'เล่าเรื่องห้องสมุดฟินแลนด์' เสาหลักฐานการศึกษาและการเรียนรู้


เพิ่มเพื่อน    

 

     ฟินแลนด์เป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับการยอมรับว่ามีคุณภาพด้านการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก จากโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (Programme for International Student Assessment  หรือ PISA) ในปี 2558 ซึ่งความสำเร็จมาจากหลายปัจจัยรวมกัน หนึ่งในนั้นคือการเรียนรู้จากห้องสมุด  ที่จะเห็นว่าฟินแลนด์ให้ความสำคัญกับห้องสมุดมาก 
    ขณะที่หลายประเทศกำลังเผชิญปัญหาถูกตัดงบประมาณห้องสมุด เนื่องจากมีผู้ใช้บริการลดลง  ตั้งแต่ปี 2010 ห้องสมุดกว่า 478 แห่งทั่วอังกฤษ เวลส์ และสกอตแลนด์ปิดตัวลง แต่สำหรับ  "ฟินแลนด์" กลับสวนกระแสโดยสิ้นเชิง ประชากรฟินแลนด์ยังคงหลงใหลกับการอ่านหนังสือและทำกิจกรรมต่างๆ ในห้องสมุด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของฟินแลนด์ได้อุดหนุนงบประมาณด้านห้องสมุดหลายประการ มีบริการห้องสมุดอยู่ทุกมุมเมืองของประเทศ ตั้งแต่ขนาดใหญ่มหึมาจนถึงขนาดเล็ก ที่สำคัญคือให้บริการฟรีทั้งหมด เพื่อเป็นคลังเรียนรู้และใช้ประโยชน์อย่างหลากหลาย ตอกย้ำคุณค่าของการศึกษาที่ฟินแลนด์ให้ความสำคัญมาตลอด

    ภายในงาน "LIT Fest เทศกาลหนังสือสนุกไฟลุกพรึ่บ" ที่มิวเซียมสยาม เมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา ในงานเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้หัวข้อ "เล่าเรื่องห้องสมุดฟินแลนด์" ได้มีการยกตัวอย่างห้องสมุดเมืองเอสโป (Espoo City Library) เป็นห้องสมุดที่ได้รับรางวัลห้องสมุดยอดเยี่ยมประจำปี 2562 จากการประกาศผลในงานเทศกาลหนังสือกรุงลอนดอน หรือ London Book Fair 2019 สามารถเอาชนะห้องสมุดที่เข้ารอบสุดท้ายอีกสองแห่งจากประเทศบราซิลและแซมเบีย โดยคณะกรรมการมีความเห็นตรงกันว่า ห้องสมุดเมืองเอสโปเป็นตัวอย่างที่ดีให้โลกได้เล็งเห็นถึงการเปิดกว้างและสร้างสรรค์นวัตกรรมการบริการสำหรับคนทุกคน ประสบความสำเร็จในการปลูกฝังนิสัยการอ่านที่ครอบคลุมทุกกลุ่มอายุ โครงการกิจกรรมเพื่อชุมชนสามารถเข้าถึงจิตใจทุกผู้คนในเมือง เปิดรับการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ  และขยายผลการเรียนรู้ไปยังผู้สูงวัย กลุ่มคนที่มีความต้องการพิเศษ และบรรดาผู้อพยพลี้ภัย

 


    ยานา เตอร์นิ (Ms.Jaana Tyrni) Director of Library services, Espoo City Library เล่าว่า เอสโปเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของฟินแลนด์ และห้องสมุดเมืองเอสโปเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายห้องสมุดเขตพื้นที่มหานครเฮลซิงกิ มีห้องสมุดสาขาเกือบ 20 แห่ง รถห้องสมุดเคลื่อนที่ 2 คัน และบริการจัดส่งหนังสือถึงบ้านสำหรับคนที่ไม่สามารถเข้าถึงห้องสมุดได้ด้วยตัวเอง ห้องสมุดขนาดใหญ่จะตั้งอยู่ในศูนย์การค้าและเปิดให้บริการทุกวันไม่มีวันหยุด ส่วนห้องสมุดขนาดเล็กจะกระจายอยู่บริเวณย่านชานเมือง  ส่วนใหญ่ดำเนินการโดยให้ผู้ใช้งานบริการตนเอง ไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่ประจำห้องสมุดใช้ความเชื่อใจ โดยทั่วไปจะเปิดให้บริการตั้งแต่เช้าตรู่และปิดช้ากว่าปกติ ยืดหยุ่นได้ตามไลฟ์สไตล์ของคน ด้วยวิธีการเช่นนี้เราจึงสามารถเพิ่มระยะเวลาการให้บริการได้เพิ่มขึ้นถึงสองเท่า 
    ส่วนภาพรวมห้องสมุดของฟินแลนด์ ยานา เล่าว่าห้องสมุดได้ปรับตัวเป็นพื้นที่ที่มีชีวิตชีวาสำหรับผู้คน เยาวชนวัยรุ่นมีสถานที่นัดหมายพบปะเพื่อนฝูงในห้องสมุด คนทั่วไปเข้ามาร่วมกิจกรรมเวิร์กช็อปการเล่นอูคูเลเล หรือเข้ามาใช้งานพื้นที่เมกเกอร์สเปซ ส่วนผู้อพยพลี้ภัยก็เข้ามาเรียนภาษาฟินนิช และใช้บริการที่จำเป็นจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเข้ามาให้บริการแก่คนกลุ่มนี้ถึงในห้องสมุด กล่าวได้ว่ามีผู้อพยพจำนวนมากอาศัยในฟินแลนด์ มาจากหลากหลายเชื้อชาติ จึงทำให้เรามีการให้บริการห้องสมุดแก่พวกเขา รวมถึงห้องสมุดเคลื่อนที่ในป่า ป่าที่ว่านี้คือป่าโปร่งไม่ใช่ป่าดิบชื้น การให้บริการแก่ผู้อพยพจะเป็นการช่วยเหลือว่าพวกเขาต้องการอะไร ซึ่งความต้องการของผู้อพยพจะเป็นเรื่องของภาษา อยากได้หนังสือเรียนภาษาฟินแลนด์ พวกเขาคิดว่าทำอย่างไรจึงจะสามารถสื่อสารกับชาวฟินแลนด์ได้ หลายคนอยากออกไปใช้ชีวิตข้างนอก ก็อยากรู้พื้นฐานการใช้ชีวิต จะสามารถใช้รถบัส บริการขนส่งมวลชนอย่างไร การใช้ห้องสมุดในพื้นที่อื่นๆ จะทำบัตรอย่างไร ใช้บัตรอย่างไร เป็นการช่วยเรื่องการใช้ชีวิตใหม่ของผู้อพยพเหล่านี้

     นอกจากนี้ยังมีบริการให้คนฟินแลนด์มาพบกับผู้อพยพด้วย พูดคุยกันเพื่อให้ผู้อพยพมีเพื่อน เพราะเขาอาจจะเข้าไม่ถึงคนฟินแลนด์ นอกจากนี้ก็มีการช่วยเหลือเรื่องการกรอกแบบฟอร์ม การจัดการชีวิตประจำวัน อาจจะมีอะไรต้องทำกับภาครัฐ ก็มีบริการ ตรวจเช็กสุขภาพ ฯลฯ ดังนั้นห้องสมุดก็เป็นพื้นที่พบปะคนทุกคน 
    "ฟินแลนด์ก็เคยประสบปัญหาเรื่องความคิดที่จะปิดบริการห้องสมุด แต่เมื่อพิจารณาดูจากจำนวนสถิติการยืมคืนหนังสือช่วงปีที่ผ่านมา พบว่ามีมากถึง 4 ล้านครั้ง จากจำนวนประชากร 5.5 ล้านคน และมีสถิติจากห้องสมุดกลางโอดิ ซึ่งเป็นห้องสมุดแห่งชาติที่รัฐบาลสร้างเป็นของขวัญให้ประชาชน คือ 3  ล้านครั้ง พิสูจน์ได้ว่าคนยังอ่านหนังสืออยู่ แต่ที่เปลี่ยนคือพฤติกรรมคน คือมีการยืมคืนผ่านเว็บไซต์มากขึ้น แต่เด็กรุ่นใหม่ใช้เป็นพื้นที่พบปะเพื่อนฝูง ห้องสมุดในฟินแลนด์ทุกแห่งล้วนปรับตัวไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้นรางวัลที่ห้องสมุดเมืองเอสโปได้รับจึงแสดงให้เห็นถึงการยอมรับในระดับนานาชาติ ว่าการทำงานมาอย่างยาวนานของห้องสมุดในฟินแลนด์นั้นประสบความสำเร็จ" ยานา เตอร์นิกล่าว 

 


    เธอกล่าวสรุปด้วยว่า การสร้างรากฐานวัฒนธรรมจากสิ่งที่พื้นฐานมาจากความเชื่อว่าการอ่านออกเขียนได้สำคัญ และต้องให้คุณค่าเพื่อที่จะได้มีสิทธิและความเสมอภาคในสังคมได้ ครอบครัวช่วยสร้างนิสัยรักการอ่าน โรงเรียนช่วยสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ รัฐจัดหาพื้นที่และสิ่งพิมพ์เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างเสมอภาค ข้อมูลและการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ เป็นเรื่องสำคัญ และเมื่อวันเวลาหมุนไป เทคโนโลยีต่างๆ ที่เริ่มเปลี่ยนไป ห้องสมุดต้องตามทุกสิ่งให้ทัน และทำหน้าที่เป็นแหล่งข้อมูลเหล่านั้น  ดังนั้นสิ่งที่อาจทำได้ในห้องสมุดฟินแลนด์จะไม่เป็นแค่เพียงการอ่านอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นการทำให้ข้อมูลที่เคยอยู่ในรูปแบบเดิมๆ อย่างเทปคาสเซตหรือแผ่นเสียงกลายเป็นไฟล์ดิจิทัล เพราะเมื่อข้อมูลถูกแปรเปลี่ยนให้เป็นรูปแบบดิจิทัลแล้ว การแลกเปลี่ยนและเข้าถึงก็จะง่ายขึ้นเป็นกอง งานศิลปะต่างๆ  ก็ถือเป็นสิ่งที่พบได้ในห้องสมุด และงานศิลปะในและนอกห้องสมุดฟินแลนด์ก็มีตั้งแต่ภาพวาดไปจนถึงการแสดงต่างๆ 
    ด้านกุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการศึกษาฟินแลนด์ กล่าวว่า ภาพรวมของระบบการศึกษาฟินแลนด์เป็นระบบที่มองเห็นความหลากหลายของการเรียนรู้ของคนแต่ละคน ในเมืองเอสโปจะเรียนรู้ในโรงเรียนแค่ 1 ส่วน อีก 2 ส่วนเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียน เรียนรู้ตามอัธยาศัย ไม่ว่าจะเป็นที่ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ สวนสาธารณะ ทุกพื้นที่ถูกแปลงเป็นแหล่งเรียนรู้ได้หมด เช่นเด็กๆ ไปเก็บเห็ด  เก็บเบอร์รีในป่าก็เป็นการเรียนรู้ เพราะเขาจะได้ความรู้ว่าเห็ดชนิดไหนกินได้ ชนิดไหนกินไม่ได้ ฯลฯ นี่คือหลักการพัฒนาระบบการศึกษาทั้งหมดของฟินแลนด์
     ในส่วนของห้องสมุดฟินแลนด์ ห้องสมุดกลางเฮลซิงกิ "โอดิ" เป็นของขวัญวันครบรอบ 100 ปีประเทศฟินแลนด์ รัฐบาลสร้างห้องสมุดแห่งนี้ให้ประชาชนเป็นเวลานานถึง 10 ปี ที่สร้างนานเพราะเขารับฟังความต้องการของประชาชนตั้งแต่วันแรกที่จะสร้างห้องสมุด ทำให้คนรู้สึกว่าเขาคือเจ้าของห้องสมุด มีส่วนช่วยคิดสร้างห้องสมุด แล้วห้องสมุดแห่งนี้อยู่ใจกลางเมือง เดินทางด้วยรถไฟฟ้าถึงเลย ไม่ต้องบุกป่าฝ่าดง หาไม่ยาก หากเข้าไปจะพบผู้คนจำนวนมาก ทั้งเด็ก คนแก่ นักท่องเที่ยว ในนั้นมีการออกแบบพื้นที่การอ่านหลายแบบมาก ตั้งแต่โซนเปิด โซนนั่งคนเดียว โซนประชุม ทำกิจกรรม ฉะนั้นจะไม่เห็นธุรกิจเวิร์กกิงสเปซในเมืองนี้เลย     
