ผู้บริหาร พอช.สำรวจชุมชนชาวแพริมแม่น้ำสะแกกรัง
อุทัยธานี/ พอช.-พมจ.จับมือจังหวัดอุทัยธานีช่วยเหลือชุมชนชาวแพสะแกกรังที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตน้ำแล้งหนักในรอบ 50 ปี ทำให้เรือนแพเกยตื้น ลูกบวบไม้ไผ่แตกหัก นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อการเดินทาง การทำมาหากิน ฯลฯ โดยชุมชนชาวแพจะร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จัดทำแผนแก้ไขปัญหา พัฒนาชุมชน และคุณภาพชีวิตรอบด้าน ขณะที่ พอช.จะสนับสนุนการซ่อมแพเฟสแรก 123 ครัวเรือน และเสนอ รมว.พม.เพื่อชงเรื่องการแก้ไขปัญหาชุมชนชาวแพเป็นตัวอย่างการลดความเหลื่อมล้ำเข้าสู่ ครม.ต่อไป
ตามที่ชุมชนชาวแพที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำสะแกกรัง อ.เมือง จ.อุทัยธานี กว่า 100 ครัวเรือนได้รับผลกระทบจากความแห้งแล้ง เนื่องจากแม่น้ำสะแกกรังมีปริมาณลดน้อยลง ทำให้เรือนแพที่ปลูกอาศัยอยู่ริมแม่น้ำสะแกกรังเกยตื้น ลูกบวบแพที่ใช้พยุงแพได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ยังเกิดปัญหาต่างๆ ติดตามมา เช่น การสัญจรทางเรือลำบาก การเลี้ยงปลาในกระชังได้รับความเสียหาย การทำมาหากินลำบาก ส่งผลกระทบต่อครอบครัวผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก และผู้ด้อยโอกาส ฯลฯ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จึงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดลงพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ชุมชนชาวแพที่ได้รับความเดือดร้อน
สภาพแพที่เกยตื้น
ล่าสุดวันนี้ (7 มีนาคม) นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอุทัยธานี (พมจ.) และทีม One Home ได้จัดประชุมร่วมกับผู้แทนชุมชนชาวแพที่วัดอุโปสถาราม (วัดโบสถ์) อ.เมือง จ.อุทัยธานี เพื่อสรุปข้อมูลการสำรวจและวิเคราะห์ปัญหาของชุมชนชาวแพก่อนที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหา โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 100 คน
นางสาวสมคิด คงห้วยรอบ ผู้แทนชุมชนชาวแพ อายุ 51 ปี กล่าวว่า เดิมชุมชนชาวแพในแม่น้ำสะแกกรังมีมากกว่า 200 แพ อยู่อาศัยในเรือนแพติดต่อกันมานานนับร้อยปี ครอบครัวของตนอยู่อาศัยตั้งแต่รุ่นปู่ย่า ปลูกแพอยู่ตรงหน้าวัดโบสถ์ แต่ในช่วงหลายสิบปีมานี้ชาวแพส่วนหนึ่งได้โยกย้ายขึ้นไปอยู่บนบก เพราะเรือนแพจะต้องซ่อมแซมลูกบวบ(ทำด้วยไม้ไผ่เพื่อใช้พยุงแพ) ทุก ๆ 3-5 ปี ทำให้มีภาระค่าใช้จ่าย เพราะการซ่อมหรือเปลี่ยนลูกบวบแต่ละครั้งจะต้องใช้เงินไม่น้อยกว่า 20,000 บาท ประกอบกับช่างซ่อมลูกบวบมีน้อย ค่าแรงก็แพง คนที่พอจะมีเงินจึงย้ายขึ้นไปหาที่อยู่บนฝั่ง เพราะมีความมั่นคงถาวรกว่า
สมคิด คงห้วยรอบ
“ตอนนี้คนที่อยู่ในเรือนแพ ส่วนใหญ่จะมีฐานะยากจน หาเช้ากินค่ำ เช่น ค้าขายเล็กๆ น้อยอยู่ในตลาด และรับจ้างทั่วไป เมื่อเจอกับปัญหาความแห้งแล้งในแม่น้ำสะแกกรังที่คนแก่คนเฒ่าบอกว่าแล้งมากที่สุดในรอบ 50 ปี จึงทำให้เกิดผลกระทบไปทั่ว โดยเฉพาะเรื่องที่อยู่อาศัย เพราะทำให้แพเกยตื้น จากที่เคยอยู่ในน้ำ ต้องมาอยู่บนบก ทำให้ลูกบวบที่ทำด้วยไม้ไผ่แตกหัก การเดินทางด้วยเรือก็ไม่สะดวกเพราะน้ำแห้ง ต้องจ้างรถสามล้อ ทำให้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จึงอยากให้หน่วยงานต่างๆ มาให้ความช่วยเหลือ” ผู้แทนชุมชนชาวแพยกตัวอย่างปัญหา
นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผอ.พอช. กล่าวว่า เจ้าหน้าที่จากกระทรวง พม. ทั้ง พอช. พมจ. และทีม One Home ร่วมกับชุมชนชาวแพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดได้จัดกระบวนการสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนตั้งแต่วันที่ 22-23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยใช้วิธีการต่างๆ เช่น การลงพื้นที่สร้างความเข้าใจกับชุมชนชาวแพ การสำรวจข้อมูลปัญหาและความต้องการ การจัดทำแผนที่ทำมือ ถ่ายรูป จับพิกัด GPS ถอดข้อมูลการซ่อมแซมเรือนแพผู้เดือดร้อน ฯลฯ โดยมีผู้แทนชุมชนชาวแพจำนวน 13 คนร่วมเป็นคณะทำงาน และมีการจัดประชุมเพื่อสรุปข้อมูลในวันนี้ โดยมีปัญหาและความต้องการของชุมชนชาวแพทั้งหมด 123 ครัวเรือน รวม 8 ด้าน เช่น ปัญหาน้ำแล้ง สิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัย การจัดการท่องเที่ยวชุมชน คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก ผู้ด้อยโอกาส อาชีพ-รายได้ ด้านวัฒนธรรม และการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน
นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผอ.พอช.
