"อนุทิน" เซ็นประกาศ 4 ประเทศ "เกาหลี-จีน-อิตาลี-อิหร่าน" เขตโรคติดต่อร้ายแรงโควิด-19 "สธ." แถลงพบผู้ป่วยเพิ่มอีก 4 ราย ยอมรวมสะสมอยู่ 47 ราย พร้อมส่ง จนท.ติดตามผีน้อยกลับไทยแล้วไม่กักตัว 14 วัน ขู่! เจอฝ่าฝืนมีโทษ "ทำเนียบฯ" เปิดศูนย์ข้อมูลและรับเรื่องร้องเรียนจาก ปชช. "มท." กำชับผู้ว่าฯ ร่วมสาธารณสุขเตรียมรับมือกลุ่มเสี่ยง "กองทัพ" จัดพื้นที่ 5 แห่งกักโรคผีน้อยจากเกาหลี 5 พันคน "พณ." เข้มหน้ากากอนามัยตั้งแต่ 9 มี.ค. ต้องขายชิ้นละ 2.50 บาท
เมื่อวันที่ 5 มี.ค.2563 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 137 ตอนพิเศษ 52 ง. เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) พ.ศ.2563 ลงนามโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข ระบุว่า ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ได้แพร่อย่างรวดเร็วและกว้างขวางไปหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ประกอบกับเมื่อวันที่ 30 ม.ค.2563 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การระบาดของโรคดังกล่าวเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ รมว.สาธารณสุข โดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ จึงได้ประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดการติดต่อของโรคดังกล่าวที่มากับผู้เดินทางจากนอกราชอาณาจักร ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมโรคที่อาจจะเข้ามาภายในราชอาณาจักร และเพื่อให้การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคดังกล่าวเป็นไป อย่างมีประสิทธิภาพ รมว.สาธารณสุข โดยคำแนะนำของคณะกรรมการด้านวิชาการ จึงเห็นสมควรประกาศกำหนดให้ท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ซึ่งหากสภาวการณ์ของโรคดังกล่าวสงบลงหรือมีเหตุอันสมควร จะได้มีการประกาศยกเลิกเขตติดโรคติดต่ออันตรายต่อไป
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง ประกอบกับมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 รมว.สาธารณสุข โดยคำแนะนำของคณะกรรมการด้านวิชาการ จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ท้องที่นอกราชอาณาจักร ที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 พ.ศ.2563 ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ 4 ปท.กลุ่มเสี่ยง
ข้อ 3 ให้ท้องที่นอกราชอาณาจักรดังต่อไปนี้ เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (1) สาธารณรัฐเกาหลี (2) สาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงเขตบริหารพิเศษมาเก๊า (Macao) และเขตบริหารพิเศษฮ่องกง (Hong Kong) (3) สาธารณรัฐอิตาลี (4) สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน
ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่า ได้รับรายงานพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่ม 4 ราย โดยรายที่ 1 เป็นชายชาวอิตาลี อายุ 29 ปี อาชีพพนักงานบริษัท เดินทางมาจากประเทศอิตาลี เดินทางเข้าประเทศไทยวันที่ 1 มี.ค.2563 เดินทางมารักษาด้วยตนเองที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 2 มี.ค.2563 ด้วยอาการ ไข้ ไอ ส่งรักษาต่อที่โรงพยาบาลชลบุรี, รายที่ 2 เป็นชายชาวไทย อายุ 42 ปี อาชีพพนักงานบริษัท มีประวัติเดินทางมาจากประเทศอิตาลี เดินทางเข้าประเทศไทยวันที่ 2 มี.ค.2563 เดินทางมารักษาด้วยตนเองที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ในจังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 3 มี.ค.2563 ด้วยอาการไข้ ไอ เจ็บคอ ทั้ง 2 รายนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน
รายที่ 3 ชายชาวจีนอายุ 22 ปี เป็นนักศึกษา เดินทางมาจากประเทศอิหร่านเพื่อต่อเครื่อง เมื่อวันที่ 1 มี.ค.2563 โดยเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศที่สนามบินสุวรรณภูมิตรวจพบไข้ ไอ น้ำมูก ในระหว่างการต่อเครื่อง จึงส่งรักษาตัวที่สถาบันบำราศนราดูร, รายที่ 4 ชายชาวไทย อายุ 20 ปี เป็นนักศึกษา เดินทางกลับมาจากประเทศอิหร่าน เดินทางเข้าประเทศไทยวันที่ 27 ก.พ.2563 เดินทางมารักษาด้วยตนเองที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ในจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 2 มี.ค.2563 ด้วยอาการไข้ มีน้ำมูก
"สรุปวันนี้มีผู้ป่วยยืนยันที่รักษาหายแล้ว 31 ราย ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 15 ราย เสียชีวิต 1 ราย ผู้ป่วยสะสมในประเทศไทยขณะนี้ 47 ราย สำหรับผู้ป่วยอาการหนัก 1 ราย ที่รักษาตัวอยู่ที่สถาบันบำราศนราดูร ตรวจไม่พบเชื้อแล้ว แต่ยังอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด" นพ.สุวรรณชัยกล่าว
อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า เมื่อวันที่ 4 มี.ค. นายกฯ มีข้อสั่งการกำหนดมาตรการคัดกรองที่ท่าอากาศยาน ให้จำแนกกลุ่มคัดกรอง 1.หากป่วย สงสัยว่าป่วย ให้แยกพักรักษาตามสถานพยาบาล 2.หากไม่ป่วยและมาจากพื้นที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 สูง ให้แยกพักในพื้นที่ควบคุมโรคที่รัฐบาลกำหนด และ 3.หากไม่ป่วยและเดินทางจากพื้นที่อื่น ให้แยกพักพื้นที่ในการกำกับของผู้ว่าราชการจังหวัดหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
"นายกฯ ยังสั่งให้ สธ.ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรุงเทพมหานคร (กทม.) และหน่วยงานเกี่ยวข้อง พิจารณาสถานที่เพื่อเตรียมการจัดให้เป็นพื้นที่ควบคุมโรครองรับ ซึ่ง สธ.ได้ทำหลักเกณฑ์ลักษณะสถานที่กักกัน (สถานที่หรือพื้นที่ควบคุมโรค) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินงานแล้ว ซึ่งหลักเกณฑ์ประกอบด้วย การจัดสถานที่ การรักษาความปลอดภัย ห้องครัว ห้องพยาบาล ระบบจัดการขยะ สถานที่อำนวยความสะดวกอื่นๆ การจัดเจ้าหน้าที่ดูแลในแต่ละวัน" อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว
ถามว่า ก่อนหน้านี้มีผีน้อยที่กลับมา แต่ไม่ยอมกักตัวอยู่บ้าน 14 วัน จะดำเนินการอย่างไร นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า จะมีการยกระดับของผู้ที่เดินทางมาก่อนหน้านี้ ซึ่งเรามีรายชื่ออยู่ในมือ เพราะฉะนั้นขอให้ท่านปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด โดยจะมีเจ้าพนักงานควบคุมโรคหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ไปเฝ้าระวัง ติดตามสังเกตอาการว่ามีไข้ อาการระบบทางเดินหายใจหรือไม่ จนครบไม่น้อยกว่า 14 วัน หากมีความจำเป็นต้องออกนอกบ้านจะต้องประสานแจ้งหรือรายงานต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคหรือผู้รับมอบหมายในพื้นที่ เพื่อย้ำถึงวิธีปฏิบัติว่าต้องสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือด้วยน้ำสบู่และเจลแอลกอฮอล์
ซักว่าการให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคไปติดตามผีน้อยที่กลับมาก่อนหน้านี้แล้วไม่ให้ความร่วมมือปฏิบัติตาม จะมีโทษอะไรหรือไม่ นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า กลุ่มนี้จะเข้าข้อสั่งการของนายกฯ คือกลุ่มที่ให้อยู่ในการกำกับของผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะกลุ่มคนเหล่านี้กลับมาแล้วกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ ซึ่งในแต่ละจังหวัดจะมีเจ้าพนักงานควบคุมโรค แต่คงไม่พอในการติดตามดูแล ก็จะมีผู้ที่ได้รับมอบหมาย จะมีคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดที่มีผู้ว่าฯ เป็นประธาน ก็สามารถแต่งตั้งผู้ที่ได้รับมอบหมายมาช่วยในการติดตามได้ ซึ่งหากไม่ให้ความร่วมมือหลังจากเจ้าพนักงานได้แจ้ง ตอนนี้โรคโควิด-19 ประกาศเป็นโรคติดต่ออันตราย ก็สามารถเอาผิดได้มีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท
วันเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงประกาศกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 13 ก.ย.2562 ให้ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพื่อฆ่าเชื้อ เป็นเครื่องมือแพทย์ และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 มี.ค.นี้ อันจะส่งผลให้บริษัทเครื่องสำอางที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ผลิตเครื่องมือแพทย์ ไม่สามารถผลิตเจลแอลกอฮอล์หรือเจลล้างมือออกสู่ตลาดได้ว่า ประกาศดังกล่าวเป็นประกาศเก่า ตั้งแต่โลกยังไม่รู้จักโควิด-19
"ตอนนี้สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปมาก เราต้องระดมทุกทรัพยากรมาช่วยกันสกัดโรคนี้ จึงได้สั่งการให้ยกเลิกประกาศฉบับนี้ และ อย.ได้ปฏิบัติตามแล้ว เท่ากับผู้ผลิตเครื่องสำอางกลับมาผลิตเจลแอลกอฮอล์ได้ จากนี้เจลล้างมือจะทยอยเข้าสู่ตลาดบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนแน่นอน" นายอนุทินกล่าว
เปิดศูนย์ข้อมูลโควิด-19
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอให้มีการตั้งกองทุนให้ครม.ร่วมบริจาคเงินในการจัดหาและดูแลสิ่งจำเป็นจากสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า เป็นเรื่องที่ ครม.ทุกคนสมัครใจร่วมกันยกเงินเดือน 1 เดือนเข้ากองทุนดังกล่าว โดยขั้นต่อไปก็อาจจะเชิญชวนข้าราชการการเมืองในตำแหน่งอื่นให้สมทบด้วย แต่ไม่ต้องให้หมดทั้งเดือน ในส่วนของ ส.ส.ก็สามารถทำของเขาเองได้และยังไม่ถึงขั้นจะต้องเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมสมทบกองทุน เพียงแต่บอก ครม.เท่านั้น
ถามว่าจะนำเงินจากกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรีมาสมทบหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน การบริหารจัดการเป็นคนละส่วนกัน ซึ่งตนได้เชิญปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมาชี้แจงแล้วว่าให้ตั้งเป็นอีกกองทุนหนึ่งในเรื่องของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเงินจำนวนนี้จะนำไปใช้ในการช่วยแพทย์ พยาบาล ซื้อเวชภัณฑ์และหน้ากากอนามัย ซึ่งเมื่อจบเรื่องเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว กองทุนก็จบด้วย
"เรื่องของหน้ากากอนามัยที่ประชุม ครม.ก็ได้อนุมัติงบประมาณ 250 ล้านบาทให้กระทรวงมหาดไทยไปจัดซื้อจัดหา ก็คอยไปอีกระยะว่าจะพอเพียงหรือไม่" รองนายกฯ กล่าว
ส่วนนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) แถลงเปิดศูนย์ข้อมูลโควิด-19 อย่างเป็นทางการ ซึ่งตั้งขึ้นที่ตึกนารีสโมสร เพื่อทำหน้าที่บูรณาการข้อมูลข่าวสารและรับเรื่องร้องเรียนต่างๆ ของประชาชน เพื่อเผยแพร่การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการป้องกันโควิด-19 อย่างถูกต้องทันท่วงที รวมถึงรับบริจาคสิ่งของสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ เพื่อปฏิบัติภารกิจ
นายเทวัญกล่าวว่า ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 จะแถลงข่าวเวลา 14.00 น.ของทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หรือถ้ามีเหตุด่วนเกี่ยวกับเรื่องโควิด-19 จะแถลงได้มากกว่าวันละ 1 ครั้ง ซึ่งหากประชาชนมีข้อสงสัยหรือจะร้องเรียนอะไรเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 เช่น เรื่องหน้ากากอนามัยขายเกินราคา สามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 0-2288-6070-4 หรือหมายเลข 1111 ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อเจ้าหน้าที่รับเรื่องแล้วจะสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องให้ประชาชนต่อไป
ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พร้อมด้วยนายอนุทิน ประชุมผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทยประจำจังหวัด รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ฝ่ายทหาร) นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด พาณิชย์จังหวัด ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด และนายอำเภอทุกอำเภอ เพื่อกำชับเฝ้าระวังและควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19
พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นการซักซ้อมความเข้าใจกับผู้ว่าฯ เกี่ยวกับบทบาทและอำนาจหน้าที่ในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 เพื่อไปดำเนินการป้องกัน เฝ้าระวัง และควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19
ด้านนายอนุทินกล่าวว่า ขณะนี้มีแรงงานชาวไทยที่จะเดินทางมาจากสาธารณรัฐเกาหลี ประมาณ 120,000 คน กลับไทย จึงขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัดดูแลในเรื่องดังกล่าว โดยกระทรวงสาธารณสุขจะให้ความร่วมมือทางการแพทย์และการสาธารณสุขอย่างเต็มที่กับกระทรวงมหาดไทย
กองทัพจัด 5 แห่งกักผีน้อย
ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเตรียมสถานที่รองรับแรงงานไทยกลับจากเกาหลีใต้ว่า ได้จัดเตรียมพื้นที่ไว้ 5 แห่ง
พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม (กห.) กล่าวว่า ยังขอไม่เปิดเผยพื้นที่ทั้ง 5 แห่ง โดยขอสงวนตำแหน่งพื้นที่รองรับ เนื่องจากเป็นเหตุผลด้านความมั่นคง อย่างก็ตาม ได้มีการกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะส่งมายังพื้นที่ควบคุมโรคของกองทัพ ซึ่งแพทย์ทหารและกระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างเข้าสำรวจพื้นที่และจัดแบ่งจำนวนแรงงานจากเกาหลีใต้ประมาณ 5,000 คน เฉพาะจากเมืองแทกูและคย็องซัง เพื่อเฝ้าสังเกตอาการ 14 วัน แต่หากไม่ผ่านการคัดกรอง อุณหภูมิร่างกายเกินกว่าที่กำหนดแสดงการติดเชื้อเบื้องต้นก็จะส่งเข้าไปยังสถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขที่กำหนดไว้
ถามถึงผีน้อยที่เดินทางกลับมาก่อนหน้านี้จะดำเนินการอย่างไร โฆษก กห.กล่าวว่า ทางจังหวัดคงจะเรียกแรงงานเหล่านั้นกลับมากักตัวตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรค โดยอาจใช้พื้นที่โรงยิมฯ ในสนามกีฬาหรือพื้นที่ที่จังหวัดจัดเตรียมไว้
ที่กองทัพอากาศ (ทอ.) พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผบ.ทอ. กล่าวว่า กองทัพอากาศได้เตรียมพื้นที่โรงเรียนการบินกองทัพอากาศ กำแพงแสน ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะสามารถรองรับแรงงานที่จะเดินทางมาได้ประมาณเท่าใด ทั้งหมดจะชัดเจนในวันที่ 6 มี.ค. หลังกองทัพประชุมร่วมกระทรวงสาธารณสุข แต่เบื้องต้นรัฐบาลได้ประสานทุกเหล่าทัพให้เตรียมพื้นที่สนับสนุนรองรับแรงงาน
กองทัพเรือ (ทร.) พล.ร.ท.ประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ โฆษก ทร. กล่าวว่า เบื้องต้นกองทัพเรือได้จัดเตรียมพื้นที่ฐานทัพเรือสัตหีบ อ่าวดงตาล ในอาคาร 3-8 ซึ่งจะสามารถรองรับประชาชนได้ประมาณ 200 คน ส่วนจะขยายพื้นที่ไปฐานทัพเรือแห่งอื่นหรือไม่นั้นขอศึกษาข้อมูลก่อน
พล.ท.ธัญญา เกียรติสาร แม่ทัพภาคที่ 2 กล่าวว่า กองทัพภาคที่ 2 รอรับคำสั่งจากนายกฯ และ รมว.กลาโหม รวมทั้ง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ในการเตรียมพื้นที่รองรับ ซึ่งขณะนี้แพทย์ของกองทัพภาคที่ 2 กำลังปฏิบัติหน้าที่ในการเข้าไปดูแลการฝึกร่วมผสมไทย-สหรัฐ หรือคอบร้าโกลด์ 2020 และการฝึกระหว่างทหารบกไทย-สหรัฐ หรือหนุมานการ์เดียน
มีรายงานว่า กองทัพจัดพื้นที่ควบคุมโรค ได้แก่ กองทัพไทย ใช้หาดเจ้าสำราญ, บ้านพักรับรอง ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์กองทัพไทย ที่แหลมแท่น จ.ชลบุรี กองทัพบก ใช้พื้นที่สวนสนประดิพัทธ์ 1 ประจวบคีรีขันธ์ กองทัพอากาศ ใช้โรงเรียนการบิน กำแพงแสน จ.นครปฐม ส่วนกองทัพเรือ ใช้อาคาร 3-8 อ่าวดงตาล อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
ที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาหน้ากากอนามัยราคาแพง และการกระจายหน้ากากอนามัยว่า ได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) กำหนดราคาจำหน่ายสูงสุดหน้ากากอนามัยแบบสีเขียวในราคาไม่เกินชิ้นละ 2.50 บาท สำหรับหน้ากากอนามัยที่ผลิตได้ในประเทศ แต่ได้ยกเว้นให้สำหรับหน้ากากอนามัยที่เป็นสต๊อกเก่าและมีการจำหน่ายจากโรงงานไปยังผู้จำหน่ายต่างๆ
"ก่อนหน้านี้ให้เวลาเคลียร์สต๊อกหมดภายใน 3 วัน และตั้งแต่วันจันทร์ที่ 9 มี.ค.2563 เป็นต้นไป จะต้องจำหน่ายในราคาชิ้นละ 2.50 บาททั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน หากขายเกินราคาสูงสุดที่กำหนด จะมีโทษตามกฎหมาย คือ จำคุก 5 ปี ปรับ 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" นายจุรินทร์กล่าว
รองนายกฯ และ รมว.พณ.กล่าวว่า ในส่วนหน้ากากอนามัยนำเข้าได้กำหนดให้ผู้นำเข้าต้องแสดงต้นทุนนำเข้ากับกรมการค้าภายใน และสามารถบวกค่าบริหารจัดการ เช่น ต้นทุนค่าบริหาร การขนส่ง ค่าน้ำค่าไฟ ค่าบริหารงานบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT 7%) ค่าใช้จ่ายอื่นๆ และค่าตอบแทน รวมกันทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 60% จากต้นทุนนำเข้า เช่น สินค้านำเข้าราคา 100 บาทบวกได้เป็น 160 บาท หรือราคา 1 บาท บวกได้เป็น 1.60 บาท เป็นต้น ทั้งนี้ การกำหนดราคาจำหน่ายสูงสุด ไม่รวมหน้ากากอนามัยแบบผ้า ที่เป็นหน้ากากทางเลือก ที่รัฐบาลกำลังส่งเสริมและผลักดันให้มีการผลิต
นายจุรินทร์กล่าวว่า สำหรับแผนการกระจายหน้ากากอนามัย ได้มีการสรุปตัวเลขการผลิตที่ชัดเจนอีกครั้ง พบว่า โรงงานที่มีอยู่ 11 โรงงาน มีกำลังการผลิตรวมกันวันละ 1.2 ล้านชิ้น ลดลงจากเดิม 1.35 ล้านชิ้น เพราะมีปัญหาเรื่องวัตถุดิบ หรือจะมียอดรวมเดือนละ 36 ล้านชิ้น จะมีการกระจายโดยศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัย โดย 7 แสนชิ้น มอบให้กระทรวงสาธารณสุขนำไปกระจายให้กับโรงพยาบาล สถานพยาบาลทุกสังกัด ทั้งรัฐและเอกชน ส่วนอีก 5 แสนชิ้น กรมการค้าภายในจะเป็นผู้ระบายให้กับประชากร 60 ล้านคน ผ่านช่องทางที่มีอยู่เดิม และรถโมบายที่เพิ่มเข้ามาใหม่จำนวน 111 คัน แยกเป็นกรุงเทพฯ 21 คัน และต่างจังหวัด 90 คัน มีหน้ากากประมาณ 3 แสนชิ้นต่อวันไปขาย
"นอกจากนี้ยังได้มีการกำหนดให้เจลล้างมือเป็นสินค้าที่จะต้องขออนุญาตก่อนปรับขึ้นราคา เพื่อแก้ไขปัญหาราคาแพง โดยหากขอมาแล้วไม่ได้รับการอนุมัติ ก็ไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้" รองนายกฯ และ รมว.พณ.กล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |