ธงดำฉุดแฟลชม็อบ สังคมหวั่นเสรีภาพสุดโต่ง/ประยุทธ์ลอยตัวโยนสภาฯคลี่ปมนศ


เพิ่มเพื่อน    

  สังคมวิพากษ์ยับ "นิสิต" ชักธงดำแทนธงชาติ ใช้เสรีภาพไร้ขอบเขต ไม่คำนึงภาพลักษณ์และเกียรติภูมิของมหาวิทยาลัย "กลุ่มจุฬาฯ รวมพล" อ้างอดีตนักศึกษาก็ขึ้นธงดำต่อต้านเผด็จการทหาร "ศรีสุวรรณ" ชี้เปรี้ยงทำสถานการณ์แฟลชม็อบพลิกผัน ขาดความชอบธรรม "เหลิมตุลาจำอวด" โหนนักเรียน นิสิต นักศึกษา ม็อบไล่รัฐบาล "ประยุทธ์" ลอยตัวโยนสภาผู้แทนฯ แก้ปัญหา

    ยังคงมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง จากกรณีนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรายหนึ่ง ได้นำผ้าสีดำชักขึ้นแทนธงชาติ บริเวณหน้าตึกคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ โดยอ้างว่าเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อต่อต้านเผด็จการ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับการเคลื่อนไหวของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่จัดกิจกรรมแฟลชม็อบต่อต้านเผด็จการ และขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตามโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆ
    นิสิตชั้นปีที่ 3 รายดังกล่าวมีตำแหน่งเป็นรองประธานสภานิสิตฯ คนที่ 2 และอยู่ใน "กลุ่มจุฬาฯ รวมพล" ทั้งเคยเป็นแกนนำจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุง ร่วมกับนายธนวัฒน์ วงค์ไชย รวมถึงเคยเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ซึ่งมีความสนิทสนมกับนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวทางสังคมหลายคน 
    ล่าสุด เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา กลุ่มผู้ใช้ชื่อว่า "CU Wisdom เพาะต้นกล้า นิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงคณบดีคณะอักษรศาสตร์, อธิการบดี และนายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเนื้อหาของจดหมายเปิดผนึกเห็นว่าการกระทำของนิสิตรายดังกล่าวขาดจิตวิญญาณและทำลายเกียรติภูมิจุฬาฯ ซึ่งไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง 
    CU Wisdom เพาะต้นกล้า นิสิตเก่าจุฬาฯ ระบุว่า พวกเราในฐานะนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดกับภาพลักษณ์และเกียรติภูมิของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศ ในฐานะรุ่นพี่ เข้าใจดีว่าน้องๆ มีสิทธิที่จะมีความคิดและสามารถแสดงออกซึ่งความแตกต่างได้ แต่ต้องมีขอบเขต และไม่สร้างความเสื่อมเสียให้แก่สถาบันอันทรงเกียรติซึ่งเป็นที่รักและเทิดทูนของพวกเราชาวจุฬาฯ ทุกคน
    "การแสดงออกและกิริยามารยาทที่ไม่เหมาะสมตามที่เผยแพร่ผ่านสื่อทั่วประเทศ อาจส่งสัญญาณผิดๆ ให้นิสิตบางกลุ่มคิดว่าตนมีสิทธิเสรีภาพโดยไม่มีขีดจำกัด โดยลืมคำนึงถึงเกียรติภูมิจุฬาฯ ที่ได้สร้างสมกันมากว่าหนึ่งศตวรรษ" จดหมายเปิดผนึกระบุ และว่า จึงเรียนมาเพื่อโปรดรับทราบความกังวลของพวกเรานิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพิจารณาว่ากล่าวตักเตือน เพื่อไม่ให้เป็นแบบอย่างที่ไม่ดีแก่เพื่อนร่วมรุ่นและรุ่นน้องๆ ของคณะอักษรศาสตร์ และคณะอื่นๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    ส่วนนายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ได้เรียกร้องให้คณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก พร้อมขอบคุณและชมเชยเจ้าหน้าที่จุฬาฯ ที่พยายามทักท้วงและห้ามปรามไม่ให้นิสิตคนดังกล่าวได้กระทำตามความตั้งใจ
    นายนันทิวัฒน์ระบุว่า ไม่ปฏิเสธว่ามหาวิทยาลัยต้องมีเสรีภาพในการศึกษา แต่ต้องไม่ใช่เสรีภาพในการกระทำที่สุ่มเสี่ยงจะผิดกฎหมาย ประการสำคัญธงชาติต้องอยู่บนยอดเสา ไม่ใช่ธงอื่น ธงชาติไทยเป็นสัญลักษณ์แสดงความเป็นเอกราชของประเทศ การแสดงความไม่พอใจทางการเมืองด้วยการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต้องไม่ใช่การกระทำต่อธงชาติไทย
    นายหริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า กรณีนิสิตหญิงจุฬาฯคนหนึ่งที่เป็นแกนนำจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุง และเป็นแกนนำจัดชุมนุมประท้วงการยุบพรรคอนาคตใหม่ที่จุฬาฯ พยายามนำธงสีดำขึ้นแทนธงไตรรงค์บนเสาธงของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แม้เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมต่อมหาวิทยาลัย และยังสุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมายด้วย แต่นิสิตหญิงคนนี้อ้างว่าใครๆ เขาก็ทำกัน เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ นั่นก็จริง เวลามีการชุมนุมประท้วงก็มักมีการกระทำอะไรทำนองนี้บ่อยๆ 
    "แต่ต่างกันกับกรณีนี้ ตรงที่ว่าเคยเห็นแต่คนที่เขาทำไปโดยรู้ว่าผิด แต่ก็จะทำ แต่เพิ่งเห็นครั้งนี้เป็นครั้งแรก เมื่อ รปภ.ของมหาวิทยาลัยมาขัดขวาง ข้อโต้แย้งของเธอคือ "เป็นการไม่ให้สิทธิเสรีภาพแก่นิสิตจุฬาฯ” แปลว่าเสรีภาพคือจะทำอะไรก็ได้ทั้งสิ้นหรือ ลองไปทำอย่างนี้ในมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั่วโลก แล้วอ้างว่านี้คือเสรีภาพ แล้วดูซิว่ามีมหาวิทยาลัยไหนบ้างในโลกจะยอมให้เธอทำบ้าง"
    ขณะที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย มองว่าเป็น "แค่อีเวนต์ชักธงดำที่จุฬาฯ พลิกผันทำให้แฟลชม็อบขาดความชอบธรรม"
    วันเดียวกัน "กลุ่มจุฬาฯ รวมพล" ออกแถลงการณ์เรื่อง "ชี้แจงกรณีการเผยแพร่คลิปชักธงดำ" โดยระบุว่า จากกรณีการเผยแพร่คลิปของนิสิตจุฬาฯ ที่กำลังผูกธงสีดำภายหลังการนำธงชาติลงจากเสาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 18.05 น. และได้ถูกเจ้าหน้าที่เข้าห้ามปราม ทางกลุ่มผู้จัดกิจกรรม "จุฬาฯ รวมพล"  ใคร่ขอชี้แจงดังนี้ 1.การนำธงชาติลงเป็นเวลาหลังเคารพธงชาติ เมื่อเวลา 18.00 น. อันเป็นเวลาชักธงชาติลงตามปกติของประเทศไทย หลังจากเจ้าหน้าที่ของจุฬาฯ ได้นำธงชาติออกจากเชือกตามหน้าที่แล้ว นิสิตจุฬาฯ ผู้ที่อยู่ในคลิปดังกล่าวจึงได้เข้าไปผูกธงสีดำไว้กับเชือก ก่อนจะถูกเจ้าหน้าที่เข้ามาห้ามปราม ภายในการจัดกิจกรรม “จุฬาฯ รวมพล” มิได้มีความพยายามในการชักธงชาติไทยลงเพื่อแทนที่ด้วยธงสีดำแต่อย่างใด
         2.การชักธงสีดำขึ้นครึ่งเสานั้น เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อไว้อาลัยให้แก่กระบวนการยุติธรรมภายในประเทศ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ธงสีดำครึ่งเสาเคยถูกหยิบยกมาใช้ในการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์มาก่อนแล้วในประเทศไทย เช่น ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม  2516 อันเป็นการชุมนุมทางการเมืองของนิสิตนักศึกษาเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมจากรัฐบาลเผด็จการทหาร
     3.คลิปที่ถูกเผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์นั้น ถูกบันทึกโดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของจุฬาฯ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนิสิตผู้อยู่ในคลิป ขณะนี้นิสิตคนดังกล่าวได้ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานเรียบร้อยแล้ว และจะมีการดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายต่อไป อย่างไรก็ตาม นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผู้ที่อยู่ในคลิปดังกล่าวมิได้ประสบความสำเร็จในการชักธงดำครึ่งเสา เนื่องจากได้ถูกระงับโดยเจ้าหน้าที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    "จุฬาฯ รวมพล ในฐานะกลุ่มของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ต้องการรวมตัวกันเพื่อแสดงออกถึงความไม่พึงพอใจต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นภายในประเทศไทย จึงได้ทำแถลงการณ์ฉบับนี้ขึ้นเพื่อแสดงจุดยืนว่านิสิตคนดังกล่าวและกลุ่มผู้จัดกิจกรรมมิได้มีความต้องการให้ธงไตรรงค์อันเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติไทยที่รักยิ่งของพวกเรานั้นแปดเปื้อนแต่อย่างใด หากแต่ต้องการพื้นที่ในการแสดงออกเมื่อเสียงของเราถูกกดทับจากรัฐบาลที่ไม่เป็นธรรม และการบังคับใช้กฎหมายที่ตีความเพื่อเป็นประโยชน์ต่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จนยากที่จะได้ยินแม้เสียงกระซิบ" กลุ่มจุฬาฯ รวมพล ระบุ
    นางสาวณัฏฐา มหัทธนา หรือ "โบว์" แนวร่วมพรรคฝ่ายค้าน และแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง โพสต์เฟซบุ๊กช่วงหนึ่งว่า "...ไม่ว่าประชาชนผู้รับข้อมูลข่าวสารจะรู้สึกอย่างไรเมื่อได้ทราบข้อเท็จจริงนี้แล้ว อยากขอร้องให้ทุกคนปฏิบัติต่อกันด้วยความเมตตาค่ะ หากเราเห็นเยาวชนเหล่านี้เหมือนน้อง เหมือนลูก เหมือนหลาน ที่มีความปรารถนาดีต่อชาติบ้านเมืองเช่นเดียวกับพวกเราทุกคนแล้ว ก็ขอให้ได้ให้กำลังใจหากคุณเห็นด้วยกับพวกเขา ขอให้ให้อภัยหากคุณไม่พอใจในสิ่งที่เขาพยายามทำ และขอให้สละเวลาทำความเข้าใจหากยังสับสน"
    ที่รัฐสภา นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร  แถลงถึงหลายฝ่ายเรียกร้องให้เปิดประชุมสมัยวิสามัญ เพื่อคลี่คลายสถานการณ์การชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษา  ว่าวิธีการที่จะเปิดสมัยวิสามัญ ต้องอาศัยช่องทางที่น่าจะเหมาะคือช่องทางของรัฐบาล เพราะหลายฝ่ายที่มาเรียกร้องขณะนี้ก็เป็นฝ่ายที่อยู่ข้างรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น ส.ส.หรือ ส.ว. ก็ควรที่จะไปหารัฐบาล แล้วให้รัฐบาลใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 122 เพื่อเปิดสมัยประชุมวิสามัญ ซึ่งก็สามารถทำได้ หรือถ้าไม่ทำอย่างนั้นก็ต้องอาศัยรัฐธรรมนูญมาตรา 123 คือ ส.ส.และ ส.ว.รวมกัน หรือ ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของรัฐสภาที่มีอยู่ตอนนี้ สามารถยื่นชื่อร้องขอประธานรัฐสภาให้ทูลเกล้าฯ ถวายขอเปิดสมัยวิสามัญได้ แต่จะมีการเปิดประชุมสมัยวิสามัญหรือไม่ ต้องรอดูกันต่อไป
    นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง พูดถึงเรื่องนี้ ในฐานะที่เป็นรองประธานสภาฯ ที่ดูแลเกี่ยวกับการบรรจุญัตติขอสนับสนุนการยื่นญัตติดังกล่าวเพื่อใช้เวทีของสภา แก้ปัญหาของประชาชน ซึ่งกลุ่มนิสิตนักศึกษานั้นเป็นกลุ่มที่ควรรับฟังความเห็น ทั้งนี้ เพื่อให้ ส.ส.มีโอกาสรับฟังเสียงสะท้อนและเงื่อนไข ข้อเรียกร้อง ส่วนกรณีที่ ส.ส.ต้องการเข้าชื่อเพื่อร้องต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ขอให้ดำเนินกระบวนการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญนั้น เชื่อว่าไม่มีปัญหา และนายชวนจะรับฟัง เพื่อให้ใช้เวทีของสภาแก้ปัญหา
    “ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง และสมควรนำปัญหาเข้ามาพูดในสภาดีกว่าไปพูดคนละที่คนละทาง ส่วนการหารือเพื่อเปิดสภาสมัยวิสามัญนั้น ผมเชื่อว่าแม้ปิดสมัยประชุมสามารถต่อสายทางโทรศัพท์หารือร่วมกันระหว่างประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ ได้ไม่มีปัญหา” รองประธานสภาฯ กล่าว
    ทางด้านคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ถ้าจะรับฟังความคิดเห็นนักศึกษา คนที่เกี่ยวพันคือนายกรัฐมตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล สามารถรับฟังได้โดยตรง และเป็นเรื่องที่ควรจะรับฟัง เพราะเป็นเรื่องที่เห็นได้ยากที่นักศึกษาจะออกมาพร้อมเพรียง ทุกเสียงมีความหมาย มีคุณค่าเมื่อเรียกร้องไปที่นายกฯ ก็ควรรับฟัง แต่วันนี้ต้องผ่านขั้นตอนแรกก่อน คือนายกฯ ต้องรับฟัง
    ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานคณะกรรมการกิจการพิเศษพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวสนับสนุนแนวทางนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทุกคนที่ตื่นตัวเคลื่อนไหว เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก เรียกร้องความเป็นประชาธิปไตย โดยปรับปรุงแก้ไขบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 
    "ครั้งนี้เป็นการเคลื่อนไหวที่เป็นระบบ และไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย ปี 2516 การไล่จอมพลถนอม หรือแม้แต่ในปี 2519 ไล่รัฐบาล ก็ไม่มีนักเรียนมัธยม ขนาดจอมพลถนอมสุภาพ เรียบร้อย ยังอยู่ไม่ได้" ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว 
    ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่ ส.ส.ส่วนหนึ่งเสนอให้เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาความเห็นของนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่ร่วมชุมนุมแฟลชม็อบว่า "เป็นเรื่องของสภา ซึ่งตอบได้แค่นี้".


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"