แม้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะผ่านพ้นเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจไปได้อย่างไม่อยากเย็น หลัง “ฝ่ายค้าน” ผิดฟอร์ม ไม่สามารถรุกไล่จนทำให้เกิดความเพลี่ยงพล้ำได้ และไม่ว่าสาเหตุของการออกอ่าวออกทะเลของฝ่ายค้าน จะเกิดขึ้นจากการทำการบ้านไม่ดี หรือ “ข้อสอบรั่ว” หรือมีการ “ขายการบ้าน” อย่างที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกต
แต่มันเป็นเพียงศึกหนึ่งเท่านั้น และดูเหมือนว่าศึกนอกสภาผู้แทนราษฎรน่าจะเป็นอะไรที่น่าหนักใจที่สุดในตอนนี้ โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของแฟลชม็อบนักศึกษา ที่ลุกลามไปทั่วประเทศ ไม่ใช่เฉพาะในมหาวิทยาลัย แต่ต่อยอดไปถึงโรงเรียน
การปะทุขึ้นของแฟลชม็อบ “ปัญญาชน” น่าจะเป็นสิ่งที่รัฐบาลภายใต้ผู้นำทหารอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กังวลใจที่สุด
“ปัญญาชน” คือ “ของแสลง” ของทหารมาแต่ไหนแต่ไร ไม่ว่าจะเป็นในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519
เป็นการขับเคลื่อนที่ไม่มีใครกล้าแตะต้อง ในฐานะ “พลังบริสุทธิ์” แม้ฝ่ายภาครัฐจะมีข้อมูลเชิงลึกว่า มีใครพยายามยืนอยู่ข้างหลัง
จะเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ และหน่วยงานความมั่นคงต่างๆ พยายามจะเข้าไปกีดกั้น ปิดกั้น หรือดำเนินคดีกับปรากฏการณ์แฟลชม็อบที่เกิดขึ้น เพราะรู้ว่ามันจะยิ่งทำให้เหตุการณ์บานปลาย
แม้แต่คำพูดในลักษณะว่า ใครอยู่เบื้องหลัง บุคคลในรัฐบาลยังมีไม่มีเอ่ยคำนี้ เนื่องจากไม่ต่างอะไรกับการท้าทายให้การชุมนุมขยายวงกว้าง
รัฐบาลพยายามจะปล่อยให้นักศึกษาได้แสดงออก โดยหวังว่าเมื่อกระแสยุบพรรคอนาคตใหม่สร่างซาลงไป ทุกอย่างจะกลับเข้าที่เข้าทาง
ถึงแม้จะมีความพยายามเปลี่ยนแฟลชม็อบ ให้เป็นม็อบบนถนนถาวร แต่โดยเงื่อนไข ณ ขณะนี้ยังไม่เพียงพอต่อการปักหลักพักแรมบนถนน เนื่องจากเรื่องของพรรคอนาคตใหม่ เป็นเรื่องผลประโยชน์พรรคการเมือง ยังไม่ถึงขั้นผลประโยชน์สาธารณะ
เพียงแต่เส้นทางเดินของ พล.อ.ประยุทธ์ และองคาพยพจะยากลำบากมากขึ้น การยุบพรรคอนาคตใหม่ และการมี ส.ส.ย้ายขั้วมาอยู่กับพรรคร่วมรัฐบาล จนทำให้เสียงที่เคย “ปริ่มน้ำ” ได้ “พ้นน้ำ” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไม่ได้ทำให้ทำงานงานง่ายขึ้นแต่อย่างใด
ตรงกันข้าม ทุกย่างก้าวจะเหมือนเดิมอยู่บนลวดหนามที่ภายภาคล่างเป็นเหล็กแหลม การผิดพลาด หรือกระทำการใดๆ ที่ขัดต่อความรู้สึกประชาชน จะเหมือนทำน้ำมันหกราดใส่กองไฟที่คุกรุ่นอยู่แล้ว
การยุบพรรคอนาคตใหม่ และการดึง ส.ส.จากฝ่ายค้านมาทำให้เสียงรัฐบาลมีเอกภาพ ทำให้ใกล้เคียงกับคำว่า “เผด็จการรัฐสภา” มากขึ้น
อย่าลืมว่า ตลอดช่วงที่ผ่านมา หรือแม้แต่ช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่มีกลิ่นแปลกๆ โดยเฉพาะการผิดฟอร์มของฝ่ายค้าน ถูกโยงไปถึงข่าวลือเรื่องการเกี้ยเซียะกันระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้านบางส่วน
เมื่อฝ่ายตรงข้ามไม่จัดการกับฝ่ายรัฐบาล “ในสภา” ได้ มันจะเป็นการบีบให้การต่อสู้ถูกไล่ไปอยู่ “นอกสภา” อันเป็นการเคลื่อนไหวที่ยากจะจำกัดได้
นอกจากนี้ รัฐบาลเองจะต้องระมัดระวังเพื่อให้ไม่เกิด “เงื่อนไข” ใดๆ โดยเด็ดขาด เพราะทุกเรื่องจะสามารถหยิบไปเพื่อต่อยอดและขยายปมให้บานปลายได้ เหมือนกับเมื่อครั้งที่ กปปส.ใช้ประเด็นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย ขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนเกิดมวลมหาประชาชน
เรื่องที่เคยถูกมองว่าเล็กน้อย ไม่ว่าจะเป็นประเด็นคุณสมบัติ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ หรือนาฬิกาของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หากมาเกิดขึ้นในช่วงหลังจากนี้จะเป็นประเด็นใหญ่โต สร้างความไม่พอใจได้ทั้งหมด
มันจะไม่ใช่เรื่องความไม่พอใจที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ แต่เป็นเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล อันเป็นความชอบธรรมในการขับไล่
หาก “จุดติด” แล้ว โดยเฉพาะเป็นการขับเคลื่อนโดยนักศึกษา มันเป็นเรื่องยากอย่างมากที่จะทำให้คนเหล่านี้กลับสู่มหาวิทยาลัย และกลับสู่โรงเรียน
ไม่เพียงแค่เป็นการส่อทุจริตในรัฐบาล แต่ยังหมายถึงการบริหารราชการแผ่นดินที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่รัดกุม ไม่รอบ หรือการพูดแบบไม่ยั้งคิดจนเกิดผลกระทบ
ทุกมิติ ทุกเรื่อง ที่เคยเล็กจะใหญ่ทั้งหมด
ช่วงหลัง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ซึ่งจะมีเม็ดเงินไหลไปสู่โครงการต่างๆ ยังเป็นช่วงที่ถูกจับจ้องว่า จะมีการใช้ในทางที่ผิด หรือไม่สุจริตหรือไม่
แน่นอนว่า หากเกิดขึ้น จนประชาชนเชื่อได้ว่า มีการทุจริตจริงๆ แม้ยังไม่ได้ไต่สวนจนสิ้นกระแสความ อาจแรงไปถึงขั้น “อยู่ไม่ได้” เพราะจะถูกผสมกับเรื่องเดิมๆ ที่เคยมีการครหากันก่อนหน้านี้
ดังนั้น การที่เสียงรัฐบาลโผล่พ้นน้ำ อาจเป็นข้อดีในการยกมือร่างกฎหมายและญัตติต่างๆ ในสภา แต่มันอาจเป็นทุกขลาภตามมา เพราะทางสู้ของอีกฝั่งเหลือน้อยลง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |