7 มี.ค.63 - นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงความเป็นมาในการสอบวินัย นายคณากร เพียรชนะ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา ก่อนการยิงตัวเองครั้งที่ 2 เสียชีวิต ว่า ครั้งแรกเมื่อเกิดขึ้นที่ผู้พิพากษาคณากร ก่อเหตุยิงตัวเองในห้องพิจารณาคดีและมีการไลฟ์สดลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2562 และได้มีหนังสือแถลงถึงความเครียดการพิจารณาคดี ที่อ้างว่ามีการแทรกแซงการตรวจสำนวนโดยผู้บังคับบัญชานั้น หลังจากนั้นตนรายงานข้อเท็จจริงที่รวบรวมในเบื้องต้นให้คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ทราบทันที โดยที่ประชุม ก.ต.ก็มีมติให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงทุกประเด็น ทั้งการก่อเหตุ และกรณีแทรกแซงการพิจารณาพิพากษา ซึ่งผลการสอบสวนข้อเท็จจริงก็สรุปว่า การก่อเหตุของท่านคณากร มีการนำอาวุธปืนเข้าไปภายในบริเวณศาลและก่อเหตุภายในอาคารศาลอาจจะผิดวินัย ที่ประชุม ก.ต.จึงตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัย
ซึ่งระหว่างนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความเครียดและเป็นไปตามขั้นตอน จึงให้ย้ายท่านคณากร ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา มาช่วยราชการปฏิบัติหน้าที่ในกองผู้ช่วยศาลอุทธรณ์ภาค 5 จ.เชียงใหม่ โดยทำหน้าที่ช่วยตรวจดูสำนวน เพียงแต่จะไม่ได้นั่งบัลลังก์พิจารณาคดีเหมือนศาลชั้นต้น ซึ่งปัจจุบันก่อนเกิดเหตุการยิงตัวเองครั้งล่าสุด การสอบวินัยยังดำเนินอยู่ตามขั้นตอน ยังไม่ได้มีมติใดออกมา ส่วนการดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับอาวุธปืนนั้น ที่ผ่านมาพนักงานสอบสวนก็รวบรวมพยานหลักฐานอยู่ และเคยมีหนังสือแจ้งขออนุญาตประธานศาลฎีกาในการจะดำเนินคดีอาญาแล้ว
สำหรับประเด็นแทรกแซงการพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ในการตรวจสอบชั้นแรกของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เห็นว่าไม่มีมูล ไม่ปรากฏเรื่องการแทรกแซง ซึ่งที่ประชุม ก.ต.รับทราบผลรายงานตามนั้น แต่มีข้อสังเกตว่าอาจจะเป็นเรื่องของระบบการตรวจสำนวนที่ต้องพิจารณาว่ามีปัญหาปรับแก้หรือไม่ ดังนั้นจึงให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อพิจารณาประเด็นระบบตรวจสำนวน ที่ให้มีผู้พิพากษาที่เป็น ก.ต. รวมทั้งคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม หรือ ก.บ.ศ. (ซึ่งมีหน้าที่ดูแลการออกระเบียบ-กฎหมายสนับสนุนการทำหน้าที่ศาลยุติธรรม) เป็นคณะกรรมการ
ผู้สื่อข่าวถามถึงปัญหาความเครียดของผู้พิพากษาในการปฏิบัติหน้าที่ตัดสินคดี กระทั่งนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา เคยแถลงนโยบายเมื่อครั้งขึ้นดำรงตำแหน่ง เห็นควรจะให้มีการตรวจประเมินสุขภาพทางจิตทุก 5 ปี นายสราวุธ กล่าวว่า เดิมในการตรวจสุขภาพของผู้พิพากษามีอยู่แล้ว ส่วนการประเมินสุขภาพจิตก็จะมี 2 ช่วง คือเมื่อสอบผ่านเข้ามาเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา กับช่วงที่พ้นจากตำแหน่งบริหารแล้วจะแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาอาวุโส หลังเกิดเหตุการณ์เพื่อเป็นการระวังป้องกันและดูแลผู้พิพากษา ประธานศาลฎีกาจึงให้มีการออกระเบียบที่ชัดเจน เพื่อให้มีการประเมินสุขภาพจิตของผู้พิพากษาทุกๆ 5 ปี
เพราะที่ผ่านมาไม่มีการกำหนดเป็นหลักเกณฑ์ ซึ่งเรื่องนี้คณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (อ.ก.ต.) โดยนางวาสนา หงส์เจริญ ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา ได้นำเสนอร่างระเบียบหลักเกณฑ์และแนวทางการประเมินสมรรถภาพทางกายและจิตใจข้าราชการตุลาการ ให้ที่ประชุม ก.ต.พิจารณาไปครั้งแรกเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุม ก.ต.ได้ตั้งข้อสังเกตไปบางจุดให้ปรับปรุงแก้ไข โดยจะมีการนำร่างระเบียบฯ นำเสนอที่ประชุม ก.ต.พิจารณาอีกเป็นครั้งที่สองในวันที่ 16 มี.ค.นี้
เมื่อถามว่า การก่อเหตุฆ่าตัวตายของผู้พิพากษา จากที่มีการอ้างความเครียดจากงานพิจารณาพิพากษาคดี เคยเกิดขึ้นหรือไม่ กรณีของผู้พิพากษาคณากรเป็นครั้งแรกหรือไม่ นายสราวุธ กล่าวว่า เหตุการฆ่าตัวตายของผู้พิพากษา ในอดีตก็เคยมีที่ท่านผู้พิพากษากระโดดตึกอาคารศาลเสียชีวิต แต่เหตุจะเกิดจากความเครียดในการปฏิบัติหน้าที่เพียงใดนั้น ไม่สามารถประเมินได้ชัดเจน ส่วนกรณีของผู้พิพากษาคณากร ตนก็ไม่อาจกล่าวถึงสาเหตุได้ว่าเหตุที่แน่ชัดเป็นอย่างไร โดยเมื่อได้ย้ายมาปฏิบัติหน้าที่ที่กองผู้ช่วยศาลอุทธรณ์ ภาค 5 ก็ได้ติดตามดูแลเรื่องการทำงานซึ่งประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ก็ยังเห็นว่าผู้พิพากษาคณาการไม่ได้แสดงออกความเครียดใดๆ ส่วนตัวผู้พิพากษาคณากร ครั้งแรกที่เกิดเหตุช่วงรักษาตัวนั้น แพทย์ได้ประเมินสุขภาพทางจิตด้วยแล้วก็ไม่มีรายงานเรื่องสุขภาพทางจิตแต่อย่างใด
ถามถึงการช่วยดูแลครอบครัวข้าราชการตุลาการที่เสียชีวิต จะมีอย่างไรบ้าง นายสราวุธ กล่าวว่า ในส่วนของการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นล่าสุดกับผู้พิพากษา นายไสลเกษ ประธานศาลฎีกา กำชับให้ดูแลครอบครัวผู้พิพากษาอย่างดีที่สุด ซึ่งก็จะมีเรื่องสิทธิประโยชน์ผู้พิพากษาที่จะได้รับซึ่งเราก็จะตรวจสอบให้ครบถ้วนเพื่อส่งต่อให้ทายาทตามกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ดี สำหรับเหตุของผู้พิพากษาคณากร ขณะนี้มีผู้พิพากษาส่วนหนึ่งที่ได้ติดตามพร้อมจะระดมความช่วยเหลือให้กับครอบครัวผู้พิพากษาคณากรแล้วด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับศาลยุติธรรมในเรื่องการพิจารณาพิพากษาคดีและการป้องกันเหตุร้ายที่อาจจะเสี่ยงเกิดขึ้นได้ในห้องพิจารณานั้น ก่อนหน้านี้สำนักงานศาลยุติธรรมมีนโยบายให้เช่าและติดตั้งกล้องวงปิดบันทึกภาพ-เสียงในห้องพิจารณาคดีทุกศาลทั่วประเทศ ทั้ง 272 แห่ง ล่าสุดในส่วนของศาลแพ่ง ที่ตั้งบริเวณ ถ.รัชดาภิเษก มีรายงานว่าศาลแพ่งได้ดำเนินการติดตั้งทีวีวงจรปิดภายในห้องพิจารณาคดีทุกห้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง มีคำสั่งให้เริ่มเปิดใช้ทีวีวงจรปิดบันทึกภาพเหตุการณ์-เสียง ภายในห้องพิจารณาทุกห้องของศาลแพ่ง ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 9 มี.ค.เป็นต้นไป
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |