พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๓ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ และสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ทรงเป็นพระอนุชาร่วมพระมารดาเดียวกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
ความผูกพันของทั้งสองพระองค์ในครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประชวรหนักแล้วกลับมารักษาพระองค์ในพระบวรราชวัง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมถึงห้องพระบรรทม ทั้งๆ ที่อาจยังทรงมีเรื่องขุ่นข้องในพระราชหฤทัยในเรื่องที่ทรงได้ยินมาว่าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสะสมกำลังและอาวุธเป็นจำนวนมากเพื่อจะก่อการไม่ชอบมาพากลต่อพระองค์
ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว “...เสด็จเข้ามากอดพระบาททรงพระกันแสงว่า หาช่องทางที่จะกราบทูลอยู่ช้านาน ก็ไม่มีโอกาส บัดนี้ไม่มีใคร จะขอกราบทูลน้ำใจที่ซื่อสัตย์สุจริตต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท มีผู้กราบบังคมทูลกล่าวโทษว่าสะสมเครื่องศาสตราวุธกระสุนดินดำขึ้นไว้ ก็ได้สะสมไว้จริงมีอยู่มาก ไม่นึกกลัวใคร แต่เปนความสัตย์จริงที่จะได้คิดประทุษร้ายต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทไม่มีเลยสักขณจิตหนึ่ง แล้วถวายสัตยสาบานเปนอันมาก ซึ่งตระเตรียมไว้นั้นเพื่อป้องกันผู้อื่นเท่านั้นเอง...”
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเองก็ทรงรักและห่วงใยพระอนุชาธิราชเป็นอย่างยิ่ง เสด็จขึ้นไปบนที่ประทับทรงรักษาพยาบาลทั้งกลางวันกลางคืน จวบจนพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๗ มกราคม ๒๔๐๘ สิริรวมพระชนมายุได้ ๕๘ พรรษา ทรงดำรงพระอิสริยยศในฐานะพระมหาอุปราชที่ทรงศักดิ์สูงเสมอด้วยพระมหากษัตริย์ เป็นเวลา ๑๕ ปี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระโกศพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย
“...การพระศพ โปรดให้เรียกว่า พระบรมศพ จัดเหมือนอย่างพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทุกอย่าง เว้นแต่มิได้ประกาศให้คนโกนหัวไว้ทุกข์ทั้งเมือง เป็นแต่สังกัดที่มีในพระบวรราชวัง...”
โปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในปีถัดมา ระหว่างวันที่ ๘-๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๒๐๙ ณ ท้องสนามหลวง โปรดฯ ให้ตั้งพระเมรุมาศตามแบบอย่างพระเมรุมาศพระบรมศพสมเด็จ
พระเจ้าแผ่นดิน
พระเมรุมาศในการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ท้องสนามหลวง วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๐๙
จากหลักฐานเอกสารหลายฉบับได้กล่าวถึงพระอัชฌาศัยในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าเป็นเจ้านายที่เฉลียวฉลาด ชอบการทหาร ช่างสังเกต มีพระอารมณ์ขัน ไม่ถือพระองค์ และทรงพระรูปงาม เป็นที่ยำเกรงและรักใคร่แก่ผู้พบเห็น และด้วยความที่โปรดการเล่นสักวา จึงทรงทำให้ "คุณพุ่ม" หรือ "บุษบาท่าเรือจ้าง" ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดนั้น ตามเสด็จเข้าไปอยู่ในพระราชวังเดิมด้วยระยะหนึ่ง ทรงมีพระสนมเจ้าจอมหม่อมห้ามอยู่มาก ตั้งแต่ยังทรงพระยศกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ยังทรงค่อนสมเด็จพระอนุชาธิราชว่า
“...เสด็จไปทางไหน ใครๆ ก็ยกลูกสาวให้..."
สำหรับเจ้าจอมมารดาและพระสนมในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ปรากฏหลักฐานกล่าว
ถึงมีอยู่ ๓๔ ท่าน ดังนี้
๑.เจ้าคุณจอมมารดาเอม มีบรรพบุรุษเป็นนายสำเภาจีนแซ่อ๋อง เข้ามาตั้งแต่สมัยอยุธยา เข้ารับราชการในราชสำนักสยามทำความดีความชอบสืบต่อกันมา ปักหลักค้าขายในกรุงธนบุรีและบางกอกสืบต่อกันอย่างมั่นคง เป็นพระมารดาในพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชายยอดยิ่งยศบวราโชรสรัตนราชกุมาร ต่อมาทรงได้รับการสถาปนาเป็น กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าในรัชกาลที่ ๕ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชายปรีดา สิ้นพระชนม์โดยไม่มีสายสืบราชสกุล พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชายเนาวรัตน์ ต่อมาทรงได้รับการสถาปนาเป็น กรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์ ต้นราชสกุลนวรัตน และพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงวงจันทร์
๒.เจ้าจอมมารดาช้อย ณ ราชสีมา ธิดาพระยานครราชสีมา (คุณชายเมฆ ณ ราชสีมา) สืบเชื้อสายสกุลมาจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นพระมารดาพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจรัสพรปฏิภาณ (พระองค์เจ้าชายจรูญโรจน์เรืองศรี ต้นราชสกุล จรูญโรจน์ ณ อยุธยา)
๓.เจ้าจอมฉิม ณ ราชสีมา สืบเชื้อสายสกุลมาจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในสายของเจ้าพระยานครราชสีมา
๔.เจ้าจอมมารดามาลัย ผู้สืบสายสกุลจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
เจ้าคุณจอมมารดาเอม
๕.เจ้าจอมมารดาเอี่ยม พระธิดาสมเด็จเจ้าฟ้าชายนเรนทราราชกุมาร สายสกุลจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีพระราชโอรส คือพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชายภาณุมาศ ต้นราชสกุล "ภาณุมาศ ณ อยุธยา"
๖.เจ้าจอมผ่อง น้องสาวเจ้าจอมมารดาเอี่ยม พระธิดาสมเด็จเจ้าฟ้าชายนเรนทราราชกุมาร
๗.เจ้าจอมมาลัย พระธิดาสมเด็จเจ้าฟ้าชายนเรนทราราชกุมาร สายสกุลจากสมเด็จพระเจ้าตากสิน
มหาราช
๘.เจ้าจอมมารดากลีบ พระมารดาของพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโตสินี ต้นราชสกุล "โตษะณีย์" เป็นพระสนมที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดปรานมาก ที่ประทับในพระที่นั่งวงจันทร์ (พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์) กับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว "...เจ้ากลีบเปนพระมเหษี เฮอมายิสตีข้างใน.." พระเจ้าลูกเธอและพระสนมกำนัลขึ้นเฝ้าแต่เฉพาะเวลาเสวยเท่านั้น
๙.เจ้าจอมมารดากุหลาบ พระมารดาพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุธารส หรือ "พระองค์วัน" ต้นสกุล สุธารส
๑๐.เจ้าจอมมารดาเกด พระมารดาในพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิศาลบวรศักดิ์ พระนามเดิมว่า "พระองค์เจ้าวรรัตน์" หรือ "พระองค์โตใหญ่" ต้นสกุล วรรัตน์
๑๑.เจ้าจอมมารดาหนู พระมารดาในพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นบริรักษ์นรินทรฤทธิ์ มีพระนามเดิมว่า "พระองค์เจ้าหัสดินทร์" ต้นสกุล หัสดินทร์ และพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านันทวัน
๑๒.เจ้าจอมมารดาแย้ม พระมารดาในพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ายุคุนธร ต้นสกุล ยุคนธรานนท์
๑๓.เจ้าจอมมารดาอ่อน พระมารดาของพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสนั่น ต้นสกุล สายสนั่น
๑๔.เจ้าจอมมารดาสีดา หลานสาวนายกองขุนราม มีพระธิดานามว่า พระองค์เจ้าหญิงเฉิดโฉม
๑๕.เจ้าจอมมารดาวันดี เชื้อสายลาวเวียงจันทน์ มีพระองค์เจ้า ๒ พระองค์ คือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพิมพับสรสร้อย และพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสอางองค์
๑๖.เจ้าจอมมารดาตาด ๑๗.เจ้าจอมมารดาใย ๑๘.เจ้าจอมมารดาบัว ๑๙.เจ้าจอมมารดาเพื่อน ๒๐. เจ้าจอมมารดาด๊า ๒๑.เจ้าจอมมารดาเยียง ๒๒.เจ้าจอมมารดาเท้ย ๒๓.เจ้าจอมมารดาพัน ๒๔.เจ้าจอมมารดาขลิบ ๒๕.เจ้าจอมมารดาจันฐ ๒๖.เจ้าจอมมารดาพลับ ๒๗.เจ้าจอมมารดาลำภู ๒๘.เจ้าจอมมารดาพลอย ๒๙.เจ้าจอมมารดาส่วน ๓๐.เจ้าจอมมารดาแก้ว ๓๑.เจ้าจอมมารดาพรหมา ๓๒.เจ้าจอมมารดาหงส์ ๓๓.เจ้าจอมมารดาสายบัว และ ๓๔.คุณหญิงคล้าย ธิดาเจ้าพระยานครน้อย
พระองค์เจ้ายอดยิ่งประยูรยศ บวรราโชรสรัตนราชกุมาร
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชโอรสพระราชธิดา ๕๘ พระองค์ พระโอรสองค์แรกคือ พระองค์เจ้ายอดยิ่งประยูรยศ บวรราโชรสรัตนราชกุมาร ประสูติเมื่อพุทธศักราช ๒๓๘๑ ในเจ้าจอมมารดาเอม ซึ่งต่อมาทรงบวรราชาภิเษกเป็น กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระโอรสและพระธิดาที่ประสูติก่อนการพระราชพิธีบวรราชาภิเษก ๓๓ พระองค์ และประสูติหลังจากบวรราชาภิเษก ๒๕ พระองค์ ทรงมีพระราชทายาทสืบสายสกุล ๑๑ ราชสกุล คือ
๑.สุธารส ต้นราชสกุลคือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุธารส หรือ "พระองค์วัน" ทรงเป็น
พระราชโอรสลำดับที่ ๑๐ และที่ ๒ ในเจ้าจอมมารดากุหลาบ
๒.วรรัตน์ ต้นราชสกุลคือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิศาลบวรศักดิ์ มีพระนามเดิมว่า "พระองค์เจ้าวรรัตน์" หรือ "พระองค์โตใหญ่" ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ ๑๒ ในเจ้าจอมมารดาเกศ
๓.ภาณุมาศ ต้นราชสกุลคือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุมาศ ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ ๑๘ และที่ ๑ ในเจ้าจอมมารดาเอี่ยม
๔.หัสดินทร ต้นราชสกุลคือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นบริรักษ์นรินทรฤทธิ์ มีพระนามเดิมว่า "พระองค์เจ้าหัสดินทร์" ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ ๑๙ และที่ ๑ ในเจ้าจอมมารดาหนู
๕.นวรัตน์ ต้นราชสกุลคือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นสถิตธำรงสวัสดิ์ มีพระนามเดิมว่า "พระองค์เจ้าเนาวรัตน์" ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ ๒๐ และที่ ๔ ในเจ้าคุณจอมมารดาเอม
๖.ยุคนธรานนท์ ต้นราชสกุลคือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ายุคุนธร ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ ๒๓ ในเจ้าจอมมารดาแย้ม
๗.โตษะณีย์ ต้นราชสกุลคือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโตสินี ชาววังทั่วไปเรียกว่า "พระองค์โตเล็ก" ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ ๓๔ และที่ ๕ ในเจ้าจอมมารดากลีบ
๘.นันทวัน ต้นราชสกุลคือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านันทวัน ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับ
ที่ ๓๖ และที่ ๒ ในเจ้าจอมมารดาหนู
๙.พรหเมศ ต้นราชสกุลคือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรหเมศ ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ ๕๐ ในเจ้าจอมมารดาพรหมา
๑๐.จรูญโรจน์ ต้นราชสกุลคือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจรัสพรปฏิภาณ มีพระนามเดิมว่า "พระองค์เจ้าจรูญโรจน์เรืองศรี" ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ ๕๓ และที่ ๒ ในเจ้าจอมมารดาช้อย
๑๑.สายสนั่น ต้นราชสกุลคือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสนั่น ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ ๕๕ ในเจ้าจอมมารดาอ่อน.
-------------
ข้อมูล : เมื่อตะวันออกพบตะวันตก พิพิธสมบัติพระราชา ณ วังหน้า
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |