1 มี.ค.63- นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตแกนนำพรรคไทยรักไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก แนะนำว่า เพื่อไทยต้องการการปฏิรูปใหญ่ (อดีต) อนาคตใหม่ต้องการยุทธศาสตร์ใหญ่
เราเดินทางมาถึงหัวเลี้ยวหัวต่อของหน้าประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่งอีกครั้งหนึ่ง
สถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม สะสมพลังของความขัดแย้งคุกรุ่นมากว่า 13 ปี เมื่อเกิดพลังของนักเรียนนักศึกษาลุกขึ้นอย่างฉับพลัน ผสานกับแรงกระแทกต่อเศรษฐกิจของโลกและไทยจาก "ไวรัสโควิด-19" ทำให้สถานการณ์บ้านเมืองของเรานับจากนี้เกินที่จะคาดเดา
การเตรียมพร้อมรับมืออย่างเอาจริงเอาจังในสถานการณ์ที่เกินคาดเดาจึงสำคัญ
แต่เมื่อผมสังเกตท่าทีของสองพรรคการเมืองใหญ่ฝ่ายประชาธิปไตยแล้ว ราวกับไม่เฉลียวใจเลยว่า สถานการณ์ใหญ่กำลังมาถึง และทุกคนต้องช่วยกันผลักช่วยกันดัน มิฉะนั้น จะจมปลักกับฤดูหนาวต่อไปอีกยาวนาน
แม้พลังของเยาวชน นักเรียน นักศึกษา คือความหวังที่ผุดขึ้นมาอย่างเจิดจ้า แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า บทบาทในรัฐสภาของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง
.
การอภิปรายไม่ไว้วางใจซึ่งเพิ่งผ่านพ้นไป สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในพรรคเพื่อไทยว่า ขาดภาวะผู้นำที่เข้มแข็ง การบริหารจัดการอ่อนด้อย กระบวนการตัดสินใจสับสนและไม่ทันกลอุบายทางการเมือง
ผมเชื่อว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในคืนสุดท้ายของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ด้านหลักเกิดขึ้นจากปัญหา "การนำและการจัดการ" ภายในพรรคเพื่อไทย ไม่ใช่เรื่องอื่น
คำขอโทษที่ดีที่สุดจากพรรคเพื่อไทยจึงไม่ใช่เพียงเอ่ยปากขอโทษประชาชนและพรรคร่วมฝ่ายค้าน แต่คำขอโทษที่หนักแน่นและจริงใจที่สุด คือ การปฏิรูปตนเองครั้งใหญ่ของพรรคเพื่อไทย
ผมคิดว่า แกนนำของพรรคเพื่อไทยรู้ว่า ปัญหาอยู่ที่ไหน แก้อย่างไร แต่ทอดเวลามาเนิ่นนาน ยังไม่ลงมือแก้ไข
วันนี้ เวลานี้ สถานการณ์ใหม่มาถึงแล้ว ไม่มีเวลาให้ลังเลอีกแล้ว
ส่วนปัญหาของ (อดีต) พรรคอนาคตใหม่แตกต่างออกไป
พรรคอนาคตใหม่เกิดขึ้นและเติบโตอย่างรวดเร็ว ผลงานในการอภิปรายไม่ไว้วางใจดีงามตามความคาดหวังของผู้สนับสนุนและศรัทธา แกนนำพรรคต่างทุ่มเทเชิงรุก จึงตั้งเป้าสูง เล็งผลเลิศ เพื่อสร้างพรรคให้เติบโต
การตั้งเป้าสูงเป็นสิ่งที่พึงกระทำตามแนวทางการบริหารสมัยใหม่แบบ OKRs แต่องค์กรการเมืองไม่ใช่องค์กรธุรกิจ ยิ่งเป็นการเมืองในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ย่อมซับซ้อน ไม่ง่าย และมีปัจจัยหลากหลายที่มีส่วนกำหนด
การเรียกร้องประชาธิปไตย อาศัยการขับเคลื่อนโดยพรรคการเมืองเดียว ไม่มีวันสำเร็จ แต่ต้องมีแนวร่วมที่กว้างขวาง และประชาชนจำนวนมากสนับสนุน
การสร้างแนวร่วมจึงสำคัญ ต้องมีการแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง, มองภาพรวมเป็นหลัก ไม่ชิงดีชิงเด่น แนวร่วมจึงจะมั่นคง ยากที่ใครยุแหย่และทำลาย
คนเก่งมีน้อย แต่คนทำงานแนวร่วมเก่งยิ่งมีน้อยกว่า เพราะคนทำงานแนวร่วมเก่ง ไม่เพียงเก่งเฉพาะตัว แต่ต้องเก่งในการทำให้ทั้งขบวนเดินไปอย่างประสานสอดคล้อง เป็นเอกภาพ คนทำงานแนวร่วมเก่งเห็นประโยชน์ของทั้งขบวน มากกว่าประโยชน์ของตนและพรรค
ภายใต้สถานการณ์ที่เรียกร้องการรวมพลังของฝ่ายประชาธิปไตย ยุทธศาสตร์ของ (อดีต) พรรคอนาคตใหม่จึงต้องการยุทธศาสตร์ใหม่ที่ยิ่งใหญ่กว่ายุทธศาสตร์ของพรรค
คือ ยุทธศาสตร์แนวร่วมประชาธิปไตย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |