มาถึงวันนี้ค่อนข้างจะแน่ชัดแล้วว่า คนจากพรรคเดโมแครตที่จะมาชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปลายปีนี้ ถ้าไม่ใช่โจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีภายใต้บารัก โอบามา
ก็ต้องเป็นเบอร์นี แซนเดอร์ส สมาชิกวุฒิสภาจากรัฐเวอร์มอนต์
ตอนเริ่มแข่งกันภายในพรรคนั้นมีผู้อาสามากถึงเกือบ 20 คน แต่พอผ่านเลือกตั้งขั้นต้นหรือ Primaries มาถึงวันนี้ค่อยๆ ถอนตัวไปทีละคนสองคน
ล่าสุดคือมหาเศรษฐีไมเคิล บลูมเบิร์ก อดีตนายกเทศมนตรีกรุงนิวยอร์ก และเอลิซาเบธ วอร์เรน สมาชิกวุฒิสภาหญิงจากรัฐแมสซาชูเซตส์
เหลือเพียงสองท่านผู้เฒ่าคือ เบอร์นี วัย 78 กับโจ อายุ 76
นโยบายของสองคนนี้ชัดเจนมาก
เบอร์นีเอียงไปทางด้านสังคมนิยม ต่อต้านคนรวย ต้องการควบคุมตลาดหุ้นและธนาคารยักษ์ รวมไปถึงธุรกิจยักษ์ทั้งหลายที่แกเรียกเหมารวมว่า "พวกวอลสตรีท"
เขาต้องการจะเก็บภาษีคนรวยหนักขึ้นเพื่อเอารายได้มาช่วยชนชั้นกลางและผู้ยากไร้
เบอร์นีประกาศนโยบายเรียนฟรี, รักษาพยาบาลฟรี, โอนเอียงไปทางด้านรัฐสวัสดิการ
เขาเรียกตัวเองว่า "ซ้ายสังคมนิยม" อย่างไม่ขัดเขิน
กลุ่มสนับสนุนเขามีตั้งแต่คนรุ่นใหม่ที่ต้องการ "การเมืองเก่า" ชนชั้นกลางที่ต้องการให้รัฐเข้ามาอุ้มมากกว่าเดิม รวมไปถึงคนกลุ่มน้อยไม่ว่าจะเป็นผิวดำหรือลาติโน และกรรมกร
ส่วนโจนั้นเดินสาย "กลางเอียงขวา" และได้รับสนับสนุนเงินบริจาคจากกลุ่มธุรกิจไม่น้อย
โจสนับสนุนเขตการค้าเสรีเช่น NAFTA ของอเมริกาเหนือ (ที่ทรัมป์แก้ไขด้วยการต่อรองใหม่แล้ว) และ TPP ที่โอบามาริเริ่ม (แต่ถูกทรัมป์ยกเลิก)
เบอร์นีประกาศว่าจะต่อรองจีนในเรื่องการค้าอย่างเข้มข้น แต่โจมีท่าทีพร้อมจะเจรจากับปักกิ่งในลักษณะที่เป็นมิตรมากกว่า
จะว่าไปแล้วเบอร์นีก็คือนักการเมืองแหกคอก นโยบายซ้ายกว่าพรรคเดโมแครต อีกทั้งจริงๆ เขาไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกพรรคเดโมแครตด้วยซ้ำไป
แต่โจเป็น "คนวงใน" ของพรรค เป็นส่วนหนึ่งของ "กลุ่มทุนนิยม" ในพรรค และใช้วาทะนุ่มนวลมากกว่าเสียงกร้าวๆ ของเบอร์นี
โจหาเสียงด้วยการอิงผลงานสมัยโอบามา และพยายามจะใช้ช่วงเวลาที่เขาเป็นรองประธานาธิบดี (จากปี 2009 ถึง 2017) มาเป็นประเด็นหาเสียง เพื่อสะท้อนว่าคู่แข่งของเขาไม่เคยมีประสบการณ์ในการบริหารประเทศระดับชาติมาก่อน
ต้องไม่ลืมว่าโจเป็นมือเก๋าในแวดวงการเมืองระดับชาติมายาวนาน
โจเคยพยายามแข่งขันให้พรรคเลือกเขาเป็นตัวแทนเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสองครั้งก่อนหน้านี้ คือปี 1988 และ 2008 แต่ก็ล้มเหลวทั้งสองครั้ง
โจจบนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเดลาแวร์ ได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาครั้งแรกในปี 1972 ในวัยหนุ่มที่สุดอันดับ 6 ของประเทศ และได้รับเลือกอีก 6 สมัย
สำหรับคนไทย ควรจะเข้าใจว่าโจมีประสบการณ์เรื่องนโยบายต่างประเทศพอสมควร
เขาเป็นทั้งอดีตประธานและสมาชิกของคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของวุฒิสภามายาวนาน ก่อนจะลาออกไปเป็นรองประธานาธิบดีเมื่อปี 2009
ประวัติการลงมติในสภาของเขาคือ ต่อต้านสงครามอ่าวเปอร์เซียในปี 1991 แต่สนับสนุนอเมริกาและนาโตเข้าไปแทรกแซงสงครามบอสเนียในปี 1994 และ 1995
เบอร์นีเป็นนักการเมืองแนวทางก้าวหน้า ยืนคนละฟากกับทรัมป์อย่างดุเดือด และวิพากษ์ว่าพรรคเดโมแครตไม่ "ซ้าย" พอในการช่วยเหลือประชาชนชั้นกลางและชั้นล่าง
เบอร์นีเน้นนโยบายลดค่าใช้จ่ายทางทหาร, แก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองผ่านการทูตมากกว่าการใช้กำลัง, เน้นความสำคัญของการแก้ปัญหาโลกร้อน และสนับสนุนนโยบาย "สีเขียว" ในทุกรูปแบบ
เบอร์นีเกิดในครอบครัวชนชั้นทำงานชาวยิวและโตในเมืองนิวยอร์ก ตอนเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยชิคาโกเขาเป็นนักเคลื่อนไหวด้านความเท่าเทียมของคนสีผิว และการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคของคนอเมริกาทุกชนชั้นอย่างสันติ
ล่าสุดเมื่อโจสามารถชนะ 10 ใน 14 รัฐระหว่างการเลือกตั้งขั้นต้น Super Tuesday วันอังคารที่ผ่านมา เบอร์นีก็ประกาศว่าหากเขายังไม่สามารถชนะโจได้ในอีกสองสามรัฐ เขาจะประกาศถอนตัว...และยกมือสนับสนุนโจแทน
เพราะเป้าหมายสูงสุดสำหรับเขาคือ พรรคเดโมแครตต้องคว่ำทรัมป์ในเดือนพฤศจิกายนนี้ให้ได้!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |