(ทุเรียนไทยก็มีขายในตลาดสือชี่โข่ว)
วันที่สองในฉงชิ่ง แต่เป็นเช้าแรกที่ตื่นขึ้นในมหานครแห่งนี้ สภาพอากาศเมื่อใกล้สิ้นเดือนตุลาคมค่อนข้างหนาวในตอนกลางคืนและช่วงเช้า ผมคว้าแจ็กเกตตัวเก่งที่ซื้อมาจากเมืองซาปาขึ้นสวมทับเสื้อสเวตเตอร์ชนิดบาง สวมกางเกงยีนส์แล้วเดินออกจากเกสต์เฮาส์ กดลิฟต์ลงไปชั้นล่าง
ภายในซอย Gongyuan ใกล้ๆ กับตึก Deyi ที่ตั้งของเกสต์เฮาส์ มีคนเอาแมวและหมาใส่กรงเป็นแถวยาววางขายอยู่หลายสิบตัว หมาที่ตัวโตๆ ถูกล่ามไว้กับต้นไม้ นึกสงสารพวกมันขึ้นมาจับจิตที่ต้องมาตากลมหนาวตั้งแต่เช้าตรู่ ส่วนพวกคนขายใส่เสื้อหนาวตัวหนาๆ นั่งคุมกิจการบนเก้าอี้
ผมเดินข้ามถนน Xinhua ไปแถวๆ ย่านเจียฟางเบ่ย ซื้อไข่ต้ม 2 ฟอง และกาแฟ 1 ถ้วย จากร้านสะดวกซื้อยอดนิยม ไข่ต้มฟองละ 2.5 หยวน ส่วนกาแฟ 7 หยวน ภายในร้านมีโต๊ะเก้าอี้ให้นั่งกิน พนักงานบริษัทที่กำลังจะเข้าทำงานหลายคนกำลังนั่งกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ประหยัดทั้งเงินและเวลา ผมชอบมองภาพความเร่งรีบของชาวเมืองเป็นพิเศษเมื่อยามที่ตัวเองสามารถทำตัวเชื่องช้าโดยไม่เดือดร้อน เฉพาะอย่างยิ่งเวลาเดินทางท่องเที่ยว อาจเป็นภาวะทางจิตแบบซาดิสต์ชนิดหนึ่งก็ได้
หลังกลับเข้าเกสต์เฮาส์บนชั้นที่ 28 ของตึก Deyi ผมต้องตัดสินใจเรื่องการเข้าพักว่าจะเช็กเอาต์ อยู่ต่อห้องเดิม หรือเปลี่ยนไปนอนห้องดอร์ม รีเซฟชั่นสาวซึ่งนอนพักในห้องหนึ่งของเกสต์เฮาส์เดินออกจากห้อง ผมเผ้ายังยุ่งเหยิง หมาพันธุ์ไซบีเรียนฮัสกีตัวยักษ์ชื่อโตโต้เข้าไปหยอกล้อคลอเคลียกับเธอ จากการสังเกตตลอดเวลาการพักอยู่ที่นี่ ประเมินได้ว่าสาวน้อยน่าจะเป็นผู้บริหารกิจการให้ครอบครัวมากกว่าจะเป็นแค่รีเซฟชั่น
ผมบอกข้อเสนอไปว่าขออยู่ต่อห้องเดิม และยินดีจ่ายล่วงหน้า 2 คืน ในราคา 300 หยวน จากปกติเธอคิดคืนละ 200 หยวน เธอส่ายหน้า พิมพ์ตัวเลขที่พอใจลงในมือถือ ยื่นให้อ่าน “350 หยวน” ผมลังเลอยู่ไม่นานก็ตอบ “โอเค” แล้วจ่ายเงิน ความจริงถ้าผมไม่ตกลง เธอก็จะยอมที่ 300 หยวนอย่างแน่นอน ผมรู้ดีว่าทั้งเกสต์เฮาส์มีผู้เข้าพักอยู่แค่ 2 คน และยังไม่มีลูกค้าจองเข้ามาในวันสองวันนี้ แต่ถ้าทำอย่างนั้นก็จะดูใจร้ายกับเธอจนเกินไป และนี่เป็นครั้งแรกที่ผมนิสัยเสียกล้าต่อรองราคาห้องพัก
มีเหตุผลที่ไม่ย้ายไปห้องดอร์ม แม้ว่ามี “จาห่าว” แขกจากกว่างโจวพักอยู่เพียงคนเดียว เนื่องจากเมื่อคืนนี้ตอนที่ผมเล่าให้เขาฟังเรื่องการร่วมห้องนอนในรถไฟกับชายที่กรนเสียงดังสนั่นหวั่นไหว จาห่าวออกตัวว่าเขาก็กรน ผมไม่แน่ใจว่าเขากันท่า อยากครองห้องดอร์ม 4 เตียง คืนละแค่ 45 หยวนไว้แต่เพียงผู้เดียว แต่ดูหุ่นเขาแล้วก็น่าจะเป็นจริง เขาไม่ได้อ้วนแต่ลำตัวยื่นออกมาตั้งแต่ระดับหน้าอกจนถึงพุง เป็นพิมพ์นิยมหนึ่งของนักกรน
จาห่าวตื่นนอนตอนสายๆ ออกมานั่งคุยกับผม ปรึกษากันเรื่องจะไปเที่ยว “สะพานธรรมชาติอู่หลง” ห่างจากตัวเมืองฉงชิ่งไปราว 3 ชั่วโมง เขาบอกว่าวานนี้ได้สืบราคามาแล้วอยู่ที่ประมาณ 280 หยวน วันนี้จะไปเดินหาเอเยนต์ท่องเที่ยวที่ถูกกว่า คาดว่าจะตกอยู่ที่ 250 หยวน ผมให้เงินเขา 300 หยวน และให้ถ่ายรูปพาสปอร์ตหน้าข้อมูลส่วนบุคคลและหน้าวีซ่าไว้เผื่อทางเอเยนต์ต้องการ
ตอนบ่ายเขาชวนผมไปขึ้น Cable Car รถกระเช้าลอยฟ้าที่มีสถานีขึ้นอยู่ไม่ห่างจากที่พักเพื่อดูวิวเมือง ภูเขา และข้ามแม่น้ำแยงซีไปอีกฝั่ง เขาว่าฝั่งโน้นมีถนนโบราณและห้องสมุดน่าสนใจ ตอนเย็นก็ชมพระอาทิตย์ตกแล้วค่อยนั่งกระเช้าลอยฟ้ากลับมา ผมตกลงแล้วนัดเวลากันที่บ่าย 3 โมง ทว่าพอถึงเวลาผมมีอาการปวดท้องขึ้นจากบะหมี่เสี่ยวเมี่ยนรสชาติเผ็ดร้อนแรงที่กินตั้งแต่เมื่อวานนี้ ความจริงอาการออกตั้งแต่ตอนเช้า เข้าห้องน้ำไปสาม-สี่รอบ จึงออกจากห้องไปแจ้งจาห่าวว่าท้องมีปัญหา เขาต้องไปคนเดียว นัดเจอกันอีกทีตอนกลางคืนที่ล็อบบี้เพื่อนัดแนะไปอู่หลงในวันรุ่งขึ้น
(หมู่บ้านตลาด “สือชี่โข่ว” (Ciqikou) หมู่บ้านโบราณในนครฉงชิ่ง)
หลังจากอาการถ่ายท้องดีขึ้น ผมก็ออกไปนั่งรถไฟฟ้าสาย 1 จากสถานีใต้ดิน Xiaoshiyi กดเครื่องจำหน่ายตั๋วระบุให้จ่าย 5 หยวน ซึ่งเป็นราคาสูงสุด รถไฟฟ้าใช้เวลาวิ่งหลายนาที ห่างจากตัวเมืองฉงชิ่งในเจตหยูจ้วงไปทางทิศตะวันตกในเขตชาผิงปา ประมาณ 15 กิโลเมตร ผ่านเกือบ 20 สถานี กว่าจะถึงสถานี Ciqikou เป็นสถานีลอยฟ้า ออกประตู 1 ลงบันไดเลื่อนด้านขวามือแล้วเดินผ่านแผงขายอาหารเล็กๆ เรียงกันหลายร้านทั้งสองฝั่งทางเดิน ลงถนนใหญ่แล้วเดินลอดซุ้มประตูยักษ์ เดินไปสักพักก็เลี้ยวซ้ายเข้าหมู่บ้าน Ciqikou ออกเสียงว่า “สือชี่โข่ว” แปลว่าหมู่บ้านเครื่องถ้วยชาม กินพื้นที่ประมาณ 1.2 ตารางกิโลเมตร
(หมู่บ้านเครื่องถ้วยชาม ปัจจุบันขายหลายสิ่งหลายอย่าง แต่ยังคงรักษาสภาพความเก่าแก่กว่า 600 ปีไว้ได้)
หมู่บ้านแห่งนี้ปรากฏในบันทึกประวัติศาสตร์มาแล้วไม่ต่ำกว่า 1,000 ปี ในอดีตมีชื่อว่า “หลงหยิง” (ข้อมูลบางแหล่งระบุชื่อ “ไป่หยาชาง” ด้วย) แต่เมื่อเข้าสู่ยุคราชวงศ์หมิง ต่อด้วยราชวงศ์ชิงได้มีชื่อเสียงในการทำเครื่องถ้วยชามขึ้นมา นำไปสู่ชื่อใหม่ “สือชี่โข่ว” และทำเลที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจียหลิงก็ทำให้หมู่บ้านมีความสำคัญในการเดินเรือและการค้าขายทางน้ำ บางคนเรียกว่าเป็น “ลิตเติลฉงชิ่ง”
สภาพหมู่บ้านสือชี่โข่วในปัจจุบันยังคงสภาพเดิมไว้ได้แทบทั้งหมด ถนนปูด้วยแผ่นหิน มีเส้นหลักทอดยาวและซอยย่อย 12 ซอย สามารถพบเห็นร้านจำหน่ายงานฝีมือระดับสูงของคนท้องถิ่น เวิร์กช็อปและสตูดิโอของผู้สร้างงานศิลปะ ร้านขายของชำ ร้านนาฬิกา ร้านขายเสื้อผ้า ร้านน้ำชา ร้านขายเครื่องเทศจำพวกเผ็ดร้อน ร้านขนมโบราณ ของกินเล่นสำหรับซื้อกลับบ้าน และร้านอาหาร โดยเฉพาะ “เหมาเสี่ยหวัง” แกงเผ็ดใส่เลือดเป็ด ปลาหมึก หมูสไลด์ และผักต่างๆ ขึ้นชื่ออย่างยิ่งในฉงชิ่ง และต้นกำเนิดก็มาจากหมู่บ้านสือชี่โข่วแห่งนี้
(ผู้เกียจคร้านแห่งหมู่บ้านสือชี่โข่ว)
สภาพของอาคารบ้านเรือนสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง มีอายุสูงสุดเกือบ 700 ปี ส่วนใหญ่มี 2 ชั้น และ 3 ชั้น ตัวบ้านสร้างด้วยไม้ ทากำแพงสีขาว เสาปูนสีน้ำเงิน ประตูสีแดงชาด โคมไฟสีดำ ผู้คนอยู่อาศัย ทำการค้าและดำเนินวิถีชีวิตเหมือนอย่างในอดีต ไม่ได้สั่นไหวไปตามความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยเท่าใดนัก วัดเป่าหลุนซื่อ วัดพุทธเก่าแก่มีคนท้องถิ่นและเดินทางมาจากแดนไกลเข้ากราบไหว้ขอพรอยู่ไม่ขาดสาย
(คณะปกครองเนินเขา Ma’an ด้านหลังของหมู่บ้านสือชี่โข่ว)
ผมเดินไปตามป้ายที่เขียนว่า Back Street และ Ma’an Hill เลี้ยวซ้ายเข้าซอยเล็กๆ ออกจากย่านการค้าขึ้นเนินไปเจอกับพิพิธภัณฑ์ชื่อ Chongqing Memory Museum แต่ใกล้เวลาปิดจึงเดินขึ้นเนินต่อไปอีก มีขั้นบันไดและราวจับรูปร่างคล้ายกิ่งไม้คอยให้ความสะดวก
บนจุดสูงสุดของเนินมีหมาน้อย 3 ตัวยืนจังก้าวางมาดเข้มมองลงมา ผมใจแข็งเดินขึ้นไปหา สุดท้ายพวกมันก็ค่อยๆ แยกย้ายถอยห่างไปคนละทาง แท้จริงแล้วเนินเขานี้คือสวนสาธารณะ พื้นทางเดินปูแผ่นหินอย่างดี บางช่วงที่เป็นระเบียงยื่นออกไปปูพื้นไม้สังเคราะห์ มีม้านั่งพักผ่อนหลายตัว รวมถึงจุดชมวิวเมืองและภูเขาลูกใกล้เคียง บนเนินเขาเวลานี้มีเพียงผมและชายจีนสูงวัยอีกคน
ดูพระอาทิตย์ลับหลังเขาไปแล้วจึงเดินลงอีกฝั่ง เจออาคารชื่อ China Jingdezhen Ceramic Art Avenue ใกล้ๆ กันมีทางชี้ไปยัง Chongqing Magnetic Field (สนามแม่เหล็กฉงชิ่ง) เขียนว่าห้ามเข้า แต่คำอธิบายรายละเอียดล้วนเป็นภาษาจีน จากนั้นก็หาทางลงไปยังหมู่บ้านตลาดสือชี่โข่วอีกครั้ง เดินอยู่อีกไม่นาน แวะซื้อขนมทรงลูกเต๋าไส้มันและถั่วหลากชนิด จำนวน 6 ลูก ราคา 40 หยวน ชิ้นใหญ่และกำลังร้อน กินไป 1 ลูกก็รู้สึกอยู่ท้อง แล้วเดินกลับไปขึ้นรถไฟฟ้า
เวลาย่ำค่ำเช่นนี้ผู้โดยสารเยอะ แต่ไม่ถึงขั้นยืนเบียดเสียด มีเด็กผู้ชายอายุสัก 2 ขวบกว่าๆ ขึ้นมากับอาม่า เด็กน้อยซนมาก วิ่งเล่นตลอดเวลา อาม่าวิ่งตามจนเหนื่อยหอบ ในที่สุดก็เอาไม่อยู่ เจ้าหนูวิ่งออกจากรถไฟขณะจอดที่สถานีหนึ่ง อาม่ากำลังจะออกไปตาม เจ้าหนูวิ่งกลับเข้ามาจากอีกประตูทันเวลารถออกพอดี ผมนึกไปว่าจะเป็นอย่างไรหากเจ้าหนูต้องอยู่บนชานชาลาแต่เพียงผู้เดียว กว่าอาม่าจะนั่งรถไฟกลับมาหา แต่อาจจะแย่กว่าหากอาม่าออกไปตาม เจ้าหนูกลับขึ้นรถทันเวลา ส่วนอาม่ายังอยู่บนชานชาลา อาม่าคงต้องขึ้นรถไฟฟ้าตามไปแวะดูทุกสถานีจนถึงปลายทาง
(มองจากจัตุรัสเชาเทียนเหมินไปยังฝั่งตรงข้ามแม่น้ำแยงซี)
รถไฟฟ้าสาย 1 จอดที่สถานีสุดท้าย Xiaoshiyi ผมออกจากสถานีแล้วเดินขึ้นเหนือไปอีก 1 กิโลเมตร ป้ายบอกทางท่าเรือเชาเทียนเหมิน (Chaotianmen Dock) ชี้ให้เดินเข้าไปในห้าง Raffles City พอเข้าไปในห้างกลับหาป้ายเชาเทียนเหมินไม่เจอ ผมเดินตรงไปจนสุดกลับพบกับร้านเสริมความงาม หาทางทะลุออกไปจัตุรัสเชาเทียนเหมินไม่พบ จึงเดินออกจากห้าง แต่สุดท้ายก็เดินกลับเข้าไปใหม่ ลองเดินลงบันไดเลื่อนไป 2 ชั้นก็เจอประตูออกไปยังจัตุรัสเชาเทียนเหมิน เดินไปจนถึงท่าเรือเชาเทียนเหมินที่อยู่ตรงปลายสุดของแหลมหยูจ้วง จุดที่แม่น้ำแยงซีสีเหลืองส้มไหลมาจากทิศใต้บรรจบกับแม่น้ำเจียหลิงสีเขียวที่ไหลมาจากทิศตะวันตก ทว่าในเวลากลางคืนเช่นนี้มองไม่เห็นสีตัดกันของสองสายน้ำ เมื่อรวมกันแล้วก็สมัครใจใช้ชื่อแยงซีต่อแล้วพากันไหลขึ้นเหนือก่อนจะเลี้ยวไปทางตะวันออก คดเคี้ยวไปเรื่อยจนออกทะเลจีนตะวันออกที่นครเซียงไฮ้ รวมความยาวของแม่น้ำแยงซีทั้งสาย 6,300 กิโลเมตร ยาวเป็นอันดับ 3 ของโลก เป็นรองเพียงแม่น้ำไนล์และแม่น้ำแอมะซอน
เชาเทียนเหมินแปลว่า “ประตูสู่สวรรค์” เป็นประตูเมืองที่สร้างขึ้นตั้งแต่ 314 ปีก่อนคริสตกาล ขุนนางของเมืองนี้ในอดีตใช้เป็นสถานที่รับพระบรมราชโองการจากองค์พระจักรพรรดิ ปัจจุบันกลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางน้ำที่สำคัญมากแห่งหนึ่งของจีน นอกจากเรือสินค้าแล้วก็ยังมีเรือเฟอร์รี่ เรือล่องชมทิวทัศน์-รับประทานอาหารเย็น เรือล่องแม่น้ำแยงซี โดยเฉพาะเรือที่ล่องไปชม “ช่องเขาทั้งสาม” อันเลื่องชื่อ อยู่เหนือขึ้นไปจากตัวเมืองฉงชิ่งไม่ไกลนัก
เมื่อมองออกไปจากท่าเรือเชาเทียนเหมินไปทางทิศเหนือจะเห็นทัศนียภาพยามค่ำคืนที่งดงามยิ่ง อาคารรูปทรงสวยงามและแปลกตาประสานแสงออกมาอวดโฉม แลนด์มาร์กสำคัญคือสะพานรูปโค้งเชาเทียนเหมินข้ามแม่น้ำแยงซี และโรงละคร Chongqing Grand Theatre ที่ฉายภาพเคลื่อนไหวออกมาจากตัวอาคารให้เห็นอย่างชัดเจนแม้มองจากระยะไกล เนื้อหาที่ผมมองดูเผินๆ มีความเกี่ยวข้องกับความสามัคคีพร้อมเพรียงของคนในชาติ คงเป็นเพราะว่าเวลานี้ยังอยู่ในเดือนเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปีสาธารณรัฐประชาชนจีน
(ทิวทัศน์ราตรีของนครฉงชิ่ง มองจากจัตุรัสเชาเทียนเหมินไปทางทิศเหนือผ่านจุดบรรจบของแม่น้ำแยงซีและแม่น้ำเจียหลิง)
สำหรับจัตุรัสเชาเทียนเหมินนั้นอยู่ระหว่างท่าเรือกับ Raffles City Chongqing มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม แต่ก็ยังคงใช้คำว่าจัตุรัส (Square) มีพื้นที่กว้างขวางถึงประมาณ 800,000 ตารางเมตร สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1998 มีลักษณะเป็นรูปหัวเรือ จุดที่ผมยืนอยู่เป็นทั้งลานและหลังคา ด้านล่างคือโถงกว้างที่เต็มไปด้วยร้านจำหน่ายสินค้าทั่วไปราคาไม่แพง
ส่วนด้านหลังก็คือพื้นที่ของ Raffles City Chongqing ของกลุ่มบริษัท CapitaLand ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สิงคโปร์ Raffles City Chongqing ถือเป็น Raffles City ลำดับที่ 9 ของ CapitaLand เป็นกลุ่มอาคารระฟ้า 8 อาคาร ออกแบบให้เข้ากับรูปหัวเรือของจัตุรัสเชาเทียนเหมิน ทำให้ภาพรวมออกมาเป็นเรือสำเภาโบราณของจีน ความสูงของสองอาคารด้านหน้าสูง 350 เมตร ส่วน 4 อาคารแถวสองสูง 250 เมตร มีสะพานอากาศเชื่อมต่อกันเรียกว่า “คริสตัล” และอีก 2 อาคารแถวสามสูง 250 เมตรเช่นกัน เมื่อมองจากด้านข้างจะเห็นอาคารทั้งแปดมีลักษณะโค้งไปทางด้านหลังนิดๆ ยิ่งดูเป็นใบเรือสำเภา ห้าง Raffles City ที่ผมเข้าไปก่อนหน้านี้มีลักษณะเหมือนฐานของตึกสูง
(กลุ่มอาคาร Raffles City Chongqing ลักษณะคล้ายใบเรือสำเภา)
กลุ่มอาคาร Raffles City Chongqing เพิ่งสร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือนสิงหาคม และเปิดในต้นเดือนกันยายน 2562 ไม่ถึง 2 เดือนก่อนผมมาเยือน ประกอบไปด้วยโรงแรม ที่อยู่อาศัย สำนักงาน และแหล่งบันเทิง กลุ่มอาคารเหล่านี้จะเปิดไฟเล่นแสงในยามค่ำคืน มองเห็นจากระยะไกล สร้างสีสันใหม่ให้กับนครฉงชิ่ง
สำหรับตัวห้างนั้นได้เปิดก่อนผมมาถึงฉงชิ่งเพียง 2 สัปดาห์ ผมเดินกลับเข้าไปหาแผนกซูเปอร์มาร์เก็ตเจอแล้วก็ซื้ออาหารปรุงสุกหมายจะกลับไปกินที่เกสต์เฮาส์ พร้อมด้วยเบียร์แบบ IPA จากลิทัวเนียยี่ห้อ Volfas Engelman ขนาด 560 มิลลิลิตร และอาซาฮีกระป๋องเล็กมาอย่างละหนึ่ง ออกจากห้างแล้วเปิดเบียร์ลิทัวเนียดื่มทันที กลิ่นดอกฮ็อปหอมค้างเนิ่นนาน รสชาติขมนุ่มกำลังดี
ผมลองเดินไปทางด้านซ้าย ออกถนน Changjiang Binjiang เลียบแม่น้ำแยงซี ผ่านชุมชนเก่าแก่เล็กๆ ร้านอาหารในอาคารโบราณ สุดท้ายหาทางออกกลับไปถนน Xinhua ไม่เจอ ปล่อยเลยตามเลยเดินไปตามถนน Changjiang Binjiang แต่คนละฝั่งกับริมน้ำ เดินไปเรื่อยๆ โดยต้องพึ่งแผนที่กูเกิลในมือถือ แต่หลังจากเลี้ยวขวาครั้งหนึ่งแล้วแผนที่ก็ทำให้หลงเข้าไปในอาคารตลาดสดขายอาหารทะเลที่เริ่มมีคนนำสัตว์น้ำมาลง กลิ่นเหม็นและพื้นเฉอะแฉะ บางจุดแสงสว่างไม่พอ มองทางได้ยาก ผมเลิกเชื่อแผนที่แล้วเดินขึ้นบันไดไปอีกชั้น เดินขึ้นเนินต่อไปเรื่อยๆ โผล่ที่สวนสาธารณะ สุดท้ายก็ออกสู่ซอย Gongyuan ถึงตึก Deyi ขึ้นลิฟต์ไปยังเกสต์เฮาส์ Zhiqingchun-Ms.Dong Guest
เหลือเชื่อ เบียร์ลิทัวเนียยังไม่หมด แม้ว่าจะเดินมาไกลกว่า 2 กิโลเมตร เบียร์แบบเอลรสชาติขมติดลิ้นทำให้ดื่มช้าโดยอัตโนมัติ คุ้มราคา 10.80 หยวน อย่างไม่สามารถหาอะไรเทียม
จาห่าวนั่งรออยู่ เขานำเครื่องฉายหนังมาฉายเข้ากับจอติดผนังของเกสต์เฮาส์ ชวนผมดู Green Book เขาบอกว่าชอบหนังเรื่องนี้มาก ดูมาแล้ว 3 รอบ ไม่กี่นาทีต่อมาอาหารของเขาก็มาส่ง เขาสั่งมาเพียบเหมือนเมื่อคืนวาน บอกให้ผมเก็บอาหารปรุงสุกจากห้างเข้ากระเป๋า ผมจึงได้กินอาหารปิ้งย่างของฉงชิ่งเป็นมื้อค่ำอีกมื้อ
พอถามเรื่องค่าทัวร์ไปอู่หลง เขาขอเงินเพิ่มอีก 20 หยวน เพราะได้แพ็กเกจทัวร์มาในราคา 320 หยวน จากที่บอกว่าจะไปเดินหาให้ราคาถูกลง กลับได้ของแพงขึ้นกว่าเดิม.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |