ต้องบอกว่าเมืองไทยค่อนข้างโชคดีที่เรามีแหล่งท่องเที่ยวสวยงามอยู่แทบทุกภูมิภาค ที่สำคัญการเลือกเดินทางเที่ยวเมืองไทยนั้นต้องบอกว่า ทั้งสะดวก ทั้งดี และราคาไม่แพง ใครๆ ก็ไปเที่ยวได้ รวมทั้งสามารถพากันไปได้แบบยกครัวทัวร์พร้อมกัน แถมยังเลือกเวลาเดินทางได้ทุกวัน ทั้งวันธรรมดาและวันหยุดสุดสัปดาห์
สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการเดินสายทำบุญ ไหว้พระ ล่าสุด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแพร่ ขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวและผู้สนใจ เที่ยวงาน “ประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่แห่ตุงหลวง ประจำปี 2563” ระหว่างวันที่ 2-8 มีนาคม 2563 ณ วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่
นางสิรินาถ ฉัตรศุภกุล ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแพร่ กล่าวว่า จังหวัดแพร่ ร่วมกับวัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง, ททท. สำนักงานแพร่, สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแพร่, เทศบาลตำบลช่อแฮ, ภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง กำหนดจัดงาน “ประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่แห่ตุงหลวง ประจำปี 2563” ระหว่างวันที่ 2-8 มีนาคม 2563 นับเป็นประเพณีที่จัดต่อเนื่องสืบทอดมายาวนาน แสดงถึงความเลื่อมใสศรัทธาต่อบวรพระพุทธศาสนา และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดแพร่
องค์พระธาตุช่อแฮ เป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ บรรจุพระบรมเกศาธาตุและเป็นโบราณสถานคู่บ้านคู่เมืองแพร่ มีอายุมากกว่า 1,000 ปี เป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีขาล โดยในทุกๆ ปี เมื่อเริ่มวันขึ้น 9 ค่ำ ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ใต้ เดือน 6 เหนือ พุทธศาสนิกชนจะเดินทางมานมัสการพระธาตุช่อแฮ ด้วยความเชื่อว่า พระบรมสารีริกธาตุจะแสดงปาฏิหาริย์ แผ่บารมีปกปักรักษา เป็นสิริมงคลยิ่งแก่ผู้มาสักการะ
ภายในงานมีกิจกรรมต่างๆ ดังนี้ ในวันที่ 2 มีนาคม 2563 เวลา 15.00 น. วันแรกของการจัดงาน ชมขบวนแห่เครื่องสักการะเพื่อบูชาองค์พระธาตุอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา ขบวนช้างเจ้าหลวงเมืองแพร่ ขบวนแห่ตุงหลวง และขบวนเครื่องสักการะจากทั้ง 8 อำเภอในจังหวัดแพร่ ขบวนแห่ผ้าแพรห่มองค์พระธาตุประจำวันเกิด และมีการแสดงพระธรรมเทศนามหาชาติมหาเวสสันดรชาดก การแสดงศิลปวัฒนธรรมและมหรสพอื่นๆ อีกมากมายตลอดทั้ง 7 วัน 7 คืน
ในงานนี้ ททท.ขอเชิญชมการแข่งขัน “ตีกลองปู่จาพญาขาล” อันเป็นศิลปะพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงจาก 8 อำเภอของจังหวัดแพร่ ตั้งแต่เวลา 18.00 น.เป็นต้นไป พร้อมชมการแสดงตีกลองปู่ จากสำนักงาน ททท.ในภาคเหนือ ณ เวทีกลาง (ลานจอดรถทิศตะวันออก) วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง จังหวัดแพร่
นอกจากเดินทางมาร่วมงานบุญแล้ว จังหวัดแพร่ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง อาทิ วัดพระธาตุดอยเล็ง อยู่ในตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ เป็นปูชนียสถานที่สําคัญอีกแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่บนภูเขาสูงทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของพระธาตุช่อแฮ ไม่ปรากฏหลักฐานแน่นอนว่าสร้างพระธาตุดอยเล็งขึ้นเมื่อใด แต่ด้วยภูมิทัศน์ที่ตั้งอยู่บนภูเขาสูง ทำให้สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเมืองแพร่ซึ่งโอบคลุมด้วยภูเขาและผืนป่าได้อย่างงดงาม และทางจังหวัดแพร่ได้จัดทำเป็นระเบียงชมวิวตั้งอยู่ก่อนบันไดทางขึ้นวัด เป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้าที่มองเห็นสายหมอกได้ชัดเจน
วัดพระธาตุถิ่นแถนหลวง ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านถิ่น อำเมือง จังหวัดแพร่ เป็นสถานที่จัดตั้งพุทธอุทยาน และพระบรมธาตุถิ่นแถนหลวง เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในปีกาญจนภิเษก ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี เริ่มการก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2539
พระบรมธาตุเป็นเจดีย์ทรงเหลี่ยมสีขาวขนาดใหญ่ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุจำนวน 109 องค์ ตั้งเด่นเป็นสง่าล้อมด้วยช้างปูนปั้นจำนวน 40 เชือก ตัวเจดีย์ธาตุถูกล้อมรอบด้วยกำแพงอิฐ มีบันไดนาคสามเศียรขึ้นไปสู่ตัวพระบรมธาตุ ภายในกำแพงยังเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมๆ เก็บของเก่าที่ทรงคุณค่า และเป็นที่เก็บคัมภีร์โบราณล้านนา สันนิษฐานว่าเป็นจารึกในสมัยพ่อขุนเม็งรายมหาราช โดยพระครูวิจิตรธรรมาภรณ์ อดีตเจ้าอาวาส เป็นผู้เก็บรักษาไว้
ยังมีพระอุโบสถสีขาวทั้งหลัง ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับพระบรมธาตุ ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าทันใจ พระพุทธรูปที่บันดาลความสำเร็จให้แก่ผู้อธิษฐานขอพรได้อย่างทันอกทันใจตามความเชื่อของชาวล้านนา เป็นที่พึ่งสำหรับคนที่กำลังต้องการสิ่งยึดเหนี่ยวทางใจ ท่ามกลางธรรมชาติที่เงียบสงบ นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาเยือนเมืองแพร่
วัดนาคูหา ตั้งอยู่ที่ตำบลสวนเขื่อน อำเภอเมือง ห่างจากตัวเมืองแพร่ประมาณ 25 กิโลเมตร เป็นวัดที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านนาคูหา ซึ่งอยู่ท่ามกลางขุนเขาและธรรมชาติอันแสนบริสุทธิ์ เป็นแหล่งโอโซนชั้นดี ติดอันดับ 1 ใน 7 ของประเทศไทย มีพระพุทธรูป พระเจ้าทันใจ ขนาดใหญ่อยู่กลางทุ่งนา และมีสะพานไม้ไผ่ที่เรียกว่า “ขรัวแตะ” ทอดยาวจากองค์พระพาดผ่านทุ่งนาสำหรับเดินเล่นรับลมชมวิว มองเห็นธรรมชาติรอบวัดได้อย่างสวยงาม
ภายในวิหารมี “พระเจ้าต๋นหลวง” พระประธาน พุทธศิลป์แบบพื้นถิ่นที่ดูเรียบง่ายแต่ยังคงงดงามเอกลักษณ์แบบล้านนา เพื่อกราบสักการะขอพร เป็นที่เคารพของคนในชุมชน พระเจ้าต๋นหลวงถือได้ว่าเป็นองค์เดียวในเมืองไทยที่ถือลูกสมอและต้องขอพรด้วยลูกสมอเท่านั้น ซึ่งลูกสมอนี้มีขึ้นทั่วไปในหมู่บ้าน โดยการขอพรจะเป็นการขอพรในเรื่องของสุขภาพให้แข็งแรงและปราศจากโรคภัย
ไหว้พระกันเหนื่อยแล้ว ต้องปิดท้ายกันที่ บ้านมัดใจ homemade & café อยู่ในเขตเทศบาลเมืองแพร่ เรือนไม้เล็กๆ ในบรรยากาศอันแสนร่มรื่นและรื่นรมย์ด้วยพันธุ์ไม้น้อยใหญ่ ตกแต่งแบบสุดแสนน่ารักด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้สีอ่อน ผสมผสานกับของประดับสไตล์พื้นเมืองแพร่ และยังเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้สนใจงานศิลปะพื้นถิ่นสไตล์เมืองแพร่ ด้วยกิจกรรมดีๆ ที่สามารถลงมือทำได้ ทั้งงานมัดย้อมฮ่อม งานปั้นเซรามิก และงานปักผ้า รวมทั้งยังมีของที่ระลึกจากเซรามิกที่ปั้นเองขายเองในราคาสบายกระเป๋า
ผู้สนใจไปเดินสายทำบุญและท่องเที่ยวเมืองแพร่ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแพร่ โทรศัพท์ 0-5452-1127 หรือติดตามข้อมูลท่องเที่ยวเมืองแพร่ได้ที่ facebook: TAT Phrae.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |