ปีนี้เผาจริง....(2)


เพิ่มเพื่อน    

             เมื่อวานเขียนถึงมาตรการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมมือกับสถาบันการเงินช่วย "ต่อลมหายใจ" ให้ธุรกิจเอกชนที่กำลังเผชิญกับวิกฤติทับซ้อนหลายเรื่องตั้งแต่เปิดปีใหม่มา

                แต่เอกชนเองก็ต้องช่วยเหลือตัวเอง ในยามที่ไม่มีสูตรสำเร็จสูตรใดสูตรหนึ่งจะช่วยให้ใครพ้นจากเหวได้

                เอกชนหลายแห่งตัดสินใจทำในสิ่งที่ไม่อยากจะทำ แต่ต้องทำ เพราะหากไม่รัดเข็มขัดอย่างจริงจังทันใด อีกไม่กี่เดือนข้างหน้า หากสถานการณ์โรคระบาดไม่กระเตื้อง, ภัยแล้งรุนแรงทั่วประเทศ, สงครามการค้าโลกไม่เบาบางลง, PM2.5 ยังรุนแรงต่อเนื่อง...ปีนี้จะเป็นปี "เผาจริง" อย่างที่มีการทำนายทายทักกันเอาไว้ก่อนหน้านี้ก็เป็นไปได้

                วิกฤติครั้งนี้มีผลกระทบต่อธุรกิจหนักหนากว่าคราว SARS ระบาดเมื่อ 17 ปีก่อน และอาจจะหนักและยืดเยื้อกว่า "ต้มยำกุ้ง" เพราะไม่เพียงกระเทือนต่อธุรกิจการเงินและระดับบนเท่านั้น แต่อาจจะกระทบไปถึงชนชั้นกลางและรากหญ้าอย่างรุนแรงกว่าที่จะคาดการณ์ได้ในตอนนี้ด้วยซ้ำ

                ผมอ่านพบมาตรการของการบินไทยและบางกอกแอร์เวย์สที่ประกาศออกมาแล้ว ก็เห็นได้ชัดว่านี่เป็นเพียงตัวอย่างของสององค์กรเอกชนที่ตัดสินใจ "ทำในสิ่งที่ต้องทำ ไม่ว่าจะอยากทำหรือไม่" ทันที

                บริษัทเอกชนเกือบทุกแห่งต้อง "หักดิบ" เรื่องค่าใช้จ่าย เพราะรายได้หดหายต่อหน้าต่อตาอย่างน่าตกใจ อีกทั้งไม่รู้ว่าสถานการณ์จะกลับมาสู่ภาวะ "ปกติ" ได้เมื่อไหร่

                หรือมันจะไม่มี "วันปกติ" อีกต่อไป?

                มาตรการของการบินไทยเท่าที่ประกาศออกมามีดังนี้

                1.ปรับลดเงินเดือนผู้บริหาร ประกอบด้วย ปรับลดเงินเดือนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) ในอัตรา 25% ปรับลดเงินเดือนรองกรรมการผู้จัดการผู้อำนวยการใหญ่ (EVP) ในอัตรา 20% ปรับลดเงินเดือนผู้อำนวยการใหญ่ (VP) หรือกรรมการผู้จัดการ (MD) ระดับผู้อำนวยการใหญ่ในอัตรา 10%

                2.ลดค่าพาหนะเหมาจ่ายของผู้บริหารตามตำแหน่งดังนี้ ระดับรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ 30%  ระดับผู้อำนวยการใหญ่หรือกรรมการผู้จัดการและผู้อำนวยการใหญ่ 20%

                3.ปรับลดงบประมาณสำหรับการเดินทางเพื่อปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานลง 30% ยกเว้นพนักงานที่ปฏิบัติงานบนเครื่องบิน ให้รองกรรมการผู้จัดการผู้อำนวยการใหญ่หรือกรรมการผู้จัดการต้นสังกัด ควบคุมการส่งพนักงานไปปฏิบัติหน้าที่เท่าที่จำเป็นต่อบริษัทเท่านั้น รวมถึงปรับลดจำนวนพนักงานที่จะส่งไปปฏิบัติหน้าที่และจำนวนวันในการปฏิบัติหน้าที่

                4.ให้ทุกหน่วยงานบริหารจัดการกำลังพลไม่ให้เกิดการทำงานล่วงเวลา หากมีข้อขัดข้องในการปฏิบัติงานให้รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ต้นสังกัดเป็นผู้พิจารณาเป็นกรณีไป

                5.ปรับลดค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานนอก (outsource) ให้เหลือเท่าที่จำเป็น ให้สอดคล้องกับปริมาณงานที่ลดลง ทั้งนี้ในภาพรวมของแต่ละหน่วย ต้องปรับลดค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานภายนอกลงไม่น้อยกว่า 20%

                6.ปรับลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการและความปลอดภัยให้เหลือเท่าที่จำเป็น  เช่นชะลอการจ้างบุคลากร ชะลอการลงทุน ลดค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อจัดจ้าง ลดวัสดุอุปกรณ์สิ้นเปลือง  ชะลอการแจกเครื่องแบบพนักงานและลดการเบิกครุภัณฑ์

                7.ให้ผู้บังคับบัญชาต้นสังกัด ระดับผู้อำนวยการใหญ่ของพนักงานที่จะเกษียณอายุในวันที่ 30  กันยายน 2563 ตกลงกับพนักงานที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาเพื่อร่วมกันกำหนดการใช้วันลาหยุดพักผ่อนสะสมที่มีอยู่ทั้งหมดก่อนวันเกษียณอายุ

                ในช่วงจังหวะเดียวกันนั้น การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ผู้ให้บริการสายการบินบางกอกแอร์เวย์สก็มีคำสั่งลดเงินเดือนและสวัสดิการ เช่น

                -ปรับลดความถี่ของเที่ยวบิน ตลอดจนพิจารณายกเลิกเส้นทางบินในบางเส้นทางเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการในการเดินทางของผู้โดยสาร ณ ปัจจุบัน

                -ปรับลดเงินเดือนของประธานคณะผู้บริหารและกรรมการอำนวยการใหญ่ กรรมการ/รองผู้อำนวยการใหญ่สายงานบริหารกลาง และรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสสายงานการเงินและบัญชีลง 50%

                -ยกเลิกการปรับขึ้นเงินเดือนประจำปี 2563 ของผู้บริหารสูงสุดของฝ่าย

                -ปรับลดสวัสดิการของผู้บริหารและพนักงาน

                -ให้นายสถานีและรองนายสถานีที่ประจำอยู่ ณ สถานีต่างประเทศและสถานีอื่นๆ ในประเทศ ทำการโยกย้ายกลับมาประจำการที่สถานีกรุงเทพฯ

                -ขอความร่วมมือจากผู้บริหารและพนักงานในการลางานโดยไม่รับค่าจ้าง (leave without pay)  จำนวน 10-30 วัน

                ทั้งหมดนี้เป็นเพียงมาตรการเฉพาะหน้าเพื่อซื้อเวลาของการล้มครืนเท่านั้น เพราะความอยู่รอดจริง ๆ ขึ้นอยู่กับการทำรายได้ให้กลับฟื้นคืนมาอย่างเป็นรูปธรรม

                วันนี้มองไปข้างหน้ายังเห็นแต่หมอกควันแห่งความมัวซัวและซับซ้อน

                ระหว่างที่พยายามประคองให้ชีวิตเดินต่อไปได้นั้น จะต้องเตรียมแผนสำหรับการฟื้นคืนชีพอย่างมีพลังด้วย...มิใช่มัวแต่จะจมอยู่กับข่าวร้ายจนหมดเรี่ยวแรงที่จะลุกขึ้นวิ่งต่อได้อย่างคึกคักทันทีที่หมอกควันจางลง

                ไม่ต้องรอให้ฟ้าสว่างเจิดจ้าแล้วจึงเริ่มวิ่ง เพราะวิกฤติที่คาดไม่ถึงอาจจะรออยู่ข้างหน้าก็ได้. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"