21 ก.พ.63 - เมื่อเวลา 15.00 น.ศาลรัฐธรรมนูญ องค์คณะตุลาการออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย คำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้พิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 72 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 กรณีพรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จำนวน 191.2 ล้านบาท โดยกกต.ส่งนายสมพล พรผล ผอ.สำนักกิจการพรรคการเมือง เป็นผู้แทนเข้ารับฟังคำวินิจ ส่วนพรรคอนาคตใหม่ไม่ส่งตัวแทนเข้ารับฟังคำวินิจฉัย
นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ตุลาการรัฐธรรมนูญ เริ่มต้นอ่านคำวินิจฉัยว่า คดีนี้กกต.ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยเพื่อให้มีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ โดยศาลเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องไต่สวนพยานบุคคล แต่เพื่อประโชน์แห่งการพิจารณาให้พยานบุคคลทั้ง 17 ปาก จัดทำบันทึกถ้อยคำหรือความเห็นยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยศาลกำหนดประเด็นวินิจฉัยไว้ 4 ประเด็น ดังนี้ 1 ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องตามพรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 หรือไม่ 2 มีเหตุให้ยุบพรรคตามพรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 หรือไม่ 3 คณะกรรมการบริหารพรรคจะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือไม่ และ 4 ผู้ที่เคยเป็นกก.บห.พรรคที่ถูกสั่งยุบพรรค จะจดทะเบียนก่อตั้งพรรคใหม่ภายในเวลา 10 ปีหรือไม่
โดยข้อเท็จจริงเบื้องต้นตลอดจนความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องและพยานหลักฐานต่างๆ พบว่า พรรคอนาคตใหม่ นำส่งงบการเงินประจำปีพ.ศ.2561 และนำส่งงบการเงินต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง 2 ครั้ง ในวันที่ 3 ต.ค.61 และ 31 ธ.ค. โดยระบุว่ามีรายได้ 71 ล้าน ค่าใช้จ่าย 72.6 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายได้ 1.4 ล้านบาท ต่อมาจึงทำสัญญากู้เงิน 161.2 ล้านบาท โดยรับเงินต้นเรียบร้อยและยอมเสียดอกเบี้ยร้อยละ7.5 ต่อปี กำหนดส่งดอกเบี้ยทุกเดือน และต่อมามีการชำระเงินกู้บางส่วนรวม 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 วันที่ 4 ม.ค.62 จำนวน 14.2 ล้านบาท ครั้งที่ 2 วันที่ 21 ม.ค.62 โดยชำระคืนเป็นเงินสดจำนวน 8 ล้านบาท
และครั้งที่ 3 วันที่ 29 ม.ค. 62 ชำระคืนโดยโอนเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์ สาขาไทยซัมมิท จำนวน 50 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 72 ล้านบาท ต่อมาพรรคอนาคตใหม่ทำสัญญากู้เงินจากนายธนาธรอีก 30 ล้านบาท โดยในวันทำสัญญาได้รับเงินต้นไปจำนวน 2.7 ล้าน ทำสัญญาชำระดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปีของต้นเงินกู้ ซึ่งนายธนาธรยอมรับว่ามีการแก้สัญญาที่กำหนดให้ส่งดอกเบี้ยทุกเดือนมาเป็นส่งดอกเบี้ยทุกปี นอกจากนี้นายธนาธรยังบริจาคเงินจำนวน 8.5 ล้านบาทให้กับพรรคอนาคตใหม่ ในส่วนของการชำระคืนเงินกู้พบว่า มีการจ่ายดอกเบี้ยพร้อมเบี้ยปรับ 5.8 ล้าน และการชำระดอกเบี้ยพร้อมเบี้ยปรับ 1.4 ล้านบาท
นายวรวิทย์ กล่าวด้วยว่า ประเด็นที่ 1 กกต.มอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้ยุบพรรคการเมืองตามพรป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 92 หรือไม่ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าตาม พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง กำหนดว่าเมื่อผู้ร้องมีหลักฐานอันควรเชื่อว่าพรรคการเมืองกระทำความ สามารถยื่นศาลสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น หรือเมื่อความปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองหรือเลขาธิการกกต. ให้รวบรวมขอเท็จจริง โดยระเบียบกกต.ข้อ 54 วรรคหนึ่ง และ ข้อ 55
วรรคหนึ่งกำหนดหลักเกณฑ์รองรับไว้ ข้อโต้แย้งของพรรคอนาคตใหม่ที่ว่า คณะกรรมการสืบสวน ไต่สวน และวินิจฉัยชี้ขาดไปแล้วว่าการกู้ยืมเงินของพรรคไม่มีมูลความผิด
การที่นายทะเบียนพรรคการเมืองตั้งฐานความผิดเสนอต่อกรรมการกกต.ให้มีมติยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ศาลเห็นว่า ความเห็นของกรรมการ กกต.มีอิสระไม่ผูกพันกับคณะกรรมการไต่สวน สืบสวน และวินิจฉัย ขณะที่การดำเนินคดีตามคำร้องของนายศรีสุวรรณ จรรยา ก็เสร็จสิ้นจากคณะกรรมการไต่สวนฯแล้ว จึงยังไม่ถึงขั้นตอนการแจ้งข้อกล่าวหา ประกอบกับการแจ้งข้อกล่าวหาเป็นกระบวนการดำเนินคดีอาญา ซึ่งแยกเป็นอิสระต่อกันจากกระบวนการยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค ข้อโต้แย้งของพรรคอนาคตใหม่จึงฟังไม่ขึ้น
นายวรวิทย์ อ่านคำวินิจฉัยต่อไปว่า การที่ผู้ถูกร้องโต้แย้งว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยคดีนี้ ศาลเห็นว่า พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และพรป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่วินิจฉัยคดีได้ ข้อโต้แย้งของพรรคอนาคตใหม่ฟังไม่ขึ้น และเป็นที่ยุติตามที่ กกต.ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญได้ดำเนินการตามกระบวนการพิจารณา ตั้งแต่การรับคำร้องในวันที่ 25 ธ.ค.62 และมีการประชุมองค์คณะตุลาการอย่างต่อเนื่องรวม 11 ครั้ง จนกระทั่งนัดฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 21 ก.พ.62 ศาลได้ใช้เวลาพิจารณาคดีอย่างละเอียดถี่ถ้วน นานพอสมควร โดยให้ความเป็นธรรมแก่ทั้ง 2 ฝ่ายได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา รวมระยะเวลา 71 วัน จึงไม่ได้เร่งรัดหรือรวบรัด
นายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยในประเด็นที่ 2 ว่ามีเหตุยุบพรรคผู้ถูกร้องตามมาตรา 92 หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 45 บัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพบุคคลในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมือง ตามวิถีทางประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารพรรคการเมือง ให้เป็นไปโดยเปิดเผยตรวจสอบได้ ให้สมาชิกมีส่วนร่วม กำหนดนโยบาย ส่งผู้สมัคร กำหนดมาตรการ ให้สามารถดำเนินการกิจการพรรคได้โดยอิสระ ไม่ถูกครอบงำหรือถูกบุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกชี้นำ ครอบงำ และการให้กำหนดมาตรการให้สมาชิก ไม่กระทำฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามที่กำหนดหมายกำหนด กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง บทบัญญัติดังกล่าว รัฐธรรมนูญมุ่งหมายเพื่อให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชนอย่างกว้างขวาง มีการบริหารกิจการภายในของพรรคเป็นไปตามหลักประชาธิปไตย ภายในพรรคการเมืองโดยเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและพรรคการเมืองสามารถปฏิบัติหน้าที่ ดำเนินกิจกรรมได้โดยอิสระ ปราศจากการครอบงำหรือชี้นำโดยบุคคลหรือคณะบุคคลใดๆ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจการพรรคนั้น เพื่อป้องกันมิให้พรรคการเมือง เป็นธุรกิจการเมือง หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งอาศัยความได้เปรียบทางการเงินมาเป็นผู้บงการพรรคแต่เพียงผู้เดียวหรือกลุ่มเดียวได้ รัฐสภาจึงตราพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองขึ้น เป็นกฎหมายตามมาตรา 45 บัญญัติไว้
ส่วนมาตรา 66 ของพ.ร.ป.พรรคการเมืองที่ห้ามบุคคล บริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้พรรคการเมืองเกิน 10 ล้านบาทต่อปี บทบัญญัติดังกล่าวต้องการควบคุมพรรคการเมืองรับบริจาคเงินจากบุคคล เป็นมาตรการป้องกันไม่ให้พรรค บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดอาศัยความได้เปรียบทางการเงินมาเป็นนายทุนพรรคการเมือง เพื่อบงการหรือมีอิทธิพลครอบงำและชี้นำ การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองให้เป็นไปตามประสงค์ของตนแต่เพียงผู้เดียวหรือกลุ่มเดียวได้ ทำให้การบริหารกิจการบ้านเมืองไม่เป็นไปโดยอิสระ ทำให้การตรวจสอบถ่วงดุลกันภายในพรรคไม่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง อันเป็นการทำลายหลักความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรคการเมืองตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 45 และส่งผลทำให้พรรคการเมืองถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนโดยมิชอบด้วยกฎหมายของผู้บงการ หรือผู้มีอิทธิพลเหนือพรรคการเมือง จึงจำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมการรับบริจาคของพรรคการเมืองเพื่อสร้างเสริมให้พรรคการเมืองมีความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรคการเมืองเพื่อให้ประชาชนมีความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับ
ประเด็นที่ต้องพิจารณามีว่าการที่พรรคการเมืองรับบริจาคทรัพย์เงินทรัพย์ สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยรู้หรือควรรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันจะเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 72 พ.ร.ป.พรรคการเมือง มีความหมายแค่ไหนเพียงไร เห็นว่า มาตรา 72 มีข้อห้าม 2 กรณี
1.พรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกระทำการฝ่าฝืน รับบริจาคเงิน พรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรรู้ว่าได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นทั้งการได้มาและวิธีการได้มาซึ่งเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด โดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เปิดเผย
2.พรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง กระทำการฝ่าฝืนรับบริจาค เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่ง ที่มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการได้มา ที่มีแหล่งที่มาจากการกระทำผิดกฎหมายหรือเป็นเงินสกปรก การฟอกเงิน การค้าของเถื่อน ค้ามนุษย์ การทุจริตประพฤติมิชอบ ซึ่งการได้มาทั้ง 2 กรณี ไม่ว่าจะเป็นจำนวนเท่าใด ย่อมถือว่าเป็นการกระทำมิชอบด้วยกฎหมายทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ พ.ร.ป.มาตรา72 เพื่อไม่ให้พรรคการเมืองไปเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ อันจะทำให้พรรคการเมืองกลายเป็นผู้สนับสนุน หรือมีส่วนร่วมช่วยเหลือกระทำความผิดไปด้วยมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน ที่มีต่อระบบการเมืองของประเทศไทย เป็นมาตรการสำคัญในการเสริมสร้างระบบการเมืองของไทยให้มีความโปร่งใส น่าเชื่อถือของประชาชน สอดคล้องมาตรา 77 วรรรค 1 ของกฎหมายเดียวกันที่กำหนดมาตรการ วิธีการให้พรรคการเมืองปฏิบัติ เพื่อให้ การบริจาคของพรรคการเมืองเป็นไปตามกฎหมายเปิดเผยและตรวจสอบได้
ส่วนพรรคการเมืองสามารถกู้ยืมเงินได้หรือไม่เห็นว่า การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองต้องอาศัยรายได้ โดยกำหนดแหล่งที่มาไว้ ในมาตรา 62 ของพ.ร.ป.พรรคการเมือง ดังนั้นเงินส่วนใดที่พรรคการเมืองนำมาใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง ที่ไม่มีแหล่งที่มาตามกฎหมายระบุไว้ ย่อมถือว่าเป็นเงินที่ได้มาโดยมิชอบ ด้วยมาตรา 62พ.ร.ป.พรรคการเมือง ถึงแม้ว่าไม่ได้ห้ามการกู้ยืมเงินของพรรคการเมืองโดยชัดเจน แต่ไม่ได้รับรองว่าให้กระทำได้ ประกอบกับพรรคการเมือง เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน เงินกู้ แม้มิได้เป็นรายได้ แต่เป็นรายรับและเงินทางการเมือง การดำเนินการเกี่ยวกับการได้มาและการใช้จ่ายเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองจึงจะทำได้ภายในขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น
เมื่อพิจารณาเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพื่อต้องการกำหนดมาตรการทางกฎหมาย กำกับให้พรรคการเมืองตรวจสอบได้และให้พรรคการเมืองดำเนินการโดยอิสระ ไม่ถูกครอบงำหรือชี้นำโดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด การกู้ยืมเงินของพรรคการเมืองจึงต้องสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย ปัญหามีว่าการรับบริจาคเงินหรือทรัพย์สิน ประโยชน์อื่นใดตามมาตรา 72 มีความหมายอย่างไร เห็นว่า เมื่อพิจารณานิยามคำว่าบริจาคตามมาตรา 4 ของกฎหมายเดียวกัน หมายรวมถึงทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดตามที่กฎหมายกหนด ส่วนคำว่าประโยชน์อื่นใด หมายถึงการให้ทรัพย์สิน บริการ ส่วนลด โดยไม่มีค่าตอบแทนหรือมีค่าตอบแทนที่ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้า และการทำให้หนี้ที่พรรคการเมืองเป็นหนี้สิ้นไปด้วย ซึ่งการที่กฎหมายใช้คำว่าให้หมายความรวมถึงในการนิยามความหมาย ของคำในกฎหมาย ย่อมมีความหมายรวมถึงสิ่งอื่น นอกจากสิ่งที่จำกัดความหรือให้ความหมายไว้ด้วย
เพราะฉะนั้นการให้ประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมือง ย่อมความหมายรวมถึงการกระทำที่มีลักษณะทำนองเดียวกับการให้บริการ หรือการให้ส่วนลด หรือว่ามีค่าตอบแทนหรือมีค่าตอบแทนที่ไม่เป็นไปตามปกติทาง การค้า และทำให้หนี้ของพรรคการเมืองลดลงหรือสิ้นไป หรือการให้ประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมือง ที่ไม่สามารถคำนวณเป็นเงินได้ ไม่ต้องการออกค่าใช้จ่าย ซึ่งปกติต้องจ่าย อันมีลักษณะเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ดังนั้น การให้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ย หรือคิดดอกเบี้ยโดยไม่ปกติทางกรค้า หรือการทำให้หนี้พรรคการเมืองลดลง หรือการได้เงิน หรือผลประโยชน์อื่นใด ที่ไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายที่ปกติต้องจ่าย ย่อมถือว่าเป็นประโยชน์อื่นใดของพรรคการเมือง ตามมาตรา 4 ต้องอยู่ภายใต้เจตนารมร์มาตรา 45 วรรค 2และอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์เงื่อนไขการบริจาค ตามพ.ร.ป.พรรคการเมืองมาตรา 66 และมาตรา 72 ด้วยเหตุนี้คำว่าบริจาค ตามพ.ร.ป.พรรคการเมืองและประโยชน์อื่นใดของพ.ร.ป.พรรรคการเมือง จึงมีความหมายเฉพาะตามกฎหมายนี้
เพื่อกำหนดสิ่งที่อยู่ในขอบข่ายบังคับแห่งกฎหมายนเรื่องยี้และเป็นไปตามวัตถุประสงค์กฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการควบคุมการสนับสนุนทางการเมืองให้เป็นไปโดยพอเหมาะ พอควร แก่การดำเนินการ โดยกำหนดให้พรรคมีระบบทางการเงิน บัญชี รวมทั้งรายได้ของพรรคที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ คุ้มครองหลักประชาธิปไตยภายในพรรค และป้องกันไม่ให้บุคคลใดอาศัยพรรคเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ส่วนตน หรืออาศัยความได้เปรียบทางการเงิน มาเป็นผู้บงการ หรือมีอิทธิพลครอบงำ ชี้นำกิจการของพรรคการเมืองแต่เพียงผู้เดียวหรือกลุ่มเดียวได้ ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฎหมายงบการเงินประจำปี 2561 ของพรรคอนาคตใหม่ ตั้งแต่ 3.ต.ค.-31 ธ.ค.61 ที่ยื่นต่อกกต.ที่ระบุว่ามีรายได้ จากเงินทุนประเดิม 1067124 บาท รายได้รวม 7173168 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายรวม 72,663,705 บาท ค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายได้ 1,490,537บาท แต่พรรคกลับทำสัญญากู้เงินจากนายธนาธร รวม 2 ฉบับ รวม 191.2 ล้านบาท แต่การคิดอัตราดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ ที่ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้า ถือเป็นการให้ประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมืองบรรดาที่สามารถคำนวณเป็นเงินได้
แม้พรรคอนาคตใหม่จะชำระหนี้เงินกู้บางส่วนให้แก่นายธนาธรหลายครั้ง แต่การชำระคืนครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2562 เป็นเงินสดจำนวนเงิน14 ล้านบาท ภายหลังที่ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินเพียง 2 วัน ถือเป็นการผิดปกติวิสัย นอกจากนี้สัญญากู้ยืมเงิน ฉบับลงวันที่ 11 เม.ย.2552 ซึ่งมีวงเงินกู้จำนวน 30 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ปี แต่วันทำสัญญา พรรคอนาคตใหม่กลับรับเงินกู้เพียง 2.7ล้านบาท การทำสัญญากู้เงินฉบับเพิ่มเติมโดยที่ยังมีหนี้เงินกู้ค้างชำระอยุ่ ไม่เป็นไปตามปกติวิสัย การทำสัญญาเงินกู้ดังกล่าวจึงลักษณะที่มีข้อตำลงในสัญญา และพฤติการณ์ในการเอื้อประโยชน์ ช่วยเหลือพรรคอนาคตใหม่เป็นกรณีพิศษไม่เป็นปกติในทางการค้าและไม่เป็นไปตามปกติวิสัยในการให้กู้เงิน และการชำระหนี้เงินกู้ยืมและการคิดดอกเบี้ย ก็ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้าสำหรับการกู้ยืมเงินที่ไม่มีหลักประกัน ถือเป็นการให้ประโยชน์อื่นใดแก่พรรคอนาคตใหม่ บรรดาที่สามารถคำนวนเป็นเงินได้ และเมื่อรวมประโยชน์อื่นใดที่พรรครับบริจาค กู้ยืมจำนวน 191.2 ล้านบาท กับเงินที่นายธนาธรบริจาคให้กับพรรคเมื่อปี 62 จำนวน 8.5ล้านบาท ย่อมชัดแจ้งว่าเป็นกรณีการรับบริจาคเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาทต่อปี ซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 66 วรรคสอง
จากข้อเท็จจริงพฤติการณ์ดังกล่าวเห็นว่าการที่นายธนาธรให้เงินกู้พรรคอนาคตใหม่ เป็นการบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด และการที่นายธนาธรซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค ให้พรรคกู้ยืมเงินจำนวนมาก กก.บห.พรรคอนาคตใหม่ ควรที่จะรู้ว่าการเป็นหนี้จำนวนมากต่อบุคคลใด ย่อมก่อให้เกิดการครอบงำ ชี้นำโดยบุคคลที่เป็นเจ้าหนี้ อาศัยอำนาจแห่งมูลหนี้ ที่จะเรียกให้พรรคชำระหนี้ หรืองดเว้นการอันใดตามสัญญาก็ได้ ทั้งยังก่อให้เกิดความได้เปรียบทางการเเงิน มาเป็นผู้บงการพรรคแต่เพียงผู้เดียวหรือกลุ่มเดียว อันส่งผลให้พรรคการเมืองเป็นธุรกิจการเมือง ดังนั้นการกู้ยืมเงินของพรรคอนาคตใหม่ จึงมีเจตนาหลีกเลี่ยงการรับบริจาคเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นตามมาตรา 66 เมื่อการรับบริจาคดังกล่าวต้องห้ามตามมาตรา 66 จึงเป็นการรับบริจาคเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาชอบมิด้วยกฎหมายตามพ.ร.ป.พรรคการเมืองมาตรา 72 กรณีจึงมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคอนาคตใหม่กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 72 อันเป็นเหตุให้สั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ตามพ.ร.ป.พรรคการเมืองตามตรา 92 วรรสอง ประกอบวรรคหนึ่ง (3)
ต่อมานายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยในประเด็นที่ 3ว่า เมื่อศาลตัดสินให้ยุบพรรคอนาคตใหม่แล้ว ต้องเพิกถอนสิทธิสมัครของกรรมการบริหารพรรคการเมือง ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 2 ม.ค. 62 และวันที่ 11 เม.ย.62 ซึ่งเป็นวันที่ทำสัญญากู้เงินอันเป็นการกระทำความผิดจนเป็นเหตุให้ถูกยุบพรรค โดยกำหนดระเวลาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 10 ปี ซึ่งเหมาะควรกับความผิดที่ได้ ฝ่าฝืนพรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 72 เรื่องห้ามบริจาคเงินให้พรรคการเมืองเกินกว่า 10 ล้านบาทต่อปี และห้ามพรรคการเมืองรับบริจาคโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยกรรมการบริหารของพรรคที่ถูกยุบ จะจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่อีกไม่ได้ภายในเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค
ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7 ต่อ 2 ให้ยุบพรรคอนาคตใหม่
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |