“ปริญญา” แย้งข้อกฎหมาย อนาคตใหม่ไม่ควรผิดถึงยุบพรรค บอกหากผิด ม.66 พ.ร.ป.พรรคการเมือง แล้วพ่วง ม.72 โดยอัตโนมัติ ทำไมไม่เขียนเป็นข้อเดียวกันไปเลย “เจษฎ์” ติง หลายกรณีคำวินิจฉัยศาล รธน.ยังไม่ชัดเจน ด้าน 55 ส.ส.อนค.เดินทางไปประชุมต่างจังหวัดถอดบทเรียนการทำงาน 1 ปีที่ผ่านมา "พิธา" รับมีการคุยถึงพรรคใหม่ แต่ขออุบชื่อไว้ก่อน "สนท." จี้ "ส.ว.-ศาล รธน.-องค์กรอิสระ" พร้อมใจลาออกมายืนข้าง ปชช.
เมื่อวันศุกร์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะนิติศาสตร์ จัดเวทีเสวนาเรื่อง วิเคราะห์ยุบพรรคอนาคตใหม่ โดยมีนายเจษฎ์ โทณะวณิก อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมเสวนา
นายปริญญากล่าวว่า การกู้เงินนั้น มีการพูดกันมากว่า พ.ร.ป.พรรคการเมือง ม.62 ไม่ได้ระบุไว้ว่ารายได้ของพรรคการเมืองมาจากเงินกู้ได้ ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลไม่ได้ใช้ข้อนี้ในการยุบพรรค แต่มีประเด็นเปิดคือ แม้ พ.ร.ป.พรรคการเมืองมิได้บัญญัติห้ามการกู้ยืมสำหรับพรรคการเมืองไว้โดยชัดเจน แต่ก็ไม่ได้รับรองว่าให้ทำได้ นอกจากนี้ยังมีส่วนสำคัญคือพรรคการเมืองมีสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน ซึ่งจะมีผลต่อการตีความในอำนาจหน้าที่ และสิทธิ หน้าที่ อย่างไรก็ตาม มีการพูดกันว่าเงินกู้จะนับเป็นรายได้ได้อย่างไร มันเป็นหนี้สินมากกว่า แต่มาตราดังกล่าวมีการแก้ไข ต่างจากฉบับบที่ผ่านๆ มา ที่มีวงเล็บสุดท้ายระบุว่า "อื่นๆ" ซึ่งต่างกับ พ.ร.ป.ฉบับนี้ นอกจากนี้ ในหมวด 5 ของ ม.62 รายได้ของพรรคการเมืองวรรคหนึ่ง มีการระบุว่า พรรคการเมือง “อาจ” มีรายได้ดังต่อไปนี้ หมายถึงพรรคการเมืองมีสิทธิที่จะมีรายได้ทางอื่นนอกจากนี้ได้อีก ซึ่งบทลงโทษของ ม.62 อยู่ที่ ม.122 แต่ไม่มีบทลงโทษสำหรับ ม.62 วรรคหนึ่ง หมายความว่า วรรคหนึ่งของ ม.62 ไม่ใช่บทบังคับ
นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญคือ 1.หากไม่มีกฎหมายเขียนไว้ว่าทำได้ แปลว่าทำไม่ได้นั้น ใช้กับองค์กรรัฐ หรือไม่มีกฎหมายห้าม แปลว่าทำได้ ใช้กับพลเมือง ตามหลักที่ว่าประชาชนมีสิทธิตราบเท่าที่ไม่มีกฎหมายจำกัด ซึ่งกรณีของพรรคการเมือง ต้องดูนิยามใน พ.ร.ป.พรรคการเมือง ตาม ม.4 ระบุว่า พรรคการเมืองเป็นคณะบุคคลที่รวมตัวกันจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองโดยได้จดทะเบียนตาม พ.ร.ป.ฉบับนี้ จากการรวมตัวกันของคณะบุคคล ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 45 ระบุว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมตัวกันจัดตั้งพรรคการเมืองตามวิถีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งมีการรับรองเสรีภาพไว้ หากจะยุบพรรค โดยหลักการมีเหตุเดียวคือ มีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครอง มิฉะนั้นก็ต้องใช้วิธีอื่น แต่กฎหมายพรรคการเมืองของเรามีเหตุแห่งการยุบพรรคอย่างกว้างขวาง หมายความว่า พรรคการเมืองนั้นอยู่ในซีกของพลเมือง มิใช่องค์กรรัฐ
ปริญญาชี้'อนค.'ไม่ควรถึงยุบ
นายปริญญากล่าวว่า รัฐธรรมนูญ ม.25 ระบุไว้ว่า การใดที่ไม่ห้าม หรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพที่จะกระทำการนั้นได้ และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งชัดเจนว่าระบบของเราคือ ถ้าไม่ห้ามแสดงว่าทำได้ อย่างไรก็ตาม การเป็นพรรคการเมืองของประเทศไทยต้องจดทะเบียน ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง และเมื่อ พ.ร.ป.พรรคการเมืองเป็นกฎหมายมหาชน หมายความว่าพรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน ทำให้มีสิทธิหน้าที่ตามที่ พ.ร.ป.พรรคการเมืองกำหนดห้ามทำสิ่งที่เขาห้าม ส่วนคำแนะนำนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้หรือไม่ทำก็ได้ อย่างใน ม.62 ซึ่งไม่ได้มีห้ามเรื่องการกู้เงินไว้ ดังนั้นถ้าไม่มีกฎหมายห้ามไม่ให้ทำในเรื่องใด ก็ไม่อาจถือได้ว่าผิดกฎหมาย ตาม รธน.ม.25 เพียงแต่ประเด็นคือ คำวินิจฉัยคดีดังกล่าวบอกว่า เนื่องจากมีอัตราดอกเบี้ย และเบี้ยปรับที่ไม่เป็นไปตามปกติการค้า พูดง่ายๆ คือการที่คิดดอกเบี้ยต่ำเป็นการบริจาค ดังนั้นนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เคยบริจาคไปแล้ว 8.5 ล้านบาท เมื่อร่วมกับดอกเบี้ย ที่ถูกตีว่าเป็นเงินบริจาค จึงเกิน 10 ล้านบาท ผิดตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง ม.66
"ประเด็นที่ผมอยากจะวิเคราะห์คือ การกู้ยืมเงินไม่มีกฎหมายกำหนดว่าคิดดอกเบี้ยเท่าไร และไม่จำเป็นต้องเป็นการค้าเสมอไป อย่างเพื่อนมาขอยืมเงิน มันไม่ใช่เรื่องการค้า ซึ่งการคิดดอกเบี้ยเป็นสิทธิในการตกลงกันทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งการที่ผิด ม.66 จากวิธีการดังกล่าว แล้วนำมายุบพรรคนั้นไปไกลเกิน นอกจากนี้ ม.66 ก็ไม่มีบทลงโทษยุบพรรค มีโทษจำคุก หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งเป็นโทษอาญาล้วนๆ ซึ่งหากเป็นโทษทางอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยไม่มีความผิด หรือต้องมีหลักฐานว่า เขาลดดอกเบี้ยเพราะต้องการเลี่ยง ม.66 ถ้าไม่มีหลักฐานแสดงว่าไม่ผิด แต่กรณีดังกล่าว พอผิด ม.66 แล้ว กลายเป็นผิด ม.72 ด้วยโดยอัตโนมัติ แต่ถ้าผิดแบบนี้ ทำไมถึงเขียนแยกมาตรากัน และบทลงโทษก็ไม่เหมือนกัน"
นายปริญญาชี้ว่า องค์ประกอบความผิดใน พ.ร.ป.พรรคการเมือง ม.72 นั้น ระบุว่า เงินที่ห้ามพรรคการเมืองรับบริจาคนั้น จะต้องได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น เงินบริจาคที่ได้มาจากอาชญากรรม การฟอกเงิน หรือยาเสพติด และกรรมการบริหารต้องรู้ ถึงจะเข้ามาตราดังกล่าว หากเรายอมรับว่าการคิดดอกเบี้ยต่ำ เป็นเงินบริจาค อย่างมากก็ผิดแค่ ม.66
“เมื่อกฎหมายไม่ได้ห้ามพรรคการเมืองกู้เงิน และไม่มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ย เพราะฉะนั้นการกู้เงินไม่ผิดกฎหมาย ส่วนดอกเบี้ยคิดเท่าไรก็ตามแต่ตกลงกัน เพราะฉะนั้นการจ่ายดอกเบี้ยตามที่ตกลง มันจะกลายเป็นเรื่องไม่ชอบด้วยกฎหมาย และนำไปสู่การยุบพรรคได้อย่างไร" นายปริญญาระบุ
ขณะที่นายเจษฎ์กล่าวว่า บ่อยครั้งศาลรัฐธรรมนูญตัดสินหลายๆ กรณี ความรัดกุมในการเขียนคำวินิจฉัย หรือรายละเอียดหลายประการเป็นที่คลางแคลง เพราะหลักการทางกฎหมายไม่หนักแน่น และทำให้เกิดการถกเถียงกันค่อนข้างมาก บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2560 มันมีช่องว่าง และมีประเด็นปัญหาจริง
ด้านนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตพรรคอนาคตใหม่ ให้สัมภาษณ์ที่รัฐสภาว่า คืนวันเดียวกัน ส.ส.ในกลุ่ม 55 คนจะเดินทางไปต่างจังหวัดเพื่อถอดบทเรียนการทำงาน 1 ปีที่ผ่านมา เพื่อพร้อมจะสร้างพรรคให้เข้มแข็ง วางแผนยุทธศาสตร์บุคคลและอุดมการณ์ ทั้งนี้ ยอมรับว่ามีการพูดคุยถึงพรรคใหม่ แต่จะชื่ออะไร ยังไม่ขอเปิดเผย
ส่วนนายคารม พลพรกลาง กล่าวว่า ขอขอบคุณ ส.ส. 55 คน ที่ยังอยู่ร่วมเดินไปข้างหน้าพร้อมกันกับประชาชน ส่วน ส.ส.ที่ย้ายไปสังกัดพรรคอื่น ตนไม่ขอตอบว่ามีผลประโยชน์เกี่ยวข้องหรือไม่ เพราะมีมารยาทพอ ไม่อยากให้ใครเรียกว่ากุ๊ย ขอให้สังคมตั้งคำถามเอง
จี้"สว.-ศาลรธน."ลาออกเพื่อปชช.
ช่วงค่ำ ที่ลานอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถ.ราชดำเนิน มีการจัดกิจกรรมหัวข้อ "ประชาชนเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ" โดยภายในงานมีการปราศรัยจากภาคประชาชน การจัดแสดงคอนเสิร์ตจากวง Rap Against Dictatorship เจ้าของเพลงประเทศกูมี พร้อมกิจกรรมติดสติกเกอร์และโพสต์อิทแสดงความคิดเห็นต่อรัฐธรรมนูญ และยังมีการแจกธงเขียวเพื่อรณรงค์ให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ปราศรัยถึงการชุมนุมของนักศึกษา ซึ่งตนเองรับปราศรัยทั่วราชอาณาจักร ระบุนักศึกษาออกมาชุมนุมเพราะเรื่องยุบพรรคอนาคตใหม่ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่การชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ล่าสุด 4 ชั่วโมง ไม่มีคำว่าอนาคตใหม่หรือนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หลุดมาเลย มีแต่คำว่า "ทวงคืนความฝัน ทวงคืนอนาคต" เป็นคำขวัญที่จุดติดแล้ว ทุกคนเป็นปัญญาชนเหมือนกัน รู้ว่ารัฐธรรมนูญเป็นปัญหาอย่างไร สิ่งที่ทำให้เราไม่มีอนาคต ไม่ใช่แค่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถ้าเปลี่ยนเป็น พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ หรือคนอื่นก็เหมือนกัน รัฐธรรมนูญได้พรากความหวังจากเรา
นายพริษฐ์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540 มีหลักประกันให้เรียนฟรี 12 ปี จบ ม.ปลาย แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่มีเรื่อง ม.ปลายเรียนฟรี คือผ่านไป 20 ปี ต้องมาต่อสู้เรื่องเดิม แทนที่จะพูดเรื่องใหม่ๆ อย่างสิทธิสตรี สิ่งแวดล้อม ต้องมาคุยปัญหาพื้นฐานว่าจะเอาประชาธิปไตยหรือไม่ ทั้งที่ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ชั่วช้าน้อยที่สุด ต้องรื้อทุกอย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์สร้างไว้ คือแผนสืบทอดอำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ใช่แค่ไล่ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ต้องตั้ง ส.ส.ร. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่
"ขอเรียกร้องสามัญสำนึกความเห็นแก่อนาคตจาก 250 ส.ว. ศาลรัฐธรรมนูญ กกต. องค์กรอิสระที่ พล.อ.ประยุทธ์ตั้ง กลับมาอยู่ข้างประชาชน พร้อมใจกันลาออกเพื่อประชาชน" แกนนำ สนท.กล่าว
นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชน มองการเคลื่อนไหวของนักศึกษาจะนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญ โดยเห็นว่าการแก้รัฐธรรมนูญควรเอา 250 ส.ว.และแนวนโยบายแห่งรัฐออก เปลี่ยนให้เป็นเรื่องหน้าที่และความรับผิดชอบของรัฐ ส่วนพรรคสามัญชนคงจะแสดงออกในบทบาทที่ถนัด โดยจะเดินทางจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ รณรงค์ครั้งใหญ่เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |