เจ้าหน้าที่นวัตกรรมเกษตรเก็บข้อมูลการปลูกสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 ในโรงเรือน
จากพระเมตตาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎรชาวไทยภูเขาทางภาคเหนือเมื่อ 56 ปีก่อน ได้ทอดพระเนตรเห็นป่าไม้ถูกทำลายจากการปลูกฝิ่น ทำไร่เลื่อนลอย ส่งผลให้แหล่งแม่น้ำลำธารเสียสมดุลตามธรรมชาติ อีกทั้งสภาพความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น จึงมีพระราชดำริที่จะช่วยเหลือราษฎร ทรงวางรากฐานอาชีพ ทรงแนะนำส่งเสริมให้ชาวไทยภูเขาเพาะปลูกผักและผลไม้เมืองหนาวแทนฝิ่น ทรงก่อตั้งโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปขึ้นในพื้นที่การเกษตรเมื่อปี 2515 เพื่อส่งเสริม รับซื้อผลผลิตชาวบ้าน และแปรรูปให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ
ต่อมาในปี 2537 ได้จัดตั้งบริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมผลไม้แปรรูป ด้วยการเป็นต้นแบบองค์กรภาคธุรกิจที่ดำเนินกิจการตามศาสตร์แห่งพระราชา ควบคู่กับการมุ่งพัฒนาชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
เกษตรกรชาวไทยภูขาปลูกพืชผักผลไม้เมืองหนาวทดแทนฝิ่น
ทุกวันนี้ ดอยคำมีสินค้ากว่า 200 รายการ ปัจจุบัน บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ดำเนินงานผ่านโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป 3 แห่ง ได้แก่ โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๑ (ฝาง) จ.เชียงใหม่, โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๒ (แม่จัน) จ.เชียงราย และโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๓ (เต่างอย) จ.สกลนคร ช่วยให้เกษตรกรมีชีวิตใหม่
ผลผลิตที่โดดเด่น ถือเป็นความพิเศษเฉพาะฤดูกาล ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างแพร่หลาย นั่นก็คือ สตรอว์เบอร์รีสดระดับพรีเมียม สายพันธุ์พระราชทาน 80 จาก “โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่งอน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ลักษณะเด่นของสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทานนี้มีคุณภาพสูง สีแดง ลูกโต หอมหวานฉ่ำ และรสชาติดี ซึ่งได้พระราชทานให้ราษฎรนำไปปลูกเป็นอาชีพแทนการปลูกฝิ่น และถือว่าเป็นพันธุ์ที่ดีที่สุดในประเทศไทย
สตรอว์เบอร์รีสดระดับพรีเมียม สายพันธุ์พระราชทาน 80 ผู้บริโภคนิยม
ล่าสุด “ดอยคำ” ได้สืบสานสตรอว์เบอร์รีพระราชทาน 80 และพัฒนาไปอีกระดับด้วยการร่วมมือภาครัฐ ส่งเสริมให้ปลูกสตรอว์เบอร์รีนอกฤดู ภายใต้ “โครงการยกระดับการแข่งขันในระบบธุรกิจเกษตร” ซึ่งเป็นการปลูกสตรอว์เบอร์รีในโรงเรือนแทนการปลูกกลางแจ้ง โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างโรงเรือนในการควบคุมระบบอุณหภูมิ จํานวน 40 โรง เมื่อปี 2562 ถือเป็นโรงเรือนปลูกสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 ที่ใหญ่ที่สุดในพื้นที่ อ.ฝาง โดยใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรที่ทันสมัยได้มาตรฐาน มาช่วยเหลือเกษตรกรในโครงการให้มีรายได้จากสตรอว์เบอร์รีตลอดทั้งปี ส่วนผู้บริโภคก็จะได้บริโภคสตรอว์เบอร์รีนอกฤดูกาลที่มีคุณภาพ ปลอดภัย อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรในจังหวัดเชียงใหม่และลําพูน
มิได้มีเพียงบริษัทดอยคำฯ เท่านั้นที่ผลักดันการปลูกสตรอว์เบอร์รีนอกฤดู แต่ยังมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอีกหลายรายร่วมสนับสนุน ประกอบด้วย กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1, สํานักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่, บริษัท ปตท. จํากัด (มหาชน), หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่, กลุ่มเกษตรกรทําสวนโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่งอน อันเนื่องมาจากพระราชดําริ และสถาบันการศึกษา ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมขับเคลื่อนโครงการใหม่นี้ด้วย
โรงเรือนสตรอว์เบอร์รีที่ใหญ่ที่สุดใน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่
จากการพูดคุยกับ ธนกฤต จันทรสมบัติ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมพัฒนาการเกษตรโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๑ (ฝาง) จ.เชียงใหม่ ที่ลงพื้นที่ให้ความรู้และแนะนำการปลูกสตรอว์เบอร์รีแก่เกษตรกรในพื้นที่บ้านหนองเต่า ต.ม่อนปิ่น อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เล่าว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงก่อตั้งโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๑ (ฝาง) เพื่อรับซื้อผลผลิตและแปรรูปในโรงงาน ดอยคำส่งเสริมปลูกสตรอว์เบอร์รี เมื่อส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรพัฒนาผลผลิตได้สตรอว์เบอร์รีคุณภาพ หากแปรรูปทั้งหมด มองว่า เกษตรกรจะไม่ได้รายได้ที่ดีที่สุด เพราะสตรอว์เบอร์รีเกรดโรงงานรับซื้อ 45 บาทต่อกิโลกรัม โรงงานหลวงจึงได้รับซื้อสตรอว์เบอร์รีแบบสดพันธุ์พระราชทาน 80 คัดพิเศษพรีเมียม เก็บที่ความสุกระดับถึง 90% เพราะเป็นสตรอว์เบอร์รีที่หวานฉ่ำที่สุด โดยรับซื้อกิโลกรัมละ 400-500 บาทตามขนาด บรรจุลงกล่องผลิตภัณฑ์ดอยคำเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น กินดีอยู่ดี ส่วนผู้บริโภคได้เลือกซื้อสินค้าดีมีคุณภาพและไม่มีสารเคมีตกค้าง มั่นใจได้ว่าสตรอว์เบอร์รีสดเก็บจากไร่วันนี้ วันรุ่งขึ้นส่งตรงมาวางจำหน่ายที่ร้านดอยคำสาขาต่างๆให้ผู้บริโภคได้ซื้อ
“ ผมนำเอาองค์ความรู้ทางวิชาการเกษตรที่ผ่านการวิจัยจากโรงปฏิบัติการวิจัยทางพืช มาถ่ายทอดให้กับพี่น้องเกษตรกรบนพื้นที่สูง โดยเฉพาะเกษตรกรที่ปลูกสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 และมัลเบอร์รี ซึ่งดูแลครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอใน จ.เชียงใหม่ ประกอบด้วย อ.ฝาง อ.ไชยปราการ และ อ.แม่อาย ซึ่งมีเกษตรกร 85 ครัวเรือน ปลูกสตรอว์เบอร์รี รวมทั้งสิ้น 50 ไร่ ฤดูกาลนี้เริ่มปลูกตั้งแต่เดือน ต.ค.62 เก็บเกี่ยวผลผลิตตั้งแต่กลางเดือน ธ.ค.จนถึงสิ้นเดือน เม.ย.63 รายได้ต่อครัวเรือนเฉลี่ย 7-8 หมื่นบาท ถ้าเกษตรกรขยันเอาใจใส่และดูแลสตรอว์เบอร์รีอย่างดี สามารถทำรายได้มากถึง 1-2 แสนบาทต่อครัวเรือน ปีนี้ผลผลิตสตรอว์เบอร์รีสวยงาม เพราะไม่เจอฝนหลงฤดูและสภาพอากาศหนาวต่อเนื่อง ถือว่าดีที่สุดในรอบ 4 ปี คาดว่าผลผลิตลิ้นจี่ก็จะออกสู่ตลาดจำนวนมากเช่นกัน โดยช่วงเดือน เม.ย.ถึง พ.ค.จะเก็บลิ้นจี่ จากนั้นชาวบ้านจะเริ่มปลูกข้าวไว้กิน เหลือก็นำไปจำหน่าย ก่อนจะปลูกสตรอว์เบอร์รีฤดูกาลใหม่ วิถีชีวิตเกษตรกรเปลี่ยนไป มีความสุขที่ยั่งยืน ชาวบ้านบนดอยไม่ต้องวิ่งออกจากหมู่บ้านไปเป็นแรงงานเก็บส้ม หรือรับจ้างทั่วไป แต่ได้ทำเกษตรอยู่กับครอบครัวตลอดทั้งปี” ธนกฤต กล่าว
สตรอว์เบอร์รีพรีเมียมจากไร่เกษตรกรบ้านหนองเต่า
สตรอว์เบอร์รีนอกฤดูที่ให้ผลผลิตงอกงามนั้น ธนกฤตบอกว่า เป็นผลจากเกษตรกรมีทักษะและความรู้มากขึ้นทุกปีตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ บวกกับประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้นควบคู่กัน โรงงานหลวงต้องการใช้ผลผลิตสตรอว์เบอร์รีเพื่อแปรรูปทุกปี แต่จากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ฤดูกาลที่คลาดเคลื่อน แล้ง ขาดน้ำมากขึ้น เราต้องต่อสู้ ทำงานร่วมกับชาวบ้านเพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้ นำมาสู่การพัฒนางานวิจัยถ่ายทอดสู่แปลงเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีโครงการยกระดับปลูกสตรอว์เบอร์รีในโรงเรือนควบคุมอุณหภูมิ ใช้สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 มาปลูกในโรงเรือน จากที่ปลูกในพื้นที่กลางแจ้ง มีเกษตรกรสนใจเรียนรู้เทคโนโลยีนี้กับดอยคำเพื่อชั่งใจ ศึกษาเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจ
ธนกฤต จันทรสมบัติ จนท.ส่งเสริมพัฒนาการเกษตรโรงงานหลวงให้ชมสตรอว์เบอร์รีคัดพิเศษ
แน่นอนว่า สตรอว์เบอร์รีหวานฉ่ำที่ปลูกในโรงเรือนปรับสภาวะแวดล้อมผลผลิตชุดแรกออกแล้ว มีโอกาสได้เยี่ยมชมโรงเรือนที่ 1 จากทั้งหมด 40 โรง ศิรินภา ไชยพล ผู้จัดการแผนกนวัตกรรมเกษตร (Lab) โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๑ (ฝาง) พาชมโรงเรือนแห่งใหม่นี้ พร้อมบอกเหตุผลที่ต้องพัฒนาสวนสตรอว์เบอร์รีที่ปลอดภัยว่า โรงเรือนควบคุมอุณหภูมิที่ 25 องศาเซลเซียส เพราะตาดอกสตรอว์เบอร์รีสะสมความเย็นที่อุณหภูมิไม่เกิน 25 องศา กว่า 80 ชั่วโมงจึงจะออกดอก ก่อนเจริญเติบโตเป็นผล โรงเรือนทั้งหมดใช้ระบบน้ำทำความเย็นและออกแบบป้องกันแมลงศัตรูพืช มีระบบการให้ปุ๋ยอัตโนมัติ ควบคุมความเข้มข้นของปุ๋ย วัดปุ๋ยในดินเพื่อดูการตอบสนองของพืช โดย 1 โรงเรือน มี 16 ราง 8 แถว รวมต้นสตรอว์เบอร์รี 2,200 ต้น ปัจจุบันมีเกษตรกรจำนวน 6 รายร่วมปลูกสตรอว์เบอร์รีในโครงการ จำนวน 6 โรง อีก 3 โรงปลูกโดยดอยคำ เริ่มปลูกชุดแรกวันที่ 5 ต.ค.2562 ผลผลิตชุดแรกออกแล้ว รสชาติและขนาดเป็นที่พอใจ ขณะนี้อยู่ระหว่างเก็บข้อมูลช่วงเพาะปลูก ออกดอกและออกผล เป็นสตรอว์เบอร์รีอินทรีย์
โรงเรือนควบคุมสภาวะแวดล้อม ยกระดับการแข่งขันให้เกษตรกร
“ ผลผลิตชุดแรกสำเร็จแต่ยังต้องพัฒนาต่อไป เราจะควบคุมผลระหว่างช่อเพื่อให้ขนาดของลูกใหญ่ขึ้นช่อละ 5-10 ลูกเน้นขนาด AA ดีที่สุด ขนาด A และขนาด B การปลูกในโรงเรือนปรับสภาวะแวดล้อม ลดต้นทุนการผลิต ลดใช้สารเคมี ไม่ต้องกำจัดวัชพืช ไม่เสี่ยงต่อสภาพอากาศที่แปรปรวน และตอบสนองความต้องการผู้บริโภคสตรอว์เบอร์รีนอกฤดูกาล” ศิรินภากล่าว
แม้พันธุ์พระราชทาน 80 จะดีที่สุดของไทย แต่ทีมนวัตกรรมเกษตรดอยคำเดินหน้าพัฒนาต่อ โดยเฉพาะที่ห้องทดลองภายในโรงปฏิบัติการวิจัยทางพืช ศิรินภาบอกว่า พันธุ์พระราชทาน 80 มีลักษณะเด่น ผลใหญ่ รูปทรงคล้ายหยดน้ำและรูปหัวใจ ผิวสวย กลิ่นหอมและฉ่ำน้ำ เหมาะกับการทานสดๆ ฉะนั้นเพื่อให้สายพันธุ์พระราชทานนี้ปลอดโรค จึงมีการวิจัยทดลองหยุดวงจรเชื้อไวรัสด้วยการตัดเนื้อเยื่อเจริญปลายยอดมาเพาะเลี้ยง ที่ผ่านมาพบปัญหาสายพันธุ์มีการถ่ายทอดเชื้อไวรัส ทำให้ต้นแคระแกร็น, ใบด่าง, ลูกสตรอว์เบอร์รีมีขนาดเล็ก และระบบการเจริญเติบโตไม่ดี เหมือนคนป่วย หากพัฒนาสายพันธุ์สำเร็จจะขยายผล โดยจำหน่ายให้เกษตรกรนำไปปลูกเป็นพันธุ์แท้ปลอดโรค ช่วยสร้างรายได้ดีกว่า อย่างไรก็ตามขณะนี้ต้นใหม่จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อดังกล่าวทดสอบปลูกในโรงเรือนควบคุมสภาวะแวดล้อม มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วย ส่วนการปรับปรุงสายพันธุ์ ดอยคำพยายามคัดสายพันธุ์ธรรมชาติจากหลากหลายที่มาผสมพันธุ์โดยไม่ตัดแต่งพันธุกรรม หาสิ่งที่ดีมาให้เกษตรกรปลูก
เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสตรอว์เบอร์รี พัฒนาพันธุ์พระราชทาน 80 ให้ปลอดโรค
ด้าน นิรอ กรองแก้วพนา ชาวไทยภูเขาเผ่าลาหู่ บ้านหนองเต่า อายุ 27 ปี ที่ปลูกสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 บอกว่า เมื่อก่อนปลูกลิ้นจี่กับปลูกข้าว แต่ราคาไม่ดี เมื่อมาทำไร่สตรอว์เบอร์รีตามคำแนะนำของดอยคำเมื่อ 3 ปีก่อน มีรายได้เพิ่มขึ้น ปีแรกได้ไร่ละ 3 หมื่น ปีที่สองไร่ละ 8 หมื่น ปีนี้ผลผลิตมากกว่าเดิม คาดว่าจะได้กว่า 1 แสนบาท ถ้าปลูกลิ้นจี่ได้ไร่ละหมื่นบาทเท่านั้น การปลูกสตรอว์เบอร์รีต้องใส่ใจ เก็บผลผลิตวันเว้นวัน เฉลี่ยวันละ 50 กิโลกรัม ทางโรงงานหลวงมารับซื้อสตรอว์เบอร์รีคุณภาพดีถึงบ้าน ที่กินดีอยู่ดีทุกวันนี้ บารมีพ่อหลวง ร.9 พระราชทานพันธุ์ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริสืบสาน รักษา ต่อยอด ทรงพระเมตตาต่อชาวไทยภูเขา ขอพระองค์ทรงพระเจริญ
นิรอ กรองแก้วพนา เกษตรกรชาวเขาเผ่าลาหู่ ดูแลไร่สตรอว์เบอร์รี
นี่คือเรื่องราวหนึ่งจากการตามรอยดอยคำ กว่าจะเป็นสตรอว์เบอร์รีพรีเมียม ที่เกิดขึ้นจากสายพระเนตรอันก้าวไกลของรัชกาลที่ 9 ที่ต้องการพัฒนาชีวิตชาวไทยภูเขา พลิกฟื้นจากการปลูกฝิ่นกลายมาเป็นสวนสตรอว์เบอร์รี สร้างรายได้ยั่งยืน รวมถึงพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการต่อยอดพัฒนาสายพันธุ์สตรอว์เบอร์รี ให้ประเทศไทยของเราโดดเด่นไม่แพ้ชาติใดในโลก
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |