ไทยพบผู้ป่วยไวรัสโควิด-19 เสียชีวิตรายแรก เป็นชายวัย 35 ปี มีประวัติเกี่ยวข้องกับกลุ่มทำทัวร์จีน ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ก่อนพบติดเชื้อโควิด-19 ให้ยาต้านไวรัสที่ดีที่สุด แต่สภาพปอดที่เสื่อม หัวใจและอวัยวะภายในทำงานหนักจึงสุดยื้อชีวิต "สธ." เตรียมถอดบทเรียน "นายกฯ" แสดงความเสียใจ เร่งทำความสะอาดทำเนียบฯ "จาตุรนต์" จี้รัฐบาลทบทวนเปิดรับนักท่องเที่ยวประเทศกลุ่มเสี่ยงเข้าประเทศ
เมื่อวันที่ 1 มี.ค. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ว่า ขณะนี้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย เป็นชายไทย อายุ 35 ปี ผู้ป่วยรายนี้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ต่อมามีการติดเชื้อโควิด-19 ร่วมด้วย ถูกส่งต่อมาจากโรงพยาบาลเอกชน รักษาที่สถาบันบำราศนราดูร ทำการรักษาด้วยยาต้านไวรัสที่ดีที่สุด ตรวจไม่พบเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่ 16 ก.พ.2563 หลังจากรักษาเป็นเวลาเกือบ 1 เดือน ด้วยสภาพปอดที่เสื่อมแต่เดิม หัวใจและอวัยวะภายในทำงานหนัก ทำให้อวัยวะภายในหลายระบบล้มเหลว (Multiorgan failure) จึงเสียชีวิตในที่สุด
"เนื่องจากตรวจไม่พบเชื้อแล้ว ดังนั้นสาเหตุแห่งการเสียชีวิตจะเกี่ยวกับโควิด-19 หรือไม่ จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการวิชาการภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติต่อไป" นพ.สุวรรณชัยกล่าว
อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า หลังจากประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่กำหนดให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายลำดับที่ 14 ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มี.ค. เน้นย้ำให้มีการเฝ้าระวังและการแจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ กรณีพบผู้ป่วยหรือสงสัยว่าป่วย ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ซึ่งจะต้องรายงานภายใน 3 ชั่วโมง หากฝ่าฝืนจะมีความผิด โดยปรับไม่เกิน 20,000 บาท
ถามถึงข่าวการพบเชื้อไวรัสโคโรนาในสุนัข อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า ยังไม่มีรายงานในประเทศไทยแต่อย่างใด อยู่ระหว่างเฝ้าระวังและค้นหาข้อมูลทางวิชาการเพิ่มเติม ขอแนะนำให้เจ้าของผู้ดูแลสุนัขรักษาความสะอาดของทั้งผู้เลี้ยงและสุนัข และหมั่นล้างมือบ่อยๆ หลังสัมผัสสุนัข
นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ผู้ป่วยยืนยันรักษาหายกลับบ้านได้ 2 ราย รายที่ 1 เป็นชายชาวจีน อายุ 33 ปี รายที่ 2 เป็นเด็กหญิงไทย อายุ 3 ขวบ ทั้งคู่รักษาอยู่สถาบันบำราศนราดูร ในส่วนผู้ป่วยอาการหนักที่เหลือ 1 ราย ที่มีการติดเชื้อวัณโรคร่วมด้วย ตรวจไม่พบเชื้อต่อเนื่องเป็นเวลา 1 สัปดาห์แล้ว ยังอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
"สรุปในขณะนี้มีผู้ป่วยยืนยันที่รักษาหายแล้ว 30 ราย ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 11 ราย เสียชีวิต 1 ราย รวมยอดผู้ป่วยสะสม 42 ราย ส่วนผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม-29 กุมภาพันธ์ 2563 มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 2,953 ราย คัดกรองจากทุกด่าน 92 ราย มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอง 2,861 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วและอยู่ระหว่างติดตามอาการ 1,748 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 1,205 ราย" นพ.สุวรรณชัยกล่าว
ถามถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่ใกล้ชิดผู้ป่วยที่เสียชีวิต อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า บุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อจากผู้ป่วยชายไทย ลักษณะของตัวปอดอักเสบได้ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) 2 คอร์ส โดยคอร์สหนึ่งทานยาประมาณ 5 วัน เมื่ออาการดีขึ้นแต่ยังคงมีอาการไอ จากนั้นให้คอร์สที่ 2 ต่ออีก 5 วัน ปรากฏว่าหายดีจึงให้กลับบ้านแล้ว และวันนี้ได้ย้ำว่าไม่มีการปิดข่าวและการแถลงทุกวัน
ถอดบทเรียนผู้เสียชีวิต
ส่วน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวเพิ่มเติมถึงผู้ป่วยที่เสียชีวิตว่า ผู้เสียชีวิตรายนี้เริ่มป่วยเป็นไข้เลือดออกตั้งแต่ 27 ม.ค. และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง จนตรวจพบเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อวันที่ 5 ก.พ. และส่งต่อมารักษาที่สถาบันบำราศนราดูรเป็นเวลาร่วม 1 เดือน โดยได้รับยาต้านไวรัสและน้ำเหลืองจากผู้ป่วยที่หายจากโควิด-19 รวมถึงใช้เครื่องช่วยหายใจและเครื่องพยุงปอด ให้ยาทุกอย่าง จนตรวจไม่พบเชื้อเมื่อ 16 ก.พ. และยังคงรักษาตัวอยู่ในห้องวิกฤติไอซียู เนื่องจากอวัยวะภายในถูกทำลาย
"ขณะนี้ประเทศไทยถือเป็นประเทศลำดับที่ 10 ของการมีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อ ไม่นับจีนและฮ่องกง คือไต้หวัน ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อิหร่าน อิตาลี ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และไทย" ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไปกล่าว
นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตรายนี้มีประวัติเกี่ยวข้องกับกลุ่มที่ทำทัวร์จีน แพทย์พยายามให้การรักษาช่วยการฟื้นตัวโดยใช้ปอดเทียมพยุง หรือเครื่องเอ็กโมมาพยุงไว้แล้ว แต่โชคร้ายที่ผู้ป่วยรายนี้เนื้อเยื้อปอดที่ถูกทำลายหนัก ไม่สามารถซ่อมแซมได้ทัน จึงเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งจะมีการถอดบทเรียนต่อไป
"ส่วนการจัดการศพของผู้เสียชีวิตรายนี้ ย้ำว่าศพไอจามไม่ได้ จึงไม่แพร่เชื้อ ขออย่าวิตกกังวล โรงพยาบาลมีระบบจัดการตามมาตรฐาน" ที่ปรึกษากรมควบคุมโรคกล่าว
ขณะที่นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม แสดงความเสียใจกรณีชายไทยอายุ 35 ปี ซึ่งเป็นหนึ่งในสองของผู้ป่วยที่มีอาการหนักก่อนหน้านี้ได้เสียชีวิตลงโดยป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก และต่อมามีการติดเชื้อโควิด-19 ร่วมด้วย ถูกส่งต่อมาจากโรงพยาบาลเอกชนไปรักษาที่สถาบันบำราศนราดูร จนตรวจไม่พบเชื้อโควิด-19 มากกว่า 1 สัปดาห์แล้ว อย่างไรก็ตาม หลังจากรักษาเกือบ 1 เดือน ด้วยสภาพปอดที่เสื่อมแต่เดิม หัวใจและอวัยวะภายในทำงานหนัก ทำให้อวัยวะภายในหลายอย่างล้มเหลวจึงเสียชีวิตในที่สุด
นางนฤมลกล่าวว่า นายกฯ ย้ำว่าระบบสาธารณสุขและการรักษาของคณะแพทย์ไทยมีมาตรฐานระดับสูง ขณะนี้มีสถิติการรักษาผู้ป่วยหายแล้ว 30 ราย จากยอดผู้ป่วยสะสม 42 ราย รักษาตัวในโรงพยาบาล 11 ราย จึงขอให้ประชาชนเชื่อมั่น ส่วนสาเหตุของการเสียชีวิต 1 รายนี้ จะเกี่ยวกับโควิด-19 หรือไม่ จะเร่งตรวจสอบต่อไป
"นายกรัฐมนตรีฝากให้กำลังใจครอบครัวผู้เสียชีวิตและทีมแพทย์ผู้ให้การรักษาพยาบาลอย่างเต็มที่ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา และขอความเป็นส่วนตัวให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตด้วย ที่สำคัญได้กำชับให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน และขอความร่วมมือคนไทยป้องกันตนเองและผู้อื่น ปฏิบัติตามคำแนะนำของทางการและประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ให้เฝ้าระวังและแจ้งข้อมูลต่อเจ้าหน้าที่หรือคณะแพทย์ หากเข้าข่ายต้องสงสัยว่าป่วย เช่น เดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ไม่เช่นนั้นจะมีความผิด" โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว
จี้คุมนักท่องเที่ยว ปท.เสี่ยง
ด้านกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ ออกแถลงการณ์ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีมีผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ระบุเป็นพนักงานขายสินค้าว่า บริษัทได้ตรวจสอบพบว่าเป็นพนักงานส่งเสริมการขายสินค้าของบริษัทคู่ค้า ที่มีสินค้าจำหน่ายในสาขาศรีวารี ซึ่งเมื่อทราบว่าเป็นไวรัสโควิด-19 เมื่อวันที่ 6 ก.พ. ทางบริษัทจึงปิดให้บริการสาขาศรีวารีเป็นต้นมา และให้ทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าตรวจบุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงและผู้ที่ทำงานที่สาขาศรีวารีเป็นที่เรียบร้อยในวันเดียวกัน จากนั้นก็ดำเนินการทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ โดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อไวรัสมาโดยตลอด
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) รายงานได้ทำการคัดกรองผู้โดยสารระหว่างประเทศทั้งขาเข้าและขาออก และผู้โดยสารภายในประเทศขาออกจำนวนผู้โดยสารทั้งสิ้น 105,677 คน พบผู้โดยสารและลูกเรือที่มีอาการเข้าได้ข่ายเฝ้าระวัง จำนวน 3 ราย รายแรกเป็นผู้ป่วยชายชาวอินเดีย อายุ 39 ปี เดินทางมาจากโตเกียว, รายที่ 2 ผู้ป่วยชายชาวเยอรมัน เดินทางมาจากสิงคโปร์ และผู้ป่วยหญิงชาวญี่ปุ่น อายุ 21 ปี
ที่ทำเนียบรัฐบาล กองสถานที่ ยานพาหนะและรักษาความปลอดภัย สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) ได้ดำเนินการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยจัดวางเจลล้างมือฆ่าเชื้อโรคทุกทางเข้า-ออกทำเนียบรัฐบาล และร่วมกับกองกำกับการ 4 เขิญชวนให้ผู้ผ่านเข้า-ออกใช้เจลล้างมือ ทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคทุกอาคาร อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคหลังเลิกงานทุกวันทำการ โดยเฉพาะจุดเสี่ยง เช่น ลูกบิดประตู มือจับ ราวจับ ลิฟต์ สุขภัณฑ์ และบานประตู รวมทั้งจัดให้มีพ่นละอองสารกำจัดเชื้อโรคตามความเหมาะสม และกรณีมีการจัดงานที่ตึกสันติไมตรี เน้นย้ำ/ขอความร่วมมือ หน่วยงานที่จัดงาน ขอให้มีการวัดไข้ และติดสติกเกอร์ผู้ผ่านการวัดไข้ ตลอดจนการจัดเจล/สเปรย์ ล้างมือฆ่าเชื้อโรค ให้ผู้มาร่วมกิจกรรม
ด้านนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ โพสต์เฟซบุ๊กว่า ถึงเวลาประเทศไทยทบทวนการปล่อยผู้เดินทางจากประเทศเสี่ยงเข้าประเทศได้อย่างไม่จำกัด คัดกรองไม่ได้แล้วหรือยัง มาตรการของรัฐบาลในการป้องกันการแพร่ระบาดโดยเฉพาะการแพร่เข้ามาจากต่างประเทศยังหละหลวมมาก ส่วนมาตรการรับมือทั้งระบบก็ควรได้รับการทบทวนดังที่ WHO ก็เพิ่งแนะนำประเทศต่างๆ แต่ทำไมต้องปล่อยให้คนเดินทางจากประเทศเสี่ยงเข้าไทยได้อย่างไม่จำกัด คัดกรองไม่ได้ และไม่ต้องกักตัว" นายจาตุรนต์กล่าว
"ที่นายกฯ พูดในสภาคือควบคุมได้ ส่วน รมต.สาธารณสุขบอกว่าต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เขาคงไม่เปลี่ยนนโยบายง่ายๆ ต้องช่วยกันสีซอไปละครับ เขาฟังไม่รู้เรื่อง แต่ถ้าสีซอกันมากๆ เขาอาจหนวกหูยอมแก้ก็ได้ มาตรการป้องกันรับมือ #coronavirus ของไทยหละหลวม ตามไม่ทันเหตุการณ์ ถ้าสถานการณ์แย่ลงอีกจะรับมือไม่ไหว นอกจากเปิดเสรีให้ผู้เดินทางมาจากประเทศเสี่ยงเข้าประเทศแล้ว ตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือหน้ากากอนามัยที่ไม่มีขายจนบัดนี้" นายจาตุรนต์ระบุ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |