6มมี.ค.63-นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้เสนอร่างแผนการสอบคัดเลือกข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกตำแหน่งตั้งแต่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) รองผอ.สพม. รองผอ.สพป. ผู้อำนวยการโรงเรียนรองผู้อำนวยการโรงเรียน ครูผู้ช่วย ศึกษานิเทศก์บุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค.(2) โดยจะเริ่มการสอบตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 เป็นต้นไป ทั้งนี้ร่างแผนการสอบคัดเลือกดังกล่าวจะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) พิจารณาในเร็วๆ นี้ สำหรับร่างปฏิทินการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) สังกัด สพฐ. ปี2563 มีดังนี้ ประกาศรับสมัครคัดเลือกภายในวันที่ 13 มีนาคม รับสมัครคัดเลือก วันที่ 30 มีนาคม-5 เมษายน ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์เข้ารับการคัดเลือกภายในวันที่ 10 เมษายน สอบภาค ก.ประเมินประวัติประสบการณ์ทางการบริหารและประเมินผลงาน วันที่ 20 -28 เมษายน ภาค ข ความเหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่โดยการประเมินศักยภาพ วันที่ 20 -28 เมษายน สอบข้อเขียน ภาค ก ความรู้ความสามารถด้านการบริหารงาน วันที่ 2 พฤษภาคม ประกาศรายชื่อผู้ผ่านภาค ก และ ข เพื่อประเมินภาค ค ภายในวันที่ 11 พฤษภาคม ประเมินภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่ง วันที่ 15-24 พฤษภาคม สอบสัมภาษณ์ วันที่ 23-24 พฤษภาคม และประกาศผลผู้ได้รับการคัดเลือกวันที่ 1 มิถุนายน
นายอำนาจ กล่าวต่อว่า ส่วนร่างปฏิทินการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัด สพฐ.ปี2563 ประกาศรับสมัครวันที่ 10 เมษายน รับสมัคร วันที่ 21-27 เมษายน ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบภายในวันที่ 7 พฤษภาคม สอบข้อเขียนภาค ก.ความรอบรู้ ความสามารถทั่วไป และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรม และอุดมการณ์ของความเป็นครู และมาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา วันที่ 23 พฤษภาคม สอบภาค ข. ความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่งวันที่ 24 พฤษภาคมประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์ ภาค ค.วันที่ 1 มิถุนายน สอบสัมภาษณ์ ภาค ค.ความเหมาะสมกับตำแหน่งและวิชาชีพ วันที่ 6 มิถุนายน และประกาศผลการสอบแข่งขันวันที่ 10 มิถุนายน
“การสอบแข่งขันและคัดเลือกครั้งนี้ สพฐ. มีความคาดหวังว่าจะได้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ มีศักยภาพสูง มีความพร้อมที่จะทำงานในทุกตำแหน่งและเป็นการจัดคนลงตำแหน่งได้ทันกับตำแหน่งว่างและจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพในหลักสูตรการพัฒนา ได้มีการนำการวัดความรู้ภาษาอังกฤษ Digital Literacy รวมถึงการมีภาวะผู้นำในด้านต่าง ๆ มาใช้ในการพัฒนาด้วย ซึ่งการคัดเลือกจะเป็นหน้าที่ของ กศจ.ในแต่ละจังหวัดที่จะดำเนินการคัดเลือก” เลขาฯ กพฐ. กล่าว