คำเตือนและคำพยากรณ์เกี่ยวกับผลพวงของการแพร่กระจายโรคระบาด Covid-19 มีทั้งที่ให้ความหวังและความน่ากลัว
คนไทยที่ติดตามข่าวคราวเรื่องนี้ต้องตั้งสติและติดตามข้อมูลด้วยความระมัดระวัง มองให้ครบทุกมิติ ไม่ตระหนก แต่ก็ไม่ประมาท
เพราะไทยเราเองนั้นจะต้องเริ่มวางแผนตั้งแต่วันนี้ ว่าหากสถานการณ์พลิกผัน ไม่ว่าจะเป็นทางบวกหรือทางลบก็ตาม เราจะต้องมี "เรี่ยวแรง" และ "ภูมิคุ้มกัน" ที่จะปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดคิดได้ล่วงหน้าในหลายๆ ด้านทีเดียว
บิล เกตส์ เจ้าพ่อวงการไอทีของสหรัฐฯ ผู้ก่อตั้ง Microsoft ออกมาเตือนว่า หากเจ้าไวรัสอู่ฮั่นแพร่ไปถึงทวีปแอฟริกาล่ะก็ อาจจะทำให้มีคนตายได้ถึง 10 ล้านคน
ขณะเดียวกันผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ Kristalina Georgieva พยากรณ์ว่าเศรษฐกิจจีนอาจสามารถฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและแรงแบบตัว V เพราะจีนมีความสามารถในการพลิกสถานการณ์ได้ค่อนข้างรวดเร็ว
แต่สถานการณ์ในช่วงสองสัปดาห์นี้จะเป็นตัวกำหนดว่า ความเสียหายที่มีต่อเศรษฐกิจโลกจะหนักหน่วงมากน้อยเพียงใด
ความเห็นและแนวทางวิเคราะห์ขณะนี้ มีทั้งด้านที่มีความหวังว่าทุกอย่างน่าจะฟื้นคืนสู่สภาวะปกติได้
แต่อีกด้านหนึ่งคือคำเตือนว่าผลพวงของปัญหาอาจร้ายแรงกว่าที่คิด
บิล เกตส์เห็นมีผู้ติดเชื้อรายแรกที่เมืองไคโรของอียิปย์เมื่อสัปดาห์ก่อน ก็แสดงความกังวลว่าหากโรคนี้ระบาดเข้าไปในทวีปแอฟริกาอาจกลายเป็นปัญหาที่หนักหน่วงร้ายแรงกว่าที่คิดก็ได้
เหตุที่ต้องห่วงเป็นพิเศษก็เพราะระดับความสามารถของประเทศต่างๆ ในทวีปแอัฟรกานั้นอยู่ในระดับที่ยังไม่ได้มาตรฐานสากล
ความน่ากลัวอยู่ตรงที่ว่าหากโรคนี้ระบาดได้เร็วอย่างที่เห็น แม้อัตราเสียชีวิตจะอยู่ที่ประมาณ 2% เศษๆ ของผู้ติดเชื้อ แต่หลายๆ ประเทศในแอฟริกาที่ไม่มีบุคลากรทางแพทย์เพียงพอ อีกทั้งยังมีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการระบาดได้อย่างรวดเร็ว แม้ประเทศที่อยู่ในฐานะที่พร้อมกว่าก็อาจจะไม่รอดจากการตกเป็นเหยื่อของการแพร่ระบาดได้
บิล เกตส์เอาตัวเลข 10 ล้านคนที่อาจจะเสี่ยงกับความตายได้มาจากไหน เขาไม่ได้บอกรายละเอียด แต่เพราะเขาและภรรยาที่ตั้งมูลนิธิขึ้นมาได้เข้าไปช่วยเหลือหลายประเทศในแอฟริกา นั่นย่อมแปลว่าเขามีข้อมูลจากทีมงานวิจัยที่น่าจะช่วยประเมินสถานการณ์ หรือวาดภาพจำลองได้ว่าภาพสมมติที่ "เลวร้ายที่สุด" จะเป็นเช่นไร
ใครจะต้องรับผิดชอบในการเตรียมตั้งรับการกระจายตัวของโรคร้ายนี้สู่ทวีปที่อยู่ในภาวะที่เปราะบางที่สุด?
คำตอบคือองค์การอนามัยโลกหรือ WHO ของสหประชาชาติ
แต่ WHO มิได้มีศักยภาพไร้ขีดจำกัด มีงบประมาณและบุคลากรเพียงแค่สำหรับการบริหารและประสานงาน มากกว่าที่จะมีขีดความสามารถในการ "ทำสงคราม" กับโรคระบาดได้อย่างที่คาดหวังกัน
อีกทั้งหากประเทศใหญ่ๆ ที่ควรจะมีบทบาทสำคัญในการตั้งป้อมปราการเพื่อช่วยเหลือประเทศยากจนทั้งหลายก็ได้รับผลกระทบจากโรคนี้ จนทำให้อยู่ในฐานะที่ต้องป้องกันตัวเองก่อนช่วยเหลือคนอื่นด้วยแล้ว
ก็ยิ่งน่าเป็นห่วงว่าหากภาพเลวร้ายที่บิล เกตส์นำเสนอนั้นเกิดขึ้นจริง จะมีวิธีการทำศึกสงครามกับเจ้าไวรัสตัวนี้อย่างไร
ต้องไม่ลืมว่าจีนได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญในทวีปแอฟริกาอย่างยิ่ง เพราะปักกิ่งไปลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานและธุรกิจจีนในรูปแบบต่างๆ อย่างมากมายในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา
นั่นย่อมหมายความว่า มีคนจีนอาศัยอยู่ในแอฟริกาหลายๆ ประเทศอย่างแพร่หลาย โอกาสของการติดเชื้อไวรัสอู่ฮั่นก็น่าจะสูงพอสมควร
นั่นคงเป็นสาเหตุที่ทำให้บิล เกตส์ออกมาเตือนด้วยเนื้อหาที่สร้างความหวาดหวั่นได้ไม่น้อย
เมื่อเห็นภาพสมมติที่น่ากลัวเช่นนี้ ภาพอีกด้านหนึ่งที่ว่าเศรษฐกิจจีนอาจจะเด้งกลับมาได้รวดเร็วกว่าที่คาดก็อาจจะต้องถูกนำมาประเมินพร้อมๆ กัน
เพื่อหาภาพผสมผสานด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจให้ชัดเจน เพื่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะได้ร่วมกันหาทางออกที่สอดคล้องกับความเป็นจริงในทุกระยะให้จงได้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |