อนาคตใหม่กระอัก! โดนร้องกกต.ระงับตั้งพรรคชี้ทำแตกแยกคาดแท้งก่อนเกิด


เพิ่มเพื่อน    

     “บิ๊กป้อม” ไม่ให้ราคากลุ่มอยากเลือกตั้ง บอกมาแค่ระดับร้อย ย้ำหนักแน่น “กองทัพ-คสช.” เป็นเนื้อเดียวกัน สมช.ฮึ่มเตือนอย่าปั่นกระแส “นปช.-พท.” รีบโหนเด็ก เนติบริกรเมินเสียงสมชัย  ลั่นเลือกตั้งใช้ 150 วันไม่นับใบเหลือง-แดง พรรคการเมืองคึกเตรียมพบ กกต. หวังชี้แจงแนวปฏิบัติชัดโดยเฉพาะคำสั่ง คสช. “ภูมิธรรม” ร่อนสารกำหนด 4 เม.ย.ให้สมาชิกยืนยันพร้อมรดน้ำสงกรานต์ “เต้น”  ดึงราคารอ 1 เม.ย.ค่อยเข้าคอก “อนาคตใหม่” เริ่มอับแสงรุ่นพี่เพื่อแม้วอบรม คนร้องแจ้งยุบ
    เมื่อวันจันทร์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (กห.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเคลื่อนไหวชุมนุมหน้ากองบัญชาการกองทัพบกเมื่อวันที่ 24 มี.ค. และเตรียมนัดชุมนุมอีกในวันที่ 5 พ.ค.ว่า มีอะไรบ้างที่รัฐบาลบอกว่าจะไม่เลือกตั้ง ตอนนี้บ้านเมืองเดินตามโรดแมปที่กำหนดไว้ ไม่เห็นมีปัญหาอะไรเลย ซึ่งเคลื่อนไหวแบบนี้ก็เป็นการป่วน  เพราะรัฐบาลประกาศชัดเจนเดินตามโรดแมปและเลือกตั้ง ก.พ.62 ไม่มีอะไรเลยที่จะไม่เลือกตั้ง ส่วนที่ขู่ว่าจะบุกทำเนียบรัฐบาลนั้น คิดว่าก็ให้ขู่ไป แต่ถามว่าทำแบบนั้นถูกหรือไม่
        เมื่อถามว่าการชุมนุมแบบนี้จะผิดพระราชบัญญัติชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ พ.ศ.2558 หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า เขามากันไม่มากแค่ร้อยกว่าคน ขอให้ดูคนที่มาเป็นพวกไหน มีเจตนาอย่างไร ส่วนจะบังคับใช้กฎหมายชุมนุมหรือไม่ คิดว่าก็แล้วแต่ ถ้ามีคนไปร้องทุกข์กล่าวโทษ 
      ถามถึงข้อเรียกร้องให้กองทัพแยกออกจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พล.อ.ประวิตรตอบทันทีว่าไม่แยก เขาไม่แยกจากกันอยู่แล้ว ส่วนที่เรียกร้องให้กองทัพเลิกสนับสนุน คสช.นั้น ขอยืนยันว่ากองทัพเป็นส่วนหนึ่งของ คสช.อยู่แล้ว 
“จะให้ทำอย่างไร การเลือกตั้งมีการกำหนดไว้แล้วว่าใครจะทำอะไร เมื่อไหร่ อย่างไร และมีการกำหนดตามรัฐธรรมนูญ แล้วจะไปเร่งรัดได้อย่างไร ดังนั้นทุกอย่างดำเนินการตามที่กำหนด และเป็นไปตามโรดแมป” พล.อ.ประวิตรกล่าวตอบข้อถามที่ว่า สรุปจะไม่ทำตามข้อเรียกร้องของกลุ่มดังกล่าวใช่หรือไม่ 
         ถามอีกว่ากลุ่มคนอยากเลือกตั้งยกระดับการชุมนุมวันที่ 5 พ.ค.จะมีมาตรการดูแลอย่างไร รองนายกฯ กล่าวว่าเราก็ดูแลสถานการณ์ตามปกติ ส่วนการประกาศเคลื่อนไหววันดังกล่าว เราต้องประเมินสถานการณ์กันอีกที ส่วนการเคลื่อนไหวแบบนี้เป็นภัยความมั่นคงหรือไม่ก็คิดดูเอาเอง เพราะบ้านเมืองกำลังเดินได้ด้วยดีและเป็นไปตามโรดแมปที่กำหนด
ด้าน พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวยืนยันว่าข้อเรียกร้องทั้งหมดของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง คสช.และรัฐบาลชี้แจงตอบไปหมดแล้ว โดย คสช.ตามรัฐธรรมนูญอยู่ปฏิบัติหน้าที่ไปจนกว่าหลังการเลือกตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้ารับหน้าที่ ส่วนการเลือกตั้งไม่เกินเดือน  ก.พ.62 ซึ่งหน่วยงานด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้องดูแลอยู่แล้วไม่ให้เกิดความรุนแรง ทำให้บรรยากาศบ้านเมืองมีความสงบ และเชื่อว่าเจ้าหน้าที่พยายามดูแลสถานการณ์อย่างดีที่สุด และต้องดูการชุมนุมต่อไป
สมช.เตือนอย่าสร้างเหตุ 
“มองเจตนาดีไว้ก่อนว่าอยากเลือกตั้งแค่นั้น และรัฐบาลจะพยายามควบคุมสถานการณ์ ส่วนนายกฯ เองยังไม่มีการสั่งการอะไรเป็นพิเศษ ขณะที่ด้านการข่าวมีการติดตามอยู่ตลอดเวลา และถ้าสถานการณ์การชุมนุมอยู่ในกรอบกฎหมาย บรรยากาศจะเป็นไปได้ด้วยดี ไม่ใช่พยายามทำให้เกิดสถานการณ์ที่ทุกคนไม่อยากให้เกิด” พล.อ.วัลลภกล่าว 
ขณะที่ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร.กล่าวว่า การชุมนุมเมื่อวันเสาร์ได้มีการขออนุญาตแล้ว ซึ่งจะเป็นการขอเป็นชุมนุมทางการเมืองหรือไม่ต้องไปถามทหาร และจะเป็นความผิดหรือไม่ต้องไปไล่ข้อเท็จจริง ส่วนการนัดชุมนุมในเดือน พ.ค.ก็ต้องปฏิบัติตามกรอบกฎหมาย ถ้าผิดกฎหมายก็ต้องว่ากันไป ได้สั่งการไปแล้วให้รวบรวมพยานหลักฐาน และให้รายงานมาให้วินิจฉัยว่าจะให้ร้องทุกข์หรือไม่ ถ้าทหารมาร้องทุกข์เราก็ดำเนินการให้ทันที แต่เบื้องต้นยังไม่มีการร้องทุกข์มา  
    ขณะเดียวกัน นายรังสิมันต์ โรม แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ได้โพสต์เฟซบุ๊กอธิบายข้อเรียกร้องของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งอย่างลงรายละเอียดใน 3 หัวข้อ คือ 1.เลือกตั้งเดือน พ.ย.ปีนี้ 2.ยุบ คสช. ให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เป็นเพียงแค่รัฐบาลรักษาการทำหน้าที่จัดการเลือกตั้ง และ 3.กองทัพต้องยกเลิกสนับสนุน คสช.เพื่อสร้างบรรยากาศการเลือกตั้ง
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า  จากการสังเกตการชุมนุมไม่มีสถานการณ์ลุกลามบานปลาย ดังนั้นหากผู้มีอำนาจเปิดใจกว้างได้ คิดว่าแม้นัดชุมนุมต่อเนื่องก็คงไม่มีปัญหาอะไรให้กระทบกระทั่งต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ส่วนที่กลุ่มคนอยากเลือกตั้งนัดชุมนุมในเดือน พ.ค.นี้นั้น นปช.ยังไม่ได้ปรึกษาหารือกันว่าจะออกไปมีส่วนร่วมหรือไม่อย่างไร แต่เห็นว่าบทบาทที่เขาทำอยู่ได้รับการตอบรับจากประชาชนดีอยู่แล้ว เบื้องต้นก็ขอส่งกำลังใจ ขอให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองปฏิบัติด้วยความละมุนละม่อมระมัดระวัง อย่าให้เกิดการกระทบกระทั่งบานปลายเท่านั้นเอง 
    “ผมว่าจริงๆ วันนี้ที่น่าห่วงไม่ใช่กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่น่าห่วงจริงๆ ก็คือกลุ่มคนไม่อยากเลือกตั้งว่าไม่รู้มีจำนวนมากน้อยแค่ไหน และปะปนอยู่ในกลุ่มผู้มีอำนาจบ้างหรือไม่” นายณัฐวุฒิกล่าว
     ส่วนนายวัฒนา เมืองสุข สมาชิกพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อแล้วเจอกันระบุว่า สนับสนุนการเรียกร้องของกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยที่เรียกร้องให้เลือกตั้งภายในเดือน พ.ย.61 ตามโรดแมปเดิมที่  พล.อ.ประยุทธ์ได้สัญญากับประชาคมโลกไว้ รวมถึงการเรียกร้องให้ยุบ คสช. 
“การที่กองทัพพยายามหาข้ออ้างมาบิดเบือนเพื่อสนับสนุนเผด็จการต่อไป เท่ากับกองทัพเลือกยืนตรงข้ามประชาชน ประชาชนอย่างผมก็พร้อมยืนตรงข้ามกับกองทัพเช่นกัน” นายวัฒนาระบุ 
       สำหรับการวิพากษ์วิจารณ์การใช้มาตรา 44 อย่างฟุ่มเฟือยและใช้ตามอารมณ์นั้น พล.อ.ประวิตรกล่าวว่าอยากถามอารมณ์อย่างไร เพราะทุกอย่างมีหลักฐาน การย้ายนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นั้น เขาพูดสับสนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง แล้วจะให้ทำอย่างไร เราจึงย้ายเพื่อจะไม่ให้เกิดความสับสน
       “เขาพูดสับสน และทุกอย่างมีโรดแมปอยู่แล้ว ก็อยากให้พูดตามนั้น ผมยืนยันว่า คสช.ไม่แทรกแซงองค์กรอิสระ” พล.อ.ประวิตรกล่าว 
วิษณุตีปากสมชัย
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงกรณีคำทำนายที่ 7 ของนายสมชัยที่ระบุว่า การเลือกตั้งจะไม่เกิดขึ้นใน 150 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่า ข้อเท็จจริงการเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นใน 150 วัน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการให้ใบเหลือง-ใบแดง เพราะสามารถให้ทีหลังได้ ดังนั้นที่ระบุ 150 วันก็หมายถึงการเลือกตั้ง จากนั้นจึงแจกใบเหลือง-ใบแดงซึ่งเกินจาก 150 วันก็ได้ 
“ไม่ขอเถียงนายสมชัย และนายสมชัยเองก็ไม่มีอำนาจในการตีความ ก็ทิ้งมันไว้อย่างนั้น เมื่อปัญหาเกิดขึ้นค่อยไปว่ากัน เพราะเรื่องนี้พูดกันมานานระหว่างผมกับนายสมชัย และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กับนายสมชัย” นายวิษณุกล่าว
นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ อดีต ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่าการใช้มาตรา 44 ของ พล.อ.ประยุทธ์สร้างความสงสัยให้ประชาชน ที่ผ่านมาก็ถูกตั้งคำถามจากสังคม โดยเฉพาะกรณีนายสมชัยนั้นกลายเป็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ใหญ่กว่าองค์กรอิสระ และเมื่อประชาชนสะท้อนความคิดผ่านโพลแล้ว ก็สมควรที่ พล.อ.ประยุทธ์จะพิจารณาตัวเองในการทำหน้าที่เพื่อให้ประชาชนยอมรับ
      ขณะที่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา รักษาการเลขาธิการ กกต. กล่าวถึงองค์ประชุมของ กกต.หลังจากนายสมชัยยุติการปฏิบัติหน้าที่ว่า ไม่เป็นปัญหาเรื่องขององค์ประชุม แต่เมื่อประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.ที่กำหนดให้มี 7 คน และองค์ประชุมต้องมี 5 คน ซึ่งสำนักงานได้มีหนังสือหารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งได้รับแจ้งว่าให้ยึดหลักสัดส่วน คือมี กกต. 5 คน องค์ประชุมก็ต้อง 4 คน แต่หลัง กกต.เหลือเพียง 4 คน ที่ประชุมคงต้องหารือกันว่าจะยึดหลักสัดส่วนตามที่กฤษฎีกามีความเห็นมาก่อนหน้านี้ได้หรือไม่ แต่ทั้งนี้สำนักงานก็มีความเห็นข้อกฎหมายที่จะเสนอขึ้นอยู่กับที่ประชุมจะมีความเห็นอย่างไร
