ต้องยอมรับว่า “แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทย” ในขณะนี้กำลังถูกจับตามองจากหลายฝ่าย เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงทั้งในและนอกประเทศเข้ามากดดัน ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2563 อาจไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลเคยมองว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา
โดยปัจจัยเสี่ยงเดิมๆ ที่ยังมีผลกระทบกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทย คงหนีไม่พ้น “เศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว” แม้ว่าก่อนหน้านี้จะได้รับผลกระทบจากปัญหาสงครามการค้าระหว่าง 2 ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐและจีน แต่เมื่อสถานการณ์ดังกล่าวเริ่มคลี่คลายลง ก็ไม่ได้ทำให้ภาพการค้าโลกปรับตัวดีขึ้นมากนัก เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นเข้ามากดดันเพิ่มเติม นั่นคือ “การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19” ที่ขณะนี้ยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และดูเหมือนว่ายอดผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากในหลายประเทศทั่วโลก
โดยต้นตอของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าว อยู่ที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลเหอเป่ย์ สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งแน่นอนว่าสถานการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจในหลากหลายมุม และทำให้หลายประเทศได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ รวมถึง “ประเทศไทยด้วย”
เป็นที่ทราบกันดีกว่า ที่ผ่านมานอกจากการพึ่งพาภาคการส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และต่อมาเมื่อภาคส่งออกเกิดปัญหาได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ประเทศไทยก็หันมาพึ่งพาการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภายในประเทศ โดยเฉพาะการอุปโภคบริโภค และการลงทุน รวมไปถึง “ภาคการท่องเที่ยว” ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ได้รับสมญานามว่าเป็นพระเอกขี่ม้าขาว ที่เข้ามาประคองเศรษฐกิจไทยในยามที่ต้องหาเครื่องยนต์ใหม่ในการนำพาไปสู่การเติบโตในภาวะที่ควรจะเป็น และเป็นไปได้ ซึ่งภาคการท่องเที่ยวก็ถือว่าทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี
รัฐบาลมีมาตรการออกมาเสริมศักยภาพภาคการท่องเที่ยว การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วยมาตรการฟรีวีซ่าต่างๆ เป็นสิ่งที่รัฐบาลผลักดันออกมา ซึ่งมาตรการเหล่านั้นก็ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี สะท้อนจากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี สร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างมหาศาล และตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สำคัญของไทย ก็หนีไม่พ้น “นักท่องเที่ยวชาวจีน” ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ยังยากจะควบคุมเช่นนี้ แน่นอนว่าประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างจังอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ “ศูนย์วิจัยธนาคารออมสิน” ได้ออกมาประเมินผลกระทบจากมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขั้นเด็ดขาดของทางการจีน ซึ่งส่งผลกระทบทางตรงต่อภาคการท่องเที่ยวของไทย และยังส่งผลกระทบไปถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยว และยังเชื่อมโยงไปถึงธุรกิจต้นน้ำ อาทิ ธุรกิจเกษตร ปศุสัตว์ ที่เป็นวัตถุดิบหรือสินค้าให้กับร้านค้าปลีก ร้านอาหาร และโรงแรม ที่พักต่างๆ
โดยได้คาดการณ์การลดลงของจำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวจีน เป็น 2 กรณี คือ 1.กรณีที่ทางการจีนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสโควิด-19 ได้ภายใน 3 เดือน คาดว่านักท่องเที่ยวจีนที่จะเดินทางมายังประเทศไทยจะหายไปประมาณ 1.6 ล้านคน ซึ่งจะส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวของไทยลดลงไปกว่า 80,000 ล้านบาท และฉุดให้จีดีพีของไทยในปี 2563 ลดลง -0.4% กรณีที่ 2 หากสถานการณ์ยาวไปจนถึง 6 เดือน คาดว่าจะทำให้นักท่องเที่ยวจีนที่หายไปกว่า 3.5 ล้านคน ซึ่งจะส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวลดลงไปกว่า 170,000 ล้านบาท และฉุดให้จีดีพีของไทยในปี 2563 ลดลง -1%
นอกจากนี้ ยังประเมินว่าธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวที่จะได้รับผลกระทบจากการหดตัวของนักท่องเที่ยวจีน 4 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีก ที่คาดว่าจะสูญเสียรายได้ประมาณ 25,000-54,000 ล้านบาท, ธุรกิจที่พักแรม คาดว่าจะสูญเสียรายได้ประมาณ 21,000-45,000 ล้านบาท, ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม คาดว่าจะสูญเสียรายได้ประมาณ 16,000-34,000 ล้านบาท และธุรกิจขนส่ง คาดว่าจะสูญเสียรายได้ประมาณ 7,500-16,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี หลังจากนี้คงต้องมาติดตามกันต่อไปว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยวชุดใหม่ของรัฐบาลที่จะออกมา จะเป็นยาแรงในการเยี่ยวยาและช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยวของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด.
ครองขวัญ รอดหมวน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |