สงครามกฎหมาย คดีสลาย นปช.ปี 2553 “ธาริต-ดีเอสไอ” ปะทะ “มาร์ค-เทือก”


เพิ่มเพื่อน    

 

  เสียงบ่นของประชาชนคนเสื้อแดง แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กระหึ่มโซเชียลมีเดียอีกครั้ง หลังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำคุก “ธาริต เพ็งดิษฐ์” อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)  กับพวกพนักงานสอบสวนดีเอสไอ คนละ 2 ปี เมื่อวันที่ 5 มี.ค.2563 ในคดีหมายเลขดำ อ.310/2556 ที่ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตนายกรัฐมนตรี “สุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตรองนายกฯ และอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง “ธาริต” กับพวกเป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานร่วมกับเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนกระทำการโดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 200

                เนื่องจากเมื่อเดือน ก.ค.2554-13 ธ.ค.2555 “ธาริต-ดีเอสไอ” ได้สรุปสำนวนดำเนินคดี “อภิสิทธิ์-สุเทพ” ข้อหาก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าโดยเจตนาและเล็งเห็นผล จากการออกคำสั่ง ศอฉ. ให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าสลายการชุมนุม นปช. เมื่อปี 2553 ซึ่งมีการใช้กระสุนจริง จนทำให้มีประชาชนทั้งแนวร่วม นปช., เจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชนทั่วไปที่ถูกลูกหลง บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก เมื่อคำพิพากษานี้ออกมา เสียงบ่นของคนเสื้อแดงจึงตามมาทำนองว่า “คนทำคดีดันติดคุก ส่วนคนยิงประชาชนลอยนวล”

                อย่างไรก็ตาม ถ้าอ่านรายละเอียดและสืบย้อนเรื่องนี้ไปมากกว่าการบ่น จะพบว่ามันคือการต่อสู้ในประเด็นข้อกฎหมายเป็นหลักใหญ่ ระหว่างฝ่าย “ธาริต-ดีเอสไอ” กับ “อภิสิทธิ์-สุเทพ” ยาวนานเป็นมหากาพย์ หรือจะเรียกว่าเป็น “สงครามกฎหมาย” ของคนสองขั้วนี้ที่มีต่อคดีสลายการชุมนุม นปช.ก็ว่าได้

                คดีที่มีการกล่าวหา “อภิสิทธิ์-สุเทพ” เกี่ยวกับการสลายการชุมนุม นปช.นั้น แยกออกเป็น 2 ทาง ทางหนึ่ง คือข้อหาปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งมีการกล่าวหาทั้งสองร่วมกับ “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” ในฐานะผู้บัญชาทหารบก (ผบ.ทบ.) ขณะเกิดเหตุนั้น เรื่องนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีมติตีตกข้อกล่าวหานี้ตามคำแถลงเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.2558 แม้ภายหลังแกนนำ นปช.จะเรียกร้องให้มีการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ป.ป.ช. ก็ยืนยันไม่รื้อคดีตามคำแถลงเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2561

                ทางที่สอง อันเป็นจุดเริ่มต้นของมหากาพย์สงครามกฎหมายนี้ คือข้อหาร่วมกันก่อ หรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำ หรือฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ซึ่งดีเอสไอเป็นผู้ทำคดีกล่าวหา “อภิสิทธิ์-สุเทพ” สรุปสำนวนส่งให้พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นผู้ฟ้องต่อศาลอาญา ในคดีหมายเลขดำ อ.4552/2556 และ อ.1375/2557 โดยทั้งสองได้ต่อสู้คดีด้วยการขอให้ศาลวินิจฉัยข้อกฎหมายก่อน เนื่องจากเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ใช่อำนาจสอบสวนของดีเอสไอ แต่เป็นอำนาจไต่สวนของ ป.ป.ช.

                คดีนี้สู้กันถึง 3 ชั้นศาลในการวินิจฉัยข้อกฎหมาย ไม่ได้ลงไปในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการสลายการชุมนุมเลย ปรากฏว่าฝ่าย “อภิสิทธิ์-สุเทพ” สู้ชนะทั้ง 3 ชั้นศาล ตามคำสั่งศาลฎีกาเมื่อวันที่ 31 ส.ค.2560 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ว่าการที่ดีเอสไอสอบสวนไม่เป็นไปตามกฎหมาย พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 หมายความว่าต้องให้ ป.ป.ช.เป็นผู้ทำคดีสลายการชุมนุม นปช. ในส่วนที่ฟ้อง “อภิสิทธิ์-สุเทพ” ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ใช่ดีเอสไอทำ

                เรื่องไม่จบแค่นั้น “อภิสิทธิ์-สุเทพ” จึงเอาคืน ด้วยการฟ้องกลับ “ธาริต-พนักงานสอบสวนดีเอสไอ 3 ราย” ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ และเจตนากลั่นแกล้งฯ เป็นคดีหมายเลขดำ อ.310/2556 นี้นั่นเอง ซึ่งในคำพิพากษาศาลชั้นต้นของคดีนี้เมื่อวันที่ 25 ก.ย.2561 ได้พิพากษาให้ยกฟ้อง คือ “ธาริต” กับพวก เป็นฝ่ายชนะคดีไปในชั้นต้นยกแรก โดยศาลให้เหตุผลเป็นความเห็นที่แตกต่างทางข้อกฎหมาย พวกจำเลยไม่ได้ใช้ดุลพินิจตามลำพัง พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจส่ง ป.ป.ช. และคดีวิสามัญฆาตกรรมเป็นดุลพินิจอัยการสูงสุดฟ้อง

                แต่ล่าสุดคำพิพากษาศาลอุทธรณ์วันที่ 5 มี.ค.2563 ให้เหตุผลแย้งศาลชั้นต้น ยืนยันว่าเป็นอำนาจของ ป.ป.ช.อย่างชัดเจน จำเลยมีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์จากการแจ้งข้อหาตรงกันข้ามกับความเห็นเดิม ที่เคยส่งสำนวนเห็นควรฟ้อง นปช.ข้อหาก่อการร้าย และ "ธาริต“ ได้รับการต่ออายุวาระการดำรงตำแหน่งอีก 1 ปี จากรัฐบาลพรรคเพื่อไทย จึงเชื่อว่าเป็นการเอาใจรัฐบาลใหม่ พิพากษาให้จำคุกจำเลยทั้งสี่คนละ 2 ปี ไม่รอลงอาญา ชั้นนี้ “อภิสิทธิ์-สุเทพ” เป็นฝ่ายชนะคดีในยกที่สอง ส่วน “ธาริต” กับพวก ก็ได้ยื่นประกันตัวเพื่อสู้คดีในชั้นศาลฎีกาต่อไป ที่จะเป็น Final Round ของมหากาพย์สงครามกฎหมายนี้ในอนาคต

                ดังนั้น คนทำคดีอย่าง “ธาริต” และพนักงานสอบสวนดีเอสไอจะติดคุกหรือไม่ ยังไม่สิ้นสุด ซึ่งจะติดคุกหรือรอดก็เป็นผลจากการต่อสู้ในทางกฎหมาย ขณะที่คนทำคดีตัวจริงเสียงจริง ที่มีอำนาจทำแล้วไม่ผิดกฎหมายอย่าง ป.ป.ช.กลับไม่สั่งฟ้อง ไม่รื้อฟื้นคดีสลายการชุมนุม นปช.มาพิจารณาอีก ทั้งยังรวมถึงกรณี “ดีเอสไอ-อัยการ” ไม่รู้ตัวตนผู้ก่อเหตุในขณะปฏิบัติการ ไม่สามารถสั่งฟ้องผู้ก่อเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ได้ ทำให้คำกล่าวว่า “คนยิงประชาชนลอยนวล” จะมีน้ำหนักอยู่ต่อไป.

 นายชาติสังคม

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"