ปรากฏการณ์ ‘รัฐบาลประตูหลัง’ องมาเลเซียกำลังส่อเค้าวุ่นต่อ


เพิ่มเพื่อน    

 

                คนคุ้นๆ กันทั้งนั้น...ตกลงใครหักหลังใคร?

                เห็นป้ายหน้าร้านอาหารแห่งนี้กลางกรุงกัวลาลัมเปอร์แล้วก็อดขำไม่ได้

                อาจจะเป็นอารมณ์ขันหรืออารมณ์ประชดประชันก็ได้

                ผมชอบที่คุณ “ปรางทิพย์ ดาวเรือง” นักข่าวนักวิจัยนักวิเคราะห์คนไทยที่ปักหลักอยู่ที่เมืองหลวงมาเลเซียมาช้านาน เอารูปนี้ขึ้นในหน้าเฟซบุ๊กพร้อมอธิบายอย่างนี้

                มาเลเซีย : รัฐบาลประตูหลัง

                'Back-door government' แปลตามตัวว่า 'รัฐบาลประตูหลัง' หมายถึงรัฐบาลที่มาจากการเล่นเกมของชนชั้นนำ หาใช่จากเสียงประชาชน คือฉายาของรัฐบาล อัมโน-พาส-เบอร์ซาตู-อัสมิน

                "เพื่อเป็นการฉลองรัฐบาลประตูหลัง โปรดเข้าประตูหลังในวันนี้"

                 ข้อความบนป้ายประกาศเป็นภาษาอังกฤษและภาษาจีนหน้าร้านนิรนามกลางกรุงกัวลาลัมเปอร์แห่งหนึ่งกล่าว

                แม้ มูห์ยิดดิน ยัสซิน จะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกฯ คนที่ 8 ของมาเลเซียแล้วก็ตาม แต่ความวุ่นวายยังไม่จบ

                เพราะการต่อสู้ระหว่างกลุ่มการเมืองที่สนับสนุน มหาธีร์ โมหะหมัด และกลุ่มที่พยายามดิ้นรนให้ อันวาร์ อิบราฮิม ได้ตำแหน่งนี้จะพยายามเล่นทุกเกมเพื่อจะคว่ำมูห์ยิดดินจงได้

                มหาธีร์ประกาศว่า มูห์ยิดดิน “หักหลัก” เขา และยืนยันว่าเขามีเสียงสนับสนุนในสภาอย่างน้อย 114 เสียง (เกินครึ่งที่ 111 แล้ว)

                นั่นแปลว่ากลุ่มมหาธีร์กับอันวาร์อาจจะรวมตัวกันในฐานะฝ่ายค้านเพื่อเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ คนใหม่ทันทีที่เข้าประจำการทำหน้าที่เป็นรัฐบาลก็ได้

                คนมาเลเซียจำนวนไม่น้อยมีความโกรธที่นายกฯ คนใหม่ดึงพรรคอัมโน ซึ่งเปื้อนมลทินกรณีกองทุน 1MDB เข้าร่วมรัฐบาล

                ทำให้เกิดความคลางแคลงว่ารัฐบาลใหม่อาจจะหาทางช่วยเหลืออดีตนายกฯ นาจิบ ราซัค ให้พ้นจากข้อหาคอร์รัปชันอันมโหฬารก็เป็นได้

                นั่นย่อมแปลว่าความฝันของคนมาเลเซียที่ไปลงคะแนนเสียงเมื่อเดือนพฤษภาคม 2018 โค่นนาจิบลงจนกลายเป็นประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศนั้นกำลังจะกลายเป็นฝันร้าย

                เพราะทุกอย่างดูเหมือนกำลังจะกลับไปสู่ที่เดิม

                มูห์ยิดดินกำลังเผชิญกระแสท้าทายถึง “ความชอบธรรม”

                ชาวมาเลเซียเริ่มจับตาว่า ภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ การดำเนินคดีอดีตนายกฯ นาจิบ ราซัค จะกลายเป็นมวยล้มต้มคนดูหรือไม่

                หากเป็นเช่นนั้นจริง หรือถ้ามีสัญญาณว่ากระบวนการยุติธรรมกำลังจะบูดเบี้ยว ผู้คนอาจจะออกมาประท้วงครั้งใหญ่อีกหน

                ที่แน่ๆ คือการเมืองมาเลเซียไม่ต่างอะไรกับ “ละครน้ำเน่า” และพันธมิตร ‘ปากาตัน ฮาราปัน’ หรือ ‘พันธมิตรแห่งความหวัง’ ที่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อปี 2018 นั้นมีอันต้องล่มสลายเมื่อมี “งูเห่า” จำนวนหนึ่งแยกตัวออกไปจับมือกับฝ่ายค้านคือ UMNO และ PAD

                คนที่นำทีมแยกตัวออกจากพรรค PKR ของอันวาร์ก็คือมือขวาของตัวเอง อัสมิน อาลี  (มีตำแหน่งรัฐมนตรีเศรษฐกิจด้วย) ซึ่งดึงเอา ส.ส.อีก 10 คนออกไปจับมือกับฝ่ายค้านเพื่อตั้ง “รัฐบาลหลังบ้าน”

                คนที่แยกออกจากมหาธีร์ก็คือมือขวาของเขาในพรรคเบอร์ซาตูนั่นเอง

                เขาคือ มูห์ยิดดิน ยัสซิน ซึ่งเป็นรัฐมนตรีมหาดไทยที่ไปจับมือกับ UMNO และ PAS เพื่อตั้งรัฐบาลผสมใหม่ ไม่เอาทั้งมหาธีร์และอันวาร์

                มหาธีร์แก้เกมตอนแรกด้วยการเสนอให้มีการจัดตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติ” โดยตัวเองเป็นหัวหน้ารัฐบาล ตั้งรัฐมนตรีโดยไม่แยกตามโควตาพรรคการเมือง มุ่ง “ทำเพื่อประโยชน์ของชาติ”

                แต่ไม่มีใครเอาด้วย อ้างว่าผิดรัฐธรรมนูญ

                ท้ายสุด สมเด็จพระราชาธิบดีโปรดเกล้าฯ ให้มูห์ยิดดินเป็นนายกฯ เพราะมีเสียงสนับสนุนข้างมาก ท่ามกลางความชุลมุนของกลุ่มการเมืองที่วิ่งเต้นล็อบบี้กันจนนาทีสุดท้าย

                มหาธีร์แถลงว่า “เป็นเรื่องแปลกประหลาดมาก ฝ่ายแพ้ได้จัดตั้งรัฐบาล ฝ่ายชนะกลายเป็นฝ่ายค้าน นี่ไม่หลงเหลือความเป็นนิติรัฐอีกต่อไปแล้ว”

                หนึ่งในกระแสไม่ยอมรับมูห์ยิดดินมีให้เห็นในแฮชแท็ก #NotMyPM ติดเทรนด์บนทวิตเตอร์

                กว่า 100,000 คนเข้าชื่อกันประท้วงการตั้งมูห์ยิดดินเป็นนายกฯ ถือว่าเป็นการ “ทรยศ” ต่อมติมหาชน

                ประเด็นที่ต้องจับตาคือ

                นายกฯ คนใหม่มีเสียงสนับสนุนในสภามากพอหรือไม่

                ถ้า “ปริ่มน้ำ” รัฐบาลของเขาจะมีอายุยืนยาวแค่ไหน

                เขาจะช่วยอดีตนายกฯ นาจิบ เพราะต้องอาศัยเสียงสนับสนุนจากพรรค UMNO หรือไม่

                เขาจะสร้างความแตกแยกในสังคมมาเลเซีย เพราะนโยบายชาตินิยมหรือไม่

                มูห์ยิดดินเคยลั่นวาจาว่า “ก่อนอื่น ผมเป็นมลายู รองลงไป ผมเป็นชาวมาเลเซีย”

                จุดยืนอย่างนี้จะสร้างความร้าวฉานระหว่างคนมาเลย์กับคนจีนอินเดียอย่างที่เคยเกิดมาแล้วหรือไม่

                การเมืองมาเลเซียกำลังเข้าสู่วังวนแห่งความขัดแย้งอีกรอบแล้ว.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"