เรียนรู้เก็บยา...ถูกวิธี ตัวช่วยชีวิตมีคุณภาพ


เพิ่มเพื่อน    


    เกิด แก่ ..แล้วเจ็บ เป็นเรื่องธรรมชาติที่ต้องเกิดขึ้นกับทุกคน และเมื่อเจ็บหรือต้องการป้องกันไม่ให้เจ็บ บรรดา "ยา" ทั้งหลายจึงกลายเป็น "อาหาร" ประจำชีวิตของผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นยารักษาโรค ยาประจำตัว ยาที่เป็นวิตามินหรืออาหารเสริม
    คุณหมอประจำโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์กล่าวว่า "ยารักษาโรค” เป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ใช้บรรเทาอาการเจ็บป่วยหรือรักษาให้หายขาดจากโรค ไม่ว่าจะเป็นยาสามัญประจำบ้านหรือยารักษาโรคประจำตัวก็ตาม ล้วนต้องมีการเก็บรักษาอย่างถูกวิธี เนื่องจากการเก็บยาที่ไม่เหมาะสม สามารถเป็นสาเหตุของปัญหาและผลเสียต่างๆ ได้ เช่น ยาเสื่อมสภาพก่อนวันหมดอายุ ส่งผลให้ผู้ป่วยไม่หายจากโรค หรือผู้ป่วยได้รับอันตรายจากยาที่เสื่อมสภาพหรือแปรสภาพ เป็นต้น
    ทั้งนี้ปัจจัยที่มีผลต่อการเก็บรักษายา ได้แก่
    "อุณหภูมิ" ควรเก็บยาไว้ในอุณหภูมิที่ระบุตามฉลากหรือเอกสารกำกับยา อุณหภูมิที่สูงหรือต่ำเกินไปสามารถส่งผลต่อคุณภาพของยา โดยทั่วไปแนะนำให้เก็บยาที่อุณหภูมิห้อง ประมาณ 18-25 องศาเซลเซียส แต่ยาบางชนิดอาจต้องเก็บในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส
    "แสงเเดด" ควรเก็บยาไม่ให้โดนแสงเเดด เนื่องจากตัวยาหลายชนิดจะเกิดการแปรสภาพหรือเสื่อมสภาพเมื่อโดนแสงแดดโดยตรง สามารถป้องกันยาจากแสงแดดได้โดยการเก็บยาในภาชนะบรรจุตั้งต้นจากบริษัทยา หรือเก็บในซองหรือกระปุกที่ป้องกันแสงได้


    "ความชื้น" ตัวยาหลายชนิดเมื่อโดนความชื้นจะเกิดการแปรสภาพหรือเสื่อมสภาพ อาจทำให้มีลักษณะเปลี่ยนไป เช่น เม็ดยาบวม หรือเม็ดยาเกาะกันเป็นก้อน เป็นต้น ดังนั้น ควรเก็บยาในภาชนะบรรจุตั้งต้นจากบริษัทยา ควรหลีกเลี่ยงการเก็บยาในบริเวณที่มีความชื้นสูง เช่น ห้องน้ำหรือห้องครัว และปิดฝาขวดยาให้สนิททุกครั้งหลังเปิดใช้
    "อากาศ" ในอากาศปกติจะมีก๊าซต่างๆ ซึ่งก๊าซบางชนิดสามารถเร่งให้เกิดการแปรสภาพหรือเสื่อมสภาพของตัวยาให้เกิดเร็วขึ้น ดังนั้นจึงควรเก็บเม็ดยาไว้ในภาชนะบรรจุตั้งต้น หากไม่จำเป็นไม่ควรนำเม็ดยาออกจากภาชนะบรรจุตั้งต้นก่อนใช้
    คุณหมอยังระบุว่า ปัญหาการเก็บยาที่พบมากที่สุดในปัจจุบัน คือ การเเบ่งยาที่ต้องรับประทานแต่ละมื้อใส่กล่องเตรียมไว้สำหรับแต่ละวันหรือแต่ละสัปดาห์ เพื่อความสะดวกในการใช้ยา โดยการนำเม็ดยาออกจากแผงยาหรือภาชนะบรรจุตั้งต้น แล้วนำเม็ดยามาใส่รวมกันในกล่อง ทำให้ยามีโอกาสสัมผัสกับแสงแดด ความชื้น อากาศ ดังที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งอาจส่งผลเร่งการแปรสภาพหรือเสื่อมสภาพของยา
    ทั้งนี้แล้ว หากท่านมีความจำเป็นต้องแบ่งยาออกมาจากแผงยาหรือภาชนะบรรจุตั้งต้นก็สามารถทำได้ ดังนี้ 1.ยาที่บรรจุในแผงยา วิธีการที่ดีที่สุดควรตัดแผงยาออกเป็นขนาดเล็ก ตามจำนวนเม็ดที่ต้องรับประทาน แล้วใส่ในกล่องแบ่งยา 2.ยาเม็ดเปลือยที่บรรจุในกระปุกยาขนาดใหญ่ ควรแบ่งเม็ดยาใส่กล่องแบ่งยาออกมาทีละน้อย ไม่ควรเกินจำนวนที่รับประทานใน 1 สัปดาห์ นอกจากนี้ กล่องแบ่งยาที่ใช้ควรเป็นภาชนะที่ปิดมิดชิด สามารถป้องกันแสงได้ และแยกยาในแต่ละมื้อหรือแต่ละวันออกจากกันอย่างชัดเจน
    การเก็บยาเพื่อให้ยาคงคุณภาพและปลอดภัยต่อสมาชิกทุกคนในบ้าน นอกจากหลีกเลี่ยงความร้อน ความชื้น และเก็บในอุณหภูมิที่เหมาะสมแล้ว โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีคำแนะนำดีๆ ดังต่อไปนี้ 
    1.ควรแยกยารับประทานและยาใช้ภายนอกออกจากกันอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันความสับสนหรือการหยิบใช้ยาผิดประเภท 2.เก็บยาในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่อับชื้น ไม่มีแสงแดดส่องถึงโดยตรง เช่น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เป็นต้น 3.ควรเก็บยาให้พ้นมือเด็ก เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ 4.สำหรับยาบางชนิดอาจต้องเก็บในตู้เย็น การเก็บยาในตู้เย็นควรเก็บในช่องธรรมดาที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส และควรแยกยาออกจากอาหาร หลีกเลี่ยงการเก็บยาบริเวณฝาตู้เย็นซึ่งเป็นบริเวณที่มีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิบ่อย และห้ามเก็บในช่องแช่แข็ง 5.จัดเก็บยาพร้อมฉลากยาที่ได้รับมา 6.ไม่ควรเก็บยาต่างชนิดกันในบรรจุภัณฑ์เดียวกัน
    ยาบางชนิดอาจมีข้อจำกัดเกี่ยวกับการคงสภาพตลอดอายุของยา เช่น ยาหยอดตามีอายุ 1 เดือนหลังจากเปิดใช้ ยาปฏิชีวนะชนิดแขวนตะกอนบางชนิดที่ผสมน้ำแล้วมีอายุ 1 สัปดาห์ เมื่อเก็บที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส และมีอายุ 2 สัปดาห์ เมื่อเก็บในตู้เย็น เป็นต้น ท่านควรอ่านและปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากยาอย่างละเอียด หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามเภสัชกรโดยตรง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"