คลังเดินหน้าตั้ง “ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์” ยืนยันเป็นแหล่งระดมทุนทางเลือกใหม่ของรัฐวิสาหกิจ ไม่เป็นภาระงบประมาณ ประเดิม 2 โครงการลงทุน กทพ. วงเงิน 4.4 หมื่นล้านบาท เปิดขายหน่วยลงทุนได้กลางปี 2561
27 มี.ค.61- นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า การระดมทุนผ่านช่องทางกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์) เป็นแหล่งระดมทุนทางเลือกใหม่ของรัฐวิสาหกิจในการระดมทุนจากฐานนักลงทุนรายย่อยและสถาบันโดยตรง
นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างโอกาสให้ประชาชนในวงกว้างมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของโครงการที่สร้างขึ้น ตลอดจนเป็นการเพิ่มช่องทางการตรวจสอบความคืบหน้าและความโปร่งใสของโครงการด้วย ขณะเดียวกันวิธีการระดมทุนดังกล่าว ยังช่วยให้หน่วยงานของรัฐสามารถนำเงินทุนไปใช้ในการพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศได้มากยิ่งขึ้น โดยไม่เป็นภาระต่องบประมาณ และทำให้ประเทศสามารถใช้แหล่งเงินกู้ที่มีต้นทุนต่ำและมีจำนวนจำกัดไปลงทุนด้านอื่น ๆ ที่จำเป็นและไม่สามารถหารายได้เชิงพาณิชย์ได้ เช่น ด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข ได้เพิ่มขึ้น
สำหรับการระดมทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) วงเงิน 4.4 หมื่นล้านบาท ใช้ก่อสร้างโครงการทางพิเศษพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก วงเงินลงทุน 3.04 หมื่นล้านบาท และโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 และ E–W corridor ด้านตะวันออก วงเงินลงทุน 1.43 หมื่นล้านบาท จะทำให้ กทพ. สามารถลงทุนได้ทันทีโดยไม่ต้องรอสะสมรายได้หรือรอการจัดสรรเงินกู้ในการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อม ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขนาดของสินทรัพย์และความสามารถในการสร้างรายได้ของ กทพ. ในอนาคต คาดว่าจะระดมทุนได้ในกลางปีนี้
นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า กรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการที่รัฐบาลไม่ค้ำประกันเงินกู้ให้รัฐวิสาหกิจของรัฐ 100% โดยรัฐบาลอ้างว่าเป็นภาระต่อหนี้สาธารณะ และให้ กทพ. ไปกู้เงินจากกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ ที่เป็นกองทุนเอกชนมุ่งทำกำไรจากกิจการของรัฐ ว่า การค้ำประกันให้หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ ผลตอบแทนของโครงการ สถานะทางการเงินและความสามารถในการดำเนินงานของหน่วยงาน โดยจะพิจารณาค้ำประกันตามประกาศของกระทรวงการคลังเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการคำประกัน การชำระหนี้ของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และสถาบันการเงิน เพื่อเป็นการรักษาวินัยทางการคลังให้การค้ำประกันอยู่ภายใต้กรอบไม่เกิน 20% ของงบประมาณรายจ่าย
นอกจากนี้ กทพ. เป็นหน่วยงานที่มีฐานะทางการเงินดีและดำเนินโครงการที่มีผลตอบแทนทางการเงินสูง กทพ. จึงสามารถบริหารเงินและภาระหนี้ได้เป็นอย่างดี โดยสามารถชำระคืนหนี้เพื่อลดยอดหนี้คงค้างอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ กทพ. ไม่ต้องขอบรรจุแผนก่อหนี้/ปรับโครงสร้างหนี้ ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2561
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |