นต้องพูดเรื่องเหล่านี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า การจัดตัวบุคคลของรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรมของรัฐบาลที่สืบเนื่องมาจากระบอบ คสช.
-มีการวิเคราะห์ก่อนหน้านี้จากบางฝ่ายที่ตอนนั้นคนบอกว่า หากยุบพรรคอนาคตใหม่ คนในสังคมก็คงไม่มีปฏิกิริยาอะไร โดยยกตัวอย่างเปรียบเทียบว่าสมัยมีการยุบพรรคไทยรักไทย และพลังประชาชน ที่คนเลือกสิบกว่าล้านเสียง ก็ไม่เห็นมีคนออกมาเคลื่อนไหวอะไร มีแต่คนเสื้อแดง แล้วทำไมรอบนี้ต่างออกไป?
คำถามนี้น่าสนใจ แต่ผมจะลองวิเคราะห์แบบนี้ว่า สำหรับชาวบ้าน การให้มารวมตัวกันมันยากกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นไปไม่ได้นะครับ มันมีต้นทุนการเดินทางจากต่างจังหวัด การต้องเสียรายได้จากการทำงาน จึงต้องมีการขอรับบริจาค การสนับสนุนจากเครือข่ายหรือหัวคะแนน และก็ทำให้คนรู้สึกว่า มีพรรคการเมืองหนุนหลัง สำหรับนักศึกษา ในฐานะที่ผมเคยเป็นนักศึกษาและผ่านประสบการณ์มา หากนักศึกษามีใจแล้ว ต้นทุนมันไม่มากมาย ไปชุมนุมในพื้นที่ศูนย์กลางอย่างสกายวอล์กก็เดินทางสะดวก ยิ่งหากรวมตัวกันภายในสถาบันการศึกษา ก็ยิ่งสะดวกมาก หรือนัดกันเวลาเย็นหรือเสาร์-อาทิตย์นอกเวลาเรียน มันก็ทำได้ง่าย นอกจากนี้เสน่ห์ของเวทีนักศึกษาก็คือ ความเป็นอิสระและภาพที่บริสุทธิ์ของนักศึกษา ถ้าไปฟังการปราศรัย เราจะเห็นนักศึกษานิติศาสตร์พยายามจะอธิบายเรื่องทางกฎหมายบ้าง โดยอ้างถึงหลักความรู้ที่เขาได้เรียนมา เป็นการนำความรู้มาอธิบายอย่างไม่ได้มีเล่ห์เหลี่ยม หรือนักศึกษาคณะอื่นๆ ก็จะพูดถึงเรื่องระบอบการปกครองและการบริหารประเทศโดยรวม
อย่างไรก็ดี ผมอยากจะย้ำว่า โจทย์สำคัญตอนนี้ก็คือ การเคลื่อนไหวของนักศึกษาจะชักชวนให้ภาคส่วนอื่นๆ ในสังคมเห็นพ้องได้อย่างไร ข้อเสนอที่โดนใจสังคม เช่น ต้องการประชาธิปไตย ต้องการความเท่าเทียม ความเป็นธรรม สิ่งเหล่านี้จึงจะนำมาซึ่งประสิทธิภาพของรัฐบาลในการรับมือกับปัญหาของโลกในปัจจุบัน เพราะแค่การรับมือกับไวรัสโควิด-19 ก็สะท้อนภาวะง่อยเปลี้ย ไปไม่เป็นของรัฐบาล นอกจากนี้เรากำลังเผชิญกับ trend ใหญ่ๆ เช่น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นักศึกษาที่กำลังจะจบไปทำงานเขารู้ว่า ต่อไปเขาต้องเสียภาษีที่จะต้องไปดูแลผู้สูงอายุที่มีจำนวนมากขึ้น ซึ่งถ้ารัฐบาลไม่สามารถไปสร้างระบบเศรษฐกิจที่เข้มแข็งรองรับได้ สังคมก็จะลำบาก หรือการเข้ามาของเทคโนโลยีที่จะทำให้คนตกงานจำนวนมาก หลายคณะในสถาบันอุดมศึกษาก็ได้รับผลกระทบกันมาก จากสภาวะเช่นนี้ ทำให้นักศึกษาไม่เชื่อมั่นว่า พวกลุงๆ ที่ตกยุคไม่ทันโลก เดินก็จะแทบไม่ไหว จะรับมือกับปัญหาอันท้าทายนี้ได้
-เหตุใดเน้นย้ำเรื่องการให้นักศึกษาต้องสร้างฉันทามติการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น?
เนื่องจากคนรุ่นกลางขึ้นไป ทุกคนมีตำหนิกันเกือบหมดแล้ว เหลือผู้ใหญ่ในสังคมนี้น้อยคนมาก ที่ไม่ถูกป้ายว่าเป็นเสื้อเหลือง เสื้อแดง หรือ กปปส.อย่างสมัยก่อน ตอนเคลื่อนไหวรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็มีคนอย่างคุณอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกฯ ที่มีบารมีสูง เป็นคนสำคัญในการผลักดันร่วมกับนักวิชาการ ที่ตอนนั้นเป็นกลุ่มนักนิติศาสตร์สายกฎหมายมหาชนที่มีความเข้มแข็งทางวิชาการ แต่ทุกวันนี้นักนิติศาสตร์ที่เป็นอิสระก็เหลือน้อยเต็มที เมื่อคนรุ่นกลางต่างโดนสวมหมวกได้ง่ายว่าพวกนี้เป็นแดง หรือเคยเป่านกหวีด
เพราะฉะนั้น พวกนักศึกษา-คนรุ่นใหม่ เขาจึงเป็น กลุ่มพลังที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ในช่วงนี้พอดี เนื่องจากเขาขึ้นมาใหม่ เขาไม่แดง ไม่เหลือง แต่เขาพูดในนามของอนาคตว่าเขาอยากเห็นอนาคตเป็นแบบใด แล้วคนอื่นๆ จะมาร่วมกับเขาไหม ผมจึงคิดว่าพวกเขามีความชอบธรรมในการเป็นแกนกลางที่จะดึงคนอื่นๆ เข้ามา แล้วก็ไม่ต้องไปกีดกันคน เช่น คนเคยเป่านกหวีดว่าเป็นผู้ร้ายเสียหมด เพราะตอนนี้เป็นยุคใหม่ที่ต้องไม่โดดเดี่ยวตัวเอง ต้องพยายามหาแนวร่วมให้มากที่สุด แต่ถ้าคนริเริ่มเรื่องนี้เป็นคนที่เคยแดง เคยเหลือง เคยเป่านกหวีด ท่าทีซึ่งไม่ยอมรับซึ่งกันมันจะมี
-มีประเด็นอะไรที่จะทำให้นักศึกษาได้แนวร่วมเข้ามาสนับสนุนจำนวนมากได้ เพราะสมัย กปปส.ที่คนออกมาจำนวนมากก็มีเรื่องการออกกฎหมายนิรโทษกรรมของรัฐบาลเพื่อไทย?
ผมยังมองว่าจะเป็นเรื่องความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล อย่างสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เรื่องการจัดการกับน้ำท่วม ตอนนั้นไร้ประสิทธิภาพมาก อย่างที่ผมทำงานวิจัยเรื่องอยู่กับบาดแผล ผมเคยสัมภาษณ์คนที่ไปร่วมกับ กปปส. เขาบอกว่าภาพที่สะท้อนความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลยิ่งลักษณ์คือ การจัดการแก้ปัญหาน้ำท่วมที่ไร้ระบบ ซึ่งกับรัฐบาลชุดนี้หลายเรื่องก็ไม่ได้ทำอะไรที่มีประสิทธิภาพ
อย่างเรื่องฝุ่น PM2.5 รัฐบาลก็ไม่ได้แก้ไข แต่ว่ามามีเรื่องอื่นมากลบเรื่องเดิม อย่างเรื่องไวรัสโคโรนา หน้ากากอนามัยประชาชนหาซื้อยากมาก แต่รัฐบาลบอกว่าไม่ขาดแคลน เรื่องแบบนี้เป็นผลกระทบที่ใกล้ตัวประชาชนมากๆ ส่วนเรื่องเซนสิทีฟของรัฐบาลทุกยุคอย่างเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน ประชาชนมีความคลางแคลงใจ อย่างเรื่องนาฬิกาเพื่อนที่สะท้อนการร่ำรวยผิดปกติ การจัดซื้ออาวุธ รถถัง เรือดำน้ำ รวมถึงเครื่องตรวจระเบิด GT-200 ที่ในต่างประเทศมีการตรวจสอบว่าทุจริต แต่ในไทยกลับไม่มีการตรวจสอบเลย ความไม่เชื่อมั่นจึงลามไปถึง ป.ป.ช.ที่ไม่ได้ตรวจสอบการทุจริตอย่างอิสระ
-พอเแฟลชม็อบเริ่มขยายวง คนจำนวนไม่น้อยก็ห่วงจะเกิดความขัดแย้งระหว่างคนรุนใหม่กับรุ่นเก่า?
ก็เป็นเรื่องน่าห่วงครับ แต่ผมอยากจะชวนให้มองเรื่องนี้ใหม่ ขอยกตัวอย่างที่ฮ่องกง ที่เรามักจะเปรียบเทียบว่าเป็นพลังของคนหนุ่มสาว แต่เมื่อลงไปดูดีเทลในการชุมนุมที่ฮ่องกง จะพบว่าไม่ใช่แค่คนหนุ่มสาว คนที่นัดหมายทำกิจกรรมหรือกลุ่มอาสาสมัครอาจจะเป็นคนหนุ่มสาวก็จริง แต่ผู้เข้าร่วมในการชุมนุมเป็นคนฮ่องกงคนทุกเพศทุกวัย ที่ต้องการรักษาความเป็นอิสระของฮ่องกงจากจีน
ในไทยก็เช่นกัน การเคลื่อนไหวควรจะถูก frame ใหม่ ไม่ใช่การปะทะกันระหว่างรุ่น แต่เป็นการเคลื่อนไหวของคนที่อยากเห็นสังคมเป็นประชาธิปไตย ความเท่าเทียมและทันต่อโลก กับคนที่อยากจะรักษาอำนาจและผลประโยชน์ ถ้าทำให้สังคมเห็นความตั้งใจของนักศึกษาว่าเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อส่วนรวม เพื่อสร้างทางประชาธิปไตย คนกลุ่มกลางๆ ก็สามารถเข้าร่วมได้ คนกลุ่มกลางนี่ไม่ใช่ในเชิงมิติของเรื่องอายุเท่านั้น แต่ในแง่ทัศนะทางการเมืองที่ทำให้คนที่ยังดูดายกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ หันมาเห็นพ้องกับนักศึกษาว่าจำเป็นต้องมีการแก้ไข รธน.เพื่อให้ประชาชนได้มีสิทธิ์เลือกรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ รัฐบาลที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ผมคิดว่าอันนี้ต้องใช้เวลา
-บางกลุ่มเช่นคนรุ่นกลางๆ ยังไม่เข้าใจว่านักศึกษาเคลื่อนไหวด้วยเหตุผลใด?
มีความเป็นไปได้ ผมก็พยายามเช็กอยู่ตลอด ผมก็พยายามดูสื่อหลายทาง ไม่ใช่แค่ทางเดียว ผมก็คิดว่าความจำเป็นต้องดึงคนกลางๆ มาร่วมยังมีความจำเป็นอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักการบางอย่างที่ทำให้การเลือกตั้งต้องสะท้อนความต้องการของประชาชน จึงเป็นหน้าที่ของนักศึกษาและกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวที่จะต้องช่วยกันทำ สร้างการอธิบายเพื่อขยายคนสนับสนุนให้มากขึ้น และต้องไม่โดดเดี่ยวตัวเอง การเคลื่อนไหวต้องตระหนักว่าระบอบอำนาจนิยมที่ถืออำนาจอยู่ ที่ผมเรียกว่า คณาธิปไตยเพราะเป็นการสืบทอดมาจากยุค คสช. เป็นคณาธิปไตยของคนกลุ่มน้อยมากๆ แต่เป็นระบอบคณาธิปไตยที่ก็ยังมีฐานของคนจำนวนหนึ่งที่ยังสนับสนุน หรือแม้จะไม่สนับสนุนแต่ผมคิดว่าพวกเขาอยู่เฉยๆ คือไม่ค้านและไม่ต่อต้านรัฐบาล เป็นคนที่อยู่เฉยๆ ซึ่งคนกลุ่มนี้มีส่วนที่ทำให้รัฐบาลอยู่ได้
-ชนชั้นกลาง คนกรุงเทพฯ ที่ไม่เห็นด้วย ไม่เข้าใจนักศึกษา และยังสนับสนุนรัฐบาลประยุทธ์ เกรงว่าจะเกิดการปะทะความคิดกับนักศึกษาคนรุ่นใหม่ในสังคมหรือไม่?
การปะทะทางความคิดอาจเป็นไปได้ ซึ่งคนที่เคลื่อนไหวก็ต้องรับมือว่าจะทำอย่างไรให้มีการถกเถียงและดึงคนเหล่านี้มาเป็นแนวร่วม
ผมเชื่อในกระบวนการเรื่องการถกเถียงกับคนที่เห็นต่าง การที่สังคมมีความขัดแย้งทางความคิด ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่จะทำอย่างไรที่จะทำให้คนที่เห็นต่างกันมีเวทีของการถกเถียง ผมเห็นว่าเราต้องสร้างสังคมที่เข้มแข็ง แต่สังคมที่เข้มแข็งไม่ใช่สังคมที่คนคิดเห็นไปทางเดียวกันหมด แต่เป็นสังคมที่คนเถียงกันด้วยเหตุด้วยผลได้ ไม่ใช่สังคมคลั่งไคล้ ใครอยู่ฝั่งไหนก็อยู่แต่ฝั่งนั้นจนไม่รับข้อมูลอีกด้านหนึ่ง
-จากสถานการณ์ขณะนี้จนถึงเหตุการณ์คลิปที่จุฬาฯ เรื่องธงดำจะพัฒนาไปสู่จุดใด จะนำไปสู่ความขัดแย้งหรือไม่?
คงตอบแทนนิสิตกลุ่มนั้นไม่ได้ ซึ่งผมเข้าใจว่าเป็นนิสิตกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งเท่านั้นที่ทำกิจกรรมนั้น กระแสวิพากษ์ที่เกิดขึ้นก็น่าจะทำให้การเคลื่อนไหวที่อื่นๆ ต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น โดยเฉพาะบทเรียนจากอดีตที่มีคนพร้อมจะป้ายสีและทำลายความชอบธรรมของการเคลื่อนไหวของนักศึกษาอยู่แล้ว อย่างไรก็ดีโดยภาพรวมผมยังเห็นว่า นักศึกษาก็พยายามคุมโทนการแสดงออกของพวกเขา เช่นมีการพูดกันชัดๆ ว่าเวทีนักศึกษาไม่เอา hate speech ที่สร้างความเกลียดชัง เป็นการสร้างบรรทัดฐานของการชุมนุมใหม่ที่ดี
-อดีตนักเคลื่อนไหวการเมืองนอกรัฐสภาและเป็นอดีตนักการเมืองอย่าง จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. บอกว่าสถานการณ์ต่อไปนี้อาจกลับไปสู่เหตุการณ์เผชิญหน้าแบบยุค 6 ตุลาคม 2519?
การปราบปรามแบบเก่าอย่างเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่เป็นการปราบปรามที่หฤโหดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และผมไม่คิดว่าการปราบปรามขนาดนั้นจะเกิดขึ้นได้อีก แต่ไม่ได้หมายความว่าการใช้ความรุนแรงจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้น อาจจะมีแต่ในรูปแบบอื่นๆ เช่น การล่าแม่มด การลอบทำร้ายตัวบุคคล ดังนั้นนักศึกษาต้องตระหนักว่า มีคนที่พร้อมจะป้ายสีบิดเบือนเพื่อสร้างเงื่อนไขในการใช้ความรุนแรง ดังนั้นต้องเริ่มต้นจากฝ่ายผู้ชุมนุมที่ต้องระมัดระวังและรอบคอบ ขณะเดียวกันผมก็ขอปรามด้วยเช่นกันว่า ฝ่ายที่ต้องการ สร้างความเกลียดชังกับกลุ่มนักศึกษา หรือ "การลดทอนความเป็นมนุษย์" เพื่อสร้างความชอบธรรมในการปราบปรามควรจะเปลี่ยนวิธีคิดได้แล้ว ในโลกที่สื่อเปิดกว้างมาก การกระทำความรุนแรงจะไม่ได้การยอมรับ จะถูกโลกประณาม และจะยิ่งนำพาสังคมกลับไปติดหล่มความขัดแย้งอีกครั้ง
-เวลานี้หลายฝ่ายพยายามหาทางออกผ่านกลไกตางๆ เช่นข้อเสนอให้ใช้เวทีรัฐสภาหรือคณะกรรมาธิการบางคณะไปฟังความเห็นของแกนนำนักศึกษา หรือฝ่ายบริหารอย่าง ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษาฯ บอกว่าอาจจะเชิญแกนนำนักศึกษาไปร่วมพูดคุย?
ก็ทำได้แต่อาจไม่พอกับสถานการณ์ในขณะนี้ เพราะถ้าข้อเสนอของนักศึกษาฝ่ายรัฐบาลบอกว่า รับไว้แต่ทำไม่ได้ การเคลื่อนไหวของนักศึกษาก็คงมีต่อไป แต่ความพยายามที่จะเชิญชวนนักศึกษาไปคุยสะท้อนว่า หากฝ่ายที่ถืออำนาจอยู่ตระหนักแต่ต้นว่ารัฐสภาคือเวทีของการต่อรอง การตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่มันก็ไม่ควรจะเกิดขึ้น เพราะการมีพรรคอนาคตใหม่แปลว่ามันคือช่องทางให้คนที่เห็นแตกต่างได้ไปเถียงกันในรัฐสภา หากเขาคิดว่าอยากจะชวนนักศึกษาเข้าไปคุยในเวทีต่างๆ เช่นกรรมาธิการของสภา ก็แสดงว่าคุณยอมรับว่าเวทีรัฐสภาคือเวทีของคนที่เห็นต่างได้ ดังนั้นการตัดสินใจที่ลากประเด็นไปสู่การยุบพรรคอนาคตใหม่จึงไม่ควรเกิดขึ้น แต่ควรให้พรรคอนาคตใหม่อยู่สู้ในสภา เป็นปากเสียงของคนจำนวนหนึ่ง ก็จะทำให้การเมืองนอกสภาก็จะไม่ร้อนแรงขนาดนี้ เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าตัดสินใจผิดในการยุบพรรคอนาคตใหม่
สำหรับบทบาทของรัฐบาลต่อจากนี้มองว่า รัฐบาลควรยอมรับและรับฟังสิ่งที่ประชาชนสะท้อนออกมา และหลีกเลี่ยงการสร้างเงื่อนไขหรือการสื่อสารที่จะยิ่งทำให้เป็นการกระพือความไม่พอใจ อย่างการที่ออกมาพูดว่าการเคลื่อนไหวของนักศึกษาระวังอนาคตดับ ระวังเสียอนาคต กลายเป็นถ้อยคำที่ถูกนำไปล้อบนเวทีนักศึกษา
-หากจะมีการใช้เวทีฝ่ายนิติบัญญัติผ่านกลไก เช่นของสภา หรือการเปิดเวทีพูดคุย จะเป็นทางออกได้หรือไม่?
ไม่ขัดข้องหากเขาจะทำ แต่ผมคิดว่ามันคงไม่ได้จบกันง่ายๆ เพราะคงมีความเห็นต่างกันมาก เช่นสมมุตินักศึกษาเรียกร้องให้มีการแก้ไข รธน. ที่แม้จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแก้ไข รธน.อยู่ตอนนี้ แต่ระหว่างนี้หากนักศึกษาเรียกร้องว่าพลเอกประยุทธ์ควรจะถอยลงจากเวที ฝ่ายรัฐบาลคงยอมได้ยาก ซึ่งก็แปลว่าการเคลื่อนไหวของนักศึกษาหรือภาคสังคมที่อยู่ข้างนอกอาจจะยังคงมีอยู่ แต่การมีเวทีพูดคุยต่างๆ ก็ดีกว่าไม่มีการพูดคุย เพราะผมก็สนับสนุนการถกเถียงแม้อาจจะยังไม่ได้ข้อสรุป แต่อย่างน้อยต้องมีทัศนคติที่ต้องแลกเปลี่ยนกัน ที่ไม่ใช่การมองอีกฝ่ายหนึ่งเป็นศัตรูจนไม่ยอมแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งผมก็เชื่อว่าการถกเถียงกันด้วยเหตุด้วยผลผ่านสาธารณะ ก็ยังดีกว่าการห้ำหั่นกัน อย่างที่มีกระแสที่แม้จะมีจำนวนน้อย ไม่ใช่กระแสใหญ่ที่ว่าหากนักศึกษายังพูดกันไม่รู้เรื่องก็ต้องจัดการเด็ดขาด แบบนี้ผมไม่เห็นด้วยเพราะผมให้น้ำหนักกับการพูดคุยแลกเปลี่ยน
...จากการที่ผมได้ทำวิจัยและอยู่ในหนังสือ อยู่กับบาดแผล ผมพบว่ามีบทเรียนมากกับการที่กลุ่มที่นิยมพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง โดยมีลักษณะคลั่งไคล้ โดยไม่เปิดใจรับฟังมุมมองอื่น เป็นอันตรายกับทั้งสองฝั่ง ผมสัมภาษณ์คนเสื้อแดงและคนเสื้อเหลือง ผู้บาดเจ็บจากการชุมนุมของทั้งสองฝ่าย พวกเขาบอกว่ามีการรับฟังข่าวสารอย่างละเอียด แต่เป็นการรับฟังข่าวสารด้านเดียว ทำให้ไม่ได้เปิดมุมมองที่ว่าในเรื่องเดียวกันนั้นสามารถมองจากอีกมุมหนึ่งได้ โดยคนอื่นที่เขาก็มีเจตนาดีเหมือนกันไม่ได้มีเจตนาร้าย ผมคิดว่าเรื่องนี้จำเป็นต้องสร้างการถกเถียงโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบทบาทของสื่อ
...ในรุ่นของผม ผมเติบโตมาจากรายการอย่าง "มองต่างมุม" ที่คนเห็นต่างมาเถียงกันได้โดยไม่ต้องมาฆ่ากัน เราต้องสร้างวัฒนธรรมของการถกเถียงของคนที่เห็นต่าง ไม่ใช่บอกว่าการเอาคนมาโต้แย้งผ่านเวทีเป็นสิ่งไม่สมควร แต่การนำคนที่เห็นแตกต่างกันมาเถียงกันแบบอารยะผ่านสื่ออย่างโทรทัศน์ มันดีกว่าไปใส่กันในโลกออนไลน์ที่ไม่ได้เอาชนะกันด้วยเหตุด้วยผล
ไม่ใช่การต่อสู้ที่จบลงในเวลาอันรวดเร็ว
ดร.บุญเลิศ-นักวิชาการจากคณะสังคมวิทยาฯ ธรรมศาสตร์ ยังกล่าวถึงกรณีหากการเคลื่อนไหวยังคงเกิดขึ้นต่อไปเรื่อยๆ แล้วฝ่ายการเมืองอาจใช้วิธี เช่นที่ภาษาการเมืองเรียกกันว่าเจรจากับกลุ่มนักศึกษา จะเป็นอย่างไร โดยให้ความเห็นว่า ก็เป็นไปได้ แต่ผมก็คิดว่ามันคงไม่ได้จบในเวที วันเดียว ไปคุยแล้ว รัฐบาลก็อาจบอกว่าได้รับข้อเสนอแล้ว แต่ผมก็ไม่เชื่อว่าเขาจะทำตามโดยทันทีทันใด เพราะฉะนั้นการเคลื่อนไหวในภาคสังคมยังคงจำเป็นต้องมีอยู่ ที่ต้องว่ากันต่อไปว่าแล้วจะสามารถสร้างพลังฉันทามติได้ขนาดไหน ที่ทำให้สังคมเห็นว่าเป็นพลังบริสุทธิ์จริงๆ เป็นข้อเสนอของนักศึกษาที่เสนอแล้วสังคมเห็นว่าได้ประโยชน์ร่วมกัน และโดดเดี่ยวฝ่าย คสช.ให้เหลือแนวร่วมน้อยที่สุด อย่างรัฐบาลพยายามบอกว่าการดำรงอยู่ของรัฐบาลเป็นประโยชน์ด้านความสงบ แต่ว่ามันแลกด้วยความไร้ประสิทธิภาพ แลกด้วยความกล้ำกลืนที่รัฐบาลยังสองมาตรฐาน แต่ทำไมคนยังยอมรับได้ เพราะเขาไปเคลมว่าเขาอยู่แล้วบ้านเมืองสงบ นักศึกษาต้องโน้มน้าวว่าสังคมไทยไม่หายนะหากไม่มี คสช. ที่ผ่านมา คสช.ใช้เรื่องความสงบมาเป็นข้ออ้างให้ตัวเองสืบทอดอำนาจ ถ้าสังคมมีวุฒิภาวะ เราเถียงกันอย่างอารยะ ไม่มีการใช้ความรุนแรง ข้ออ้างของพลเอกประยุทธ์ก็หมดไป ประชาชนก็สามารถใช้สิทธิ์เลือกรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพได้
นักศึกษาจึงต้องบอกว่าเขาเคลื่อนไหวเพื่อประสิทธิภาพของสังคม เพื่อจะได้รัฐบาลและสังคมที่ดีขึ้น นักศึกษาต้องผูกโยงว่าหากมีการแก้ไข รธน.จะทำโดยเปิดโอกาสให้คนมีส่วนร่วมได้มากกว่า แล้วนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของประชาชนได้ดีกว่าการที่มีคณาธิปไตย ที่มีคนจำนวนน้อยมาปกครอง ซึ่งการแก้ไข รธน.จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากไม่มีพลังของสังคมส่วนใหญ่คอยกดดัน
"การต่อสู้ครั้งนี้ไม่ใช่การต่อสู้ที่จบลงในเวลาอันรวดเร็ว แต่ต้องเตรียมการสำหรับการขยายความคิดอย่างยืดเยื้อและต่อเนื่อง เป็นแค่จุดเริ่มต้นของการต่อสู้ ไม่ใช่จะจบลงในเร็ววัน ไม่ใช่สงครามเผด็จศึก"
ถามว่านักการเมืองควรรักษาระยะห่างอย่างไรกับการเคลื่อนไหวของนักศึกษา โดยเฉพาะกับนักการเมืองที่อาจมีส่วนได้ส่วนเสียกับประเด็นการเคลื่อนไหว เช่นอดีตแกนนำพรรคอนาคตใหม่ หรือนักการเมืองพรรคเพื่อไทย ดร.บุญเลิศ-อดีตเลขาธิการ สนนท. มีข้อเสนอว่า บางคนอาจบอกว่าการห้ามนักการเมืองมาเกี่ยวข้องทำให้นักการเมืองดูเป็นผู้ร้ายสกปรก แต่ในทัศนะของผมเห็นว่าควรรักษาระยะห่างไว้ดีกว่า เพราะการเคลื่อนไหวของนักศึกษาอย่างเป็นอิสระ มีพลังในตัวเองดีอยู่แล้ว ส่วนคนที่จะสนับสนุนก็ควรสนับสนุนในบทบาทอื่น ไม่ควรจะมาทำให้พลังนี้มันด้อยลง เพราะนักศึกษาก็มีพลังของเขา ในช่วงต้นๆ นักศึกษายังจำเป็นต้องสั่งสมความชอบธรรม เพื่อขจัดข้อคลางแคลงที่คนบางกลุ่มอาจจะมีต่อนักศึกษา ดังนั้นการให้นักศึกษาเคลื่อนไหวอย่างอิสระและโดยบริสุทธิ์ใจยังมีความจำเป็น ซึ่งก็ดีที่ยังไม่เห็นนักการเมืองคนใดแสดงท่าทีจะเข้าไป ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่นักศึกษาจะต้องจัดบทบาทความสัมพันธ์ให้ดี
-หากยังมีการเคลื่อนไหวแบบแฟลชม็อบต่อไปเรื่อยๆ มีจุดไหนที่น่าเป็นห่วง?
ถ้ามีการขยายตัวมันก็จะเรียกร้องการจัดการภายใน ในแง่ที่ว่าจะมีการสกรีนคนกันอย่างไรที่จะไม่ให้ถูกแทรกแซง ไม่ให้คนเข้าไปป่วน อย่างการจัดการชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ก่อนหน้านี้ มีการจัดการพื้นที่ของผู้จัดการชุมนุมที่หลังเวที แต่มวลชนก็เข้าไปได้อย่างอิสระ ในระยะยาวถ้ามีคนมากขึ้นก็ต้องมีการจัดการที่มีอาสาสมัครมาช่วยสกรีนคน กันคนที่อาจแทรกแซงเข้ามาใช้ความรุนแรงป้ายสีนักศึกษาออกไป หรือการคัดเลือกคนขึ้นปราศรัยที่ไม่ก้าวร้าวรุนแรง ก็ต้องมีการเรียกร้องการจัดการไปตามการเคลื่อนไหวที่ขยายตัวขึ้น แต่ปัจจุบันก็พบว่านักศึกษาก็รับมือได้ดี แม้จะไม่เคยมีประสบการณ์ในการชุมนุมลักษณะแบบที่เกิดขึ้นมาก่อน กับการรักษาโทนไม่ให้ก้าวร้าวรุนแรง และสื่อสารประเด็นการเคลื่อนไหวที่มีสาระ แต่ระยะยาวเขาก็ต้องสะสมประสบการณ์อีกหลายอย่าง
-จากที่ได้ทำงานวิจัยและได้จัดพิมพ์หนังสืออยู่กับบาดแผล ที่ศึกษาชีวิตของผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2553-2557 สิ่งที่ได้รับการถ่ายทอดออกมาพอจะสรุปได้ไหมว่า การชุมนุมทางการเมืองในประเทศไทยมีลักษณะอย่างไร และฝ่ายที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือคนกลุ่มไหน?
เรื่องการชุมนุมทางการเมืองในประเทศไทย อย่างผมเพิ่งอ่านงานของอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อาจารย์ก็บอกว่าท่าทีของการชุมนุมขึ้นอยู่กับลักษณะของกลุ่มแกนนำพอสมควร ถ้าแกนนำเห็นประชาชนเป็นเบี้ยในกระดานการเมือง ประชาชนก็จะกลายเป็นผู้สูญเสียมากหน่อย ถ้าแกนนำตระหนักในชีวิตของประชาชน ก็จะพยายามหลีกเลี่ยงไม่สร้างเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การปะทะ ทั้งนี้เราก็ต้องตระหนักว่าธรรมชาติของคนที่ถืออำนาจก็อยากจะรักษาอำนาจไว้ให้ยาวนานที่สุด ซึ่งก็รวมถึงการใช้ความรุนแรงในการปราบปรามประชาชนด้วย ส่วนผู้สูญเสียไม่ว่าจะเป็นฝ่ายการเมืองสีใด ก็คือสามัญชนคนธรรมดาที่ไปร่วมชุมนุมและไปอยู่ ณ จุดเสี่ยง ไปอาสาเป็นการ์ดบ้าง คนกลุ่มนี้คือคนที่ประสบความรุนแรง
ผมคิดว่าที่ผ่านมา บทเรียนที่ผ่านมาก็ทำให้นักศึกษาที่กำลังจัดการชุมนุมพยายามหลีกเลี่ยงการเดินทางไปสู่จุดนั้น พวกเขาตระหนักว่าการชุมนุมเป็นสิทธิเสรีภาพ ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายตราบเท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่น แต่ต้องไม่ใช่การชุมนุมที่จะเอามวลชนไปปะทะ เพราะเรามีบทเรียนของการสูญเสียมากพอแล้ว
-ทำอย่างไรจะไม่ให้เกิดการเผชิญหน้า ความขัดแย้ง หากสุดท้ายมีการชุมนุมทางการเมือง ?
ผมพยายามเสนอแนวคิดเรื่องสังคมอารยะ หรือ civil society คำนี้ภาษาไทยเรามักแปลว่าประชาสังคม ซึ่งคลุมเครือ เพราะความหมายของมันคือการสร้างสังคมอารยะ สังคมที่อารยะคือสังคมที่คนเห็นต่างมาถกเถียง อภิปรายกันด้วยเหตุผล โดยไม่ใช้ความรุนแรง รูปธรรมเช่นสื่อมวลชนที่เปิดให้คนที่เห็นต่างมาถกเถียงกันบนพื้นที่สาธารณะ เช่นมีโฆษกรัฐบาลมาร่วมถกเถียงกับตัวแทนนักศึกษาว่ารัฐบาลทำอะไรไปบ้าง แล้วนักศึกษาก็อาจแย้งว่ารัฐบาลไม่ได้ทำเพราะเขาเห็นอย่างไร การถกเถียงจะสร้างวัฒนธรรมของการรับฟังความเห็นของผู้อื่น ที่ผ่านมาฝ่ายรัฐเลือกที่จะสื่อสารด้านเดียว ผมคิดว่าเราต้องสร้างบรรทัดฐานให้คนที่อยู่ในอำนาจต้องรับฟังเสียงของคนที่เห็นแตกต่าง เช่นสถาบันอุดมศึกษาก็อาจจัดเวทีอภิปราย โดยให้มีทั้งตัวแทนนักศึกษาและตัวแทนของคนฝ่ายรัฐบาลมาร่วมด้วย มิเช่นนั้นคนก็จะรับฟังการสื่อสารเพียงด้านเดียว คนที่รับฟังสื่อของรัฐบาลก็จะฟังแต่สื่อของฝ่ายรัฐบาล และคนที่ไม่รับฟังสื่อรัฐบาลก็จะไปฟังสื่ออีกด้านหนึ่งเลย.
โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |