ควํ่าญัตติต้านรัฐประหาร ‘ปิยบุตร’ร่ายยาวส่งท้าย!


เพิ่มเพื่อน    

 สภาโหวตคว่ำญัตติตั้งกรรมาธิการต้านรัฐประหารของพรรคอนาคตใหม่ หลัง "ปิยบุตร" ร่ายยาว ห้าม ส.ส. นักธุรกิจ นายทุน เป็นท่อน้ำเลี้ยงให้ทหารที่ยึดอำนาจ ห้ามสื่อเรียก "บิ๊ก-ลุง"  ปลุกต้องมีสำนึกประชาธิปไตย แต่ไม่พูดถึงนักการเมืองโกงสักคำ

    ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าวสรุปญัตติเรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดการรัฐประหารขึ้นอีกในอนาคต ว่าการรัฐประหารสองครั้งล่าสุดซึ่งเป็นเหตุให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แม้จะเริ่มคลี่คลายลงไปได้บ้าง
    รัฐธรรมนูญ 2540 กล่าวได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่สร้างฉันทามติให้กับสังคมการเมืองไทยครั้งสุดท้าย เพราะพลังทางการเมืองและสังคมต่างๆ ในประเทศไทยต่างพร้อมใจกันยอมรับว่า รัฐธรรมนูญนี้จะต้องเดินหน้าใช้ จะสร้างประชาธิปไตยให้มั่นคง และสร้างชาติบ้านเมืองให้มีเสถียรภาพได้ พร้อมกับมีระบบการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจต่างๆ
    "พอรัฐธรรมนูญ 2540 ใช้จริงไปได้สักระยะหนึ่ง พลังการเมืองกลุ่มหนึ่งได้ตั้งข้อกังขาต่ออีกกลุ่มว่ากระทำการบิดผันรัฐธรรมนูญ จนเกิดการครอบครองเสียงข้างมาก และปราศจากการตรวจสอบซึ่งการใช้อำนาจ จนนำมาซึ่งความขัดแย้ง"
    นายปิยบุตรอภิปรายว่า น่าเสียดายที่ประเทศไทยไม่เลือกวิถีทางตามหลักประชาธิปไตยในการคลี่คลายปัญหา เรากลับพบกับการรัฐประหาร 2549 นับแต่นั้นมาก็มีการออกแบบรัฐธรรมนูญ เพื่อที่จะกำจัดพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งอย่างสม่ำเสมอ และเมื่อกระทำเช่นนั้นไม่สำเร็จ ก็ยังเกิดการรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นรัฐประหารซ่อม อีกครั้งหนึ่ง
    "นี่คือจุดเริ่มต้นของการเมืองแตกขั้วอย่างถึงที่สุด กล่าวคือ ฝ่ายหนึ่งอ้างความชอบธรรมจากการเลือกตั้ง อีกฝ่ายอ้างความชอบธรรมในเรื่องของการตรวจสอบการใช้อำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง แน่นอนทั้งสองขั้วนี้คือเรื่องปกติ เป็นคู่ขัดแย้งตามธรรมชาติในระบอบเสรีประชาธิปไตย ต่างฝ่ายต่างอ้างความชอบธรรมคนละด้าน แต่เสรีประชาธิปไตยจำเป็นต้องมีความชอบธรรมทั้งสองด้าน"
    เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่กล่าวว่า การรัฐประหาร 2549 ได้ทำลายความชอบธรรมของทั้งสองสิ่งข้างต้นลงไปโดยสิ้นเชิง คนจำนวนมากเริ่มไม่มีความเชื่อมั่นแล้วว่าระบบรัฐสภาหรือระบบการเลือกตั้งจะสามารถพาบ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ เริ่มตั้งคำถามกับความชอบธรรมในการตรวจสอบการใช้อำนาจว่า ผู้ใช้อำนาจจะเลือกปฏิบัติสองมาตรฐาน จะใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการกำจัดศัตรูทางการเมืองหรือไม่ จนกระทั่งในท้ายที่สุดกองทัพก็ออกมายึดอำนาจล่าสุดเมื่อปี 2557
    นายปิยบุตรกล่าวว่า รัฐประหารเกิดไม่ได้หากนายทหารระดับปฏิบัติการ ข้าราชการ ไม่ยินยอม และโต้แย้ง นิติกรไม่ช่วยเขียนกฎหมายป้องกันคณะรัฐประหารหลังรัฐประหาร ศาลตัดสินลงโทษ และ ส.ส.พร้อมใจกันต่อต้านรัฐประหาร นักธุรกิจและนายทุนไม่เป็นท่อน้ำเลี้ยง สื่อมวลชนพร้อมใจนำเสนอข่าวต่อต้านรัฐประหาร ไม่เรียกบิ๊ก ไม่เรียกลุง ถ้าคนไทยมีสำนึกในประชาธิปไตยและต่อต้านรัฐประหาร รัฐประหารไม่มีทางสำเร็จ
    "นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ผมและเพื่อนๆ ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ขึ้นมา เพื่ออย่างน้อยจะได้เป็นฟันเฟืองเล็กๆ อันหนึ่งในการแสวงหาฉันทามติใหม่ให้กับสังคมไทย"
    นายปิยบุตรยังอภิปรายว่า รัฐประหารจะเกิดขึ้นและสำเร็จได้ ก็ต่อเมื่อมีการยอมรับนับถือรัฐประหารนั้น และไม่มีใครไปต่อต้านมัน ถ้าหากผู้แทนราษฎรของเราตระหนักว่า อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร ว่าพวกเขาคือผู้แทนของเสียงจากราษฎรอย่างแท้จริง เรามาร่วมมือกันทำงานการเมืองให้ดีมีคุณภาพ ถกเถียงอภิปรายกันอย่างสร้างสรรค์ ขัดแย้งเห็นต่างกันภายใต้กติกา และพร้อมใจจะจับมือร่วมกันทันทีเพื่อต่อต้านการรัฐประหาร รัฐประหารย่อมไม่มีวันสำเร็จ
    เขากล่าวว่า ญัตตินี้หากจะกระทบกับคนใดคนหนึ่ง ก็คงจะไปกระทบความรู้สึกของนายกรัฐมนตรีที่ยึดอำนาจมา คงจะไปกระทบกับนายพลจำนวนมากที่ได้รับตำแหน่งจากการยึดอำนาจ แต่ถ้าเอาเรื่องนี้มาเป็นเหตุให้เรากังวลใจว่า เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่กล้าลงมติให้ความเห็นชอบการตั้งคณะกรรมาธิการชุดนี้ ก็จะหมายความว่า ตกลงแล้วเราเป็นสมาชิกสภาผู้แทนของราษฎร หรือเป็นนายทหารผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาที่ต้องรับฟังคำสั่งของนายพลที่ยึดอำนาจมา
    "ถ้าหากมติของสภายืนยันว่าไม่ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ จะแสดงให้เห็นเลยว่าคราบไคลของการรัฐประหารยังอยู่กับเรา เงาทะมึนของการรัฐประหารยังวนเวียนอยู่รอบๆ สภาผู้แทนราษฎร แต่ถ้ามติของสภายืนยันว่าจะให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ นั่นแสดงให้เห็นว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของเราพร้อมที่จะร่วมกันจับมือเพื่อป้องกันมิให้การรัฐประหารเกิดขึ้นอีก และสร้างความหวังให้พี่น้องประชาชนได้อย่างแท้จริง"
    เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่กล่าวว่า ในหนังสือวิชาการเล่มหนึ่งที่ปรัชญาเมธีชาวเยอรมันชื่อว่า คาร์ล มาร์กซ์ เขียนขึ้นมา เรื่อง “The Eighteenth Brumaire of Louis Napoleon” ผู้เขียนพยายามอธิบายว่าทำไมการรัฐประหารจึงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าเหมือนหนังม้วนเก่าที่ฉายซ้ำวนไปเรื่อยๆ ในหนังสือดังกล่าว คาร์ล มาร์กซ์ เริ่มต้นด้วยประโยคต่อไปนี้ “เฮเกลได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และของบุคคลที่ยิ่งใหญ่ของโลกมักปรากฏขึ้นซ้ำสองครั้งเสมอ แต่เฮเกลคงลืมไปว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งแรกนั้นคือโศกนาฏกรรม แต่เมื่อเกิดซ้ำครั้งสอง มันคือเรื่องตลกชวนหัว”
    "ผมไม่แน่ใจว่าการอภิปรายของผมในวันนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผมหรือไม่ เพราะชะตากรรมของผมตอนนี้อยู่ในกำมือของศาลรัฐธรรมนูญ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการสรุปญัตติครั้งนี้ของผม จะช่วยโน้มน้าวให้เพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติให้ความเห็นชอบ ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการป้องกันมิให้รัฐประหารเกิดขึ้นอีกในอนาคต"
    นายปิยบุตรกล่าวว่า นี่ไม่ใช่วาระของตนเอง นี่ไม่ใช่วาระของพรรคอนาคตใหม่ นี่ไม่ใช่วาระของพรรคฝ่ายค้าน นี่ไม่ใช่วาระของพรรคฝ่ายรัฐบาล แต่นี่เป็นวาระแห่งชาติที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องร่วมมือกัน มนุษย์เป็นผู้ขีดเขียนประวัติศาสตร์ ขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยกมือแสดงความเห็นชอบเพื่อสร้างประวัติศาสตร์ร่วมกัน
         จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติไม่เห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการฯ 242 ต่อ 215 งดออกเสียง 2 เสียง.


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"