    กุลธิดากล่าวต่อว่า วัฒนธรรมการอ่านมีความสำคัญอย่างมากกับฟินแลนด์ ประเทศไทยไม่ได้มีพระราชบัญญัติห้องสมุดสาธารณะอย่างที่ฟินแลนด์มี ทำให้เราขาดแผนที่เอาไว้บริหารจัดการห้องสมุดให้มีประสิทธิภาพ ทำให้ไม่มีงบจัดการ ยกตัวอย่างในโรงเรียน จะเป็นลักษณะเงินเหลือจากการจัดการบริหารจัดการส่วนอื่นก่อน แล้วค่อยนำมาจัดการกับห้องสมุด ขึ้นอยู่กับว่าโรงเรียนนั้นจะให้ความสำคัญมากน้อยแค่ไหน สิ่งที่เห็นห้องสมุดหลายๆ แห่งในประเทศไทยจะเป็นหนังสือบริจาค หนังสือเก่าๆ เท่านั้น ไม่ค่อยพบเห็นหนังสือใหม่ ฉะนั้นเราควรจะมีแผนห้องสมุดชัดเจน อย่างมากที่สุดคือทุกโรงเรียนต้องมีห้องสมุด หรือคิดง่ายๆ คนอยู่ที่ไหนมากก็เอาห้องสมุดไปไว้ที่นั่น นำความรู้ไปหาคนเพื่อที่คนจะได้สะดวกต่อการเข้าถึง การออกแบบนโยบายหรือแผนอะไรต้องมองเห็นคนอยู่ในนั้นด้วย ถ้าพูดถึงการอ่านมีความสำคัญอย่างไรกับชาวฟินแลนด์ หนังสือเจ็ดภราดร (Seitsemän Veljestä) ประพันธ์โดย อเล็กซิส กิวิ (Alexis Kivi) ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1870 แสดงความสมจริงของเนื้อเรื่องเกี่ยวกับชีวิตผู้คนในสมัยนั้น ทั้งยังเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของวัฒนธรรมการอ่านของฟินแลนด์ ในฐานะรากฐานของประเทศอีกด้วย การอ่านออกเขียนได้จึงนับได้ว่าเป็นกุญแจสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ฟินแลนด์ใช้สร้างความเสมอภาคในประเทศได้สำเร็จ การอ่านและการศึกษาจึงถือเป็นเรื่องเดียวกัน และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาประเทศมาได้จนถึงทุกวันนี้
    "ไม่ใช่แค่เป็นห้องสมุด แต่ฟินแลนด์ยังสนับสนุนให้คนแก่มาเป็นอาสาสมัครช่วยสอนการบ้านเด็กๆ  แล้วก็ฝึกสุนัขมานั่งฟังเด็กอ่านหนังสือ เพื่อที่จะให้เด็กรู้สึกว่ามีคนฟังเขา ไม่โดดเดี่ยว นี่เป็นการส่งเสริมให้เด็กชอบอ่านหนังสือ จึงไม่แปลกที่ฟินแลนด์จะโดดเด่นเรื่องการศึกษา ภาพใหญ่ของฟินแลนด์ปี  2016 งบประมาณเทียบต่อหัวประชากร 2,171 บาท เราเห็นการกระจายตัวของห้องสมุด ในพื้นที่ห้องสมุดในพื้นที่คนอยู่มาก เคลื่อนที่เป็นจุด และเป็นรถเคลื่อนที่ ช่องทางเรือก็มี คนสะดวกช่องทางไหน ห้องสมุดก็ไปหา บริการห้องสมุดฟินแลนด์เดินหน้าไปไม่หยุดยั้งสัมพันธ์กับพัฒนาการอ่านของเด็กๆ มีการฝึกสุนัขให้มานั่งฟังเด็กอ่านหนังสือ เหมือนเด็กรู้สึกว่ามีใครสักคนมานั่งฟังเขาอ่าน นั่นคือการเสริมแรงให้เด็กมีกำลังใจในการอ่าน ชอบอ่านหนังสือ" กุลธิดา กล่าวสรุป

 


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"