แนวทาง-ผลตัดสินคดียุบ'อนค.' เส้นทางต่อไป'พรรคส้มหวาน' 


เพิ่มเพื่อน    

                วันศุกร์นี้ 21 กุมภาพันธ์ ศาลรัฐธรรมนูญจะนัดอ่านคำวินิจฉัยในคดีสำคัญทางการเมืองที่หลายฝ่ายต่างเฝ้าติดตาม คือคดียุบพรรคอนาคตใหม่ กรณีพรรคอนาคตใหม่ทำนิติกรรมกู้ยืมเงินจาก นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 เป็นเงิน 191 ล้านบาท ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติ 5 ต่อ 2 เห็นควรให้ยื่นคำร้องให้ศาล รธน.ยุบพรรคอนาคตใหม่จากผลการกระทำผิดกฎหมายพรรคการเมือง ตามมาตรา 72  ที่บัญญัติว่า "ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย"

                มีการวิเคราะห์กันว่า ผลการวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญ อาจออกมาเป็น 4 แบบ คือ

                1.ศาล รธน.ตัดสินว่า การกู้เงินดังกล่าวไม่ผิดกฎหมายพรรคการเมือง พรรคอนาคตใหม่สามารถกู้เงินได้ เพราะกฎหมายพรรคการเมืองไม่มีการเขียนห้าม จึงวินิจฉัยว่ากรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ไม่ได้ทำผิดกฎหมายพรรคการเมือง จึงไม่ตัดสิทธิการเมืองกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ และไม่ยุบพรรคอนาคตใหม่

                2.ศาล รธน.วินิจฉัยว่า การกู้เงินดังกล่าวทำไม่ได้ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง ดังนั้นการทำนิติกรรมดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายพรรคการเมือง

                ศาล รธน.จึงวินิจฉัยว่า กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ที่มีส่วนรับรู้และร่วมกันเห็นชอบการทำนิติกรรมดังกล่าวจึงต้องร่วมกันรับผิด จึงวินิจฉัยให้กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่มีความผิด โดยการตัดสิทธิ์ทางการเมือง ที่อาจจะเข้าข่ายตามมาตรา 92 ที่บัญญัติว่า "เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองใดแล้ว ห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเพราะเหตุดังกล่าว ไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีก ทั้งนี้ ภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันที่พรรคการเมืองนั้นถูกยุบ" รวมถึงศาล รธน.มีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคอนาคตใหม่

                ที่ก็คือพรรคอนาคตใหม่โดนยุบพรรค กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ที่มีส่วนรับรู้กับการกู้เงินดังกล่าว เช่น ร่วมกันลงชื่อเข้าประชุมกรรมการบริหารพรรคในวันที่พรรคมีการรายงานการกู้เงินดังกล่าวต้องถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง

                หากศาล รธน.วินิจฉัยในแนวนี้ ก็จะทำให้กรรมการบริหารพรรคที่เป็น ส.ส.อนาคตใหม่เวลานี้ที่ทั้งหมดล้วนเป็น ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อจำนวน 11 คน ไม่นับธนาธร ที่ไม่ได้เป็น ส.ส.แล้วในปัจจุบัน ต้องพ้นจากการเป็น ส.ส.ทันที และถูกตัดสิทธิ์เว้นวรรคทางการเมือง โดยกรณีดังกล่าวมีการให้ความเห็นในทางข้อกฎหมายก่อนหน้านี้จากบางฝ่าย หากผลออกมาแบบนี้ คือพรรคอนาคตใหม่โดนยุบพรรคไปแล้ว ทำให้ไม่สามารถเลื่อนรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ในอันดับถัดๆ ไป นับไป 11 คน จากผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์อันดับล่าสุด ขึ้นมาแทน 11 คนที่หายไปได้ ที่ก็คือ จะทำให้เสียง ส.ส.ฝ่ายค้านในสภาหายไปทันทีอีก 11 เสียง

                3.ศาล รธน.วินิจฉัยว่า การกู้เงินดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เห็นว่าเป็นความผิดเฉพาะตัวคือกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ จึงวินิจฉัยตัดสิทธิ์การเมืองกรรมการบริหารพรรค แต่ไม่มีคำสั่งให้ยุบพรรคอนาคตใหม่

                หากออกมาแบบนี้ เท่ากับพรรคอนาคตใหม่ยังคงมีอยู่ในสารบบทะเบียนพรรคการเมืองของสำนักงาน กกต. เพราะลงโทษตัดสิทธิ์แค่เฉพาะกรรมการบริหารพรรค ถ้าออกมาแนวนี้ จะทำให้กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ที่เป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์อยู่ ต้องพ้นจากการเป็น ส.ส.ไปโดยปริยาย และยังสามารถเลื่อนผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์อนาคตใหม่ในลำดับถัดไปขึ้นมาแทนได้อีก 11 ชื่อ เท่ากับพรรคอนาคตใหม่ยังคงอยู่ต่อไปในสารบบพรรคการเมือง และยังมี ส.ส.ของพรรคในสภาฯ  เท่าเดิม ฝ่ายค้านก็ยังมีเสียงในสภาเท่าเดิม

                4.ศาล รธน.วินิจฉัยว่า การกู้เงินดังกล่าวทำไม่ได้ เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายพรรคการเมือง โดยเฉพาะการทำผิด พ.ร.บ.พรรคการเมืองมาตรา 66 ที่บัญญัติว่า “บุคคลใดจะบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองมีมูลค่าเกินสิบล้านบาทต่อพรรคการเมืองต่อปีมิได้ และพรรคการเมืองจะรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดซึ่งมีมูลค่าเกินสิบล้านบาทต่อปีมิได้” ศาล รธน.จึงวินิจฉัยให้กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบ โดยการตัดสิทธิ์การเมือง แต่ไม่วินิจฉัยให้ยุบพรรค แต่ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง ด้วยการใช้มาตรการทางการเงินคือปรับและริบเงินพรรคอนาคตใหม่ อันเป็นบทลงโทษตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง มาตรา 125 ที่บัญญัติว่า "พรรคการเมืองใดรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดมีมูลค่าเกินที่กำหนดไว้ในมาตรา 66 วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีกำหนดห้าปี และให้เงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ส่วนที่เกินมูลค่าที่กำหนดไว้ตามมาตรา 66 ตกเป็นของกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง”

                ที่ก็คือศาล รธน.เห็นว่า การกู้เงินดังกล่าว ศาลมองว่าเป็นนิติกรรมที่ไม่ปกติ ไปตีความว่าเป็นการบริจาค ที่ธนาธรให้เงินพรรคอนาคตใหม่ที่ตัวเองเป็นหัวหน้าพรรคเกิน 10 ล้านบาทต่อปี จึงวินิจฉัยให้กรรมการบริหารพรรคต้องรับผิดชอบ โดยการตัดสิทธิ์การเมืองห้าปี ไม่ใช่สิบปี และให้ปรับเงินพรรคอนาคตใหม่ไม่เกิน 1 ล้านบาท และริบเงินกู้ดังกล่าวในส่วนที่เกิน 10 ล้านบาท คือ 181 ล้านบาท ไปเข้ากองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ของสำนักงาน กกต.

                อนึ่ง สูตรตัดสินคดีของศาล รธน. สูตรที่ 4 เพิ่งมีการถูกพูดถึงในช่วงหลัง และถูกมองในทางการเมืองว่า เป็นแนวทางการลงโทษเอาผิดแบบประนีประนอม เพราะพรรคอนาคตใหม่ไม่ถูกยุบพรรค และกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ก็โดนตัดสิทธิ์แค่ 5 ปี ไม่ใช่ 10 ปี

                ทั้งนี้ กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ที่เป็น ส.ส.ในปัจจุบัน ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ มีด้วยกัน 11 คนดังนี้ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค, กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ รองหัวหน้าพรรค, ชำนาญ จันทร์เรือง รองหัวหน้าพรรค, พล.ท.พงศกร รอดชมภู รองหัวหน้าพรรค, น.ส.พรรณิการ์ วานิช, ไกลก้อง ไวทยการ นายทะเบียนพรรค, น.ส.เยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์, สุรชัย ศรีสารคาม, เจนวิทย์ ไกรสินธุ์, น.ส.จารุวรรณ ศรัณย์เกตุ และนิรามาน สุไลมาน

                ส่วนรายชื่อกรรมการบริหารพรรคที่ไม่ได้เป็น ส.ส. มีอีก 4 คน ประกอบด้วย 1.นายชัน ภักดีศรี 2.นายสุนทร บุญยอด 3.นายรณวิต หล่อเลิศสุนทร และ 4.นายนิติพัฒน์ แต้มไพโรจน์

                สำหรับเรื่องกระแสข่าวการตั้งพรรคสำรอง ก่อนหน้านี้ทั้งนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และแกนนำพรรคอย่าง นายชำนาญ จันทร์เรือง รองหัวหน้าพรรคออกมายอมรับแล้วว่ามีการเตรียมไว้แล้วตั้งแต่ก่อนจะถึงวันตัดสินคดียุบพรรคอนาคตใหม่ กรณีล้มล้างการปกครองฯ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยมีการเตรียมการไว้ประมาณ 4-5 ชื่อให้แกนนำพรรคเลือก เพื่อโอนและโยกย้าย ส.ส.และสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ไปอยู่ด้วยกันที่พรรคสำรองที่เตรียมการไว้หากอนาคตใหม่โดนยุบพรรค ที่จะเป็นพรรคที่มีการแจ้งชื่อยื่นเรื่องไว้กับสำนักงาน กกต.ไว้แล้ว จากนั้นพอทั้งหมดเข้าไปอยู่ด้วยกันที่พรรคสำรองดังกล่าว ก็จะมีการเรียกประชุมใหญ่เพื่อขอเปลี่ยนแปลงชื่อพรรคให้สอดคล้องกับชื่อพรรคอนาคตใหม่ และเปลี่ยนแปลงนโยบายพรรค เปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคต่อไป

                กระนั้น หากอนาคตใหม่รอด ไม่โดนยุบพรรค กรรมการบริหารพรรคไม่โดนตัดสิทธิ์การเมือง ก็ต้องยอมรับว่า การที่  ส.ส.และแกนนำพรรคอนาคตใหม่ยังได้โลดแล่นอยู่ในรัฐสภา  ก็จะเป็นสีสันอันฉูดฉาดที่หลายฝ่ายเฝ้าติดตามทุกฝีก้าว โดยเฉพาะตัวจี๊ดทั้งหลาย อย่าง ดร.ปิยะบุตร, โฆษก ช่อ พรรณิการ์, เสธโหน่ง พลโทพงศกร เป็นต้น ที่จะได้แสดงบทบาทของตัวเองต่อไป โดยเฉพาะกับศึกซักฟอก ที่จะระเบิดความมันส์กันจันทร์ที่ 24 ก.พ.นี้ ที่ต้องรอดูกันว่า จะได้เห็นคนอย่าง ปิยะบุตร-พรรณิการ์ ได้ใช้สิทธิ์ ส.ส.ฝ่ายค้าน ลุกขึ้นอภิปรายหรือไม่ หรือจะกลายเป็นแค่อดีต ส.ส.อนาคตใหม่ ที่โดนตัดสิทธิ์การเมือง ที่ได้แต่เฝ้าติดตามการอภิปรายผ่านจอโทรทัศน์ 
                ผลจะเป็นอย่างไร ศุกร์นี้ 21 ก.พ. ได้รู้กัน.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"