"บิ๊กตู่" ขอร้องคนไทยกลับจาก ตปท.กักตัวให้ครบ 14 วัน มั่นใจมาตรการคุมเข้มได้ผล ย้ำหน้ากากอนามัยผลิตเสร็จต้องให้บุคลากรการแพทย์ก่อน "ศูนย์ข้อมูลโควิด-19" เผยเล็งใช้แอปฯ ติดตามตัวกลุ่มเสี่ยง "สธ." พบชาวอังกฤษต่อเครื่องเข้าไทยติดเชื้อไวรัส 1 ราย จับตา "ผีน้อย" หญิงไทยวัย 30 ปีมาจากเกาหลี มีไข้ส่งตัวเฝ้าระวัง "จุฬาราชมนตรี" ออกแนวทางปฏิบัติตนช่วงโควิดระบาด "ท่าอากาศยาน" 25 แห่งเพิ่มความเข้มงวด
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 6 มี.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงมาตรการรับมือและแก้ปัญหาโรคโควิด-19 ในรายการ Government Weekly EP.30 ช่วง PM Talk ผ่านเพจไทยคู่ฟ้า ตอนหนึ่งระบุว่า รัฐบาลมีมาตรการรับมือโควิด-19 ที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดหลายประเทศทั่วโลก โดยมีมาตรการตั้งแต่การคัดกรอง ตรวจสอบ และเข้ารักษาที่มีมาตรฐานระดับสูง ซึ่งทั้งสถานพยาบาลและบุคลากรของเราถือว่ามีความพร้อมจนสามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการแพร่กระจายในประเทศของเราเอง โดยตรวจสอบตั้งแต่ต้นทางสนามบิน ท่าเรือ ชายแดน และด่านตรวจจุดสกัดต่างๆ ทุกด่าน โดยความร่วมมือของหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า หลายคนห่วงกังวลในเรื่องแรงงานต่างประเทศ ซึ่งจริงๆ แล้วมีแรงงานไปทำงานหลายประเทศด้วยกัน แต่ขณะนี้ที่เป็นปัญหามากคือในส่วนที่กลับมาจากประเทศเกาหลีใต้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดในความคิดของตน รัฐบาลและทุกคนต้องมองคนเหล่านี้เป็นคนไทย จึงมีสิทธิได้รับการดูแล รักษา และป้องกันเช่นเดียวกับคนไทยอื่นๆ ไม่ว่าจะทำถูกหรือผิดกฎหมาย ซึ่งวันนี้เกาหลีใต้ได้อนุญาตให้ผีน้อยกลับประเทศได้ประมาณ 5,000 คน ซึ่งจะทยอยเข้ามา ดังนั้นเราต้องมีมาตรการรองรับให้ได้ ทำอย่างไรไม่ให้เกิดผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของเราที่ทำงานได้ดีตลอดมาตั้งแต่ในช่วงแรก
"วันนี้ได้ประสานหารือกับต้นทางคือเกาหลีใต้ ให้มีมาตรการคัดกรองและกักตัว 14 วันก่อนออกเดินทาง รวมทั้งทุกสายการบินมีการตรวจสอบอยู่แล้วก่อนขึ้นเครื่อง และในส่วนปลายทางของเราจะทำอย่างไรกับคนที่จะเข้ามาใหม่ ซึ่งหากมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆเราก็จะมี 2 มาตรการเสริม ได้แก่ 1.การให้อยู่ในสถานควบคุมของกระทรวงสาธารณสุข 2.คนที่ไม่มีไข้กลับมาจากประเทศต้นทางที่มีการแพร่ระบาดหาพื้นที่ในการควบคุมในภูมิลำเนา โดยเฉพาะคนที่มาจากเมืองแทกูและคย็องซัง ต้องถูกกักตัวในพื้นที่ควบคุมโรค 14 วันทันที เมื่อผ่าน 14 วันไปแล้วก็ต้องระมัดระวังตัวเอง วันนี้หลายคนมีข่าวมาเรื่อยๆ ว่าบางคนยังไม่ครบ 14 วัน แต่กลับออกไปโน่นไปนี่ เป็นสิ่งที่อยากขอร้องประชาชน เพราะตัวเองรู้ตัวเองอยู่แล้ว ไปไหนมาก็ต้องรู้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
นายกฯ กล่าวว่า สำหรับหน้ากากอนามัยที่มีปัญหามาก เนื่องจากเราผลิตได้จำนวนจำกัดวันละกว่า 1 ล้านชิ้น และได้ให้เร่งเต็มที่ 11 โรงงาน แต่วัสดุการผลิตหน้ากากมาจากต่างประเทศ ที่ตอนนี้ลดลงไปเกินครึ่ง จึงเป็นปัญหา แต่วันนี้ยอดรวมกำลังเร่งผลิตให้ได้ 35-38 ล้าน พร้อมสั่งการกระทรวงพาณิชย์ให้ไปดูในเรื่องการผลิต ซึ่งขณะนี้ได้มีเฝ้าโรงงานเพื่อเก็บข้อมูลว่าผลิตได้จำนวนเท่าไหร่ในแต่ละวัน มีบัญชีควบคุมหรือไม่ และตรวจสอบแผนการจำหน่าย ตรวจสอบว่าถูกกระจายไปที่ไหนบ้าง
"วันนี้แบ่งสัดส่วนไว้ 2 ส่วนคือ ให้กระทรวงสาธารณสุขเพื่อไปดูแลบุคลากรทางการแพทย์ ส่วนที่เหลือก็ให้เข้าสู่ช่องทางการจำหน่ายให้ถึงประชาชน ขณะเดียวกันตนได้ให้คนไปสำรวจในทุกพื้นที่ ปรากฏว่าไม่พอจริงๆ ไม่พอจากต้นทางมา ซึ่งในส่วนที่กักตุนก็อีกเรื่องที่กักตุนลักลอบไปขายต่างประเทศ ต้องลงโทษเด็ดขาด เพราะพวกนี้ถือว่าเอาเปรียบประชาชนและทำให้ประเทศชาติที่กำลังมีปัญหาอยู่มีปัญหามากขึ้น แบบนี้ไม่ได้ ต้องช่วยกันเสียสละบ้าง อีกอันคือที่มีการลักลอบ หรือนำเข้าถูกกฎหมาย หน้ากากจากต่างประเทศ ซึ่งจะเห็นว่าราคาแพงมาก แต่ของไทยควบคุมราคาที่ 2.50 บาท" นายกฯ กล่าว
บิ๊กตู่มั่นใจแผนคุมผีน้อย
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกฯ ได้สั่งการเตรียมความพร้อมในการเดินทางกลับบ้านของแรงงานไทย เพื่อความปลอดภัยของแรงงานไทยจากเกาหลีใต้ที่เดินทางกลับประเทศ และเพื่อคัดกรองผู้ป่วยให้ได้รับการรักษา
นอกจากนี้ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศ ได้หารือทางโทรศัพท์กับนางคัง คยองฮวา รัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีใต้ โดยได้ตกลงที่จะร่วมมือกันใน 3 มาตรการ คือ 1.ขอให้แรงงานไทยอยู่ในเกาหลีใต้ 14 วันก่อนที่จะเดินทางกลับไทยเพื่อเฝ้าดูอาการ 2.เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจคัดกรองที่สนามบินสำหรับผู้โดยสารที่จะขึ้นเครื่องของทุกสายการบินที่จะเดินทางมาไทย (exit screening) และ 3.ขอให้เกาหลีใต้ส่งข้อมูลแรงงานไทยที่ลงทะเบียนเดินทางกลับไว้กับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้ เพื่อที่จะได้เตรียมการและส่งแรงงานไทยกลับภูมิลำเนาได้อย่างเรียบร้อย โดยรัฐบาลเกาหลีใต้ให้คำมั่นว่าจะดูแลคนไทยในเกาหลีใต้เป็นอย่างดี หากเจ็บป่วยก็จะนำเข้ากระบวนการรักษาให้หายดี
"นายกฯ มั่นใจต่อมาตรการที่เตรียมการไว้เพื่อรองรับการเดินทางกลับบ้านของแรงงานไทยจากเกาหลีใต้ เข้าใจสังคมที่มีความห่วงกังวล รัฐบาลมีการประเมินสถานการณ์ทุกวันโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงขอให้ประชาชนเข้าใจ และให้ความร่วมมือกับการดำเนินการตามมาตรการเพื่อความปลอดภัยในสังคม" โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว
ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เดินทางตรวจเยี่ยมศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สำนักนายกรัฐมนตรี ที่บริเวณตึกนารีสโมสร โดยนายวิษณุได้กำชับนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ์ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ จะต้องแถลงเพิ่มเติมจากทีมแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะในเรื่องข้อกฎหมาย กรณีการจะต้องกักกันตัวเป็นเวลา 14 วัน ถือเป็นข้อบังคับหรือไม่ และหากใครฝ่าฝืน ไม่เข้าสู่การกักกันตัวแล้วจะต้องถูกดำเนินการอย่างไร รวมถึงเรื่องการแจกจ่ายหน้ากากอนามัย และตอนนี้ยังมีประเด็นเพิ่มเติมเข้ามาคือเรื่องเจลล้างมือ แอลกอฮอล์
"หลังจากการแถลงข่าวของศูนย์ทุกวัน เมื่อเสร็จแล้วจะดำเนินการรายงานต่อนายกฯ ในทันที แล้วนายกฯ อาจจะมีข้อสั่งการใดลงมา แต่ถ้าเกิดกรณีจำเป็นเร่งด่วนที่สำคัญมากนายกฯอาจจะลงมาแถลงข่าวด้วยตัวเองที่ศูนย์นี้ หรืออาจจะเป็นรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องที่อาจจะมาแถลงข่าวก็ได้" นายวิษณุกล่าว
ต่อมา นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดต่อไวรัสโควิด-19 พร้อมด้วยนายเชิดเกียรติ อัตถากร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ, นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.), นายจักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษา รมว.แรงงาน และนายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ร่วมกันแถลงข่าวสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ครั้งแรกของการเปิดศูนย์ดังกล่าว
นายจักษ์กล่าวว่า สำหรับแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากประเทศเกาหลีใต้ มีการเดินทางกลับตั้งแต่เดือน ธ.ค.62 สัปดาห์ละ 200-400 คน, เดือน ม.ค. 200-300 คน และเดือน ก.พ. 300 คน แสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนเหล่านี้อยู่ในระยะเวลาเฝ้าดูอาการ 14 วันแล้ว แต่ก็ได้ส่งอาสาสมัครเข้าไปดูแล ยืนยันว่าไม่ได้ละเลย หรือมองข้าม
ส่วน นพ.รุ่งเรืองกล่าวว่า หากพบว่าผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ 3 กลุ่มคือ กลุ่มแรก ไม่สบาย มีไข้ หรือมีอาการระบบทางเดินหายใจ จะนำตัวส่งโรงพยาบาลในเครือข่าย สธ. หรือสถาบันบำราศนราดูรทันที, กลุ่มที่สอง มาจากพื้นที่เสี่ยง รัฐบาลได้จัดสถานที่ในการดูแลแล้ว และกลุ่มที่สาม กลุ่มเสี่ยงน้อย เจ้าหน้าที่กระทรวง สธ.มีอำนาจหน้าที่ให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัว และจะมีเจ้าหน้าที่ติดตามดูแลสอบถามอาการอย่างต่อเนื่อง
"จากการประสานกับทุกหน่วยงาน เราทราบข้อมูลทุกคนที่เดินทางกลับเข้าประเทศ โดยจะมีทีมแพทย์ที่แยกติดตามดูกลุ่มนี้โดยเฉพาะ อีกทั้งจะมีการเริ่มนำแอปพลิเคชันติดตามตัวเหมือนในต่างประเทศมาใช้ เพื่อเตรียมการไปสู่ในระยะต่อไป" โฆษก สธ.กล่าว
พบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีกราย
วันเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข เป็นตัวรับแทนรับมอบกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 70,000 กรมธรรม์ เบี้ยประกันภัย จำนวน 7 ล้านบาท วงเงินคุ้มครอง 3,500 ล้านบาท จากนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และบริษัทประกันวินาศภัย 20 บริษัท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกรมธรรม์ดังกล่าวมีระยะเวลาความคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่แจ้งรายชื่อ ถึงวันที่ 30 มิ.ย.2563 ตามความคุ้มครองทันทีหลังตรวจพบว่าเจ็บป่วย หรือติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 5 หมื่นบาทต่อคน
ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ว่า พบชาวอังกฤษ เป็นผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 เข้ารับการรักษาที่สถาบันบำราศนราดูรแล้ว และทำงานประจำมีสำนักงานอยู่ที่ฮ่องกง โดยก่อนเดินทางมาไทยออกจากกรุงลอนดอน แล้วแวะพักเครื่อง (Transit) ที่ฮ่องกง 7-8 ชั่วโมง ก่อนมาไทย จากนั้นเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง พบว่ามีไข้ เสมหะ และผลตรวจยืนยันว่าเป็นโควิด-19 ล่าสุดรักษาตัวในสถาบันโรคทรวงอก
นพ.สุขุมกล่าวว่า ในส่วนการติดตามแรงงานผิดกฎหมายจากเกาหลีใต้ (ผีน้อย) เดินทางกลับเข้าประเทศไทย พบมีหญิงไทยอายุ 30 ปี ตรวจที่สนามบินสุวรรณภูมิ มีไข้ จึงส่งเข้ารับการรักษาที่สถาบันบำราศนราดูร อยู่ระหว่างรอผลยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่
"ส่วนผู้ป่วยยืนยันรักษาตัวในโรงพยาบาลปัจจุบันอยู่ที่ 16 ราย รักษาหายแล้ว 31 ผู้ป่วยยืนยันสะสม 48 ราย และปัจจุบันไทยเป็นอันดับ 24 ของโลก" นพ.สุขุมกล่าว
ปลัด สธ.กล่าวว่า หลังมีประกาศ 4 ประเทศเป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย ทั้งเกาหลี จีน อิตาลี และอิหร่าน หากผู้ที่เดินทางมาจากประเทศเหล่านี้ไม่กักตัวอยู่กับบ้าน ยังออกไปกินเที่ยว ไม่รับผิดชอบต่อสังคม เจ้าพนักงานสามารถใช้อำนาจตามกฎหมาย พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ดำเนินการไปนำตัวคนเหล่านี้มากักไว้ในพื้นที่ควบคุมได้ทันที และจำนวนประเทศสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์ของการระบาด
"ขณะประเทศที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เคยประกาศไปอย่าง ญี่ปุ่น, เยอรมนี, ไต้หวัน, ฝรั่งเศส และสิงคโปร์ ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินทาง แต่หากเป็นการเดินทางกลับเข้ามาก็ต้องกักตัวเองเป็นเวลา 14 วันเพื่อดูอาการ นอกจากนี้ยังมีอีก 4 ประเทศ คือ สเปน สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา ถ้าใครไปประเทศเหล่านี้ ก็ขอให้เลี่ยงที่ชุมนุม ระมัดระวังตัวเอง สวมใส่หน้ากากอนามัย และหลังกลับมาก็ต้องกักตัวเช่นกัน หากมีอาการให้รีบมาโรงพยาบาล หรือโทร.สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 จะมีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำ รวมถึงการเข้าดำเนินการ" ปลัด สธ.กล่าว
ถามถึงปัญหาหน้ากากอนามัยโรงพยาบาลขาดแคลน นพ.สุขุม ยอมรับว่า บางแห่งเหลือประมาณ 2 สัปดาห์-1 เดือน ขณะนี้ไม่ใช่ภาวะปกติ ต้องใช้สอยอย่างประหยัด แต่ต้องมีสต๊อกอย่างน้อย 1 เดือน ส่วนโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย สังกัด กทม.และเอกชน ให้ประสานมาที่กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งแต่เดิมได้โควตากว่า 100,000 ชิ้น แต่วันนี้เป็นต้นไปมีโควตา 600,000-700,000 แสนชิ้น
"ส่วนชุดป้องกันเชื้อมีการสั่งมาจากต่างประเทศทั้งหมด 400,000 ชุด โดย 10,000 ชุดมาถึงแล้ว กำลังกระจายไปยังโรงพยาบาล ส่วนที่เหลือจะทยอยมาใน 2 เดือนนี้" ปลัด สธ.กล่าว
หน้ากากอนามัยถึง รพ.
อย่างไรก็ตาม นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เยี่ยมการกระจายหน้ากากอนามัยให้บุคลากรทางการแพทย์ ที่ รพ.ศิริราช โดยมี รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผอ.รพ.ศิริราช ร่วมหารือแลกเปลี่ยนข้อมูล
นายจุรินทร์กล่าวว่า มาดูที่โรงพยาบาลศิริราช โรงงานได้มาส่งแล้ว และเห็นด้วยว่ามีใบส่งสินค้ามาจากโรงงานผู้ผลิตตามคำสั่งของศูนย์ว่าออกมาจำนวนเท่าไหร่ และมาส่งที่โรงพยาบาลศิริราช ไม่ผ่านที่ไหนเลย ซึ่งการทำงานของศูนย์ จะมีการประชุมทุกวัน เพื่อให้การบริหารจัดการยืดหยุ่นและสอดคล้องกับความเป็นจริงมากที่สุด โดยดูว่าสต๊อกที่ไหนมีเพียงพอสำหรับช่วงเวลาเท่าไหร่ เพื่อแก้ปัญหาให้มีการกระจายให้ทั่วถึงที่สุดเท่าที่จะทำได้ และจากนี้จะเดินทางไปเยี่ยมชมการกระจายหน้ากากอนามัยให้กับโรงพยาบาลเกษมราษฎร์บางแค
ด้านสำนักงานจุฬาราชมนตรี ออกแถลงการณ์ขอความร่วมมือมุสลิมทุกคนให้ยึดแนวทางการปฏิบัติตนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค จำนวน 7 ข้อ ประกอบด้วย 1.หลีกเลี่ยงการสลามด้วยการสัมผัสมือ การสวมกอด และการสัมผัสแก้ม โดยให้ยกมือสลามกันเท่านั้น 2.ให้มีการทำความสะอาดอุปกรณ์ และทำความสะอาดสถานทีบริเวณที่มีผู้สัมผัสมาก 3.หลีกเลี่ยงหรืองดการจัดกิจกรรมสาธารสุข การจัดค่ายอบรมต่างๆ และการจัดประชุมสัมมนา หากมีความจำเป็นจะต้องจัดกิจกรรม ให้ผู้จัดจะต้องเตรียมความพร้อมในการคัดกรองผู้เข้าร่วมกิจกรรม และมีมาตรการป้องกันและควบคุมโรค
4.ศาสนาอนุญาตให้สวมใส่หน้ากากอนามัยในการทำการละหมาด 5.งดในการรับประทานอาหารในแบบถาดร่วม ให้แบ่งใส่ภาชนะที่ใช้เฉพาะของตนเอง และงดการรับประทานอาหารใช้มือป้อน 6.งดการอาบน้ำละหมาดในบ่อน้ำหรืออ่างใหญ่ร่วม และ 7.ผู้เดินทางไปประกอบพิธีอุมเราะห์ที่ประเทศซาอุดีอาระเบียตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ.2563 จนถึงปัจจุบันหามีไข้หวัดให้ไปพบแพทย์ทันที และให้พักอยู่บ้าน 14 วัน
ที่กรมท่าอากาศยาน (ทย.) นายทวี เกศิสำอาง อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) กล่าวว่า ได้ตั้งคณะทำงานดำเนินการป้องกันและลดผลกระทบจากภัยคุกคาม โรคระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อกำหนดแนวทาง มาตรการเฝ้าระวัง และติดตามผลการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงแนวทางการสั่งการกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินเพื่อให้สามารถปฏิบัติการได้ทันท่วงที โดยมี นายจรุณ มีสมบูรณ์ รองอธิบดีกรมท่าอากาศยาน เป็นประธานคณะทำงานฯ ได้ประชุมทางไกล conference กับท่าอากาศยานในความดูแล 25 แห่ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสอบถามข้อมูล แนวทางการปฏิบัติในการคัดกรองผู้โดยสารที่เดินทางผ่านท่าอากาศยาน ทั้งเที่ยวบินภายในประเทศและระหว่างประเทศทุกท่าอากาศยาน การดำเนินการตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัส COVID-19 เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรี
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวถึงการตั้งกองทุนสนับสนุนการดำเนินการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า กรมประชาสัมพันธ์ได้เชิญชวนบริจาคเข้าบัญชีในธนาคารกรุงไทย สาขาทำเนียบรัฐบาล ซึ่งกองทุนดังกล่าวเป็นการประเดิมด้วยเงินเดือน 1 เดือนของคณะรัฐมนตรีทั้ง 36 คน เรียบร้อยแล้ว ถือเป็นการร่วมบริจาคปฐมฤกษ์ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 6 มี.ค.นี้เป็นต้นไป
"คนไทยส่วนหนึ่งต้องการมีส่วนร่วม จึงเปิดโอกาสให้ร่วมบริจาค เพราะไม่ต้องการรับบริจาคเป็นสิ่งของ เนื่องจากเกรงจะเกิดความยุ่งยากในการบริหารจัดการ หากเป็นเงินบริจาคจะได้สามารถนำไปช่วยเหลือได้หลายอย่าง หรือนำไปเยียวยาได้ ทั้งนี้สำหรับยอดเงินบริจาคโดยรวมล่าสุด สามารถสอบถามได้จากทางสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ดูแลกองทุนดังกล่าว" อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์กล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |