‘แฟลชม็อบ’ แสบตา ‘รัฐบาล’ เลี่ยง ‘กระตุ้น’ หลบ ‘ท้าทาย’


เพิ่มเพื่อน    

         แม้เป็นเพียง แฟลชม็อบ แต่การรัวชัตเตอร์ใส่บ่อยๆ ก็ทำให้เกิดภาวะ แสบตา ได้เหมือนกัน

                แฟลชม็อบของนิสิต นักศึกษา นักเรียน ที่จัดกิจกรรมต่อเนื่องมา หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ถือเป็นปรากฏการณ์ที่มองข้ามไม่ได้ เพราะเป็นการเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาวที่ไม่ได้ปรากฏภาพในลักษณะนี้มานานหลายสิบปี

                สำหรับการเมืองไทย นักศึกษา หรือ ปัญญาชน คือ ของแสลง ของเหล่าทหารมาตั้งแต่อดีต มากกว่านักการเมืองอาชีพ

                จึงไม่แปลกที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะนิ่ง และพยายามหลบเลี่ยงการกระทำที่จะเป็นการกระตุ้นอารมณ์คนหนุ่มสาวที่ออกมาขับไล่

                จะเห็นว่าบุคคลในรัฐบาล หรือแม้แต่กองทัพ ไม่มีใครแสดงปฏิกิริยาที่ส่อไปในลักษณะยั่วยุ หรือท้าทายการเคลื่อนไหวของนิสิต นักศึกษา นักเรียน และประชาชนที่กำลังดำรงอยู่

                ไม่มีฝ่ายอำนาจคนใดพูดว่า แฟลชม็อบครั้งนี้มี ไอ้โม่ง อยู่เบื้องหลัง หรือเป็นมวลชนจัดตั้ง อันจะเป็นเสมือนการเอาน้ำมันราดบนกองไฟ ให้การชุมนุมเติบโตล้นออกมานอกรั้ว

                กลับกัน เป็นฝ่ายรัฐบาลที่พยายามประกาศอยู่เนืองๆ ว่า สนับสนุนให้มีการเปิดพื้นที่ให้คนหนุ่มสาวได้แสดงออกตามสิทธิและเสรีภาพ แม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์เอง

                “ยืนยันว่าไม่ได้โกรธ เพราะเด็กรุ่นใหม่มีแรงกระตุ้น ไม่เคยสั่งการอะไรให้ใครไปดำเนินการใดๆ กับกลุ่มนักเรียนนักศึกษาเหล่านี้ เจ้าหน้าที่เพียงเฝ้าระวังไม่ให้ผู้ไม่หวังดีมาสร้างสถานการณ์ และให้เจ้าหน้าที่ป้องกันตัวเองเท่านั้น โดยต้องใช้มาตรการที่เบาที่สุด”

                รัฐบาลพยายามให้ แฟลชม็อบ ได้ปลดปล่อยอารมณ์อย่างเต็มที่ เพราะรู้ว่าความอึดอัดจากสังคมมีหลายเรื่องและสูงอยู่พอสมควร ไม่ว่าจะปัญหาเศรษฐกิจ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตลอดจนกรณีการยุบพรรคอนาคตใหม่

                มีก็เพียงการตักเตือนทางอ้อมว่า ให้ระมัดระวังข้อกฎหมายเท่านั้น ซึ่งก็มีความพยายามจากฝ่ายตรงข้ามที่นำคำพูดเหล่านี้ไปชี้นำว่า เป็นการข่มขู่

                จะเห็นว่าปฏิกิริยาจากฝ่ายความมั่นคงค่อนข้างละมุนละม่อม แตกต่างจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งครั้งนั้นมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้ง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116

       ฝ่ายความมั่นคงมีการติดตามการชุมนุมอย่างใกล้ชิด แต่จะพยายามไม่เข้าไปในลักษณะให้ผู้ชุมนุมรู้สึกว่ากำลังถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคาม 

       ทุกอย่างก็เพื่อต้องการจำกัดวงของผู้ชุมนุมให้อยู่แต่ในสถาบัน ไม่ทะลักออกมา นอกรั้ว ซึ่งเป็นจุดที่รัฐบาลกังวลเพราะควบคุมยาก

       มีการประเมินว่า วันนี้ความไม่พอใจที่เกิดขึ้นผ่าน แฟลชม็อบ เป็นเพียง จุดเริ่มต้น หากแต่  เงื่อนไข ยังไม่เพียงพอให้ต่อยอดไปสู่ ม็อบค้างแรม

       ความไม่พอใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่มีประเด็นที่ชัดเจน นอกจากเรื่องความไม่เป็นธรรมอันมาจากการพ้นสถานะ ส.ส.ของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในคดีถือครองหุ้นสื่อ และกรณีการยุบพรรคอนาคตใหม่ ตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค 10 ปี จากการกู้เงินนายธนาธร  191 ล้านบาท

                โดยถูกมองว่ายังไม่ใช่เรื่องสาธารณะมากพอที่จะทำให้เกิด จุดร่วม ออกมาปักหลักไล่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์แบบระยะยาว

                ขณะเดียวกัน ลักษณะของ แฟลชม็อบ จะไม่มีผู้ที่เป็น หัว อย่างชัดเจน แตกต่างจากอดีตที่เคยเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสมัยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และ กปปส.

      ซึ่งวันนี้เมื่อฝ่ายความมั่นคงไม่ยั่วยุ ไม่คุกคาม ไม่สร้างสิ่งเร้าไปกระตุ้น ม็อบจะอยู่ในวงจำกัดโดยธรรมชาติของตัวเอง ยกเว้นมีเงื่อนไขบางอย่างเข้าไปจุดชนวน เช่น เมื่อครั้ง กปปส.ขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีประเด็นเรื่องร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย เข้ามาเป็นจุดที่ทำให้ ฟิวส์ขาด กระชากอารมณ์ให้คนออกมา

       ดังนั้น รัฐบาลพึงตระหนัก หากกระทำการใดที่ทำให้มวลชนรู้สึกว่าได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง  มากกว่าประเด็นเรื่องการยุบพรรคอนาคตใหม่ เมื่อนั้นจะเข้าจุดเสี่ยง

                “แฟลชม็อบ” กลายเป็น “จุดเริ่มต้น” ที่สามารถพัฒนาไปสู่ “ม็อบระยะยาว” ได้. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"