ปัญหาเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปีจมน้ำเสียชีวิตในช่วงปิดเทอมช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมของทุกปี เป็นอันตรายต่อเด็กและเยาวชน ล่าสุด “Save the Children” องค์กรระหว่างประเทศ ที่ดำเนินงานด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเด็ก โดยการสนับสนุนจาก “แฟมิลี่มาร์ท ประเทศญี่ปุ่น” จัดงาน “ห่วงใย#เด็กไทยไม่จมน้ำ” เพื่อแสดงผลงานของโรงเรียนที่เข้าร่วม “โครงการจัดการเรียนรู้เรื่องการว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด” ณ สปอร์ต ซิตี้ ถนนประชาชื่น โดยโครงการนำร่องพื้นที่ปลอดภัย จากภัยการจมน้ำให้แก่โรงเรียนและชุมชน เพื่อลดการบาดเจ็บและการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็ก ผ่านการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยทางน้ำ และการสอนว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดในโรงเรียนระดับประถมศึกษา ซึ่งตลอดปี 2562 ที่ผ่านมานั้น โครงการนี้ได้สร้างเยาวชนผ่านการฝึกอบรมทักษะการว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด และเรียนรู้วิธีการช่วยเหลือคนตกน้ำได้มากกว่า 4,000 คน สร้างบุคลากรครูที่มีความรู้ เกี่ยวกับความปลอดภัยทางน้ำได้กว่า 300 คน จาก 8 โรงเรียนนำร่อง
(การลอยตัวในน้ำด้วยอุปกรณ์เพื่อเอาชีวิตรอด กระทั่งเริ่มลอยตัวได้จึงนำอุปกรณ์ออก หรือท่าปลาดาว ที่จะทำให้เด็กๆ ลอยตัวในน้ำได้ 3-5 ชั่วโมง กระทั่งมีคนมาช่วยเหลือ)
สำหรับข้อมูลทางสถิติจากสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค ระบุว่า ปี พ.ศ.2561 พบเด็กอายุต่ำกว่า 1-15 ปี จมน้ำเสียชีวิตมากถึง 681 คน โดยช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนมีอัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กมากกว่าช่วงอื่นๆ ของปี เดือนเมษายน 84 คน รองลงมาคือเดือนมีนาคม 76 คน และเดือนพฤษภาคม หรือ 1 ใน 3 ของการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กตลอดทั้งปี ซึ่งสาเหตุของการเสียชีวิตเกินครึ่งเกิดขึ้นระหว่างการชวนกันไปเล่นน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติ และเด็กส่วนใหญ่ขาดทักษะการว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด และไม่รู้วิธีการช่วยเหลือที่ถูกต้อง ข้อมูลยังระบุอีกว่า เด็กเล็ก สามารถจมน้ำได้ในน้ำที่ลึกเพียง 1-2 นิ้ว และส่วนใหญ่เกิดขึ้นในแหล่งน้ำภายในบ้านและบริเวณใกล้เคียง อาทิ อ่างอาบน้ำ อ่างเลี้ยงปลา บ่อน้ำ หรือห้วยหนองคลองบึง เป็นต้น
(ประเสริฐ ทีปะนาถ)
คุณประเสริฐ ทีปะนาถ ผู้อำนวยการองค์การช่วยเหลือเด็ก “Save the Children บอกว่า “ในฐานะองค์กรที่มุ่งเน้นการดูแลความปลอดภัยของเด็กได้จัดโครงการจัดการเรียนรู้เรื่องการว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2559 โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากแฟมิลี่มาร์ท ประเทศญี่ปุ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้โรงเรียนและครอบครัว รวมถึงชุมชน มีความตระหนักรู้และมีทักษะในการป้องกันการจมน้ำ โดยคุณครูสามารถจัดแผนการเรียนรู้เรื่องความปลอดภัยทางน้ำและการว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดให้แก่นักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษา ทั้งภาคปฏิบัติและภาคทฤษฎีแบบบูรณาการ ผ่านคู่มือการจัดการเรียนรู้ที่ Save the Children ได้ร่วมกับคุณครูภายใต้ 3 สังกัด ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และกรุงเทพมหานคร ล่าสุดในปีการศึกษา 2562 มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 8 โรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานคร (โรงเรียน ประกอบด้วยเด็กนักเรียน จำนวน 4,360 คน และคุณครู-บุคลากร จำนวน 321 คน และได้จัดงาน ห่วงใย #เด็กไทยไม่จมน้ำ เพื่อแสดงผลงานของนักเรียนและครู เปิดโอกาสให้เกิดพื้นที่การเรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจ ต่อยอดการนำผลงานไปประยุกต์ใช้ในการทำงานป้องกันเด็กจมน้ำ รวมทั้งแสดงความขอบคุณทุกภาคส่วนในการสนับสนุนโครงการ และโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการจากทั้ง 3 สังกัดด้วย
“เด็กนักเรียนในโครงการได้เรียนรู้ทักษะสำคัญ 5 ด้านทักษะความปลอดภัยทางน้ำ ได้แก่ 1.เรียนรู้จุดเสี่ยงและพฤติกรรมเสี่ยงต่อการจมน้ำ โดยเน้นหลัก “อย่าใกล้ อย่าเก็บ อย่าก้ม” 2.ทักษะการลอยตัวในน้ำได้อย่างน้อย 3 นาที 3.ทักษะการเคลื่อนที่ในน้ำได้อย่างน้อย 15 เมตร 4.ทักษะการช่วยเหลือคนตกน้ำอย่างถูกต้องด้วยหลักการ “ตะโกน โยน ยื่น” 5.ทักษะการใช้ชูชีพอย่างถูกต้อง
(กิจกรรมปั้นดินน้ำมันในเด็กเล็กๆ เพื่อให้รู้จุดเสี่ยงในการพลัดตกและจมน้ำได้)
เนื่องจากความรู้พื้นฐานในการว่ายน้ำและการเอาชีวิตรอดจากการจมน้ำเป็นหลักสูตรสากล เราจึงอยากผลักดันให้การว่ายน้ำเป็นส่วนสำคัญในหลักสูตรการเรียนการสอน ซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้เข้าไปสู่หลักสูตรการเรียนสอน แต่ว่าในโรงเรียนทั่วไปจะมีการสอนทักษะนี้อยู่บ้าง แต่ยังไม่ได้อยู่ในหลักสูตร ซึ่งเรากำลังประสานงานติดต่อกับ สพฐ.อยู่ว่าจะทำอย่างไรให้โมเดลของเราเข้าไปอยู่ในหลักสูตรได้ ถึงแม้ว่าบางโรงเรียนบอกว่ายังไม่มีสระว่ายน้ำก็ตาม เพราะเด็กที่เสียชีวิตนั้นไม่ได้เสียชีวิตขณะที่ว่ายน้ำอยู่ในสระน้ำ แต่เกิดจากการที่เขาตกน้ำ หรือว่ายน้ำในลำคลอง ฉะนั้นหลักสูตรของเราก็จะสอนว่าถ้าเขาอยู่ในน้ำควรจะทำอย่างไร เช่น การลอยตัว หรือขณะเล่นน้ำและมีตะคริวทำอย่างไร
ในอนาคตเราอยากขยายหลักสูตรการอบรมนี้ และทำงานร่วมกับสพฐ.ในการผลักดันให้การช่วยเหลือตัวเองขณะที่ว่ายน้ำเป็นอย่างไร เนื่องจากการที่เราเข้าไปทำงานโดยไม่ทวีภาคีจะลำบาก เพราะต้องให้ครอบคลุมถึง รร.ใน กทม. ดังนั้นจึงต้องทำงานร่วมกับสพฐ.ด้วย ที่สำคัญเราก็ตระหนักถึงความสำคัญของโรงเรียนในต่างจังหวัดด้วย เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งล่าสุดท่านผู้ช่วยจาก สพฐ. ก็ได้ให้ข้อมูลว่าทางภาคอีสานเด็กตกน้ำเยอะมาก ส่วนการคัดเลือกโรงเรียนที่จะส่งคุณครูมาอบรม ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของโรงเรียนนั้นๆ แต่อย่างไรก็ตามวัตถุประสงค์หลักของกิจกรรม “โครงการจัดการเรียนรู้เรื่องการว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด” เราต้องการเน้นเด็กตั้งแต่วัย 1-15 ปี เพื่อให้มีทักษะการว่ายน้ำและการเอาตัวรอดจากการจมน้ำ”
(ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา)
ด้าน ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน (สพฐ.) บอกว่า “แนวโน้มของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีที่เสียชีวิตจากการจมน้ำมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในหมู่บ้านห่างไกลในชนบท ที่ไม่มีโอกาสฝึกทักษะการว่ายน้ำและเอาชีวิตรอดจากการจมน้ำ จึงทำให้ไม่รู้ถึงวิธีในการป้องกันตัวเอง ซึ่งตัวเลขพบว่าเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดนครราชสีมา พบเด็กจมน้ำมากที่สุด รองลงมาคือจังหวัดบุรีรัมย์ อุดรธานี และขอนแก่น จากนั้นเป็นตัวเลขของเด็กในภาคกลาง ที่ผ่านมาทาง สพฐ.ได้มีการพัฒนาหลักสูตรดังกล่าวภายในโรงเรียน แต่ยังติดปัญหาเรื่องสระว่ายน้ำในโรงเรียนที่มีค่อนข้างน้อย จึงได้มีการลงทุนสร้างสระว่ายน้ำในโรงเรียน แต่ยังติดขัดเรื่องงบประมาณอยู่บ้าง ดังนั้นในบางพื้นที่จึงดำเนินการให้มีการฝึกทักษะดังกล่าวในเด็ก โดยใช้แหล่งน้ำของเอกชน เพื่อให้เด็กมีทักษะและสามารถเอาตัวรอดจากการจมน้ำได้ ดังนั้นทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกัน และก็หวังว่า “โครงการจัดการเรียนรู้เรื่องการว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด” จะเป็นโรลโมเดลในการป้องกันเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีไม่จมน้ำ และเชื่อว่าทุกคนจะต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง เพื่อให้เด็กปลอดภัยจากการจมน้ำ”
(อ.ปรีชา หงส์นฤชัย)
ด้าน อ.ปรีชา หงส์นฤชัย ตัวแทนจากโรงเรียนวัดเวตะวันธรรมาวาส ที่เข้าร่วมการอบรมตั้งแต่ปี 2562 บอกว่า “สิ่งที่ทางโรงเรียนของเราได้จากการเข้าอบรมทักษะ “โครงการจัดการเรียนรู้เรื่องการว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด” เพื่อนำมาให้ความรู้มาสอนให้กับเด็กๆ นั้น ทำให้รู้ว่าเด็กได้ประโยชน์จากการอบรมนี้มากๆ ครับ เห็นได้จากที่ตอนนี้นักเรียนของเราเสียชีวิตจากการจมน้ำเหลือเพียงปีละ 1 คน ซึ่งเป็นผลความสำเร็จร้อยละ 90 เนื่องจากโรงเรียนของเราอยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา และโครงการนี้ยังทำให้เด็กๆ ตั้งแต่เด็กอนุบาลจนถึง ป.6 รู้ว่าแหล่งน้ำแบบไหนที่เป็นอันตรายกับเขา ตลอดจนวิธีที่ช่วยเหลือเพื่อนที่จมน้ำอย่างถูกวิธี ซึ่งทางโรงเรียนของเราได้ให้ความรู้กับเด็กๆ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยให้เด็กโตทำโครงงานที่เกี่ยวกับการดีไซน์อุปกรณ์สำหรับป้องกันการจมน้ำ เช่น เสื้อชูชีพที่ทำจากลูกมะพร้าว และถังแกนลอนน้ำมันมัดเชือก ส่วนเด็กเล็กนั้นคุณครูจะให้ความรู้เกี่ยวกับการไม่เข้าไปใกล้แหล่งน้ำที่เป็นอันตรายกับเด็ก เป็นต้น รวมถึงท่านผอ.โรงเรียนก็เห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้หางบประมาณเพื่อสร้างสระว่ายน้ำในโรงเรียนครับ”.
เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีเรียนรู้อะไรจาก “โครงการจัดการเรียนรู้เรื่องการว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด”??
(น้องชาช่า)
น้องชาช่า วัย 6 ปี ชั้นอนุบาล 3 จากโรงเรียนประถมนนทรี บอกว่า “กำลังปั้นดินน้ำมันที่สอดแทรกเรื่องของจุดเสี่ยงต่อการจมน้ำของเด็กเล็กผ่าน “ 3 อย่า” อย่าง “อย่าใกล้ อย่าก้ม อย่าเก็บ” และรู้สึกชอบกิจกรรมนี้มาก เพราะรู้สึกสนุก ได้พัฒนาสมอง และได้สร้างสรรค์จินตนาการ ฃด้วยการปั้นตุ๊กตาที่อยู่รอบแหล่งน้ำ ทั้งคน ต้นไม้ ห่วงยาง”
(ด.ญ.กชพรรณ รัตนแสง)
ด้าน ด.ญ.กชพรรณ รัตนแสง นักเรียนชั้น ป.3 จากโรงเรียนสวนบัว บอกว่า “ทางโรงเรียนได้สอนเรื่องการว่ายน้ำและการเอาตัวรอดจากการจมน้ำตั้งแต่อยู่ ป.1 ค่ะ ส่วนตัวก็รู้สึกชอบกิจกรรมนี้ เพราะรู้สึกสนุก ทำให้เราว่ายน้ำเป็น และสามารถป้องกันตัวเองจากจมน้ำได้ อีกทั้งยังสามารถช่วยเหลือเพื่อนๆได้ โดยการที่คุณครูจะสอนทั้งเรื่องของการลอยตัวในน้ำ และการโยนเชือกเพื่อช่วยเหลือเพื่อนๆ ที่จมน้ำค่ะ และคุณครูยังสอนอีกว่า เวลาที่จมน้ำต้องตั้งสติให้ดี จากนั้นให้ทำท่าปลาดาว หรือการลอยตัวในน้ำ ที่สามารถลอยตัวอยู่ได้นาน 3-5 ชั่วโมง เพื่อให้มีคนเห็นและเข้ามาช่วยเหลือค่ะ”.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |