วันที่ 24 ก.พ. นายสุนิติ จุฑามาศ นักวิชาการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (ศมส.) กล่าว ในการเสวนา หัวข้อ “ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ และพลวัตทางสังคมวัฒนธรรมของชาวมุสลิมในกรุงเทพใต้” เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า จากความเจริญประเทศที่ดำเนินไปตามยุคสมัย ทำให้วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ศมส. จึงดำเนินการโครงการศึกษาพลวัตของสังคมวัฒนธรรมในชุมชนชาติพันธุ์ของคนไทย เพื่อการสร้างแผนที่มีชีวิต ทำให้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงและนำมาใช้ประกอบการศึกษาข้อมูลนำไปในพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน และประเทศในด้านต่างๆ เบื้องต้นได้ทำการศึกษาข้อมูลกลุ่มชาวมุสลิมในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งถือเป็นย่านประวัติศาสตร์ที่มีความเป็นมายาวนาน โดยเฉพาะย่านกรุงเทพใต้ หรือ พระนครใต้ ได้แก่ เขตบางรัก สาทร บางคอแหลม และยานนาวา นับว่าเป็นย่านเศรษฐกิจ และที่อยู่อาศัยที่สำคัญของเมืองหลวงของไทยมาจนถึงปัจจุบัน ในอดีตย่านนี้เต็มไปด้วยสวนผลไม้และทุ่งนา ทางการได้จัดสรรให้พื้นที่ทางตอนใต้ของพระนครเป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างชาติ ต่างภาษา กลุ่มคนแรกที่ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่คือชาวทวาย ชาวมลายูมุสลิม และชาวจีน รวมถึงชาวตะวันตก
นายสุนิติ กล่าวว่า ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้มีการตัดถนนเจริญกรุงตอนล่างไปสุดยังถนนตก ทำให้ความเจริญของเมือง เปลี่ยนลักษณะภูมิวัฒนธรรมของพื้นที่กลายเป็นย่านค้าขาย ห้างร้าน โกดัง ท่าเรือ เริ่มมีการการตัดถนนเข้าเรือกสวนไร่นาและลงหลักปักฐาน พื้นที่นี้จึงดึงดูดให้กลุ่มคนต่างๆ เข้ามาอยู่อาศัยทำมาหากิน รวมถึงชาวมุสลิมกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ทั้งชาวอินเดีย ได้แก่ กุจาราตีเบงกาลี และทมิฬ ชาวชวา และกลุ่มชาติพันธุ์จากหมู่เกาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิชาวโบยัน ชาวบัรยัร ซึ่งภายหลังกลมกลืนไปกับชาวมุสลิมกลุ่มใหญ่ จนถึงปัจจุบันที่รวมไปถึงชาวมุสลิมนานาชาติ ที่เข้ามาประกอบอาชีพ เช่น ชาวมุสลิมจากแอฟริกาตะวันออก ตุรกี อิหร่าน เมียนมา ที่มาตั้งถิ่นฐานอยู่ในย่านกรุงเทพใต้จนเกิดเป็นชุมชนทางกายภาพที่มี “มัสยิด” เป็นศูนย์กลางทางจิตวิญญาณ และกิจกรรมต่างๆ ปัจจุบันมีชุมชนมัสยิด อยู่ 17 แห่ง ล้วนมีประวัติความเป็นมา มีอัตลักษณ์ผสมผสานความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม ทั้งค่านิยม ภาษา อาหาร เครื่องแต่งกาย ศิลปะ และสถาปัตยกรรม ความหลากหลายของแนวทางปฏิบัติ สำนักคิด อาชีพ การศึกษา การปฏิสัมพันธ์ชุมชนต่างวัฒนธรรม เป็นปัจจัยที่สร้างอัตลักษณ์และรูปแบบวิถีชีวิตของชาวมุสลิมในย่านนี้
" การศึกษาครั้งนี้ เราสามารถนำใช้เป็นต้นแบบประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าไทม์ไลน์ชุมชน และบริบทสังคม การเมือง เศรษฐกิจ แนวคิดทางศาสนา ว่า จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของชุมชน วิถีวัฒนธรรม รวมถึงการเป็นเมืองอย่างไรบ้างเพื่อนำมาวิเคราะห์ โดยเฉพาะระบบการศึกษาของชาวมุสลิม ซึ่งย่านกรุงเทพใต้นี้ ถือเป็นจุดศูนย์กลางของการศึกษาด้านศาสนามาตั้งแต่อดีต คือ สำนักอภิธรรมอันยุมันอิสลาม ที่มีชาวมุสลิมทั้งในและต่างจังหวัดเข้ามาศึกษา รวมถึงการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนที่มีการสร้างมัสยิด โรงเรียน สาธารณูประโยชน์ และความเชื่อมโยงจุดอื่นๆ การเปลี่ยนผ่านประวัติศาสตร์แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ค่อยมีการเก็บบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร มีเพียงเรื่องเล่า ข้อมูลบางอย่างจึงขาดช่วง จึงควรมีการศึกษาอย่างจริงจัง ซึ่ง ล่าสุดสำนักจุฬาราชมนตรี ได้ออกประกาศให้มัสยิดเป็นศูนย์กลางแหล่งเรียนรู้พหุวัฒนธรรม เพื่อสร้างบริบทสังคมพหุวัฒนธรรม เกิดความเข้าใจระหว่างคนต่างศาสนาและระหว่างศาสนา ตลอดจนส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้อีกด้วย" นายสุนิติ กล่าว