    และเมื่อเวลา 12.00 น. บริเวณหน้ารัฐสภา มีกลุ่มประชาชนจากหลากหลายกลุ่มการเมืองประมาณ  50 คน มายื่นหนังสือต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อเรียกร้องให้ กกต.ลาออกเพื่ออำนวยความสะดวกให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม และเรียกร้องให้มีผู้แทนมาจาก  3 ประสานประชาธิปไตย คือ ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายประชาชน และฝ่ายการเมืองจัดการเลือกตั้งแทน
ส่วนความเคลื่อนไหวของพรรคการเมือง โดยเฉพาะข่าวกลุ่มวาดะห์จะจัดตั้งพรรคประชาชาตินั้น  นายเจะอามิง โตะตาหยง อดีต ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่าเป็นเรื่องที่ดีที่มีการตั้งกลุ่มพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่ หรือเป็นแนวทางใหม่ แต่ส่วนตัวยังอยู่กับ ปชป. ไม่ได้มีใครมาทาบทามให้ไปเข้าร่วมกับพรรคการเมืองอื่นแต่อย่างใด และในฐานะอดีต ส.ส.ในพื้นที่ภาคใต้ก็ไม่กังวลอะไรหากมีพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่ 
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้า ปชป.ที่ดูแลพื้นที่ภาคใต้กล่าวเรื่องนี้ว่า ไม่เกินความคาดหมายและคงไม่กระทบพรรคมากนัก เพราะเดิมกลุ่มวาดะห์เป็นร่มเล็กที่อยู่ในร่มใหญ่ คือเคยร่วมงานกับพรรคความหวังใหม่ และย้ายสมทบกับพรรคไทยรักไทย หรือพรรคเพื่อไทยปัจจุบัน ที่สำคัญกลุ่มวาดะห์ไม่มีการสะท้อนอัตลักษณ์ของความเป็นพรรคในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เหมือนกรณีพรรคพลังชลที่มีฐานที่มั่นอยู่ที่จังหวัดชลบุรี ซึ่งไม่นานก็จะรู้ว่าพรรคใหม่นี้จะเป็นแนวร่วมของกลุ่มการเมืองใด  
“ก็เหมือนนักมวยย้ายค่าย แม้จะย้ายไปค่ายใหม่ แต่ก็เป็นคู่ต่อสู้เดิมที่เคยประมือกันมากับพรรคประชาธิปัตย์ จะรู้ทางมวย แต่เราไม่ประมาทในการทำหน้าที่ปากเสียงและแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านในพื้นที่”
      นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย (พท.) ระบุว่ากลุ่มวาดะห์คงไม่ส่ง ส.ส.ทุกเขตเลือกตั้ง แต่เน้นหนักไปในพื้นที่มุสลิม แม้ไม่ได้ที่ 1 ก็คงได้คะแนนเสียงกลับมาในรูปแบบ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งกลุ่มวาดะห์อยู่กับพรรคมานาน ต่อไปหลังการเลือกตั้งก็อาจกลับมาเป็นแนวร่วมกันได้ 
     วันเดียวกัน นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรค พท.ออกแถลงการณ์กรณีการจัดให้มีการยืนยันความเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย โดยกล่าวว่าการที่พรรคเชิญชวนสมาชิกพรรคการเมือง นักการเมือง และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตามกฎหมายมาแสดงตัวที่พรรค เพื่อยืนยันความเป็นสมาชิกพรรคต่อหัวหน้าพรรค เป็นเรื่องที่ทุกพรรคการเมืองต้องปฏิบัติตามเงื่อนเวลาที่กำหนดทั้งสิ้น เป็นการดำเนินตามที่กฎหมายกำหนดบังคับไว้ หากไม่ทำพรรคและสมาชิกพรรคจะเสียหาย  ไม่ใช่การกระทำที่ผิดกฎหมาย หรือไม่ใช่การเช็กชื่อในความหมายทางการเมืองที่เข้าใจกันแต่ประการใด 
“ที่สำคัญเดือน เม.ย.นี้เป็นช่วงที่ตรงกับเทศกาลสงกรานต์ เพื่อมิให้กระทบช่วงเวลาที่สมาชิกพรรคแต่ละท่านจะไปร่วมงานประเพณีตามภูมิลำเนา จึงถือโอกาสนี้กำหนดให้วันพุธที่ 4 เม.ย.เป็นวันที่จะนัดพบกันเพื่อรดน้ำขอพรผู้อาวุโสของพรรค พร้อมๆ กับการเปิดดำเนินการให้ยืนยันความเป็นสมาชิกพรรคในคราวเดียวกัน ตั้งแต่ 09.00 น.เป็นต้นไป และเปิดทำการให้ยืนยันความเป็นสมาชิกต่อเนื่องกันไปในช่วงเวลาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ระหว่าง 1-30 เม.ย.61” แถลงการณ์ระบุและว่า เมื่อพ้นวันที่ 30  เม.ย. หากสมาชิกไม่ได้มายืนยันความเป็นสมาชิกและคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด ก็จะพ้นจากความเป็นสมาชิกพรรคโดยอัตโนมัติ 
'นปช.' ดึงราคา
นายภูมิธรรมยังตั้งข้อสังเกตส่งท้ายว่า ไม่เห็นเหตุผลใดที่ คสช.และผู้มีอำนาจจะยังไม่ยอมปลดล็อกพรรคการเมือง เพื่อให้พรรคได้เตรียมการตามข้อกฎหมาย เว้นเสียแต่รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจมีเจตนาแอบแฝงเพื่อหวังสร้างความยุ่งยากให้พรรคการเมืองเดิม เพื่อต้องการหาโอกาสสืบทอดอำนาจต่อไป จึงขอเรียกร้องให้ คสช.และผู้มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องรีบปลดล็อกพรรคการเมือง และดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายต่อไป 
ด้านนายณัฐวุฒิกล่าวถึงกรณี นปช.จะไปยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยว่ายังไม่ได้ปรึกษาหารือกัน ขณะนี้มีทั้งพรรคการเมืองเก่า พรรคการเมืองที่กำลังจะจดตั้งใหม่ เพื่อนมิตรแกนนำ นปช.  หรือมวลชนแนวร่วมก็มีสิทธิ์โดยสมบูรณ์ที่จะเลือกเป็นสมาชิกพรรคหรือไม่เป็น เราไม่มีข้อจำกัดตรงนี้  ถ้าหากว่าจุดยืนยังเป็นเรื่องเดียวกันคือประชาธิปไตย และไม่ข้ามเส้นหลักการ เช่นไม่สนับสนุนนายกฯ  คนนอก ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ ไม่สนับสนุนรัฐประหาร ก็ถือเป็นแนวร่วมทางการเมืองของ  นปช.อยู่
“รอดูเวลาถึงวันที่ 1 เม.ย.ก่อน ตอนนี้ยังไม่ได้คิดอะไรทั้งนั้นเพราะยังไม่ถึงเวลา” นายณัฐวุฒิกล่าวถึงท่าทีตนเอง    
พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าวถึงการประชุมชี้แจงแนวปฏิบัติตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองแก่พรรคการเมืองที่ดำเนินกิจการอยู่ในวันที่ 28 มี.ค.ว่า มีพรรคการเมืองที่ตอบรับเข้าร่วม 54 พรรค จากพรรคที่ดำเนินกิจการอยู่ในปัจจุบัน 69 พรรค ผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 300 คน ซึ่ง กกต.จะได้ชี้แจงถึงแนวทางในการปฏิบัติตามกฎหมายในหลายเรื่อง เชื่อว่าการดำเนินการของพรรคการเมืองเก่าจะไม่ยุ่งยากซับซ้อนหรือทำให้เกิดปัญหา
      นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวว่า ชทพ.ได้ทำหนังสือถามแนวทางปฏิบัติของพรรคการเมืองต่อ กกต.แล้วถึง 2 ครั้ง ซึ่งบางส่วนก็ยังไม่ได้คำตอบ เนื่องจากเกี่ยวพันกับคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 จึงอยากให้ กกต.เชิญฝ่ายกฎหมายของ คสช.มาด้วยจะได้รับฟังปัญหาจากพรรคการเมืองโดยตรง 
    นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา โฆษกพรรคชาติพัฒนา กล่าวว่า นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรคจะนำคณะไปร่วม โดยหวังว่า กกต.จะชี้แจงแนวทางปฏิบัติให้ครบถ้วนในทุกประเด็นด้วย เพราะที่ผ่านมาเคยสอบถามแล้วบางเรื่องก็ยังไม่มีคำตอบชัดเจน
สำหรับการจดแจ้งจัดตั้งพรรคใหม่นั้น เมื่อวันจันทร์ยังคงมีกลุ่มการเมืองเดินทางมายื่นขอจดแจ้งจัดตั้งพรรคอย่างต่อเนื่อง โดยนายทวีลาภ แสไพศาล มายื่นขอจัดตั้งพรรคพึ่งตนเอง เป็นลำดับที่ 71 จากนั้น พ.ต.อ.ศรศักดิ์ แก้วรักษา อดีตรอง ผบก.ปปป.มายื่นขอจดแจ้งพรรคพลังเสียงประชาชน เป็นลำดับที่ 72 จากนั้นลำดับที่ 73 พรรคทรรมาชีพ ยื่นคำขอโดยนางสมพร ทองตะนุนาม และลำดับที่ 74 พรรคไทยอาสา ยื่นโดย ว่าที่ ร.อ.อมร ย่อจันทร์
'อนาคตใหม่' อนาคตร่วง    
    ขณะเดียวกัน สมาพันธ์ประชาชนตรวจสอบรัฐไทย (สปท.) นำโดยนายสนธิญา สวัสดี ประธานสมาพันธ์ฯ ได้เข้ายื่นคำร้องต่อประธาน กกต.ขอให้ทบทวนการจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ โดยระบุว่าแม้พรรคอนาคตใหม่จะยังไม่เกิดขึ้นสมบูรณ์ตามกฎหมาย แต่การเสนอแนวความคิดเกี่ยวกับมาตรา 112 ก็ก่อให้เกิดความแตกแยก จึงมายื่นเรื่องให้ประธาน กกต.หรือนายทะเบียนพรรคการเมืองได้พิจารณาว่าการขอจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ขัดต่อกฎหมายหรือไม่ 
       นายวิวรรธนไชย ณ กาฬสินธุ์ อดีต ส.ส.กาฬสินธุ์ พรรคไทยรักไทย โพสต์เฟซบุ๊กถึงการก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ว่า "แท้งก่อนเกิด เสียดายพรรคอนาตคใหม่ ท่านสุริยะหรือคุณสมพรไม่โทรถาม ไม่ถามก็บอกให้ทราบทั่วไปสำหรับพรรคเกิดใหม่ นโยบายดีที่จะทำให้เกิดได้คือ 1.เลิกการเมืองน้ำเน่า  นักการเมืองน้ำเน่า 2.เลิกระบบทุจริตคอร์รัปชันของข้าราชการหรือนักการเมือง 3.เชิดชูระบบศาลเพิ่มโทษรุนแรง นักการเมืองข้าราชการคอร์รัปชัน ห้ามประกันตัว และ 4.ปลดหนี้ชาวนา ข้อนี้สำคัญเกินกว่า 50%"
       “คนรุ่นใหม่ของพรรคอนาคตใหม่ไม่เข้าใจคนรุ่นใหม่ในชนบท ถึงแม้อายุจะไล่เลี่ยกัน ใช้อินเทอร์เน็ตไอทีเหมือนกัน แต่เสพข่าวคนละข่าว ดูทีวีคนละช่อง กินข้าวคนละอย่าง ฟังเพลงคนละแนว ย่อมคิดต่างกัน ทำให้พรรคอนาคตใหม่เสนอนโยบายไม่ตรงตามความต้องการของคนรุ่นใหม่ในชนบทที่เป็นเสียงส่วนใหญ่” นายวิวรรธนไชยระบุ
ด้านนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงการเปิดรับสมัครผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็น กกต.ระหว่างวันที่ 26 มี.ค.ถึงวันที่ 9 เม.ย.ว่า ขณะนี้ไม่สามารถบอกได้ว่าจะใช้ช่องทางกฎหมายเพื่อทาบทามบุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนมาสมัครหรือไม่ เพราะต้องขอดูการสมัครในภาพรวมก่อน เพราะหากทำเช่นนั้นอาจถูกมองได้ว่าเชิญเป็น กกต.หรือไม่ ถ้าจะดำเนินการควรต้องไปเป็นโดยมติเอกฉันท์ของคณะกรรมการสรรหาเท่านั้น และหากเกิดกรณีที่ไม่มีบุคคลมายื่นใบสมัคร หรือมายื่นใบสมัครแล้วแต่ไม่ผ่านคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อถึงเวลานั้นคณะกรรมการสรรหาจะพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"