“ชุมชนชาวแพแม่น้ำสะแกกรังถือเป็นชุมชนชาวแพแห่งสุดท้ายของประเทศไทยที่เหลืออยู่ เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดอุทัยธานี มีประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมประเพณีต่างๆ ที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันรักษาเอาไว้ ดังนั้น พอช.จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชุมชนชาวแพจัดทำแผนปฏิบัติการทั้ง 8 ด้านขึ้นมา เพื่อเสนอแผนไปยัง ‘คณะทำงานขับเคลื่อนการให้ความช่วยเหลือชุมชนชาวแพสะแกกรัง’ ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานีเป็นประธานเพื่อแก้ไขปัญหาในเร็วๆ นี้” ผอ.พอช. กล่าว
ผอ.พอช.กล่าวด้วยว่า ส่วนเรื่องการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของชุมชนชาวแพนั้น พอช.สามารถสนับสนุนการแก้ไขปัญหาได้โดยตรง โดยเน้นให้ชาวชุมชนมีส่วนร่วม เช่น พอช.สนับสนุนงบประมาณ และให้ชาวชุมชนช่วยกันซ่อมหรือเปลี่ยนลูกบวบไม้ไผ่ เบื้องต้นมีทั้งหมด 123 ครัวเรือน นอกจากนี้ชาวชุมชนจะต้องรวมตัวกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งขึ้นมา เช่น จัดตั้งคณะกรรมการเป็นกลุ่มย่อยเพื่อช่วยกันดูแลแก้ไขปัญหา จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนแก้ปัญหาระยะยาว เช่น เพื่อใช้ซื้อลูกบวบหรือซ่อมแซมบ้าน และเมื่อชุมชนมีความเข้มแข็งแล้วก็จะสามารถรวมกลุ่มกันไปช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนกลุ่มอื่นๆ เช่น กลุ่มชาวชุมชนแออัดในเขตเทศบาลเมืองอุทัยธานีที่ พอช.จะมีโครงการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยในเร็วๆ นี้
“การแก้ไขปัญหาชุมชนชาวแพริมแม่น้ำสะแกกรังนี้ จะเป็นตัวอย่างในการแก้ไขปัญหาของชุมชนต่างๆ อย่างรอบด้าน ทั้งด้านที่อยู่อาศัย ความยากจน คุณภาพชีวิต ตั้งแต่เด็ก ผู้สูงวัย คนพิการ คนด้อยโอกาส เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ โดย พอช.จะนำเรื่องนี้เข้าหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เพื่อพิจารณานำเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรี เพื่อเป็นตัวอย่างในการแก้ไขปัญหาและนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป” นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผอ.พอช.กล่าวในตอนท้าย
ทั้งนี้ในการแก้ไขปัญหาชาวชุมชนเรือนแพริมแม่น้ำสะแกกรังที่ได้รับผลกระทบทางด้านที่อยู่อาศัย พอช.จะดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามโครงการ ‘บ้านมั่นคงชนบท’ ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นมีผู้ได้รับความเดือดร้อนรวมทั้งหมด 123 ครัวเรือน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้หลังจากที่ปริมาณน้ำในแม่น้ำสะแกกรังมีปริมาณเพิ่มขึ้น (ประมาณเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมนี้) เพื่อความสะดวกในการซ่อมหรือเปลี่ยนลูกบวบใหม่ เพราะหากน้ำแล้งหรือแพเกยตื้นอยู่บนบกจะไม่สามารถเปลี่ยนลูกบวบได้ โดย พอช.จะสนับสนุนงบประมาณครัวเรือนหนึ่งไม่เกิน 25,000 บาท
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |