เริ่มต้นปี เริ่มต้น "ออม"


เพิ่มเพื่อน    

เริ่มต้นปี 2561 อย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่ผ่านมา หลายคนมีความสุขกับเทศกาลดังกล่าวอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากนั้น “ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจและเศรษฐกิจฐานรากธนาคารออมสิน” ได้มีการสำรวจการใช้จ่ายของประชาชนระดับฐานรากในช่วงเทศกาลดังกล่าว จากกลุ่มตัวอย่างประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาททั่วประเทศ จำนวน 1,849 ตัวอย่าง พบว่า ภาพรวมการใช้จ่ายของประชาชนระดับฐานรากในช่วงเทศกาลปีใหม่ คาดว่าจะมีการจับจ่ายใช้สอยประมาณ 57,000 ล้านบาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 3,765 บาท

ทั้งนี้ การใช้จ่ายดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว ในมุมเศรษฐกิจก็ถือเป็นการช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจให้เข้มแข็งขึ้น ถือเป็นเรื่องที่ดีกับประเทศในส่วนหนึ่ง

ขณะที่เชื่อว่าประชาชนในกลุ่มฐานรากส่วนใหญ่ หลังจากมีการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลแห่งความสุขผ่านไปแล้ว ก็จะหันหน้ากลับมา “ออมเงิน” เพื่อไว้ใช้จ่ายในเทศกาลอื่นๆ หรือเพื่อเป็นเงินออมไว้ใช้ยามฉุกเฉินอีกครั้ง ซึ่งในส่วนนี้ถือว่าตรงกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการสนับสนุนให้คนออมเงินไว้ใช้จ่ายยามจำเป็นมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้นอกจากจะถือเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างมาก ในมุมของรัฐบาลก็ได้รับประโยชน์ไปด้วย เพราะหากเป็นเงินออมที่เก็บไว้ใช้ยามเกษียณ ไม่ได้ทำงาน ก็จะช่วยทำให้รัฐประหยัดงบประมาณในการดูแลส่วนนี้ลง และสามารถนำงบประมาณไปเสริมในส่วนที่จำเป็นของประเทศ เพื่อให้ประเทศเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องได้อีกด้วย

ทั้งนี้ เมื่อมองย้อนกลับไปดูพฤติกรรมการออมของนักออมของไทย ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 “ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล” ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ได้เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “พฤติกรรมการออมและภาวะหนี้สินของประชาชนในช่วงครึ่งแรกของปี 2560” ซึ่งพบว่า คนส่วนใหญ่ยังมีรายได้ที่ใกล้เคียงกับรายจ่าย คือ มีรายได้เฉลี่ย 26,470 บาทต่อเดือน ขณะที่รายจ่ายอยู่ที่ 21,607 บาทต่อเดือน และมีหนี้สินเฉลี่ยที่ 565,302 บาท

โดยประชาชนกว่า 51.65% เป็นกลุ่มที่มีเงินออม ขณะที่ประชาชนอีกกว่า 48.30% เป็นกลุ่มที่ไม่มีเงินออม ส่วนอีก 0.05% ไม่ระบุในส่วนนี้ ขณะที่ประชาชน 50.05% คาดว่าเงินออมที่มีเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนได้ และอีกกว่า 41.92% ไม่เพียงพอ ส่วนอีก 8.03% ไม่ได้ระบุแยกย่อยลงไปในรายละเอียดของการออมแต่ละวัตถุประสงค์ พบว่า 48.79% เป็นการออมเพื่อไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน ส่วนอีก 38.33% เป็นการออมเพื่อสำรองไว้ใช้ในอนาคต ขณะที่ 26.91% เป็นการออมเพื่อการศึกษา และอีก 12.58% เป็นการออมเพื่อไว้ใช้ในยามเกษียณนั่นเอง

และด้วยปัจจัยเรื่องสถานการณ์ประชากรในประเทศไทย ที่จำนวนผู้สูงอายุมีเพิ่มขึ้น สวนทางกับจำนวนเด็กเกิดใหม่และประชากรในวัยทำงาน นี่จึงอาจเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ “รัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการออมของประชาชนมากยิ่งขึ้น” ผ่านมาตรการสนับสนุนการออมเงินของผู้สูงอายุ ซึ่งมี 2 รูปแบบ คือการออมของแรงงานในระบบ และการออมของแรงงานนอกระบบ โดยในส่วนนี้แบ่งเป็น 2 แนวทาง ได้แก่ 1.กองทุนประกันสังคม และ 2.กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ที่รองรับแรงงานนอกระบบให้สามารถเข้ามาออมเงินเพื่อให้มีเงินใช้ในยามเกษียณอายุได้

ต้องยอมรับว่าประเด็นเรื่อง “การออม” ถือเป็นสิ่งที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลมาโดยตลอด เพราะถือเป็นเรื่องที่มีประโยชน์กับทุกฝ่าย โดยเฉพาะตัวผู้ออมเอง แต่ก็มีอีกประเด็นที่น่าสนใจ เมื่อ “สถานการณ์หนี้ครัวเรือน” ที่ยังอยู่ในระดับสูง แม้ว่าจะชะลอลงมาบ้างแล้ว แต่ก็อาจเป็นปัจจัยกดดันให้การออมของประชาชนอาจทำหน้าที่ได้ไม่เต็มศักยภาพมากพอ ปัจจัยเสี่ยงด้านนี้ไม่เพียงกดดันเรื่องการออมเท่านั้น แต่ยังส่งผลกดดันไปถึงความสามารถในการใช้จ่ายของประชาชนในระดับฐานรากอีกด้วย จึงอาจเป็นประเด็นที่ต้องติดตามกันต่อไป แต่อย่างไรก็ดี “การออม” ก็ถือเป็นประโยชน์สูงสุด เป็นเรื่องที่ดี และเป็นเรื่องที่น่าสนับสนุนอยู่แล้ว.

ครองขวัญ รอดหมวน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"