แนะแยกแยะ ข่าวโควิด19 ก่อนจิตป่วย


เพิ่มเพื่อน    


    "หมอยง" เตือนประชาชนเสพสื่อมากเกินในสถานการณ์โควิด-19 จะส่งผลต่อสุขภาพกลายเป็นคนเครียดง่าย นอนไม่หลับ แนะแยกแยะความจริงกับความเห็น พักผ่อนเพียงพอและออกกำลังกาย
    เมื่อวันที่ 2 มีนาคมนี้ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ราชบัณฑิตและหัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุถึงสถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) กับผลทางจิตใจ ว่า
    “ทุกครั้งที่มีโรคอุบัติใหม่และองค์ความรู้ยังไม่มาก ทุกคนจะเกิดความกลัว โดยเฉพาะในปัจจุบันมีสื่อสังคมเข้ามามากมาย ข้อมูลที่เกิดขึ้นจะประกอบไปด้วยความจริง 20% และเติมด้วยความเห็น ความเห็นที่เติมเข้าไปก็ขึ้นอยู่กับผู้เติม ในแง่บวก หรือลบ ก็ได้ สิ่งที่สำคัญในการเสพสื่อ เราต้องแยกความจริงและความเห็น ภาพของโรค ทำให้ถูกมองว่าเป็นโรคร้าย และบางครั้งมองดูเหมือนใกล้ตัว บุคลากรทางการแพทย์จะยิ่งใกล้ตัวเข้าไปใหญ่ การกักให้อยู่บ้าน เพื่อป้องกันการระบาดของโรค ประกอบกับความกลัว จะมีผลทางจิตใจค่อนข้างมาก 
    ในสมัย MERS ระบาด มีการศึกษาผลทางจิตใจในผู้สัมผัสโรค ก็จะพบคล้ายกับ post traumatic stress คือมีอาการตื่นตัว สะดุ้ง ตกใจ ไม่มีสมาธิ เครียดง่ายกับเรื่องธรรมดา ในขณะนี้หลายคน ถึงแม้จะไม่อยู่ในเหตุการณ์ แต่การเสพสื่อ หรือรับรู้สื่ออย่างมากก็จะทำให้เหมือนอยู่ในเหตุการณ์ ผลที่เกิดขึ้นก็จะคล้ายกับ post traumatic stress มีอาการนอนไม่หลับ หวาดกลัว ตื่นตัว สะดุ้ง ไม่มีสมาธิในการทำงาน เครียดง่าย เมื่อมองดูแล้ว อาการดังกล่าวในภาพรวมจะเป็นปัญหาต่อสุขภาพ และจะต้องถูกคำนึงมากกว่าโรคโควิด-19 ในขณะนี้เสียอีก 
    ดังนั้น ทางออกที่เป็นไปได้ ถ้ารู้ตัวว่ามีอาการดังกล่าว ขอให้ลดในการเสพสื่อ เรียนรู้ แยกความจริงกับความเห็น ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ ดูแลร่างกายให้แข็งแรงให้มีสติ ปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดตามคำแนะนำของทางสาธารณสุข และผู้ที่รู้จริงเท่านั้น” 
    ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ประชาชนไทยต้องตระหนักว่าปัญหานี้เป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนไทยทุกคน ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคนและกระทรวงสาธารณสุข การจัดการของประเทศ เพื่อให้การเข้าสู่การระบาดของโรคระยะที่ 3 เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด ต้องให้เข้าสู่ระยะ 3 อย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป เพื่อโรงพยาบาลแต่ละแห่งสามารถรับมือกับอาการเจ็บป่วยอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด และจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน 
    "กรมสุขภาพจิตอยากให้คนไทยทุกคนต่อสู้ด้วยสติ คือรับมือโรคนี้แบบตระหนัก ไม่ตระหนก โรคติดต่อไวรัสนี้สามารถป้องกันได้ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อเจ็บป่วยมีวิธีการดูแลรักษาได้ แต่ก็เหมือนกับโรคทุกชนิดมีทั้งคนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงหรือไม่รุนแรง โดยกรมสุขภาพจิตอยากให้ประชาชนตระหนักถึง 2 คำสำคัญ คือ สำนึกต่อสังคม (Social responsiveness) และสังคมสมานฉันท์ (Social cohesion)"
    นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า สำนึกต่อสังคม (Social responsiveness)หมายถึง การมีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมที่ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมและการกระทำต่างๆ ของแต่ละบุคคล โดยทุกคนสามารถสร้างได้โดยดูแลสุขภาพตนเองให้ดี กินของร้อน ใช้ช้อนกลาง หมั่นล้างมือ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แนะนำให้ความรู้กับคนยังไม่รู้ หรือให้ความช่วยเหลือแนะนำต่างๆ ให้ฟังข้อมูลข่าวสารจากทางรัฐ หรือแหล่งที่เชื่อถือได้ ถ้าเจ็บป่วยโรคทางเดินหายใจให้ใส่หน้ากากอนามัย ไม่ปกปิดข้อมูล ต้องแจ้งทางการหรือปฏิบัติตามข้อแนะนำเมื่อมีความเสี่ยงต่างๆ ไม่เผยแพร่หรือสร้างข่าวลวงที่จะทำให้สถานการณ์แย่ลง ไม่ไปในที่มีคนแออัด ถ้าเจ็บป่วยหรือสงสัยให้รีบไปพบแพทย์
    สังคมสมานฉันท์ (Social cohesion) หมายถึง การที่สังคมไทยต้องรวมใจเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อต่อสู้กับโควิด-19 ต้องช่วยกันสอดส่องดูแลกัน ช่วยเหลือกัน ไม่รังเกียจผู้เจ็บป่วยหรือผู้เกี่ยวข้อง เพราะเราสามารถป้องกันตัวเองได้ สังคมต้องร่วมแรงร่วมใจ ปฏิบัติตามคำแนะนำของภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข ในการควบคุมและป้องกันโรค เชื่อมั่นในระบบของประเทศที่เราสามารถควบคุมป้องกันโรคที่ผ่านมาด้วยดีโดยตลอด เชื่อมั่นในศักยภาพและความทุ่มเทของบุคลากรทางการแพทย์ในทุกระดับ ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"